ผมเพิ่งจะกลับมาเขียนบทความได้อีกครั้ง เพราะช่วงนี้มีลูกเล็กและก็ช่วยกันกับภรรยาเลี้ยงลูกไปด้วย ใช้ชีวิต และทำงานในวิถีออร์แกนิกไปพร้อมๆ กัน เลยถือโอกาสนี้เขียนเรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยวิถีธรรมชาติมาฝาก จะเป็นอย่างไรนั้น มาลองติดตามกันดูนะครับ

อยากมีลูก ต้องเปลี่ยนอาหาร

ก่อนจะไปถึงเรื่องการเลี้ยงลูก ผมมีเรื่องเล่าของการเตรียมพร้อมก่อนมีลูกมาฝากกัน เรื่องมีอยู่ว่า อาจารย์มิชิโอะ ซากาตะ เป็นอาจารย์ของผมและภรรยาที่สอนการดูแลสุขภาพตามแนวทางแพทย์ทางเลือกบอกว่า

“ถ้าอยากมีลูก ต้องเปลี่ยนอาหาร ต้องทำกับข้าวกินเองให้ได้มากที่สุด”

อาจารย์ซากาตะ เป็นแพทย์พื้นบ้าน และเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในเครือข่ายการดูแลสุขภาพแบบ สบาย สบาย บำบัด (Kai Therapy) ที่จังหวัดคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านให้คำแนะนำกับผู้คนทั้งคนเมืองและคนชนบทเกี่ยวกับการแก้ปัญหามีลูกยากของคนญี่ปุ่นเช่นกัน เรื่องที่น่าตกใจก็คือ สาเหตุของการมีลูกยากจากผู้คนหลายร้อยหลายพันชีวิตที่มาขอคำปรึกษาจากท่านตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ท่านพบว่า จากการตรวจเลือด ตรวจน้ำเชื้อของผู้ชาย และซักประวัติผู้ที่มาขอคำปรึกษาทุกคนทั้งชายและหญิง ทุกคนมีเม็ดเลือดแดงที่มีรูปร่างและขนาดผิดปกติ เซลล์อสุจิของผู้ชายทุกคนมีรูปร่างและการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ และทุกคนแทบไม่ได้ทำกับข้าวกินเอง แต่กินอาหารสำเร็จรูปจากร้านอาหารและอาหารกึ่งสำเร็จรูปจากร้านสะดวกซื้อเป็นหลัก ซึ่งใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงจากการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ต่างๆ ในการปลูก ปรุง และป้องกันการเน่าเสียเป็นจำนวนมาก

ท่านจึงแนะนำให้คนที่มาขอคำปรึกษาปรับเปลี่ยนวิถีการกินเสียใหม่ ให้ทำกับข้าว ทำอาหารกินเองมากขึ้น โดยเลือกวัตถุดิบและเครื่องปรุงจากการแปรรูปด้วยวิธีธรรมชาติ ไร้สารเคมี สารปรุงแต่งใดๆ หลังจากนั้นทุกคนก็สามารถมีลูกได้อย่างเป็นปกติกันทุกคน

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมก็ใช้วิถีการดูแลสุขภาพแบบนี้เช่นกัน จึงทำให้ผมกับภรรยาสามารถมีลูกได้ แม้ว่าเราจะอายุ 35-36 ปี ซึ่งเริ่มเข้าสู่วัยที่มีลูกได้ยากขึ้นแล้วก็ตาม

สุขภาพแม่ คือพื้นฐานสุขภาพลูก

การกินอยู่ของคนเป็นแม่นั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพของลูก ตั้งแต่การใช้ชีวิต การกินอยู่ในทุกวัน ตั้งแต่ก่อนท้อง ไปจนถึงตอนตั้งท้อง ต้องกินอยู่บนพื้นฐานตามวิถีธรรมชาติ

การกินอยู่ที่เราเลือกปฏิบัติก็คือ เราเลือกกินอาหารอย่างรู้ที่มา ปลูก เลี้ยง และแปรรูปด้วยวิธีธรรมชาติ ยิ่งตอนตั้งท้องยิ่งต้องให้ความสำคัญ เพราะในแนวทางการดูแลสุขภาพตามวิถีธรรมชาตินั้น ‘การแพ้ท้อง’ เป็นกระบวนการขับพิษที่เคยสะสมมาก่อนตั้งครรภ์ออกจากร่างกายของแม่เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อลูกในท้อง ซึ่งภรรยาของผมก็ได้เตรียมตัวเรื่องนี้มานานแล้ว ยิ่งตอนก่อนตั้งครรภ์ก็หลีกเลี่ยงการทานอาหารนอกบ้าน อาหารที่ไม่รู้ที่มาของวัตถุดิบและกระบวนการผลิต และเน้นอาหารที่ทำเองเป็นหลัก จึงทำให้ตลอดการตั้งครรภ์ เขาไม่มีอาการแพ้ท้องใดๆ เลย

ซึ่งอาหารที่เรากินก็ไม่ได้เป็นอาหารพิเศษ หรือเป็นแนวตามกระแสนิยมใดๆ เลย ออกจะเป็นอาหารง่ายๆ ที่ทำกินเองได้ที่บ้าน เช่น ข้าวต้ม ผัดผัก ต้ม ยำ แกง ทอด สลัด  มีปิ้งย่างบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่จุดสำคัญคือ แหล่งที่มาและกระบวนการผลิตของวัตถุดิบที่จะต้องมาจากวิถีการผลิตตามธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น ข้าว ผัก และผลไม้อินทรีย์ที่เรารู้จักคนปลูกและเข้าใจวิธีการปลูก เนื้อสัตว์จากวิธีเลี้ยงแบบปล่อยที่สัตว์ได้ออกกำลังและมีพฤติกรรมตามธรรมชาติ กินอาหารจากวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก ไม่ผสมและไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง อาหารทะเลที่จับด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่จับทีละมากๆ แบบไม่เลือกวัยและมีขนาดที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศ รวมไปถึงการขนส่งที่ไม่ใช้น้ำยาดองศพหรือฟอร์มาลีนเพื่อรักษาความสด

นอกจากนี้ การใช้สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า ที่ทำจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีสังเคราะห์ในการปรุงแต่งสีและกลิ่น ตลอดจนเลือกใช้กระบวนการผลิตที่ปลอดภัย เช่น สบู่ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาตามธรรมชาติจากด่างและน้ำมันเป็นหลัก และแต่งกลิ่นด้วยน้ำมันหอมระเหย ไม่ใช่น้ำหอมสังเคราะห์ อีกทั้งเรายังไม่ใช้ทิชชูเปียกและแอลกอฮอล์ใดๆ ทำความสะอาดมือ เพราะการสัมผัสสารทำความสะอาดเหล่านี้ตลอดเวลา ทำให้ผิวหนังขาดสมดุลจุลินทรีย์ที่ดีไป ส่งผลให้เราได้รับสารต่างๆ ผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย เปรียบได้กับการกินอาหารผ่านผิวหนังนั่นเอง การทำความสะอาดด้วยสบู่ธรรมชาติก็เพียงพอแล้ว

วิถีการกินอยู่ตามที่ได้กล่าวมาเช่นนี้นี่เอง ที่เป็นพื้นฐานของเราตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังตั้งครรรภ์ ซึ่งทำให้ปัจจุบัน ลูกของเรายังไม่ได้เจ็บป่วยใดๆ เลยตลอดหลังคลอดใน 8 เดือนที่ผ่านมา ส่วนผมกับภรรยาเอง ตั้งแต่ตั้งครรภ์จนคลอดก็ไม่ได้ป่วยเลยเช่นกัน

ปรุงอาหารเพื่อปรับสมดุลร่างกาย การอยู่ไฟ และการให้นมลูก

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ลูกของเรามีสุขภาพแข็งแรงก็คือ การกินอยู่ให้เหมาะสมกับภาวะหลังคลอดและการให้นมลูก ซึ่งเราก็เลือกวิธีที่ง่ายแต่ได้ผลดี จากภูมิปัญญาไทยและจีนจากทั้งสองบ้านสองตระกูลของพวกเรา รวมไปถึงคำแนะนำจากผู้ใหญ่ผู้มีประสบการณ์ ซึ่งก็ไม่ได้ยุ่งยากแต่อย่างใด เช่น

– เราเลือกให้นมลูกด้วยนมแม่ทั้งหมด ไม่มีการเสริมนมผง ทำให้ต้องดูแลการกินอยู่ของแม่เป็นหัวใจสำคัญ โดยอาหารและอารมณ์ที่ดีนั้นเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก อาหารที่ดีและการพักผ่อนที่เพียงพอจะทำให้คุณแม่อารมณ์ดี มีน้ำนมคุณภาพดี และมีปริมาณเพียงพอ ผมช่วยทำกับข้าว ช่วยทำงานบ้านให้ภรรยามาตั้งแต่ก่อนตั้งท้องเป็นการแบ่งเบาภาระให้เขาได้พักผ่อนเต็มที่ จึงทำให้เขามีน้ำนมเพียงพอให้ลูกได้ในวันนี้

– การต้มน้ำตะไคร้อาบหลังคลอด และการอยู่ไฟ โดยใช้ตะไคร้ที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ หรือเติบโตตามธรรมชาติ และใช้การอบสมุนไพรที่ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น และอบอุ่นร่างกายป้องกันการหนาวสะท้านของแม่

– อาหารบำรุงน้ำนมและปรับสมดุลให้เพิ่มฤทธิ์ร้อนฤทธิ์อุ่นให้แก่ร่างกาย เช่น แกงเลียง ต้มข่า ยำหัวปลี ต้มกระเพาะหมู ต้มจืดใบตำลึง หมูผัดขิง มันต้มขิง ผัดกะเพราที่ไม่เผ็ดมากจนเกินไป ฯลฯ การปรุงอาหารรสไม่จัดจะได้น้ำนมที่หอมหวานอร่อย

– แม่ที่ให้นมลูกที่ยังอายุน้อยๆ ไม่ถึงหกเดือน ควรงดอาหารย่อยยาก เช่น ผัดพริก ผักที่มีใบแข็งๆ เช่น กุยช่าย คะน้า เพื่อให้ลูกได้กินน้ำนมที่ย่อยง่าย ขับถ่ายได้ดี ไม่ทำให้ท้องอืด

– ออกรับแสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้าและยามเย็นในวันที่อากาศแจ่มใส จะช่วยให้เด็กไม่ตัวเหลือง

– จะเป็นการดีกว่าถ้าให้นมจากเต้ามากกว่าการปั๊มนมเก็บไว้ เพราะนมที่แช่แข็งไว้นั้น มีรสชาติที่เปลี่ยนไป และการดูดจากเต้านั้นให้ความอบอุ่นและความผูกพันได้ดีกว่า ซึ่งผมกับภรรยาไม่ได้มองเป็นเรื่องยุ่งยากหรือเสียเวลาแต่อย่างใด

– เมื่อลูกสามารถกินอาหารได้มากขึ้น เพิ่มเติมจากการดูดนมแม่ ก็เริ่มด้วยการกินอาหารที่บดนิ่ม แล้วค่อยๆ ปรับเป็นอาหารที่บดหยาบมากขึ้นเมื่อเหงือกและฟันเริ่มพัฒนาขึ้นตามมา โดยเน้นเป็นข้าวต้มบด ซึ่งเราใช้ข้าวซ้อมมือที่ขัดสีมากกว่าและนุ่มกว่าเป็นหลัก แล้วค่อยเสริมข้าวกล้องที่แข็งขึ้นเล็กน้อยเมื่อลูกเริ่มโตและกินอาหารได้มากขึ้น ส่วนผักก็เน้นผักใบเขียว สลับกับผักหัวต่างๆ เช่น มันฝรั่ง แครอท ฟักทอง ต้มหรือนึ่งจนนิ่ม ผสมกับข้าวบดให้ลูกได้กิน เมื่อกินอาหารได้มากขึ้น จึงค่อยเสริมไข่แดงต้มสุก ตับไก่ลวกสุก สลับกันไป และเพิ่มเนื้อปลาน้ำจืดที่นึ่งสุกเข้าไป โดยวัตถุดิบทั้งผัก ไข่ และสัตว์ต่างๆ ให้ค่อยๆ เสริมลงไปในข้าวบดทีละอย่าง จะได้ทดสอบดูอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นได้แตกต่างกันในเด็กแต่ละคนด้วย

จะเห็นได้ว่า แท้ที่จริงแล้ววิถีการกินอยู่นี้คือ วิถีออร์แกนิกที่เริ่มต้นด้วยความใส่ใจต่อระบบนิเวศของดิน การเพาะปลูกที่คล้อยตามจังหวะของฤดูกาล ทำให้พืชเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติภายใต้แสงตะวันและผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ ให้ผลผลิตที่สมบูรณ์แข็งแรง เช่นเดียวกันกับสัตว์ที่กินพืชเหล่านั้นเป็นอาหารและเติบโตตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็นด้วยการดูแลเอาใจใส่ของผู้ผลิต และเราในฐานะผู้บริโภค ต่างก็ได้เกื้อกูลกันและสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย

สำหรับผมแล้ว นี่เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นเรื่องพื้นฐานที่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง เป็นการลงทุนให้กับชีวิต สร้างเสริมสุขภาพ สุขภาวะที่ดีแก่ตนเองและครอบครัว พร้อมๆ กันกับการเติบโตของสังคมที่ถึงพร้อมด้วยการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน

การกินอยู่ของเรา ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต ให้กำเนิดชีวิต และสร้างสรรค์สังคม เป็นอีกก้าวหนึ่งที่เป็นบทพิสูจน์จากประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่นำมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟังครับ

ภาพประกอบ: npy.j