ในยุคที่ข้อมูลล้น ทั้งเรื่องการกิน การดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย ก็มีหลายทฤษฎีหลายสูตรให้ปฏิบัติ จนเราเลือกทำตามกันไม่ถูกเลยทีเดียว คนนี้บอกแบบนี้ดี อีกคนบอกว่าแบบโน้นดีกว่า ซึ่งถ้าเราหาข้อมูลไม่เพียงพอก็จะพบว่าชุดความรู้บางชุดกลับกลายเป็นเพียงความเชื่อที่ไม่มีทฤษฎีรองรับ และหลายๆ ครั้งถ้าใครเผลอปฏิบัติตาม ก็อาจเกิดผลเสียขึ้นมาได้

บางครั้งการหวังพึ่งพากูรู ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาถูกต้องเสมอไป บางคนเคยตีแผ่แฉข้อเท็จจริง แต่พอเริ่มมีชื่อเสียง สุดท้ายก็ไปรับโฆษณาให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เสียอย่างนั้น หรือการหวังพึ่งพาหน่วยงานราชการ บางครั้งก็ช้าเกินไป ยังไม่นับรวมผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่พากันโฆษณาว่าช่วยบันดาลให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น ลดความอ้วนโดยไม่ออกกำลังกาย หายจากโรคติดต่อไม่เรื้อรังโดยไม่ต้องกินยา ฯลฯ ดาราคนดังทั้งหลายก็พากันพาเหรดออกมายืนยันว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ แม้ภาครัฐจะพยายามจัดการกวาดล้าง ควบคุมการโฆษณาเกินจริง แต่สักพักก็เปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่ออกมาหลอกหลอนกันเหมือนเดิม

ความรู้เปลี่ยนแปลงได้เสมอ

ในมุมของนักวิชาการ ผู้ที่ทำงานให้ความรู้กับประชาชนกล่าวว่า ‘ข้อมูลวิทยาศาสตร์นั้นเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ’ ทุกครั้งที่มีการค้นพบทฤษฎีหรืองานวิจัยชิ้นใหม่ๆ ก็ต้องเปลี่ยนคำแนะนำตามกันไป

ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะเคยได้ยินกันมาว่าควรบริโภคไขมันกันแต่น้อย สาเหตุก็เพราะในปี ค.ศ. 1980 คำแนะนำจาก Dietary Guidelines for Americans เคยกล่าวไว้ว่าไม่ควรบริโภคไขมันมากเกินไป ทำให้คนเข้าใจผิดว่ายิ่งกินไขมั่นต่ำมากเท่าไหร่ยิ่งดี และทำให้เกิดกระแสการกินอาหารไขมันต่ำไปทั่วโลก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2005 นักวิชาการต้องออกมาแก้ไขข้อมูลเป็นว่า เราควรได้รับพลังงานจากไขมันประมาณ 20-35% ของพลังงานที่ได้รับทั้งวัน แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 2015 คำแนะนำด้านโภชนาการที่ให้จำกัดไขมันไว้ที่ไม่เกิน 35 % ก็ถูกยกเลิกไปด้วย อ่านมาถึงตรงนี้เหมือนจากผู้ร้ายจะกลายเป็นพระเอกกันเลยทีเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะกินไขมันอะไรเท่าไรก็ได้นะครับ ยังต้องไปดูรายละเอียดของประเภทไขมันด้วย

อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดช่วงนี้ ที่มีคำเตือนออกมาว่าเนื้อแดงนั้นเป็นสารที่อาจก่อมะเร็งในคนได้ ทำเอาคนรักเนื้อเหงื่อตกและเครียดกันไปตามๆ กัน แถมยังบอกว่าเนื้อที่ผ่านการแปรรูปอย่างไส้กรอก เบคอน แฮม แหนม ยังเป็นสารก่อมะเร็งที่จัดอยู่ในระดับเดียวกับบุหรี่ แต่อย่าเพิ่งตกใจว่าแค่กินไส้กรอกจะอันตรายเหมือนสูบบุหรี่เลยนะครับ เพราะการจัดระดับชั้นสารก่อมะเร็งนั้น จัดตามหลักฐานว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งแน่นอน มีกลไกการก่อมะเร็งที่ทราบและอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ได้ชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่าในระดับเดียวกันจะอันตรายเท่ากันหมด เช่น อัตราการตายของคนทั้งโลกจากมะเร็งที่เกิดจากเนื้อสัตว์แปรรูปมีการประมาณการไว้ ปีละ 34,000 ราย แต่การตายจากมะเร็งที่เกิดจากบุหรี่มีมากถึงปีละ 1 ล้านคน เป็นต้น

บางครั้งสื่อก็ต้องพยายามเขียนข่าวให้ดูน่ากลัวหรือน่าสนใจไว้ก่อน สมมติว่า จากสถิติพบว่าการกินอาหารชนิดหนึ่งทุกวันแล้วมีโอกาสเกิดมะเร็งมากขึ้น 30% เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ว่าทุก 100 คนกินแบบนี้แล้วจะเป็นมะเร็ง 30 คน แต่ตัวเลขนี้มาจากการสุ่มสำรวจคนจำนวน 1,000 คนแล้วพบว่า ต่อให้ไม่กินอาหารชนิดนี้ก็เป็นมะเร็งสัก 10 คน แต่ในคนที่กินอาหารชนิดนี้บ่อยๆ เป็นมะเร็ง 13 คน ซึ่งถ้านักข่าวบอกว่า ถ้ากินอาหารชนิดนี้แล้วมีโอกาสเป็นมะเร็งจาก 1% เป็น 1.3 % คนก็อาจจะไม่เห็นความสำคัญ

แล้วเราจะเชื่อใครดี

เราต้องเข้าใจก่อนครับว่า การจะเกิดโรคอะไรสักอย่างได้นั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยประกอบกัน คนที่สูบบุหรี่ทุกคนไม่ได้เป็นโรคมะเร็งเสมอไป หรือโอกาสเกิดมะเร็งของคนที่กินไส้กรอกอาทิตย์ละวันกับคนที่กินไส้กรอกทุกวันย่อมไม่เท่ากัน เรายังต้องประเมินปริมาณสารต่างๆ ที่ร่างกายรับเข้าไปด้วย รวมไปถึงสภาพร่างกาย การดูแลตนเอง ความฟิต การออกกำลังกายก็ส่งผลต่อสุขภาพเราเช่นเดียวกัน

ดังนั้น แม้ข้อมูลสุขภาพจะท่วมท้น คำแนะนำในการดูแลสุขภาพก็เปลี่ยนแปลงไปมาได้ตลอด ผมแนะนำว่าวิธีที่ง่ายที่สุดในการดูแลตนเองโดยไม่ต้องพึ่งกูรู ไม่ต้องนั่งค้นข้อมูลสุขภาพให้ลึกจนปวดหัว และไม่ต้องหาวิธีพิสดาร นั่นก็คือการกินอาหารให้ถูกสุขลักษณะ กินให้หลากหลาย กินแต่พอดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ควรเครียดจนเกินไป

เลือกวิถีชีวิตการดูแลตนเองที่เหมาะกับตัวเรา เลิกกลัวสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แล้วมีความสุขกับปัจจุบันให้มากขึ้นกันดีกว่านะครับ

ภาพประกอบ: npy.j