“ลองนับดู โอ้โห นี่เราปลูกผักมาร่วมสามปีแล้วนะ” แม่บ้านตัวเล็กๆ สวมหมวกปีกกว้างพูดเสียงใส ระหว่างเดินนำเราไปยังแปลงผักสวนครัวของเธอที่ภูมิใจนักหนา

แม่บ้านคนนี้ชื่อ สาลินี สวนศิลป์พงศ์ แน่นอนว่าชื่อของเธอไม่ได้เป็นที่คุ้นหูของใครๆ เพราะเธอไม่ใช่เจ้าของแปลงผักขนาดใหญ่ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปลูกผักใดใด ไม่ใช่ผู้ริเริ่มโครงการอะไรทั้งสิ้น ไม่ใช่แม้กระทั่งนักเรียนที่เคยลงเรียนวิชาปลูกผักกับสถาบันไหนเลย

เธอคือแม่บ้านธรรมดาคนหนึ่ง ที่บังเอิญนึกได้ว่าตัวเองมีที่ดินรกร้างเหลือใช้ เป็นที่ดินข้างบ้านที่เธอซื้อเอาไว้เพื่อตระเตรียมให้ลูกสาวในอนาคต แต่ก่อนจะถึงอนาคต ปัจจุบันเธอตัดสินใจแปรสภาพมันจากที่รกร้างหญ้าขึ้นทึบ ดินแห้งแข็งปราศจากสิ่งมีชีวิต ให้กลายเป็นแปลงผักง่ายๆ ที่มีผักสวนครัวให้เก็บกินได้เรื่อยๆ ตลอดปี ทั้งกวางตุ้ง มะเขือเปราะ พริก ข่า ฟัก ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบ มะละกอ กล้วย หม่อน ฯลฯ

ฟังดูเหมือนง่าย แต่การปลูกผักไม่เคยเป็นเรื่องง่ายของใคร (ที่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง)

สามปีแห่งการปลูกผักของแม่บ้านที่หันมา ‘ปลูกผักแบบบ้านๆ’ ต้องเจออะไรบ้าง นี่คือเรื่องราวที่ทำให้เราไปลุยสวนและพูดคุยกับนักปลูกมือสมัครเล่นคนนี้ เชื่อว่าสวนผักฝึกหัดของเธอน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับใครต่อใครที่อยากเริ่มต้นปลูกผักแบบเธอดูบ้าง

แน่นอน เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน : )

ความคิดอยากปลูกผักของคุณแม่ เริ่มต้นมาจากไหน
ประมาณสามปีที่แล้ว เราเข้าไปดูที่ดินข้างบ้านที่เราซื้อไว้ เจอต้นพริกกะเหรี่ยงต้นนึงที่มันงอกขึ้นมาเอง กำลังเหี่ยวใกล้ตาย เราเลยตักน้ำรดให้ พรวนดินให้ หลังจากนั้นมันก็ออกดอกเยอะเลย ก็คิดว่าเสียดายนะที่เราปล่อยที่ดินทิ้งไว้เฉยๆ น่าจะลองปลูกผักดู พอดีกับตอนนั้นเราสุขภาพไม่ค่อยดี เป็นโรคหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง คิดว่าถ้าได้เดิน ได้เจอแดด ได้เคลื่อนไหวร่างกายแขนขา ก็เหมือนได้ออกกำลัง แล้วถ้าเราได้กินผักที่มีพลังชีวิต มันน่าจะดีกับเรา เพราะกว่าผักจะเจริญงอกงามขึ้นมาได้ต้องต่อสู้กับแดด ฝน แมลง และอะไรต่อมิอะไรหลายๆ อย่าง

ศึกษาเรื่องปลูกผักจากไหน
​หลักๆ คือซื้อหนังสือมาอ่าน แล้วมาเจอรายการโทรทัศน์ ‘สวนคนผักเมือง’ ที่นำเสนอเรื่องสวนผักบนดาดฟ้าของสำนักงานเขตหลักสี่ เป็นแรงบันดาลใจให้รู้สึกว่าเราอยากปลูกอะไรที่เราอยากปลูกก็ได้ เคยชวนพ่อไปเรียนเรื่องปลูกผักแค่ครั้งเดียวกับไร่ปลูกรักตอนที่เขาจัดอบรมฟรีสำหรับคนที่สนใจ แล้วลูกก็เริ่มสอนให้ดูยูทูป เดี๋ยวนี้ยูทูปก็เหมือนอาจารย์ที่ให้ความรู้เรานะ เพราะมีคนที่เขาตั้งใจถ่ายทอดความรู้จริงๆ มาเล่าอะไรต่ออะไรแล้วก็สอนเทคนิคแบบเห็นภาพ เราเข้าไปดูก็จดจำมาลองใช้ปลูกของเราดู

ก่อนหน้านี้เคยปลูกผักมาก่อนไหม
​ไม่เคยค่ะ ปกติปลูกแต่ไม้ดอกไม้ประดับ เพราะชอบที่มันสวยงาม แต่ไม่เคยสนใจผัก แล้วก็ไม่เคยคิดว่าเราจะปลูกผักกินเองได้ พอเกิดแรงบันดาลใจจากต้นพริกก็เลยลองปลูกดู เริ่มจากขุดดิน พรวนแปลงเล็กๆ กว้างแค่เมตรกว่าๆ ก่อนขุดต้องรดนำ้ทิ้งไว้ก่อน ยกแปลงเล็กๆ ได้แล้วก็ไปซื้อปุ๋ยคอกมาใส่ เริ่มจากผักที่ปลูกง่ายก่อนเลยทดลองปลูกผักบุ้ง หาความรู้ว่าก่อนปลูกต้องแช่เมล็ด ผลคือเมล็ดผักบุ้งงอกขึ้นมาได้ พอความสูงพอตัดได้ก็เก็บมาผัดเลย ปลื้มมากที่จะได้กินผักที่ปลูกเอง

ผักบุ้งที่ปลูกเองครั้งแรกในชีวิต รสชาติเป็นยังไง
เหนียวมากกินไม่ได้ (หัวเราะ) แต่เราก็ไม่ยอมนะ เลยไปหาซื้อหนังสือว่าความเหนียวของเขาเนี่ยเกิดจากอะไร จะต้องปรับปรุงยังไงเพื่อให้ปลูกแล้วได้ผักใกล้เคียงตลาด อ่านดูก็รู้ว่าความเหนียวเนี่ยบางทีเพราะเขาขาดน้ำ พออากาศร้อนมากๆ เขาจะสร้างผิวที่มันแข็งขึ้นเพื่อให้เขาอยู่ได้ พอแข็งไป กระด้างไปก็กินไม่ได้ เราก็ทดลองปลูกซ้ำ ปรับปรุงดินเพิ่มในทุกรอบ เช่น เติมใบก้ามปู เติมทราย เติมแกลบดิบ แกลบเผา จนผักบุ้งเรากินได้อร่อยกรอบเหมือนที่ตลาดโดยไม่ต้องใช้เคมีอะไรเลย ทีนี้ก็เริ่มรู้สึกสนุก อยากทดลองปลูกชนิดอื่นๆ ต่อไป ก็เรียกคุณพ่อมาช่วยขุดดินทำแปลงผักจริงจัง

เรื่องดินสำคัญยังไงกับการปลูกผัก
สำคัญมาก ถ้าดินไม่ดีก็ปลูกผักไม่ขึ้นเลย ดินที่ดีต้องผ่านเศษใบไม้ทับถมมาเป็นสิบๆ ปี แต่ดินบ้านเราเป็นดินถม บางส่วนมันเลยเป็นดินเหนียว ดินดาน ดินแข็งๆ ซึ่งไม่มีแร่ธาตุอะไรเลย ตรงนี้คือความยากที่เราต้องมาค่อยๆ ดูว่าจะปรับดินอย่างไร ทำยังไงให้ดินอยู่ในสภาพที่เหมือนกับดินธรรมชาติจริงๆ ต้องมีทั้งปุ๋ย มีทั้งใบไม้ มีทั้งตัวอุ้มน้ำแต่ก็ต้องโปร่ง คุณพ่อเขาก็รับหน้าที่ช่วยขุดดินทำแปลง เพราะต้องใช้แรงเยอะ ส่วนเรื่องจะปลูกผักอะไรแม่ก็ปลูกของแม่ไป

ปลูกผักออร์แกนิกเป็นเรื่องยากจริงไหม
ตอบตรงๆ ก็คือยากมาก เพราะมันต้องเริ่มตั้งแต่ดินจะต้องไม่มีเคมีมาอย่างน้อยที่สุด 3 ปี แล้วเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ก็ต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมที่ไม่ผ่านการตัดต่อหรือดัดแปลง พื้นที่โดยรอบก็ต้องปลูกแนวป้องกันสารเคมี ป้องกันเชื้อโรคจากภายนอก มาตรฐานของคำว่าออร์แกนิกจะเป็นอีกระดับหนึ่ง แต่สวนผักของเราต้องเรียกว่าปลูกผักแบบชาวบ้านมากกว่า เป็นสวนผักแบบที่เราสบายใจที่จะกิน คือเราไม่ใช้สารเคมีแค่นั้นเอง

เลือกผักสวนครัวที่จะมาปลูกยังไง
ตอนเรียนทำเค้ก เราเลือกเรียนเค้กที่คนในครอบครัวชอบกิน ปลูกผักแม่ก็เริ่มต้นเหมือนกัน คือ บ้านเราชอบกินอะไรเราก็ปลูกอย่างนั้นแหละ อยากกินคะน้า ถั่วฝักยาว อะไรก็ตามที่เราอยากกิน บางอย่างปลูกเพราะชอบสีสัน อย่างมะเขือเทศเราชอบในรูปลักษณ์ของมัน ตอนหลังถึงเริ่มเรียนรู้ว่าเราควรเลือกปลูกผักที่อยู่แบบระยะยาว ดูแลง่ายหน่อย จะได้เหนื่อยน้อยหน่อย อย่างพวกมะเขือ มะเขือเปราะ มะเขือพวง อาจจะลูกเล็กหน่อยแต่กินได้ หรือกระถิน ชะอม พริกขี้หนู ตะไคร้ กระเจี๊ยบ ตอนปลูกมะเขือ พี่ชายคุณพ่อเขาบอกมาว่ามะเขือเทศมันปลูกยากนะ เราปลูกได้เราก็มีกำลังใจ แต่เราก็ต้องเผื่อใจด้วยนะ เพราะครั้งนึงอาจจะสำเร็จงอกงาม แต่อีกครั้งหนึ่งเราอาจจะเจอปัญหา โดนเพลี้ยลงทั้งแปลงแก้ไขไม่ได้ หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือแมลงชนิดไหน

อุปสรรคหลักๆ ของการปลูกผักที่คุณแม่เจอคืออะไร
มันจะมีโรคเยอะมาก จากเชื้อรา เชื้อไวรัส แมลงต่างๆ ที่เราไม่รู้จักเลยว่ามันคือตัวอะไร ตัวห้ำ ตัวเบียน ตัวด้วง เพลี้ยที่มาทำลาย อย่างตอนปลูกถั่วฝักยาวนี่ลำบากมาก ปลูกได้สักเดือนหนึ่งก็ตายแล้ว เพราะเราไม่ได้ใส่ยาฆ่าแมลงไง เรางมอยู่ตั้งนานถึงรู้ว่ามันมีหนอนที่ชอบเจาะเข้าไปในเถา

เราก็ต้องไปศึกษาดูว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ จะแก้ไขยังไง เหมือนเป็นการเรียนรู้อยู่ในทุกๆ วันว่าเราจะเจออะไรบ้าง เป็นวิทยาศาสตร์ ทุกวันนี้ก็ได้เรียนรู้ไปกับการทดลอง

แล้วเอาชนะพวกแมลงได้ยังไง
สิ่งที่เราทำได้อย่างแรกเลย คือเราจะคอยสังเกตผัก เอ๊ะ ทำไมมันเป็นด่างๆ ดวงๆ หรือเป็นใบเหลืองๆ สลด พลิกดูหลังใบเจอเพลี้ยแป้งเต็มเลย เราก็ตัดใบแก่ใบเป็นโรคออก แล้วก็ให้แสงแดดส่องทั่วถึง อันนี้ช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องหายาไล่แมลงแบบปลอดสารพิษมาฉีดพ่นบ้าง ใช้จุลินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพแบบที่เราพอจะหาซื้อได้ บางทีเราก็จำเป็นต้องใช้กับดักกาวดักแมลง หรือบางทีก็ทำใจว่าต้องถอนทิ้งทั้งแปลง ตอนหลังหันมาใช้ตาข่ายคลุมแปลงก็ช่วยได้เยอะ แทนที่เราจะต้องมาราดหรือพ่นจุลินทรีย์บ่อยๆ นี่เราแทบไม่ต้องพ่นเลย แต่บางทีแมลงเหล่านี้ก็ทำลายกันเองนะ

ลองนึกถึงระบบนิเวศในป่า การปลูกผักก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่ามีแมลงหลายประเภทที่เป็นแมลงที่ดีด้วย

กลายเป็นว่า การปลูกผักทำให้เห็นคุณค่าของแมลง
ใช่ค่ะ แมลงบางชนิดเขาก็ผสมเกสรให้เรา นอกจากเห็นคุณค่าของแมลง ก็เห็นคุณค่าของดอกไม้ยิ่งกว่าเดิมด้วย เพราะบางทีดอกไม้ที่ขึ้นมาเองในสวนตามธรรมชาติก็ช่วยเรียกผีเสื้อ เรียกแมลงดีๆ เข้ามากำจัดแมลงที่ไม่ดีในสวน นอกจากแมลง ตอนนี้เราเจอกบ เขียด อึ่งอ่าง ปาด พวกนี้เขาจะกินแมลงที่ไม่ดีให้เรา ถ้าอยู่กับตึกเขาจะตัวขาวๆ ซีดๆ แต่ถ้าอยู่กับต้นไม้ตัวเขาก็จะสีเขียวๆ น่ารักดี บางทีลูกสาวมาเห็นเราให้ข้าวจิ้งจก เขาก็ถามว่าแม่จะเลี้ยงจิ้งจกทำไม (ยิ้ม) เราเลี้ยงเพราะว่าเขาก็มีประโยชน์ เขากินแมลงที่เข้ามาในบ้าน มดเขาก็กิน แล้วเขาก็ไม่ได้ทำอะไรให้เราเดือดร้อนมาก

ความรู้สึกที่ปลูกผักแล้วงอกงาม มันเหมือนตอนปลูกไม้ประดับไหม

​เห็นดอกไม้ออกดอกมันก็เป็นความสุขใจ แต่มันกินไม่ได้ การปลูกผักเรามีความสุขอย่างหนึ่งก็คือ เราภูมิใจที่สามารถผลิตอาหารได้ โดยที่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยคิดว่าเราจะปลูกผักได้ คิดว่าคนที่จะปลูกผักต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น ความสุขอีกอย่างคือรู้สึกว่าการปลูกผักเป็นวิถีชีวิตที่สงบ เวลาเราเข้าไปทำสวนจะรู้สึกมีความสุข เหมือนได้ทำสมาธิไปด้วยเพราะเราจะไม่คิดอะไรในหัวเลย เข้าไปแล้วโล่งหมด เราก็พรวนดินของเราไป ตัดแต่งไป

ทำไมถึงรู้สึกภูมิใจที่ผลิตอาหารเองได้
​เราไม่เคยจะคิดว่าเราปลูกผักได้ แต่พอเราเริ่มจากเมล็ดเล็กๆ เพาะมันขึ้นมา ดูแลจากต้นเล็กๆ เฝ้ารดน้ำใส่ปุ๋ยดูมันทุกวัน จนกระทั่งถึงวันที่มันโตพร้อมที่จะให้เรากิน เรารู้สึกว่าฉันสามารถทำให้มันเติบโตได้ แล้วเราก็ตัดเอามาทำกับข้าว กินด้วยความอร่อย บอกไม่ถูก แต่ทั้งหมดคือความรู้สึกภูมิใจที่เราทำสิ่งที่เรากินได้ด้วยตัวเราเอง

แล้วอะไรทำให้คุณแม่ไม่ล้มเลิกการปลูกผักไปง่ายๆ
เราสนุกที่จะปลูก เราอยากเข้าสวนไปดูมันทุกวัน ต้นไม้มีพัฒนาการของมัน เราเห็นทุกวันว่าโตแล้วมันเป็นยังไง เป็นขั้นตอนของมันไป ยิ่งได้เก็บผลผลิตมาทานแล้วอร่อย ผักที่เราปลูกมันหวานกรอบแบบที่เราไม่เคยเจอจากผักที่ซื้อจากตลาด อย่างปกติลูกสาวเราเป็นคนไม่ชอบกินพวกมะเขือพวง มะเขือเปราะ เพราะรู้สึกว่ามันขม แม่ก็บอกให้ลองดู เขาก็ยอมกินเพราะเราปลูกเอง แล้วเขาก็พบว่าจริงๆ มันหวานนะ ไม่เหมือนที่ตลาดเลย ผักอย่างตะไคร้ กะเพรา ผักชี พริกขี้หนู เราตัดมาจากสวนปุ๊บกลิ่นก็หอมฟุ้ง จับแล้วกลิ่นติดมือเลย ถ้ามีผักมากพอก็ยังได้แจกจ่ายไปให้เพื่อน ญาติ บ้านใกล้เรือนเคียงทานด้วยความรู้สึกสนิทใจว่าผักของเราไม่มีอะไรที่เป็นพิษภัย

เพื่อนบ้านเห็นคุณแม่ปลูกผักจริงจัง เขาว่ายังไงกันบ้าง
​เมื่อก่อนตรงแถวบ้านจะมีคนมานั่งสังสรรค์กันตรงเพิงทุกวัน และแถวนั้นมีมุมที่กองขยะสกปรก พอเขาเห็นว่าอยู่ดีๆ เราปลูกผักทำแปลงจริงจัง เห็นเราเข้าไปขุดดินทุกวัน

มีวันหนึ่งเราได้ยินเขาพูดกันว่า “มึงกลับไปเฮ็ดที่บ้านเลย เจ๊ยังเฮ็ดได้ มึงก็เฮ็ดได้” หลังจากนั้นเราก็เห็นเขาเริ่มปลูกต้นไม้เล็กๆ ริมทางกันขึ้นมาแทนที่กองขยะ แล้วก็ถางหญ้าให้เรียบร้อยขึ้น พอมันสะอาดคนอื่นก็ไม่กล้าทิ้งของสกปรก ดีมากเลย เราก็รู้สึกดีนะ (ยิ้ม) เหมือนเราเป็นไอดอลของซอยนี้ ช่วยแก้ปัญหาในซอยได้ แบบไม่ได้ต้องไปพูดอะไรกับใครเลย คือมันเกิดจากการที่เขาแค่เห็นสิ่งที่เราทำ

สุดท้าย มีอะไรอยากบอกคนเมืองที่อยากปลูกผักเหมือนกัน
​เริ่มเลยค่ะ ไม่ต้องรอเวลาว่าไว้ฉันแก่หรือเกษียณแล้วค่อยทำ ถ้าอยากทดลองก็ทำเลย มันมีผักที่ปลูกง่ายมากๆ อาจจะไม่ต้องเพาะเมล็ด อย่างโหระพา กะเพรา แค่ปักกิ่งชำก็ขึ้นได้แล้ว แต่ต้องใส่ใจให้น้ำให้ปุ๋ยเขาบ้าง เขาก็สามารถเติบโตได้ แล้วเก็บเอามาทำกับข้าวก็จะรู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก ว่าดีจังเลยนะที่ฉันปลูกเอง แล้วฉันกินเอง ส่วนใครที่ปลูกและมีประสบการณ์แล้ว ก็อยากให้แบ่งปันความรู้ จะได้มีคนเริ่มลงมือทำเหมือนที่เราเคยได้รับมา

มีข้อควรระวังในการปลูกผักกินเองไหมคะ
​ถ้าปลูกแล้วต้องกินให้ทัน คิดเมนูไว้เยอะๆ เลย (หัวเราะ)

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง