ฉันตื่นขึ้นมาในเช้าตรู่ของวันศุกร์ต้นเดือนกรกฎาคม พร้อมกับความรู้สึกและเสียงเรียกร้องในใจที่แปลกไปกว่าทุกวัน ไม่รู้สึกอยากดื่มกาแฟ ไม่รู้สึกอยากเข้าครัวทำอาหาร ไม่รู้สึกอยากกดรีโมตทีวีเปิดดูรายการใดๆ เสียงเดียวที่ดังก้องซ้ำไปซ้ำมาในหัวตอนนี้คือ “วันนี้อยากไปตลาด”

ใช่ค่ะ ตลาดที่ว่าต้องไม่อยู่ในรัศมีที่เรียกว่า “ละแวกบ้าน” เพราะตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 การฝากปากท้องไว้กับอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคที่ตลาดใกล้บ้านคือสิ่งที่ทำจนจำเจ และกลายเป็นวิชาบังคับเลือกให้ต้องปฏิบัติไปโดยปริยาย จนเมื่อมีประกาศผ่อนปรนการปฏิบัติตัวต่างๆ ในสถานการณ์คิด-19 ออกมา หัวใจของนักจับจ่ายสายตลาดอย่างฉันก็เหมือนได้รับการติดปีกพร้อมโบยบินไปให้ไกลกว่าที่ที่คุ้นเคย

วันนี้จะไปตลาดไหนดีนะ?​ คิดพลางกดโทรศัพท์ค้นหาพิกัดที่ตั้งของตลาดที่น่าสนใจ กวาดสายตาไล่ไปตามลำดับ และทำการปรึกษากับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ตลาดน้ำดีไหม? แต่ช่วงนี้หน้าฝน ขออยู่ห่างจากน้ำหน่อยแล้วกัน ตลาดพื้นเมืองจังหวัดหนึ่งย่านปริมณฑลก็ดูน่าสนใจนะ แต่ติดที่คำนวณเวลาแล้วคิดว่าน่าจะหมดไปกับการเดินทางมากกว่าการได้เดินท่องตลาดและจับจ่ายซื้อหาอาหารเป็นแน่

‘ตลาดเศรษฐกิจพอเพียง’ ชื่อดูน่าสนใจดีจังเลย รู้สึกแว้บขึ้นมาทันทีว่า ต้องเป็นตลาดที่มีสินค้าทางการเกษตรมาวางจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยาและละลานตาอย่างแน่นอน

ถ้าอย่างนั้นเลือกไปตลาดนี้แล้วกัน เพราะร่างกายและตู้เย็นต้องการการเติมเต็มอาหารประเภทผักและผลไม้มากกว่าที่เคย

ฉันขับรถบ่ายหน้าออกจากบ้านไปตามถนนพหลโยธิน ไกลออกไปจากใจกลางเมืองเรื่อยๆ เลยย่านรังสิต ผ่านตลาดไทออกไปทุกทีๆ และเมื่อ GPS แจ้งบอกว่า “คุณได้มาถึงที่หมายแล้ว” รถก็มาจอดอยู่ที่ด้านหน้า ‘พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ พอดิบพอดี ทันทีที่เลี้ยวหัวรถเข้ามาในพิพิธภัณฑ์​ ยังไม่ทันจะเข้าถึงตัวตลาด หัวใจก็ชื่นชุ่มไปกับความเขียวชอุ่มของพื้นที่ตลอดทางที่รถแล่นลึกเข้าไป ‘มหกรรมสืบสานงานพ่อ’ ตัวหนังสือบนป้ายประชาสัมพันธ์สีเหลืองทองบนซุ้มทางเข้าขนาดใหญ่กล่าวต้อนรับอยู่เบื้องหน้า ฉันเดินตัวเบาลอยเข้าไปในตลาดด้วยความผ่อนคลายชนิดที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน และก็พบว่านี่คือ “มหกรรม” ดังที่ป้ายบอกไว้จริงๆ

เกือบ 100 เมตรของระยะที่สายตากวาดมองเห็น ตลาดแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตลาด แต่คล้ายเป็นพื้นที่นิทรรศการการเกษตรขนาดย่อมๆ

ที่จัดแสดงนวัตกรรมทางการเกษตร ภูมิปัญญาของเกษตรกร เครือข่ายพืชพรรณผลผลิตจากไร่จากสวนของเกษตรกรจากทั่วฟ้าเมืองไทย ที่มาชุมนุมกันโดยนัดหมาย มีซุ้มให้คำแนะนำการทำเกษตรและปศุสัตว์หลากหลายแนวทางที่วิทยากรต่างก็เป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ให้วิชาความรู้อย่างเข้มข้นใกล้ชิดถึงรากถึงแก่น แม้ไม่ได้มีไร่มีสวนเป็นของตัวเอง แต่การได้ไปยืนฟังปราชญ์ทุกๆ ท่านให้ความรู้ประดามีก็รู้สึกว่าคุ้มค่ามากที่ตัดสินใจเลือกมาตลาดนี้

เดินต่อไปอีกนิดจะเจอซุ้มสมุนไพรและสาธิตการนวดแผนไทย โดยครูสมุนไพรไทยผู้เชี่ยวชาญ​และคร่ำหวอดในวงการลูกประคบมาหลายสิบปี แถวรอต่อคิวนวดฟรียาวจนล้นออกมาถึงริมทางเดิน เลยตัดสินใจไม่ต่อคิว เบนเข็มไปเดินตามเสียงเครื่องยนต์หึ่งๆ ข้างหน้า จนไปหยุดอยู่ตรงซุ้มสาธิตเทคโนโลยีการประดิษฐ์เครื่องจักร และอุปกรณ์ทางการเกษตรไล่ไปตั้งแต่แบบชาวบ้านจนถึงแบบอุตสาหกรรม แวะชมทุกซุ้มอย่างตั้งใจจนครบ จนสรุปได้ว่า เกษตรกรของไทยเก่งและสามารถพัฒนาองค์ความรู้ศาสตร์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ได้อย่างชาญฉลาดจริงๆ

ถัดจากโซนอาหารสมองและปัญญาเข้าไป คือโซนอาหารเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร ภาพเบื้องหน้านั้นไม่มีคำไหนจะบรรยายความได้ครบชัดเจนไปกว่าคำว่า “ละลานตา” เพราะทุกๆ ซุ้มในโซนนี้คือสวรรค์ของคนรักตลาดโดยแท้จริง คำแนะนำสั้นๆ ก่อนที่จะสืบเข้าเข้าไปยังด่านแรก ขอให้ทุกๆ ท่านละวางทุกประสบการณ์ของการเดินตลาดไว้ก่อน เพราะตลาดแห่งนี้กำลังจะเปลี่ยนภาพจำที่ทุกๆ ท่านเคยมีกับตลาดไปไม่มาก…ก็มาก

ฉันล็อกเป้าหมายแรกที่ร้าน ‘ราชภูมิฟาร์ม ออร์แกนิค’ เพราะสะดุดตากับผัก หรือผลไม้ เอ๊ะ! หรือไม่ใช่ แต่ว่าเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง? และระหว่างที่พี่ๆ เจ้าของร้านกำลังสาละวนกับการจัดข้าวของอยู่นั้น ฉันก็ออกปากเบาๆ เอ่ยถามไปว่า “พี่คะ นี่คืออะไรคะ?” พี่เจ้าของร้านคนสวยหันมายิ้มทว่ายังไม่ทันตอบความ ก็ผายมือไปทางป้ายเล็กๆ ที่ปักอยู่ข้างๆ กองพืชพรรณปริศนานั้นที่ฉันไม่ได้สังเกตแต่แรกในเห็นที “นี่คือแก่นตะวันค่ะ” จากคำถามสั้นๆ เบาๆ นั้นเอง พี่ไหม เจ้าของร้านที่ดูสดใสและออร์แกนิกไม่แพ้กับสินค้าในร้าน ก็เริ่มต้นบรรยายสรรพคุณทางยาของแก่นตะวันให้ฟัง ไม่เล่าเปล่า แต่พี่ไหมยังเปิดกระปุกแก่นตะวันอบแห้งหยิบใส่แก้วรินน้ำร้อนยื่นให้ลองดื่มเพราะเกรงว่าฉันจะจินตนาการภาพความอร่อยและมากด้วยคุณประโยชน์ของแก่นตะวันแห้งไม่ออก นับเป็นชาแก่นตะวันแก้วแรกในชีวิตที่อร่อยและสุดประทับใจ

แก่นตะวันอบแห้ง เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของทางร้านที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ด้านการรับประทานรูปแบบใหม่ คือใช้ชงเป็นชาและสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบอาหารเมนูต่างๆ ได้เกือบทุกประเภท ทั้งต้ม ผัด แกง ทอด ยำไทย และสลัดฝรั่ง ยิ่งไปกว่านั้นคือยังสามารถเก็บรักษาได้นานกว่าแก่นตะวันสด แถมยังมีคุณประโยชน์มากกว่าการรับประทานแบบสด เป็นที่ถูกใจลูกค้าต่างชาติอย่างมาก พี่ไหมยิ้มน้อยๆ แล้วให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อว่า ไม่นานมานี้มีออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามามากจนปลูกไม่ทัน

ย้อนไปเมื่อ10 ปีก่อนพี่ไหมเคยมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ในการเรียนรู้วิชาของแผ่นดินที่จัดขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์​แห่งนี้และได้นำความรู้เหล่านั้นนกลับไปเริ่มต้นและพัฒนาสร้างพื้นที่ทางการเกษตรของตัวเอง ต่อยอดไปถึงการทำผลิตภัณฑ์จากฟาร์มออกมาจำหน่าย

และนี่ก็เป็นปีที่ 10 แล้วที่พี่ไหมเดินทางมาเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของฟาร์มโดยต่อเนื่องไม่เคยขาด จนลูกค้าในยุคแรกๆ กลายมาเป็นลูกค้าประจำ และสนิทสนมจนกลายเป็นมิตรที่ดีต่อกันในท้ายที่สุด

การมาเปิดร้านที่ตลาดคือการสรรหาของดีๆ มาให้เพื่อนรับประทานเป็นหลัก ส่วนยอดขายมาเป็นเรื่องรอง ฉันอุดหนุนสินค้าในร้านพี่ไหมมาหลายอย่างเช่นที่ล้วนอร่อย ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ แถมนิดหนึ่งว่าดอกกุหลาบอบแห้งร้านพี่ไหมชงเป็นชาดื่มแล้วหอมฟุ้งไปทั้งบ้าน และน้ำส้มสายชูหมักจากล้วยของร้านพี่ไหมก็อร่อยจนต้องชงดื่มเป็นประจำทุกวันไม่เคยขาด เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งแก่นตะวันและดอกกุหลาบจากฟาร์มของพี่ไหม มีตรารับรองพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (SDGsPGS) จากสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ยั่งยืน จ.ราชบุรีด้วย และไม่ได้รับรองพืชแค่สองชนิดนี้ แต่รับรองพืชทั้งแปลงของฟาร์มนี้เลย ได้ยินอย่างนี้คนกินสบายใจอย่างยิ่ง

หากสนใจผลิตภัณฑ์แก่นตะวันของพี่ไหม สามารถติดต่อได้ที่ คุณกานต์สินี อภิวัฒน์สิริ ราชภูมิฟาร์ม ออร์แกนิค อ.บ้านคา จ.ราชบุรี โทร. 092 9246454

เป้าหมายต่อไป ไม่ไกลจากร้านของพี่ไหมคือ ไร่อุดมฝน เพราะแอบเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์จากมัลเบอรรี หรือลูกหม่อนสีม่วงเข้มหลากหลายวางเรียงเต็มหน้าร้าน ทั้งน้ำมัลเบอรรีเข้มข้นในขวด ทั้งมัฟฟินมัลเบอร์รี มัลเบอรีชีสพาย และมัลเบอรีปั่นเกล็ดน้ำแข็ง ระหว่างที่กำลังเลือกหาว่าจะซื้ออะไรบ้างตามลำดับก่อนหลัง คุณพี่เจ้าของร้านก็จุดเตาแก๊สกระป๋องแล้วผัดเส้นสปาเกตตี และราดซอสสีม่วงเข้มลงไปในกระทะ กลิ่นหอมฟุ้งแตะจมูก แต่เป็นกลิ่นซอสที่ไม่คุ้นเคยเท่าใดนัก

พี่เจ้าของร้านคงจะเห็นสีหน้าชวนสงสัยของฉันเลยชิงตอบก่อนที่จะมีคำถาม “นี่คือสปาเกตตีซอสมัลเบอร์รีค่ะ ซอสนี้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่พี่ฝนคิดสูตรซอสขึ้นมาเอง จากมัลเบอร์รีที่ไร่ของพี่ฝนเอง ไร่ของเราไม่ใช้สารเคมีใดๆ เลย ปุ๋ยที่ใช้บำรุงต้นก็หมักจากกิ่งและใบมัลเบอร์รีที่ตัดแต่งค่ะ”

ใช่ค่ะคุณผู้อ่าน มัลเบอร์รีหรือลูกหม่อนของไทย สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารคาวได้แล้ว และหน้าตาก็ดูน่ารับประทานมากๆ เสียด้วย สารภาพว่าวินาทีนั้นบอกไม่ถูกเหมือนกันว่ากลิ่นที่หอมสดชื่นของซอส กับจินตนาการถึงความเปรี้ยวหวานของรสชาติลูกหม่อนในซอสนั้นอะไรจะกระทบใจของฉันได้มากกว่ากัน

พี่ฝนไม่ลังเลที่จะตักแบ่งสปาเกตตีที่เพิ่งผัดเสร็จร้อนๆ ใส่ถ้วยกระดาษใบเล็กให้ชิม และเพียงคำแรกที่สัมผัสก็รู้สึกได้ทันทีว่า ใช่เลย นี่คือซอสนี่คือมัลเบอร์รีจริงๆ และมันอร่อยมาก รสชาติความนุ่มละมุนหวานอมเปรี้ยวของมัลเบอร์รีเข้ากันได้ดีกับเครื่องเทศและน้ำซุปที่เป็นส่วนประกอบหลัก เมื่อรับประทานกับเส้นสปาเกตตีแล้วกลมกล่อมเปิดประสบการณ์รสชาติใหม่ ชนะใจคนไม่กล้าลองของแปลกใหม่แบบฉันไปได้ในทันที

พี่ฝนเล่าให้ฟังว่าความภูมิใจของการได้เป็นส่วนหนึ่งของตลาดแห่งนี้คือ ได้นำหม่อนของแม่กลับมาที่บ้านของพ่อ

เพราะหม่อนและไหมคือหนึ่งในโครงการที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การอุปถัมภ์มาโดยตลอด ในฐานะเกษตรกรที่ทำไร่หม่อนแบบไม่ใช้สารเคมี การได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากหม่อนที่ปลูกและสร้างสรรค์ด้วยมือของตัวเองมาแบ่งปันให้ลูกค้า เพื่อนๆ พ่อค้าแม่ค้า และเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ของพ่อทุกๆ คน นี้คือความภูมิใจอย่างยิ่ง และทุกๆ ครั้งที่ได้มาเปิดร้าน ไม่เหมือนว่าได้มาทำงาน แต่เหมือนได้มาแบ่งปัน มาเล่าสู่กันฟัง และได้มาเจอเพื่อนๆ ที่รักและสนิทสนมกันมาเป็นเวลานาน ตลาดในบ้านของพ่อแห่งนี้เป็นมากกว่าตลาด แต่เป็นเหมือนบ้านอีกหลังที่มาเมื่อไหร่ก็มีความสุขใจกลับไปทุกครั้ง

เมื่อคุยกับพี่ฝนได้สักครู่ใหญ่ ก็เห็นว่ายอดใบรายการสั่งสปาเกตตีซอสมัลเบอร์รีเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้พี่ฝนได้มีสมาธิกับการผัด ฉันจึงขอตัวจากร้านแต่ไม่ลืมจะขอรายละเอียดติดต่อเพื่ออุดหนุนสินค้าของพี่ฝนมาฝาก สนใจผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมัลเบอร์รีของพี่ฝน สามารถติดต่อได้ที่ คุณสายชล ธำรงโชติ แห่งไร่อุดมฝน จ.ชัยนาท โทร. 0922755981 อ้อลืมบอกไปว่าตอนนี้ไร่อุดมฝนจะเปิดสวนเป็นศูนย์เรียนรู้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วย ทุก ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ สามารถแวะไปเยี่ยมชมได้ แต่ถ้าจะเข้าไปให้โทรแจ้งก่อน

จากร้านพี่ฝน ฉันตั้งใจใช้เวลาเดินสำรวจร้านค้าทุกร้านอย่างตั้งใจ และสนุกสนาน เพราะการเดินรอบตลาดเล็กๆ แห่งนี้เพียง 1 รอบ ก็เหมือนกับการได้เดินทางทั่วเมืองไทย เพราะมีทั้งของกิน ของใช้และผลิตภัณฑ์แปรรูป สินค้าหัตถกรรมทำมือจากเกือบทุกจังหวัดตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก มาให้เลือกซื้อหา และหยิบจับสอบถามพูดคุยเป็นความรู้ ผักผลไม้และสมุนไพรป่านานาชนิดไม่เคยเห็นที่ไหน ก็ได้มาเห็นจากร้านค้าของที่นี่ ได้ชิมเต้าหู้ทอดที่อร่อยที่สุดเจ้าหนึ่งเท่าที่เคยกินมาก็ที่นี่ ปูนาต้มจากยโสธรก็มี กระเป๋าผ้าขาวม้าดีไซน์เก๋ไก๋จากสุพรรณบุรีก็ชอบ ปลาแม่น้ำตากแห้งสารพัดสายพันธุ์จากลุ่มน้ำสงคราม จ.สกลนครก็ไม่ควรพลาด ระหว่างที่เดินหอบหิ้วของกินของใช้ที่อุดหนุนมาเต็มสองมือจนต้องเดินตัวเอียงซ้ายเอียงขวา คุณพี่เจ้าของร้านขนมไทยจากปทุมธานีเจ้าถิ่นก็เอ่ยปากแซวว่า

“คราวหน้าถ้ามาที่นี่อีก พกรถเข็นหรือกระเป๋าจ่ายตลาดล้อลากมาด้วยนะ สองมือหิ้วไม่พอจริงๆ”

หลังจากเข้าร้านนั้นออกร้านนี้จนทั่วและอิ่มเอมแล้ว ก็มุ่งสู่ที่หมายถัดไปใกล้ๆ กัน ซึ่งเป็นหนึ่งในความตั้งใจแรกเริ่มที่จูงใจให้มายังตลาดแห่งนี้คือ ห้องนิทรรศการความรู้เรื่องการเกษตร และโครงการในพระราชดำริ ซึ่งในวันที่ไปเยือนเขานำเสนอห้องนิทรรศการเส้นทางสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามศาสตร์พระราชาในรูปแบบโคก หนอง นา ที่เหมาะสำหรับทุกวัย และสาขาอาชีพ แม้ไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่ก็เข้ามาศึกษาหาความรู้ได้ ทั้งยังได้มาน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระราชาแห่งการเกษตร ที่อยู่ในดวงใจของชาวไทยทุกคนอย่างมิลืมเลือน

1 วันของฉันในพิพิธภัณฑ์ที่มีตลาด หรือตลาดในพิพิธภัณฑ์​ ถูกเติมเติมด้วยอาหารใจ อาหารสมอง และอาหารกายอย่างล้นเอ่อ ทุกๆ จุดคือไฮไลต์ของงาน ไม่มีพระเอกนางเอก ไม่มีเวทีหลักเวทีรอง ไม่มีตลาดใหญ่ตลาดเล็ก ทุกพื้นที่คือหนึ่งเดียวกัน ต่างสืบสาน พึ่งพาและแบ่งปันกันฉันมิตร ความร่มรื่นที่แวดล้อมตลาดว่าฉ่ำเย็นใจแล้ว แต่รอยยิ้ม ความรักและมิตรภาพที่อบอวลอยู่ตลอดสองฟากฝั่งร้านค้า และซุ้มของปราชญ์แห่งการเกษตรทุกๆ ท่านนั้นยากยิ่งจะหาได้จากตลาดไหนๆ และแน่นอนว่าตลาดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างนี้ สำหรับฉันนั้นมาครั้งเดียวไม่เพียงพอแน่เพราะตกหลุมรักไปแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ฯเขาจะจัดตลาดนี้ขึ้นเดือนละครั้ง แม้ไม่ใช่ตลาดนัด แต่ฉันจะมาตามนัดในครั้งถัดไปอย่างแน่นอน

ตลาดเศรษฐกิจพอเพียง จัดขึ้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน ภายในพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งถัดไปคือวันที่ 6-7 สิงหาคม 2565 ติดตามข่าวสาร กิจกรรมและความรู้ด้านการเกษตรหลากหลายรูปแบบได้ที่ Facebook: พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

ขอบคุณภาพจาก: พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ