เทรนด์การกินอาหารมังสวิรัติกำลังเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน นอกจากจะดีต่อสุขภาพแล้ว ยังดีต่อโลกเราอีกด้วย เพราะการงดเนื้อสัตว์มีส่วนช่วยลดก๊าซมีเทนในการทำฟาร์มปศุสัตว์ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจกอาจมีส่วนทำให้โลกร้อนนั่นเอง ซึ่งการกินมังสวิรัติ แบบงดหรือเบาเนื้อสัตว์ ก็มีให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบ เจ (J-Chinese Vegetarian) พืชเป็นหลัก (Plant-based) วีแกน (Vegan) มังสวิรัติ (Vegetarian) และมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) 

โดยในปี 2021 นี้ ทาง Greenery ได้จัดกิจกรรม Greenery Eat-Good Recipe Contest ประกวดเมนูมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น เบาเนื้อสัตว์ เน้นผักให้เต็มจาน ซึ่งเป็นกิจกรรมจาก Greenery Contest ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้วโดยทางคณะกรรมการได้คัดเลือกผู้ชนะเจ้าของเมนูสุขภาพสุดสร้างสรรค์ในธีมมังสวิรัติแบบยืดหยุ่นทั้ง 8 คน กับ 8 จานบันดาลใจ รวบรวมสูตรดีๆ มาเผยแพร่ใน www.greenery.org และสื่อสร้างสรรค์อื่นๆ รวมไปถึง E-Cookbook : Greenery Healthy & Easy Flexitarian Cookbook ที่ทุกคนจะได้อ่านไอเดียและวิธีทำของสูตรอาหารมังสวิรัติแบบยืดหยุ่นทั้ง 8 เมนู เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและนำไปต่อยอดเป็นเมนูอร่อย ถูกใจ ได้ประโยชน์ และดีต่อสุขภาพตัวเอง เราเชื่อว่าการมีสุขภาพดีทำได้ง่ายๆ แค่ปรับไลฟ์สไตล์ด้วยการกินดี เลือกวัตถุดิบจากธรรมชาติ ปลอดสารพิษปรุงรสน้อยและงดเนื้อสัตว์บ้างตามโอกาสเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของเราและสิ่งแวดล้อมที่ดีของโลก

ในครั้งนี้ greenery. ได้ชวนผู้ชนะทั้ง 8 มาเล่าถึงที่มาและเคล็ดลับในการสร้างสรรค์ 8 เมนูจานด่วนปรุงง่าย ที่อยู่ในหนังสือ ‘Healthy & Easy Flexitarian Cookbook สูตรอาหารมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น เบาเนื้อสัตว์ เน้นผักเต็มจาน’ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการปรุงอาหารดีให้กับทุกคน

คุยกับ 8 เจ้าของสูตรมังสวิรัติแบบยืดหยุ่นสร้างแรงบันดาลใจการกินดี



เมนูสลัดแสร้งว่าลาบเหนือ : พิมลวรรณ สินบุญมี (แนน)

พิกัด: กรุงเทพฯ

แนน-พิมลวรรณ สินบุญมี คุณครูจากโรงเรียนมัธยมวัดสุทธารามที่มีความสนใจอาหารเพื่อสุขภาพและชอบลองทำเมนูใหม่ๆอยู่เสมอ ได้เปลี่ยนเมนูสลัดผักทั่วไปให้เป็นเมนูฟิวชั่นกินง่ายที่เกิดจากการนำสลัดผักมามิกซ์รวมกับลาบเหนือที่ทำจากกากเต้าหู้ กลายเป็นเมนูสลัดแสร้งว่าลาบเหนือได้ความอร่อยครบรสในหนึ่งคำ

“แนนรู้สึกว่าการกินสลัดผักเป็นจานๆ อาจจะกินยากและน่าเบื่อ จึงคิดถึงเมนูลาบที่ต้องกินแนมกับผักเยอะๆ และกินได้พร้อมกันทีเดียวหนึ่งช็อตไปเลย เราใช้กากเต้าหู้จากร้านน้ำเต้าหู้ที่เขาไม่เอาแล้ว นำมาบิดให้แห้งแล้วค่อยคลุกกับเครื่องลาบ ที่มีพริกแกงและสมุนไพรหลายอย่าง ปั้นเป็นก้อนกลมแล้วเอาไปจี่บนกระทะให้พอหอม เนื้อสัมผัสของกากเต้าหู้จะนุ่มและมีความคล้ายเนื้อไก่อยู่บ้าง แถมยังมีโปรตีนที่ร่างกายต้องการด้วย โดยจะปรุงรสให้จัดจ้านนิดหน่อยกินคู่กับผักออร์แกนิก”    

“กากเต้าหู้เป็นของเหลือทิ้ง เราเหมือนเอาของที่ไม่มีประโยชน์มาทำให้มีคุณค่าขึ้น นำมาปรุงเป็นอาหารอีกจานหนึ่งได้ ถือเป็นเมนูรักษ์โลกได้ด้วย”  

“สำหรับมือใหม่ในการกินมังสวิรัติ แนนอยากให้ลองกินมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น ที่ยังกินพวกเนื้อสัตว์อย่างไก่หรือปลา ไข่ นม ได้อยู่ เพราะร่างกายจะคงยังได้สารอาหารที่ครบถ้วนด้วย”

เมนูข้าวหมกสมุนไพรปลากะพง ไข่ต้ม และแจ่วมะเขือส้ม : ณัฐวุฒิ  ศูนย์กลาง (นัท)

พิกัด : พะเยา

หนุ่มเหนือจากจังหวัดพะเยา นัท – ณัฐวุฒิ  ศูนย์กลาง ได้ต่อยอดเมนูจานบันดาลใจจากหมกปลาดุก มาเป็นเมนูมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น ข้าวหมกสมุนไพรปลากะพง ไข่ต้ม และแจ่วมะเขือส้ม ที่มีส่วนช่วยแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้อีกด้วย

“ผมสนใจวัตถุดิบพื้นบ้าน รู้สึกว่าสามารถนำมาทำอะไรได้หลากหลาย อย่างเมนูนี้ขั้นตอนการทำคือ นำเนื้อปลากะพงไปห่อใบตองแล้วนำไปย่าง แล้วนำมาโปะบนข้าวหุงสุกที่ผสมสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ขมิ้นชัน หอมแดง พริกย่าง จากนั้นพอมีรสชาติ จะใส่ผักชีลาวเพิ่มความหอมแล้วเอาไปหมกในใบตอง ย่างประมาณ 3-5 นาที ให้กลิ่นใบตองซึมลงข้าวจนได้กลิ่นหอม กินกับเครื่องเคียงแจ่วมะเขือส้มที่ช่วยตัดรสชาติกัน ได้ความกลมกล่อมครบรส”  

“ส่วนผสมของสมุนไพรที่ใช้ในเมนูนี้ อย่างขมิ้นชันมีฤทธิ์แก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้ เนื้อปลาเป็นเนื้อสัตว์ที่ทานง่าย ย่อยง่าย มีคุณประโยชน์”

“ส่วนตัวผมชอบกินผักเป็นพิเศษ เวลาจะซื้อผัก ผมจะไปตามแหล่งที่เขาขายผักพื้นบ้านที่เก็บมาขายกันเอง เน้นที่ปลูกแบบธรรมชาติ ข้อดีของการกินผักพื้นบ้าน คือ มีกลิ่นหอมกว่า รสชาติดีกว่า รู้สึกปลอดภัย ดีต่อร่างกายเรา”  

เมนูราดหน้าน้ำแดงเส้นคู่ สูตรมังสวิรัติ : วีรเทพ อาจอาคม (เบ๊นซ์)

พิกัด: สมุทรปราการ

เมนูราดหน้ามังสวิรัติชนิดโลว์คาร์บ ไม่เน้นแป้ง ฝีมือการปรุงจากเบ๊นซ์ – วีรเทพ อาจอาคม ที่มีการดัดแปลงจากเส้นใหญ่มาเป็นเส้นมะละกอดิบแทน เข้ากันดีกับราดหน้าน้ำแดงเห็ดหอม รสชาติอร่อย แคลอรี่ต่ำ 

“ราดหน้าปกติจะมีแค่เส้นที่ทำจากแป้ง เลยอยากลองเส้นที่ทำจากผักผลไม้ดูบ้าง จึงเอาเส้นมะละกอมาทำดู โดยฝานมะละกอให้เป็นเส้นบางๆ หน้ากว้างคล้ายเส้นใหญ่ เอาไปลวกน้ำร้อนพอให้นุ่ม และเอามาช็อกน้ำเย็น จะคงความกรอบและคุณค่าของสารอาหารไว้ ส่วนน้ำของราดหน้าจะได้กลิ่นหอมของเห็ดหอม และพริกไทย กินคู่กับเส้นหมี่ที่ทำจากผักหวานหรือหมี่ข้าวกล้องก็ได้”

“ไลฟ์สไตล์การกินของผมจะกินมังสวิรัติบ้างเป็นครั้งคราว เน้นแบบยืดหยุ่นไม่ได้เคร่งมาก แต่มาเริ่มสนใจอาหารสุขภาพจริงๆ ก็ตอนเริ่มเข้าฟิตเนส ตอนนั้นจะเริ่มกินอาหารคลีน โดยทำกินเอง เน้นการปรุงรสให้น้อยที่สุด เน้นเนื้อปลาหรือไก่ที่ย่อยง่าย ซึ่งผมรู้สึกว่าการกินอาหารคลีนช่วยในเรื่องการลดน้ำหนัก และทำให้ร่างกายดูกระชุ่มกระชวยขึ้น”

“การเลือกวัตถุดิบ จะดูจากฉลากสินค้าว่าเป็นออร์แกนิก หรืออินทรีย์ ผักบางชนิดเราก็ปลูกเองหลังบ้าน เช่น ผักกวางตุ้งฮ่องเต้ เราปลูกโดยใช้ปุ๋ยจากขี้ไก่ เพราะที่บ้านเลี้ยงไก่ กินผักที่เราปลูกเองได้ความสุขทางใจมากกว่า”

แม้ว่าตอนนี้ตารางการทำงานจะค่อนข้างยุ่ง จนทำให้เบ๊นซ์ไม่ค่อยได้ทำอาหารสุขภาพกินเอง แต่ก็จะพยายามเลือกวันหยุดประจำสัปดาห์สักหนึ่งวัน ในการทำอาหารอาหารคลีนหรือมังสวิรัติกินเองสัก 1 มื้อ ถือเป็นเคล็ดลับการกินอาหารสุขภาพให้เหมาะกับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาอย่างหนุ่มสาวออฟฟิศวัยทำงานทุกคน

เมนูพาสต้าครีมซุปข้าวโพดนมถั่วเหลือง : ภาณิชา อรุณแจ้ง (เตย)

พิกัด: กรุงเทพฯ

สาวสายวีแกน เตย – ภาณิชา อรุณแจ้ง ที่เริ่มกินมังสวิรัติตั้งแต่อายุ 20 ปี ก่อนจะหันมาเป็นวีแกนเต็มตัว แนะนำเมนูซุปสุดโปรด ซุปครีม (นมถั่วเหลือง) ที่ทำง่าย ได้ประโยชน์ และรสชาติดีอีกด้วย

เตยอธิบายขั้นตอนการทำเมนูพาสต้าครีมซุปข้าวโพดนมถั่วเหลือง แบบง่ายๆ คือ ผัดเนยให้หอมแล้วเอาเห็ดกับข้าวโพดลงไปผัด (สำหรับวีแกนใช้น้ำมันมะพร้าวแทนเนยได้ หรือเนยวีแกนได้) ใส่นมถั่วเหลืองลงไปต้มให้เดือด ปรุงรสนิดหน่อย เป็นซุปที่มีเนื้อให้ตักกิน ไม่ใช่ซุปครีมละเอียด ถ้าอยากให้ข้นขึ้นก็ใส่แป้งข้าวไทยลงไปนิดหน่อยได้ 

“จุดเริ่มต้นของการกินวีแกนคือ ตอนนั้นเป็นภูมิแพ้ผิวหนังค่อนข้างหนัก เราเลยไปรักษาแบบพวกภูมิปัญญาพื้นบ้าน ใช้อาหารรักษาสมดุลร้อน-เย็นในร่างกาย เขาจะไม่กินเนื้อสัตว์กัน เราเลยหักดิบเลิกกินเนื้อสัตว์ทันที กินมังสวิรัติแทน ตอนนี้เป็นวีแกนร้อยเปอร์เซ็นต์ เวลาอยู่ข้างนอก ไปกินกับเพื่อนจะเป็นวีแกนประเภทเขี่ย คือเขี่ยพวกเนื้อสัตว์ออก จะได้ไม่ทำให้คนอื่นลำบาก”

“ส่วนการปรุงรสหรือการเลือกใช้วัตถุดิบ เตยใช้เครื่องปรุงไม่เยอะ ถ้าปรุงที่บ้านก็ใช้ดอกเกลือเป็นหลัก ลดหวาน ลดเปรี้ยว รสชาติอาหารจะค่อนข้างอ่อนเหมือนอาหารเด็ก ลิ้นของเราจะเริ่มชินกับรสชาติจืดๆ ฉะนั้นปรุงรสแค่นิดเดียวก็พอแล้ว”

“เคล็ดลับในการงดเนื้อสัตว์ ให้ลองเลิกกินเนื้อสัตว์ใหญ่ก่อน แล้วค่อยเลิกกินเนื้อสัตว์เล็กลงมาเรื่อยๆ จนเริ่มชินและเลิกกินไปเอง หรือถ้าเราไม่อยากเลิกกินไข่ก็ให้กินแบบมังสวิรัติแบบยืดหยุ่นที่กินไข่ได้แทน”

เมนูขนมจีนน้ำยาเต้าหู้คลีน : ภานิชา ปณัยเวธน์ (วาว)

พิกัด : สงขลา

วาว – ภานิชา ปณัยเวธน์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับแรงบันดาลใจในการทำอาหารคลีนเพื่อสุขภาพกินเอง และเมนูมังสวิรัติไร้เนื้อสัตว์รสชาติเข้มข้น ขนมจีนน้ำยาเต้าหู้คลีน

“เมนูนี้ต่อยอดมาจากเมนูขนมจีนน้ำยาเต้าหู้กับปลาดอรี่ แต่ปรับมาใช้เต้าหู้แทนเนื้อปลา ขั้นตอนการทำก็ไม่ยาก เริ่มจากคั่วเครื่องแกงกับน้ำเต้าหู้สูตรเจใช้แทนกะทิ ซึ่งจะได้ความหอมคนละแบบ ย่างเต้าหู้ขาว ในกระทะเทฟลอน ใส่น้ำมันรำข้าวนิดเดียวให้พอมีสีสันและกลิ่นหอม จากนั้นใส่เต้าหู้ลงไปในเครื่องแกง ปรุงรสตามชอบ ตักราดเส้นขนมจีนสด พร้อมกินได้เลย”  

“ไลฟ์สไตล์การกินของวาวจะเน้นอาหารเพื่อสุขภาพ กึ่งมังสวิรัติหรือวีแกน บางทีก็อาหารคลีน หรือโลว์คาร์บ ซึ่งวาวจะกินอาหารมังสวิรัติประมาณ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะในมหาวิทยาลัยจะมีร้านอาหารมังสวิรัติโดยเฉพาะ แต่เวลาไปซื้อที่ร้านจะเจอปัญหาคือ อาหารมีน้ำมันเยอะไปนิดนึง เลยหันมาทำเองเพื่อลดค่าใช้จ่าย และเลี่ยงการใช้น้ำมันเยอะ ปรุงรสน้อย ส่วนการเลือกวัตถุดิบ วาวจะซื้อผักออร์แกนิก ปลอดสารพิษ ในตลาดเกษตรม.อ. มีชาวบ้านปลูกผักเองมาขาย ร้านไหนขายผักออร์แกนิกจะมีวิธีการห่อผักด้วยใบตอง ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกและลดโลกร้อนได้อีก”

“ข้อดีของการกินมังสวิรัติคือ เรารู้สึกว่าสุขภาพของเราดีขึ้น ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องไขมันสะสม”

“สำหรับเคล็ดลับในการลดการกินเนื้อสัตว์มังสวิรัติ วาวแนะนำให้ใช้เต้าหู้มาแทนเนื้อสัตว์ เพราะเนื้อสัมผัสของเต้าหู้บางชนิดยังคล้ายๆ เนื้อสัตว์อยู่บ้าง แถมยังได้โปรตีนด้วยที่ร่างกายต้องการด้วย”

เมนูข้าวดอยตุ๋นผักสี่สหาย กับเต้าหู้ย่างซอสบ๊วยมิโสะ : ลฎาภา อินทรมหา (นี้ด)

พิกัด : กรุงเทพฯ

นี้ด – ลฎาภา อินทรมหา เจ้าหน้าที่ในโครงการ Chula Zero Waste สาวสายงานเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง ที่มีฝีมือการปรุงอาหารไม่ธรรมดา เพราะพาเมนูมังสวิรัติแบบยืดหยุ่นเข้ารอบฉบับเซ็ตเมนูข้าวดอยตุ๋นผักสี่สหาย กับเต้าหู้ย่างซอสบ๊วยมิโสะ

“คอนเซ็ปต์ของเมนูเต้าหู้ซอสบ๊วยมิโสะ นี้ดทำบ๊วยดองหมักเองไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2020 เลยลองเอาบ๊วยดองมาทำเป็นซอสดู ใช้แทนน้ำมะขาม เลยออกมาเป็นเมนูเต้าหู้ซอสบ๊วยมิโสะ มีรสเปรี้ยวอมหวานและเผ็ดนิดๆ จากพริกแห้ง ราดบนเต้าหู้ที่เอาไปจี่ในกระทะเทฟลอนให้รสชาติเป็นเอกลักษณ์”

“ส่วนเมนูข้าวดอยตุ๋นผักสี่สหาย ได้แรงบันดาลใจมาจากเมนูรีซอตโต้ ข้าวสไตล์อิตาเลี่ยน และการกินผักผลไม้ 5 สี เราใช้แครอท ฟักทอง มันม่วง และใบอ่อมแซบปลูกเองที่บ้านซึ่งจะให้รสหวาน เมนูนี้ใช้ข้าวดอยพันธุ์ปะกาอัมปึลที่มาจากจังหวัดเชียงใหม่  เพราะมีความกรุบคล้ายข้าวอิตาเลี่ยน ตุ๋นกับน้ำซุปผักที่ให้รสหวานกลมกล่อม ปรุงรสด้วยเกลือนิดหน่อย ได้รสที่เป็นธรรมชาติมาก”

“ที่บ้านนี้ดจะเน้นกินอาหารปลอดภัย ใช้วัตถุดิบที่ไม่มีสารเคมี พยายามเลือกวัตถุดิบออร์แกนิกที่รู้แหล่งที่มาด้วย ดูที่มาว่าปลูกที่ไหน ปลูกยังไง ใครปลูก ทำให้เราพอรู้ว่ากระบวนการผลิตนั้นว่าสะอาดปลอดภัยแค่ไหน รวมไปถึงการดูตรารับรองบนผลิตภัณฑ์ เช่น USDA Organic หรือ Organic Thailand เพื่อความมั่นใจ”

“การกินมังสวิรัติมีส่วนช่วยลดโลกร้อนได้ เพราะกระบวนการเลี้ยงสัตว์ในปศุสัตว์อย่างวัว ทำให้เกิดก๊าซมีเทนที่อาจทำให้โลกร้อน ถ้าเราลดการกินเนื้อสัตว์ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการฆ่าสัตว์พวกนี้ ลดความต้องการในการเลี้ยงสัตว์และลดก๊าซมีเทนได้”

เมนูข้าวมันเห็ดทรงเครื่องกับซุปเปลี่ยนสีสูตรเจ : สุปรียา คงอินทร์ (ใบเตย)

พิกัด : กรุงเทพฯ

หนึ่งในผู้ชนะการประกวดที่อายุน้อยที่สุดคือ ใบเตย – สุปรียา คงอินทร์ สาวน้อยวัย 22 ปี ที่เริ่มกินมังสวิรัติมาตั้งแต่อายุ 17 จนปัจจุบันกินมังสวิรัติแบบเจ ได้หยิบเมนูเด็กหอที่ทำง่ายใช้อุปกรณ์น้อยและหน้าตาสวยงาม กับเมนูข้าวมันเห็ดทรงเครื่องกับซุปเปลี่ยนสีที่ใครๆ ก็ทำตามได้ไม่ยาก

“เมนูนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเมนูเด็กหอ โดยเอาข้าวและสมุนไพรตามที่เราหาได้ เช่น ควินัว ใบเตย ผงกะหรี่ ใส่ลงไปในข้าว ปรุงรสตามชอบ ใส่ซอสเห็ดหอมทำเอง ใส่มิโสะลงไปเพื่อช่วยดึงรสชาติ และใส่น้ำมันมะพร้าวลงไปนิดนึง หุงข้าวให้สุก จากนั้นเอาเห็ดออรินจิไปจี่กับกระทะให้หอม ย่างให้สีเหลืองสวย มากินคู่กับข้าวที่สุกแล้ว นอกจากนั้นยังมีแตงกวา หรือผักตามฤดูกาลที่เก็บจากบ้านมากินเคียงกันคล้ายข้าวมันไก่ ส่วนน้ำซุปเราใส่ดอกอัญชันปลูกเอง เพื่อให้น้ำเป็นสีฟ้า พอจะกินให้บีบมะนาวลงไป เพื่อให้เปลี่ยนเป็นสีม่วง เพิ่มลูกเล่นให้น่ากินขึ้นมา”

ใบเตยเล่าว่าจุดเริ่มต้นการกินมังสวิรัตินั้นเริ่มจากตอนอายุ 10 ขวบ “พ่อกับแม่พาไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่าอยู่ในเขา ทุกคนกินมังสวิรัติกัน เลยเริ่มศึกษา และเริ่มกินมังสวิรัติตั้งแต่อายุ 17 ปี ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เริ่มทำอาหารกินเองที่หอก็จะซื้อพวกไส้กรอกเจมาเก็บไว้ แต่พอกินไปนานๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ค่อยดีต่อร่างกายเท่าไหร่นัก เพราะอาจมีผงชูรส สารกันบูด ใส่สีผสมอาหาร เลยเลิกซื้อ และหันมาทำเอง อย่างพวกโปรตีนและเทมเป้ ทำซอสเห็ดหอมเก็บไว้ปรุงกินเอง วัตถุดิบจะเลือกแบบโลว์โซเดียม และจากมังสวิรัติ ก็มาเป็นวีแกน และก็มากินแต่เจ เพราะร่างกายของเราไม่ถูกกับของที่เป็นผักฉุน”

“ตอนเริ่มมังสวิรัติแรกๆ เตยจะมีแนวคิดว่า เราไม่สามารถกินมังสวิรัติไปได้ตลอดชีวิต แล้วเริ่มกินแบบวันต่อวัน ตามโอกาสที่สะดวกสำหรับเรา ทำให้เรากินได้นานจนถึงทุกวันนี้” 

ใบเตยยังทิ้งท้ายเคล็ดลับการกินมังสวิรัติให้ประสบความสำเร็จตามแบบฉบับของเธอว่า “อันดับแรก ต้องอย่ากดดันตัวเองหรือตั้งเป้าสูงเกินไป เพราะถ้าไม่ได้ตามที่คาดหวังก็จะทำให้ล้มเลิกได้ง่าย อันดับสองคือ อย่าเพิ่งบอกใคร อยากให้กินตามโอกาสและสถานที่ ให้เราสบายใจและคนรอบข้างสบายใจด้วย” 

เมนูข้าวธัญพืช 5 ชนิดในปลีกล้วย และยำหัวปลีเห็ดนางรมหลวง : ธนกฤต เตชสิทธิธนากุล (กฤต)

พิกัด : ชลบุรี 

เมนูที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเมนูข้าวในปลีกล้วย ตำรับพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา ผู้ดูแลห้องต้นเครื่องปรุงอาหารถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 

“ผมเป็นคนชอบทานอาหารไทยและหลงไหลในเมนูอาหารโบราณ และชอบกินอาหารเพื่อสุขภาพ เลือกทานแต่ของที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการทานอาหารจำพวกของทอด ของหมัก ของดอง และอาหารรสจัด อย่างเมนูข้าวธัญพืช 5 ชนิดในปลีกล้วยนี้ก็ได้แรงบัลดาลใจมาจาก ข้าวในปลีกล้วยของพระวิมาดาเธอฯ นำมาดัดแปลงเป็นอาหารมังสวิรัติ วิธีการทำคือ นำข้าวพร้อมธัญพืช 5 ชนิดแบบเกษตรอินทรีย์ มาหุง คลุกเคล้าด้วยเครื่องต่างๆ แล้วยัดในปลีกล้วย ส่วนยำหัวปลีเห็ดนางรมหลวงก็มาจากหัวปลีส่วนที่เหลือมาปรุงรสยำ ใส่น้ำพริกเผา ใส่เห็ด เสิร์ฟเคียงเพื่อเป็นเมนูทานแนมกันและเสริมรสชาติซึ่งกันและกัน” 

“เมนูนี้เป็นการประยุกต์ระหว่างอาหารไทยชาววังกับอาหารคลีน หรืออาหารมังสวิรัติที่ทำให้ดูน่าสนใจมากขึ้น”

คุณธนกฤตยังบอกเคล็ดลับในการสร้างสรรค์เมนูมังสวิรัติให้ไม่น่าเบื่อว่า “ลองนำอาหารทั่วไปมาดัดแปลงเป็นอาหารมังสวิรัติ เพื่อหลีกเลี่ยงความจำเจ อีกทั้งยังเป็นการทานสิ่งมีประโยชน์ ดีต่อสุขภาพและย่อยง่าย แถมยังรู้สึกได้บุญอีกด้วย” 

นอกจากสูตรมังสวิรัติดีๆจาก 8 นักปรุงเมนูเพื่อสุขภาพใน ‘Healthy & Easy Flexitarian Cookbook’ แล้ว ยังมีเคล็ดลับการล้างผัก แนะนำผักผลไม้ตามฤดูกาล และพิกัดแหล่งซื้อผักผลไม้ วัตถุดิบปลอดภัย รวมไปถึงเคล็ดลับในการกินมังสวิรัติสำหรับมือใหม่ รับรองว่าจะได้ไอเดีย แรงบันดาลใจ และสุขภาพดีครบจบในเล่มเดียว 

สามารถดาวน์โหลด CookBook และลองไปปรุงตามกันได้เลยที่ ดาวน์โหลด