Q: ทำไมเวลาเศร้า บางคนถึงหันไปออกกำลังกายหนักๆ คะ เพื่อนบางคนถึงกับไปวิ่งมาราธอนได้สำเร็จ !?

เวลาเรามีปัญหา คำแนะนำแรกๆ ก็คือ อย่าจมอยู่กับความทุกข์ครับ เอาตัวเองออกมาจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ก่อน ถ้าเทียบเป็นจิตวิทยาในการเลี้ยงเด็กก็คือ เวลาเด็กงอแง ก็ให้พาเด็กออกจากพื้นที่ตรงนั้นก่อน เช่น ร้องไห้อยากได้ของเล่น ก็รีบพาออกจากตรงนั้น แล้วก็หาสิ่งอื่นเบี่ยงเบนความสนใจ (การเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ใช่การติดสินบนด้วยสิ่งอื่นนะครับ เหมือนกัน เวลาอกหัก ก็ไม่ต้องรีบหาคนใหม่มาดามใจ) ดังนั้น เมื่อเรามีความทุกข์ การออกจากที่ที่มีแต่ความทรงจำก็เป็นทางเลือกที่ดี แทนที่จะกลับบ้านมาเจอแต่ข้าวของเครื่องใช้ สถานที่ที่ให้คิดถึง การแบ่งเวลาไปออกกำลังกาย สนใจ ตั้งเป้าหมายกับสิ่งอื่นก็เป็นการบรรเทาความเศร้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปโหมออกกำลังกายหนักๆ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้หลายคนทำสิ่งที่ดูยากได้สำเร็จนั้น จริงๆ กิจกรรมต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีความสนุกน่าสนใจทั้งนั้นครับ นักวิ่งทั่วไปที่ไม่ได้เริ่มวิ่งจากความเศร้าก็จบมาราธอน หรือจบไตรกีฬากันมากมาย การไปออกกำลังกาย เหมือนกับเป็นการเปิดประตูอีกบานหนึ่งที่จะทำให้เราได้เจอในสิ่งที่ชอบครับ

Q: การออกกำลังกาย เกี่ยวข้องกับจิตใจด้วยเหรอคะ แล้วเกี่ยวยังไง

การออกกำลังกายบังคับให้เรามีสมาธิ การจดจ่อกับสิ่งอื่นก็ช่วยให้ลืมบางเรื่องไปได้ แต่ที่สำคัญคือ การออกกำลังกายช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายเราทำงานได้อย่างปกติ คนที่เศร้าอยู่อาจจะเกิดอาการกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร่างกายทรุดโทรมอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ แต่ถ้าลุกไปออกกำลังกาย อธิบายง่ายๆ ก็คือการบังคับให้เราหิว ให้เราเหนื่อย เลยหลับได้ง่ายขึ้น

ซึ่งถ้าอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ก็คือ ขณะที่ออกกำลังกาย ร่างกายทำให้ฮอร์โมนต่างๆ ทำงานได้อย่างปกติ มีสารแห่งความสุขหลั่งออกมา สลายฮอร์โมนแห่งความเครียดออกไป ซึ่งฮอร์โมนต่างๆ ส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมเรา เมื่อสมดุลฮอร์โมนดีขึ้น สภาพจิตใจเราก็ดีขึ้นด้วย ที่สำคัญการออกกำลังกายช่วยในเรื่องความเชื่อมั่นในตนเอง เราจะรักตนเองมากขึ้น และเมื่อรูปร่างดีขึ้น หน้าตาแจ่มใส มีความสุข ได้เจอคนใหม่ๆ ก็ทำให้เราพบว่าเรายังมีทางเลือกดีๆ อีกมากมายรออยู่ครับ เพียงแค่เราเริ่มจากการรักตัวเองก่อน

Q: แล้วถ้าอยากหายเศร้าไวๆ ออกกำลังกายแบบไหนช่วยได้บ้าง

จริงๆ แล้วการออกกำลังกายทุกประเภทส่งผลต่อสภาพจิตใจ และมีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น โดยเราสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ได้ดังนี้ครับ

ออกกำลังกายแบบแอโรบิก หรือ การออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ทำงานอย่างต่อเนื่อง จนเราหายใจแรงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น เช่น การเดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ที่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องเป็นการออกกำลังกายที่มีรูปแบบชัดเจน การใช้ชีวิตประจำวันให้กระฉับกระเฉงขึ้นก็ได้ผลดีเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องไปหักโหมออกกำลังกายอย่างหนัก เพียงออกกำลังกายที่ระดับความเหนื่อยปานกลาง (ร้องเพลงไม่ไหว แต่ยังพูดคุยได้) ให้ได้อาทิตย์ละ 150 นาทีขึ้นไป ผ่อนชำระตามสะดวก

ออกกำลังกายสร้างความแข็งแรง เป็นการออกกำลังกายที่มีแรงต้าน เช่น เวทเทรนนิ่ง กายบริหาร วิดพื้น ดึงข้อ เป็นต้น ช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง ทำให้รูปร่างดีขึ้น ผิวหนังกระชับดูอ่อนกว่าวัย

ออกกำลังกายเพิ่มความยืดหยุ่น เช่น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ โยคะ เพราะขณะที่ทำจะมีการกำหนดลมหายใจ เพิ่มการทำงานของประสาทในระบบพาราซิมพาเทติก ซึ่งจะทำงานในเชิงของความผ่อนคลาย (เหมือนเวลาเรานั่งสมาธิ ทั้งในระยะสั้นหลังยืด และระยะยาว) ดังนั้น หลังจากเรายืดเสร็จ ร่างกายจะเข้าสู่โหมดที่ผ่อนคลายขึ้น ลดการทำงานของหัวใจ กระตุ้นการย่อยอาหาร เพิ่มฮอร์โมนที่ดี ฯลฯ

Q: ขอคำแนะนำพิเศษในการออกกำลังกาย สำหรับคนเศร้า อกหัก จิตตก หรือมีความทุกข์

ปัจจุบัน หลายๆ ไกด์ไลน์ของการรักษาบรรเทาโรคซึมเศร้า ก็มีการบรรจุการออกกำลังกายเป็นหนึ่งในเครื่องมือของการรักษา แม้จะไม่ได้การันตีว่าจะดีขึ้นในทุกคน แต่การออกกำลังกายที่พอเหมาะนั้นแทบไม่มีผลเสียต่อร่างกายเลย ซึ่งในคนปกติที่ยังไม่ได้มีปัญหา การออกกำลังกายก็เหมือนเป็นการป้องกัน สร้างภูมิคุ้มกันช่วยให้เรามีจิตใจที่เข้มแข็งได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

ส่วนคนที่มีปัญหาอยู่ ก็อยากให้เริ่มจากง่ายๆ เบาๆ เพราะถ้าเราไปหักโหมก็อาจจะพบกับความเหนื่อยและความรู้สึกที่ทรมานมากเกินไปในขณะออกกำลังกาย อาจจะพบกับอาการล้า เจ็บ ป่วย ทำให้ได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี จนไม่อยากออกกำลังกายอีกได้

คำแนะนำจากผมนะครับ ช่วงแรกอาจจะพยายามลองหากิจกรรมออกกำลังกายใหม่ๆ ให้หลากหลาย เผื่อจะเจอสิ่งที่เราชอบ อย่าไปทำตามกระแส หลังจากที่คิดว่าจะเริ่มจริงจังแล้วก็อยากให้พยายามทำให้ได้อย่างต่อเนื่องสัก 6 สัปดาห์ (เพราะเป็นระยะเวลาที่ร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงชัดเจน) โดยวันที่ดีที่สุดของการออกกำลังกายคือ วันนี้ เริ่มง่ายๆ จากการยืนแกว่งแขน ยืนย่ำเท้าอยู่หน้าทีวีก็ได้ครับ

ภาพประกอบ: npy.j