ปลายเดือนตุลาคมถึงต้นพฤศจิกายนเป็นช่วงเวลาสำคัญของคนเป็นชาวนา เพราะนี่คือฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตที่รอคอยมานานหลายเดือน  สำหรับชาวนาไทยทั่วไปที่ทำนาเพื่อขายอาจไม่มีอะไรพิเศษ แต่สำหรับชาวปกาเกอะญอแล้ว ข้าวคือทั้งหมดของชีวิต วันเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นสิ่งชี้ชะตาว่า จะอยู่สุขสบายอย่างมีข้าวพอกินหรือไม่ตลอดปีนี้

คนปกาเกอะญอสอนลูกหลานเสมอว่าแค่มีข้าวกินทั้งปีก็ถือว่าร่ำรวยแล้ว ดังมีคำสุภาษิตกล่าวกันว่า ‘เงินเต็มกระบุง ข้าวไม่เต็มยุ้งฉาง’ สะท้อนชีวิตเรียบง่าย ไม่สะสมสิ่งใดได้เป็นอย่างดี  โดยมีแนวคิดว่าหากคนเราทำงานเพื่อหาเงินเพียงอย่างเดียว สิ่งนั้นไม่ได้ยืนยันว่าจะมีกิน แต่การมีข้าวเพียงพอจึงเรียกว่าเป็นความมั่นคงที่แท้ของชีวิต

เอามื้อ: เอาเรี่ยวแรงมาแบ่งปัน

วัฒนธรรมเรื่อง ‘การเอามื้อเอาแรง’ หรือ ลงแขกเกี่ยวข้าวนั้นเป็นวัฒนธรรมร่วมที่มีมานาน แต่นับวันค่อยๆ เลือนหายไปทุกทีในสังคมสมัยใหม่ที่ทุกอย่างเนรมิตได้ด้วยเงิน แต่การมีชีวิตที่ประสานความร่วมมือ มีน้ำจิตน้ำใจต่อกันในหุบเขาท่ามกลางป่า (แม้ว่ามีถนนเข้าถึงหมู่บ้านทำให้เข้าออกชุมชนได้ง่ายขึ้น) ย่อมเป็นเครื่องยืนยันความอยู่รอดแบบรวมหมู่ได้มากกว่าชีวิตแบบตัวใครตัวมันแน่นอน

แนวคิดของการเอามื้อนั้นเรียบง่าย คือ เมื่อฉันไปช่วยนาเธอ เธอก็มาช่วยนาฉัน ทั้งวันดำนา เกี่ยวข้าว และตีข้าว โดยที่เจ้าของนาจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลอาหารการกินและการดูแลบริการทุกอย่างแก่แรงงานที่ออกแรงมาช่วย การเอามื้อรอบไหนที่มีผู้ชายมากหน่อยย่อมเป็นผลดีตรงที่ว่างานอาจเสร็จเร็วขึ้น เวลาที่เราไปช่วยเอามื้อบ้านคนอื่นจึงต้องพยายามให้มีแรงงานผู้ชายไปช่วยด้วย เมื่อถึงรอบงานของเราบ้านอื่นๆ จะได้ส่งแรงงานผู้ชายมาช่วยเราบ้าง

ฉันได้มีโอกาสติดตามครอบครัวของครูจันทร์ฉาย ดอกผู้ชาย คุณครูโรงเรียนบ้านโป่งน้ำร้อน อ. เสริมงาม จ. ลำปาง ไปร่วมตีข้าว ครูเล่าว่านาของที่บ้านอยู่ในป่า ต้องเดินเข้าป่าแล้วข้ามลำธารไปอีกทอดหนึ่งจึงจะถึงที่นา (ซึ่งที่ดินแบบนี้ถือว่าทำเลดีมากเพราะใกล้แหล่งน้ำ) บ้านไหนมีนาข้าวถือว่าโชคดีที่สุดเพราะเป็นเครื่องยืนยันว่าสมาชิกครอบครัวไม่จะอดอยาก เนื่องจากนาข้าวให้ปริมาณข้าวได้มากกว่าไร่หมุนเวียนที่ปลูกทุกอย่างผสมผสานกันทั้งข้าวและพืชอาหารชนิดอื่นๆ

ในอดีตสมัยที่ไม่มีรถ สมาชิกในครอบครัวต้องตื่นตั้งแต่มืดเพื่อเตรียมสิ่งของแล้วเผื่อเวลาเดินทางไปนา ยามขนข้าวออกจากนาก็ต้องบรรทุกมาด้วยวัวเทียมเกวียนในวันรุ่งขึ้น แต่ทุกวันนี้ มีรถยนต์ทุ่นแรงแล้ว ชีวิตสบายขึ้นมาก แต่แน่นอนว่าแม่ยังต้องทำงานหนักที่สุดในการเตรียมอาหารเอามื้อ วัตถุดิบบางอย่างต้องเตรียมไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เย็นวันก่อนงาน เช่น เตรียมนึ่งผักไว้กินกับน้ำพริก ตำเครื่องแกง รุ่งเช้าวันงานจึงลุกมานึ่งข้าวเพื่อนำทุกอย่างเข้าไปในนา (ในป่า) ซึ่งมีข้อจำกัดในการปรุงอาหารมากกว่าเดิม

การงานของความร่วมใจ

โดยทั่วไปแล้วก่อนถึงวันตีข้าว เจ้าของนาจะเข้ามาเกี่ยวข้าวให้เสร็จก่อนแล้วตากข้าวกลางแดดไว้ 3 วัน เพื่อให้ข้าวแห้งสนิท เป็นวิธีการลดความชื้นและช่วยให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวงง่ายขึ้นเมื่อตีข้าว เมื่อไปถึงที่นา เจ้าบ้านจะเตรียม ‘ลานตีข้าว’ โดยใช้มีดตัดตอซังข้าวออกเป็นบริเวณกว้าง ปูแผ่นพสาสติกรอง เอาแท่นไม้มาวางไว้เพื่อใช้ตีข้าวในจุดนี้  

แรงงานผู้หญิงเหน็บตอกที่ทำจากไม้ไผ่เส้นยาวไว้บริเวณเอวแล้วกอบข้าวเป็นกำใหญ่ๆ ใช้ตอกมัดให้แน่น วางไว้เป็นกองๆ แรงงานผู้ชายส่วนหนึ่งจะแบกกองข้าวที่มัดแล้วมาวางไว้ใกล้วงตีข้าว แรงงานผู้ชายที่เหลือรวมทั้งเจ้าของบ้านจะใช้ไม้ตีข้าว ซึ่งทำจากไม้แท่งยาวสองชิ้นร้อยเข้ากันด้วยเชือกมาคล้องรวงข้าวที่มัดเป็นกองไว้แล้ว นำไปตีที่ลานเพื่อให้ข้าวหลุดออกจากรวง ทำอย่างนี้ไปตลอดทั้งวันท่ามกลางอากาศอันร้อนระอุ ทว่าทุกคนกลับทำงานด้วยรอยยิ้ม  

ในวันที่สังคมก้าวหน้าสะดวกสบายด้วยเครื่องทุ่นแรง การทำงานหนักด้วยแรงงานอาจเป็นเรื่องล้าหลังสำหรับใครหลายคน แต่การได้อยู่ในบรรยากาศของความร่วมแรงร่วมใจเช่นนั้น กลับทำให้ฉันอิ่มเอมใจ อาหารเหล่านี้มีพลังงานของความรักผสมผสานอยู่ เป็นอาหารที่กินแล้วเสริมสร้างพลังชีวิตอย่างแท้จริง ใครที่ได้อยู่ร่วมในกระบวนการได้มาซึ่งอาหารแบบนั้น ย่อมกินอาหารด้วยความรู้สึกขอบพระคุณในหัวใจเป็นแน่แท้

อาหารเอามื้อ: อร่อยเรียบง่ายริมสายธาร

ทุ่งนาของบ้านครูจันทร์ฉายสวยงามจนน่าตื่นตะลึง เพราะตั้งอยู่ในโอบล้อมของป่า (แบบต้องเดินฝ่าป่าลงดอยไป) มีลำธารขนาดใหญ่ไหลอยู่เคียงข้าง ในช่วงหน้าแล้งเช่นนี้ น้ำในลำธารเหือดแห้งไปบางส่วน เกิดเป็นหาดหินขนาดใหญ่ ซึ่งกลายเป็นห้องครัวขนาดใหญ่ของเรา

แม่ปรุงอาหารในครัวริมธารโดยมีเพื่อนบ้านช่วยก่อหินสามเส้าเตรียมเป็นเตาทำอาหาร เหลาไม้ไผ่มาเป็นเครื่องครัวต่างๆ ที่จำเป็น เช่น สากสำหรับตำส้มตำ ไม้เสียบของปิ้งย่าง ความน่าสนใจของการทำครัวเลี้ยงคนจำนวนมากนับ 30 คนโดยแทบไม่นำอุปกรณ์อะไรติดตัวมาเลย สะท้อนความสามารถในการอยู่ร่วมกันป่าได้อย่างกลมกลืน พวกเขาเรียนรู้ว่าจะต้องใช้อะไรจากวัสดุชนิดใดในป่าซึ่งเป็นทักษะที่คนเมืองอย่างเราแทบหลงลืมไปจนหมดแล้ว

รายการอาหารกลางวันสำหรับการเอามื้อ คือ แกงเผ็ดไก่ ปรุงจากไก่บ้าน 2 ตัวที่แม่เลี้ยงเองแบบไม่ใช้สารเคมีใดๆ สับเนื้อไก่เป็นชิ้นเล็กๆ ผัดกับพริกแกงที่เรียบง่ายคือพริกและเกลือ พริกกะเหรี่ยงนี้แม่ก็ปลูกเอง มีความเผ็ดจัดจ้านกว่าพริกขี้หนูทั่วไป ผัดจนสุกเติมน้ำเล็กน้อยแล้วใส่ข้าวคั่ว ทำให้แกงมีความหนืดข้น เหมาะจิ้มกินกับข้าวเหนียว กินง่ายในสภาพที่ไม่สะดวกสบายในป่า ให้รสชาติเผ็ดเค็ม เนื้อไก่บ้านเหนียวหนึบหนับ  

อีกจานที่ขาดไม่ได้คือ ส้มตำ อาหารเรียกความสดชื่นยามเหนื่อยล้า ที่ได้มาจากมะละกอสดปลิดจากต้นที่บ้าน และเครื่องเคียงง่ายๆ แค่พริก เกลือ และน้ำปลาร้าเท่านั้นเอง ชาวปกาเกอะญอกินผักเก่ง ในมื้ออาหารธรรมดาจึงอร่อยอู้ฟู่ด้วยผักหลากชนิดที่ปลูกเอง เช่น ฟักทองเนื้อเหนียวหวานมัน ถั่วพื้นบ้านคล้ายถั่วฝักยาวที่แกะกินแต่เมล็ด

ยามบ่ายมีของว่างคลายร้อนให้สมาชิกเอามื้อทุกคน คือ หวานเย็น ของหวานใส่ถุงแช่เย็นจนกลายเป็นน้ำแข็ง ชวนคิดถึงความสุขวัยเยาว์ เป็นของหวานที่บรรเทาความร้อนระอุลงไปได้อย่างเป็นสุข บ่ายคล้อยอีกหน่อย เจ้าบ้านย่างปลาเป็นของว่างรองท้องก่อนถึงมื้อเย็น เพราะการงานในวันนี้ยังอีกยาวไกลนัก ส่วนเด็กๆ กินไข่ตุ๋นที่ปรุงสุกในกระบอกไม้ไผ่ เมื่อสุกแล้วก็เหลาให้บางจนมองดูราวกับเป็นกระบอกข้าวหลามทีเดียว

ห้องเรียนในทุ่งกว้าง

มีเด็กๆ หลายคนที่ได้ติดตามพ่อแม่มาร่วมกิจกรรมตีข้าว เป็นโอกาสอันดีที่พวกเขาจะได้เรียนรู้ สังเกต จดจำเพื่อสืบสานวิถีชีวิตวัฒนธรรมของตนเองต่อไป เป็นการเรียนรู้ที่ค่อยๆ ซึมลึกและสนุกยิ่งกว่าการเรียนวิชาสังคมศึกษาในห้องเรียนเป็นแน่แท้

หนานบอยเป็นเด็กหนุ่มรุ่นใหม่คนหนึ่งที่ตั้งใจสืบสานเรื่องวิถีชีวิตแบบชาวปกาเกอะญอในหลากมิติ เขาเลือกมีอาชีพเป็นคนเลี้ยงวัวที่มีความสุขพร้อมกับถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาให้กับเด็กๆ รุ่นต่อไป ในระหว่างที่ผู้ใหญ่กำลังทำกิจกรรมในนาข้าว หนานบอยพาเด็กๆ ไปงมปู จับปลาด้วยมือเปล่าในลำธาร เป็นการเรียนรู้เรื่องทักษะการหาอาหารเพื่อเอาตัวรอดเมื่ออยู่ในป่า ตัดกิ่งไผ่มาเนรมิตเป็นระหัดวิดน้ำอันจิ๋ว ชวนให้เด็กน้อยหัวเราะเอิ๊กอ๊ากด้วยความชอบใจ เป็นการเรียนรู้เรื่องการจัดการน้ำด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ตัดต้นข้าวมาเป่าเป็นนกหวีด เป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ของเล่นพื้นบ้านจากวัสดุรอบตัว รวมทั้งสอนให้เด็กน้อยเหลาไม้ไผ่เสียบปลาย่างหรือทำไข่ตุ๋นจากกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งน้องภูมิ-หลานชายของครูจันทร์ฉายยืนยันว่า “ไม่ง่ายนะครับ ถ้าย่างไม่เป็น ไข่ในกระบอกระเบิดแน่ๆ” พลางหัวเราะชอบใจ

ภาพหนึ่งที่น่ารักมากคือน้องเติร์ดหลานคนเล็กของครูจันทร์ฉายวัยสองขวบ เดินไปรบเร้าให้พ่อหยิบไม้ตีข้าวที่มีรวงข้าวมาให้ ตาก็มองผู้ใหญ่ในวงตีข้าวไป ตัวเองก็ตีข้าวในแบบของตัวเองไป ช่างเป็นการเรียนรู้ในทุ่งนาอันกว้างใหญ่ที่มีชีวิตชีวาเหลือเกิน

ตะวันเริ่มคล้อยต่ำลับเหลี่ยมเขาแล้ว ทุกคนเร่งมือกันกวาดเก็บเมล็ดข้าวใส่กระสอบ ที่นา 3 ไร่ปีนี้ให้ผลผลิตได้กว่า 60 กระสอบ เป็นอันอุ่นใจได้แล้วว่าไม่อะไรจะเกิดขึ้น ครอบครัวจะไม่ลำบากแน่นอน “ต่อให้ไม่มีเงินแต่ก็มีข้าวกิน” แม่ยิ้มบอกเล่าอย่างหายเหนื่อย เพื่อนบ้านช่วยกันแบกกระสอบขึ้นเขาไปใส่ท้ายรถ แล้วนำข้าวไปเข้าหลองข้าว (ยุ้งฉาง) ก่อนที่เจ้าบ้านจะขอบคุณทุกคนเป็นครั้งสุดท้ายด้วยลาบหมูมื้อใหญ่ในช่วงค่ำ

ตลอดทั้งวันที่ฉันได้เรียนรู้วิถีชีวิตอันง่ายงามนี้ ทำให้ได้ตระหนักว่าการอนุรักษ์ที่แท้จริงไม่ได้หมายถึงการงดใช้งดบริโภคบางสิ่งบางอย่าง หากหมายถึงการรู้จัก ‘ใช้อย่างพอเหมาะพอสม’ การอนุรักษ์ป่าสำหรับพวกเขาไม่ได้หมายถึงการไม่ตัดต้นไม้ แต่หมายถึงตัดมาใช้อย่างพอดี และปลูกเพิ่มเสริมเข้าไป การอนุรักษ์ความหลากหลายในลำธารไม่ได้หมายถึงการงดจับสัตว์ในน้ำ หากหมายถึงการหาอยู่หากินอย่างพอเพียง และบางทีคำว่า ‘พอ’ นี่แหละสำคัญกว่าทุกสิ่ง

ไม่แปลกใจเลยที่เหตุใด ชาวบ้านที่นี่จึงบอกว่า “แค่มีข้าวกินทั้งปีก็ร่ำรวยที่สุดแล้ว”

หมายเหตุ : บ้านโป่งน้ำร้อน อ. เสริมงาม จ. ลำปาง เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในเชิงเขา มีภูมิประเทศที่น่าสนใจคือมีตาน้ำร้อนผุดขึ้นในลำธารของหมู่บ้านเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร มีการวางแผนที่จะเปิดบริการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอนาคต

ขอขอบคุณ : คุณครูจันทร์ฉาย ดอกผู้ชายและครอบครัวที่เอื้อเฟื้อที่พักและอาหารตลอดการทำงาน คุณภูดิท ทาสุคนธ์ ผู้สนับสนุนการเดินทาง

ภาพถ่าย: วิรตี ทะพิงค์แก