เมื่อพูดถึงการทำอาหาร ภาพที่หลายคนนึกถึงคือภาพของแม่บ้านฟูลไทม์ผู้ดำรงตำแหน่งแม่ศรีเรือนผู้มีเสน่ห์ปลายจวัก วุ่นอยู่ในครัวทั้งวันตามแบบฉบับหญิงไทยสมัยก่อน ซึ่งช่างขัดกับภาพรวดเร็วปรู๊ดปร๊าดของสังคมเมืองยุคนี้เสียเหลือเกิน ยิ่งเมื่อเรามีอาหารสำเร็จรูปราคาถูกพร้อมให้ซื้อทุกช่วงตึก ทำไมเราจะยังต้องเข้าครัวทำอาหารเองกันอีกล่ะ!

แต่สำหรับสาวๆ ทั้ง 4 คนนี้ พวกเธอไม่ได้คิดอย่างนั้น แม้จะต้องทำงานนอกบ้าน มีบทบาทหลากหลาย และยุ่งไม่แพ้ใครเหมือนๆ กัน แต่พวกเธอเชื่อว่าการเข้าครัวทำอาหารกินเองตอบโจทย์ชีวิตหลายข้อ ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ เรื่องความอร่อย ไปจนถึงเรื่องของจิตใจ ที่ชวนให้เราอยากลุกขึ้นมาทำอาหารเองด้วยอีกคน

ภรรยาสาวและว่าที่คุณแม่ เจ้าของสโลแกน marry me free breakfast

นิดนก – พนิตชนก ดำเนินธรรม บอกว่าตัวเองเป็นพนักงานบริษัทแสนธรรมดา เป็นภรรยา และกำลังจะเป็นคุณแม่ แต่ในอีกพาร์ทของชีวิต เธอคือนักเขียนสำนวนสนุกที่เล่าเรื่องชีวิตคู่และความสัมพันธ์ เจ้าของหนังสือ Power Bride เจ้าสาวที่กลัวสวย และ Two be Continued โปรดติดตามตอนแต่งไป และยังบอกเล่าเรื่องเข้าครัวของตัวเองผ่าน #marrymefreebreakfast ในโลกออนไลน์ ในฐานะผู้หญิงที่ทำอาหารกินเองอย่างจริงจังและน่าสนุกจนอยากเข้าครัวบ้าง

เริ่มต้นสนใจทำอาหารกินเองตั้งแต่เมื่อไหร่
ตั้งแต่ที่ขี้เกียจเกินกว่าจะออกจากบ้านไปหาอะไรกิน (หัวเราะ) คือน่าจะเป็นตอนเริ่มทำงาน เราย้ายมาอยู่คอนโดฯ คนเดียวหลังเรียนจบ พออยู่คนเดียว มีอิสระจะทำอะไรก็ได้ เงินเดือนก็มีแล้ว เลยเป็นแฟนตาซีของมนุษย์เงินเดือนตัวอ่อนว่า ฉันต้องมีครัวที่ทำอาหารกินแบบตามใจตัวเองได้เต็มที่ คือที่ชอบทำอาหารกินเอง เพราะว่าเราเลือกรสชาติที่เราอยากกินได้ อยากจะใส่หรือไม่ใส่เครื่องปรุงอะไรก็ได้ ซึ่งถ้าไปทำแบบนี้ตามร้านอาหารเขาก็จะด่า เอามีดแพ่นกบาล ไม่ก็ทำเป็นไม่ได้ยิน อย่างไปร้านราดหน้า บอกว่าเอาพิเศษหมูนุ่ม ลุงจะใส่เส้นใหญ่มาอย่างเยอะแต่หมูมีสี่ชิ้น เป็นปมชีวิตมาก ถ้าเราทำกินเอง จะใส่หมูกิโลนึงมันก็เป็นความสุขของเรา

เรียนทำอาหารจากไหน
เรียนจากแม่นี่แหละ จะว่าเป็นการเรียนก็ไม่เชิง เพราะอาศัยชอบเข้าไปช่วยแม่ในครัว แม่ให้ทำอะไรเราก็ทำ แล้วก็คอยมองวิธีการผัดการปรุงของแม่ แต่เสียดายว่าช่วงที่เราโตพอรู้เรื่องก็เป็นยุคหลังรุ่งเรืองของแม่แล้ว คือแต่ก่อนแม่ชอบทำอาหารมาก เมนูจะคราฟท์สุดๆ ทำแกงกินทีต้องตำพริกแกงเอง ถ้าปลูกมะพร้าวมาคั้นกะทิเองได้แกคงทำ แต่พอแก่ตัว ความคราฟท์ก็หดหาย เหลือแต่เมนูง่ายๆ เช่น แกงจืด ข้าวผัด พอแม่มาเสียเร็ว เราก็เสียดายเหมือนกันว่า ถ้าแม่ยังอยู่ในวันที่เรามีครัว มีความพร้อมจะทำอาหารเอง น่าจะได้เรียนรู้อะไรจากแม่มากกว่านี้ ตอนนี้เลยอาศัยหาสูตรในอินเทอร์เน็ตนี่ล่ะ ดูคลิปสอนทำอาหารไปเรื่อยๆ แต่ส่วนใหญ่จะแค่ดูวิธีการ ส่วนผสม เปรียบเทียบหลายๆ เจ้า หลายๆ สูตร แล้วเอามาทำในแบบของเราเอง ไม่ค่อยสนใจพวกปริมาตรเท่าไหร่ อาศัยสัญชาตญาณเอา

ทำอาหารกินเองบ่อยแค่ไหน
ช่วงหลังแต่งงานทำอาหารประมาณ 3-4 วันต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารเช้า เพราะหาทานข้างนอกยาก เสาร์อาทิตย์จะไม่ทำ เก็บไว้เป็นวันที่ออกไปหาร้านอร่อยกินกันดีกว่า

ชอบปรุงอาหารประเภทไหน
ส่วนที่ชอบที่สุดในการทำอาหารคือการหมัก เราชอบกินหมูหมักในทุกรูปแบบ จะหมักหมูสับ หมูชิ้น หมูนุ่ม สเต๊กหมู ทั้งหมดมันคือการทดลองของเราหมดเลย ทดลองเพื่อหารสชาติและรสสัมผัสที่เราชอบที่สุด อย่างหมูนุ่มนี่ใช้เวลาทดลองหลายปีเลย เพราะเราอยากหมักหมูให้ได้แบบร้านราดหน้า เพิ่งจะมาทำได้ใกล้เคียงที่สุดก็เมื่อไม่นานมานี้ แต่ก็ยังมีจุดให้ต้องปรับแก้อีก และอีกอย่างที่ชอบจากการหมัก คือการลุ้นว่ารสชาติ ณ ตอนปรุง มันจะออกมาเป็นยังไง เพราะเราเป็นคนไม่มีสูตร ไม่ตวงปริมาตร ใส่ตามอารมณ์ในวันนั้น บางวันหมักสเต๊ก ย่างออกมาแล้ว โห อย่างเค็ม ก็แสดงว่า ณ ตอนหมักเราสติไม่ค่อยดี แต่มันกลับตัวไม่ได้แล้ว เพราะรสชาติมันซึมเข้าเนื้อไปแล้ว นี่มันพุทธมากเลยนะ เป็นเรื่องของกรรมอย่างแท้จริง สาธุ (หัวเราะ)

คนร่วมชิมคือใคร
คนชิมคือสามี เป็นเหยื่ออารมณ์หนึ่งเดียว (หัวเราะ) ด้วยความที่เรามาจากต่างครอบครัว บ้านสามีเป็นคนจีน รสชาติบ้านเขามันก็จะจืดๆ มันๆ ส่วนเรามันสายคนใต้ ทำอะไรทำเต็มที่ มีเครื่องเท่าไหร่ใส่หมด รสชาติที่เราสองคนคุ้นเคยมันเลยไม่เหมือนกัน ทีนี้พอเราเป็นคนปรุง เราก็ทำตามใจเรา ทำแบบที่เราเคยทำ ซึ่งเมื่อเขาได้กินก็จะไม่คุ้น เวลาถามว่า อร่อยไหม เขาก็จะบอกว่า อร่อย แต่… หวานไปหน่อย เค็มจัง ฯลฯ แต่เขาจะชอบที่เราไม่ค่อยทำอาหารมันๆ ทีนี้เราก็จะรู้แล้ว ว่ารสชาติเรามันสุดทางไปหน่อย เราก็ค่อยๆ ปรับให้รสชาติเรามันเบาลง เบาในแบบที่เรายังอร่อยกับมันได้ และไม่แปลกลิ้นอีกคนนึงมากเกินไป

พอจะเป็นคุณแม่ การปรุงอาหารเปลี่ยนไปไหม เช่นคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น หรือใส่ใจเรื่องวัตถุดิบมากขึ้น
มีเปลี่ยนไปบ้างนิดหน่อย คือเราจะเป็นคนติดหวาน ทำอาหารอะไรออกมาหวานหมด แต่พอท้องก็เพิ่งมารู้ว่า คนท้องมีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานกว่าคนปกติอยู่มาก ดังนั้นคุณหมอก็จะแนะนำว่าให้ลดหวานลงมาหน่อย เวลาทำอาหารทานเองก็เลยจะยั้งมือลงบ้างเวลาจะตักน้ำตาลลงกระทะ แต่ไม่ใช่ว่าไม่ใส่เลยนะ ยังใส่อยู่แค่ลดมันลงมาอยู่ในระดับที่เรายังรับรสมือตัวเองได้ ไม่งั้นเรากินแล้วไม่มีความสุข ลูกก็จะไม่สดใส (หัวเราะ)

กับอีกอย่างที่เพิ่งได้ลองทำตอนท้อง คือต้มสมุนไพรบำรุงน้ำนม คือเราตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แล้ว แต่อุปสรรคคือ พวกผักหญ้าที่มันมีสรรพคุณบำรุงนมเนี่ย เราแทบจะกินไม่เป็นซักกะอย่าง ไม่ต้องถึงขั้นหัวปลี หรือไม้นมนางอะไรเลยนะ แค่น้ำขิงยังไม่เคยกินเลย แล้วพวกเพจนมแม่ก็แนะนำกันจัง เมนูจากหัวปลี เม็ดขนุนอะไรเนี่ย เป็นพืชผักที่แอดวานซ์ต่อชีวิตผู้หญิงที่กินเป็นแต่ผักกาดขาวและกะหล่ำปลีมาก แต่เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีรุ่นพี่คุณแม่ที่แกท้องสองแล้ว เขาแชร์สูตรน้ำต้มหัวปลีแบบต้มเองก็ได้ง่ายจัง เราเลยไปลองซื้อวัตถุดิบมาลองทำตามบ้าง เป็นการหั่นหัวปลีครั้งแรกในชีวิต เพิ่งรู้ว่ามันหน้าตาแบบนี้ ตื่นเต้นมาก ต้มกับขิงและใบเตย มีการปั่นกรองแล้วเคี่ยวต่อเล็กน้อย ทั้งหมดนี้คือเป็นกระบวนการที่ใหม่มากสำหรับเรา ทำไปก็ปวดหลังไป แต่พอทำเสร็จ แล้วได้ชิม เออ มันก็โอเคนี่หว่า พูดได้ไม่เต็มปากว่ามันอร่อย แต่มันกินได้แบบไม่ลำบากลำบน ไม่รู้สึกว่าฝืนตัวเอง ตอนนี้เลยลองพัฒนาสูตรของตัวเองละ ล่าสุดก็ใส่ตะไคร้ลงไปด้วย ครั้งหน้าว่าจะใส่หอมแดง ใบมะกรูด พริกแห้ง เห็ดฟาง ข้าวคั่ว บีบมะนาวลงไป ได้ต้มแซ่บพอดี (หัวเราะ)

ทำอาหารกินเองดียังไง
ดีในแง่ที่เราจะปรุงรสชาติแบบไหนก็ได้ ตามใจตัวเองได้เต็มที่ เราเป็นคนกินยากพอสมควร ผักบางอย่างก็ไม่กิน ส่วนอะไรที่ชอบกิน ก็จะกินเยอะๆ ซ้ำๆ ซึ่งเราจะกินอะไรเยอะๆ จากร้านค้าข้างนอกไม่ได้ การทำอาหารกินเองมันเลยบำเรอตัวเองได้เต็มที่ อีกอย่างคือเรารู้ว่าวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่เราใส่มันมาจากไหน มีอะไรบ้าง แต่ก่อนเราไม่ค่อยคิดถึงเรื่องนี้นะ จนไปอ่านหนังสืออะไรซักอย่าง เขาบอกว่าเราเคยสังเกตบ้างมั้ยว่าสิ่งที่เรากินๆ อยู่เนี่ยมันมาจากไหน ผักกาดที่ซื้อปลูกที่ไหน หมูมันเป็นยังไง ซึ่งเราจะไม่รู้เลยว่าเขาเอาอะไรมาให้เรากิน เขาล้างแล้วรึยัง เครื่องปรุงเขาใส่อะไรบ้างเราก็ไม่รู้

เราไม่ใส่ผงชูรสเพราะแค่รู้สึกว่า เราไม่เก่งพอ ถ้าทำอาหารอร่อยเพราะใส่ผงชูรส

สุดท้าย การทำอาหารทำให้เรามีสมาธิ คือเรารู้สึกว่าเราไม่ค่อยมีสมาธิยาวๆ เหมือนแต่ก่อน ดูหนังในคอมได้แป๊บเดียวก็เบื่อและพร้อมจะกดพอส แต่พอเป็นการทำอาหาร เราจะนิ่งมาก ด้วยกระบวนการของมันที่มือเราจะเลอะโดยธรรมชาติ ทำให้เราไปหยิบมือถือมาเล่นไม่ได้ ก็ช่วยบังคับให้จิตเราจดจ่ออยู่กับภาพข้างหน้ามากขึ้นละ พอเตรียมเสร็จ ปรุงเสร็จ ครัวก็เลอะเทอะ เข้าสู่กระบวนการล้างจาน และเช็ดล้างครัว ทั้งหมดมันใช้เวลาและพลังงานเยอะมาก แต่มันดี (หัวเราะ)

พีอาร์สาวมืออาชีพและนักอบขนมปังมือสมัครเล่น ผู้มีความสุขกับการได้ลุ้นขนมปังอบเองสูตรใหม่ๆ ทุกสัปดาห์

ตาล-ปองปัญญ์ ธรรมานุบาล เป็นผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ แต่เมื่อกลับบ้าน เธอคือหญิงสาวที่มีความสุขกับการได้นวดแป้ง รอคอยให้แป้งโดว์ขึ้นฟู และใส่เตาอบจนขนมปังหอมฟุ้งไปทั้งครัว นอกจากจะอิ่มอกอิ่มใจกับขนมปังทำเอง การคัดสรรวัตถุดิบดีต่อสุขภาพ ยังเป็นวิธีแสดงความห่วงใยและใส่ใจให้สมาชิกในครอบครัว

จำได้ไหมว่าเมนูแรกในชีวิตที่ทำสำเร็จคืออะไร
เมนูแรกที่ทำเป็นชิ้นเป็นอันได้ด้วยตัวเองแล้วได้รับเสียงตอบรับที่ดีคือบัวลอย จริงๆ เราสนใจการทำอาหารมาตั้งแต่เด็ก มีชุดหม้อข้าวหม้อแกงเต็มบ้าน ว่างๆ ก็หั่นใบไม้ เก็บดอกไม้มาเล่นเป็นอาหาร โตขึ้นมาหน่อยตอนมัธยมไปลงเรียนทำขนมไทยเป็นวิชาเลือก จำได้ว่าทุกวันอังคารบ่ายจะเป็นช่วงเวลาที่สนุกมากเพราะจะได้ลงมือทำขนมและเอามาให้ที่บ้านลองทาน หลังจากนั้นก็หัดทำอาหาร ขนมด้วยตัวเองมาโดยตลอด

แล้วมาสนใจทำขนมปังจริงๆ จังๆ เพราะอะไร
หลังจากที่ลองทำมาหลากหลายเมนู ทั้งคาวทั้งหวาน ก็อยากหันมาทำเมนูที่เป็นพื้นฐานดูบ้าง อีกอย่างคืออยากมีอาหารเช้าที่มีประโยชน์ทุกวัน ขนมปังก็นับว่าตอบโจทย์ชีวิตดี และขนมปังเป็นเมนูที่ฟรีฟอร์มมาก คืออยากเพิ่มเติมรสชาติอะไรลงไปก็ได้ตามที่เราต้องการ เราจึงสนุกตั้งแต่เริ่มต้นคิด จนลงมือทำ และสนุกสุดตอนชิม

เรียนทำขนมปังจากที่ไหน
เรียนเบสิกจาก youtube แล้วมาปรับสูตรเอง นอกจากนั้นเราใช้การสังเกตและชิมขนมปังทุกที่ที่มีโอกาส จดบันทึก และเอามาประยุกต์กับสูตรของตัวเอง เวลาที่เหลือจากการทำงานทั้งหมดก็จะเอามาอยู่กับการหาวัตถุดิบ ดูเทคนิค และลองทำขนมปัง คือทุกคืนวันศุกร์ ไม่ว่าจะกลับมาดึกขนาดไหน เราจะอยากเข้าไปในครัว ตวงแป้ง นวดแป้ง อยู่เสมอ เสาร์ อาทิตย์​ถ้าไม่ได้ติดธุระอะไร ก็จะทำตอนเช้า เพื่อเอาไปฝากบ้านญาติช่วงบ่าย สนุกที่สุดคือทุกครั้งที่เห็นโดว์พองขึ้นมาดูกลมๆ เนียนบ้าง ขรุขระบ้าง ตามวัตถุดิบที่เราเลือกใช้

เคยเจอความล้มเหลว ไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้ไหม
ครั้งแรกที่ลองทำขนมปัง ล้มเหลวชนิดกินไม่ได้ เป็นเพราะเรายังศึกษาไม่พอ ใจร้อน และใช้อุปกรณ์ก็ตามมีตามเกิด ผลลัพธ์คือ ขนมไม่ ‘ปัง’ (หัวเราะ) คือเนื้อแน่นและไม่สุก กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างก็ประมาณครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ตอนนี้พอเริ่มทำได้ เรามีสูตรที่อยากลองแทบทุกวัน เอาเป็นว่าทุกครั้งที่เดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตก็จะเดินวนหาวัตถุดิบใหม่ๆ ที่จะเอามาลองทำตลอด และเราหนูทดลองเยอะมาก (หัวเราะ) พ่อ แม่ พี่ น้อง สามี เพื่อน ตลอดจนเพื่อนบ้าน และเพื่อนๆ ของแม่ ลองกันแล้วถ้วนหน้า หลายคนชอบ และตื่นเต้นกับวัตถุดิบที่เราลองเอามาใส่ อย่างขนมปังฟักทอง ขนมปังอัลมอนด์ ขนมปังพีแคน ล่าสุดคือ มะเดื่อหมักน้ำผึ้ง ได้รับการตอบรับดีเลยทีเดียว

ทำขนมปังกินเองตอบโจทย์ชีวิตยังไง
ได้เลือกวัตถุดิบเอง ทำให้มั่นใจได้ว่าของที่เอามาทำมีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้พักจากความเครียด ความเซ็งแบบเป็นปลิดทิ้ง เวลาที่จดจ่อกับการนวดแป้งเหมือนเป็นเวลาที่ได้พักผ่อน ได้แรงบันดาลใจจากการคิดสูตรใหม่ๆ ได้รู้จักยอมรับความคิดเห็นคนอื่น และรู้จักการปรับปรุง ที่สำคัญคือได้ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์เราจะทำขนมปังสูตรใหม่ไปให้ ส.ว. ซึ่งก็คือพ่อแม่และน้าๆ ที่บ้าน ให้ชิมแล้วก็อธิบายให้ท่านฟังว่าวัตถุดิบคืออะไร ดีต่อสุขภาพเขายังไง เป็นการแสดงความห่วงใยต่อคนรอบข้างแบบหนึ่ง

สาวออฟฟิศช่างปรุงที่เลือกกินคลีนแบบไม่เคร่งเพื่อสุขภาพและความอร่อย

โดยหน้าที่การงาน หญิง-ทัศน์วรรณ วงศ์เลิศศิริ เป็นพนักงานสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่ด้วยความชอบและความสนใจเรื่องสุขภาพ ทำให้หญิงใช้เวลาวันหยุดไปกับการจ่ายตลาด เข้าครัว ทำอาหารสุขภาพกินเอง และแพ็คใส่กล่องไปอิ่มต่อที่ออฟฟิศ เพราะเชื่อว่าอาหาร คือปัจจัยหลักในการดูแลร่างกาย

เริ่มต้นสนใจทำอาหารกินเองตั้งแต่เมื่อไหร่
จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากตอนไปเรียนต่อที่อเมริกา ไปอยู่กับคุณน้าคนไทยที่แต่งงานมีครอบครัวกับชาวอเมริกัน เราไปอาศัยเขาอยู่ ก็ต้องช่วยทำงานบ้านหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือช่วยคุณน้าทำอาหาร มันสนุกดีที่ได้ช่วยกันทำช่วยกันกิน และคุณน้าเค้าก็ชอบไปสรรหาเมนูใหม่ๆ มาลองทำ ทำให้เรารู้สึกสนุกไปด้วย อีกอย่างคือ การไปกินอาหารนอกบ้านนี่มันแพงมาก ทำกินเองถูกกว่าเยอะเลย เรื่องเงินน่าจะมาก่อนสุขภาพ ณ จุดนั้น

หลังจากกลับมาอยู่เมืองไทยก็ได้ทำอาหารบ้างเป็นครั้งคราว เพราะไปซื้อเอามันก็สะดวกกว่า ราคาก็ไม่ได้แพงมากเมื่อเทียบกับตอนอยู่ที่โน่น แต่พอมาวันนึง เราก็รู้สึกว่ามันไม่เหมือนเราทำกินเอง เวลาไปกินอาหารตามสั่ง เราไม่ชอบกินไข่เจียวมันเยิ้ม ผัดกะเพรามันเยิ้ม ข้าวผัดอุดมผงชูรส ต้มยำแกงจืดใส่ผงชูรส เราไม่รู้เลยว่าเค้าใส่อะไรลงไปเยอะแค่ไหนบ้าง กินแล้วอาจจะช่วยให้เราตายเร็วขึ้นไหม จากจุดนั้นก็เลยกลับมาทำอาหารกินเองอีกครั้ง โดยศึกษาพวกเรื่องอาหารคลีนไปด้วย

ส่วนใหญ่ทำเมนูประเภทไหน
เราเป็นคนขี้เบื่อ ชอบเปลี่ยนเมนูไปเรื่อยๆ ไปดูรูป ดูสูตรของคนโน้นคนนี้ตามอินเทอร์เน็ต แล้วก็เอามาปรับกับของที่มีอยู่ในตู้เย็น หรืออะไรก็ได้ที่เราคิดว่ามันจะอร่อยแล้วเราชอบ คลีนบ้างไม่คลีนบ้าง ไทยบ้างฝรั่งบ้าง เปลี่ยนไปเรื่อยเลยค่ะ  แต่เอาที่ง่ายๆ บ่อยสุดก็คงจะเป็นสลัดกับอกไก่ย่าง ปลาย่าง อะไรพวกนี้

ใช้เวลากับการทำอาหารบ่อยแค่ไหน
ตอนยังไม่มีงานทำก็ทำกินเองแทบทุกวัน แต่พอมีงานทำเป็นพนักงานออฟฟิศแล้ว เวลามันก็หายไปเยอะ กว่าจะกลับถึงบ้านก็ทุ่มสองทุ่ม ทุกวันนี้เลยได้ทำอาหารกินเองเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งบางทีก็จะทำมาเผื่อไว้กินที่ทำงานช่วงต้นสัปดาห์ด้วย คนชิมคือสามีที่จะคอยบอกว่าหวานไป เค็มไป ใช้ได้ หรืออันนี้เด็ด แต่ที่พูดบ่อยสุดคือ ดีกว่ากินข้าวกล่องเซเว่นเยอะ (หัวเราะ)

การทำอาหารกินเองดียังไง แง่ไหนบ้าง
อย่างแรกเลยคือเรื่องสุขภาพ เอาจริงๆ เราก็หลีกเลี่ยงการกินอาหารนอกบ้านไม่ได้ 100% หรอก แต่แค่รู้สึกว่าถ้ามีเวลาก็ควรจะทำกินเองบ้าง ถึงแม้อาหารที่ทำจะไม่ใช่อาหารเพื่อสุขภาพทุกมื้อ อย่างน้อยเราก็รู้ว่าเราใส่อะไรลงไป ใช้น้ำมันที่ถูกต้องในการทอด และเราจะไม่ใส่ผงชูรสเด็ดขาด

เมื่อต้นปีที่แล้วนี้เอง เราเพิ่งพบว่าเราเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 0 คือมันแค่ระยะเริ่มต้น ถือว่าเราโชคดีมากที่รู้เร็วขนาดนี้และมีแนวทางที่จะจัดการกับมันได้ก่อน เลยรู้สึกว่าเราต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิมอีกเยอะๆ เลย

ทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย  พยายามบาลานซ์ทุกอย่างให้อยู่ในจุดที่พอดี ไม่บังคับตัวเอง และทำให้ตัวเองเครียดเกินไป เราไม่รู้เลยว่าอะไรที่ทำให้เราเป็นโรค แต่อย่างน้อยก็เอาวะ เลือกอะไรดีๆ เข้าไปใส่ให้ร่างกายก่อนละกัน เอาเท่าที่เราพอจะทำได้

ต่อมาคือเรื่องค่าใช้จ่าย ด้วยเมนูเดียวกัน เราไปกินนอกบ้านอาจจะร้อยสองร้อยต่อคน แต่พอทำกินเองร้อยสองร้อยสำหรับสองคนอาจจะได้สองมื้อเลยด้วยซ้ำ ยกเว้นมื้อที่มีวัตถุดิบพิเศษก็อาจจะแพงขึ้นมาหน่อย หรืออย่างบางทีเราก็สั่งอาหารคลีนที่เขาส่งเดลิเวรี่มากินนะ แต่พอเห็นปริมาณและราคาแล้ว ก็คิดว่าทำแค่นี้เราก็ทำเองได้ คือเราจ่ายตลาดเอง เราพอจะรู้ว่าต้นทุนมันประมานเท่าไหร่ ราคาที่เพิ่มมามันคือการซื้อความสะดวกและเวลาเราเท่านั้นเอง

อย่างที่สามคือ อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทำอาหารกินเองมันสนุกนะ มันได้อะไรหลายๆ อย่าง มันมีความเป็นศิลปะ ความครีเอทีฟของมันอยู่ ทดลองไปเรื่อยๆ วัตถุดิบแปลกๆ เอามาทำอะไรได้บ้าง ตอนจัดจานต้องวางยังไงถึงจะสวย นอกจากนั้นเราก็ได้ฝึกความเป็นมัลติทาส์กและสมาธิ รวมถึงเป็นการบำบัดจิตใจตนเองไปในตัวด้วย

บล็อกเกอร์สาวกับพอร์ตฟอลิโออาหารทำเองผ่านโปรเจ็กต์ส่วนตัว housewife class 101

ศิถี สิทธิราษฎร์ คือสาวรักสุขภาพและรักงานทำมือเจ้าของ The Handmade Diary เว็บไซต์ภาษาอังกฤษบันทึกไลฟ์สไตล์ที่ข้องเกี่ยวกับงานฝีมือ ศิลปะ และวัฒนธรรมร่วมสมัยในเมืองไทยที่น่าสนใจ อีกทั้งยังรวบรวมผลงานทำมือสุดเก๋ของเธอเองที่แปลกต่างไปจากงานทำมือทั่วไป และที่มากไปกว่านั้น เธอยังมีโปรเจ็กต์ส่วนตัวชื่อ housewife class101ถ่ายรูปอาหารปรุงเองไว้เหมือนศิลปินบันทึกผลงานของตัวเอง

รู้สึกผูกพันกับการทำอาหารเพราะอะไร
น่าจะเป็นเพราะคุณแม่มักจะทำอาหารให้ทานตั้งแต่จะความได้ แต่ไม่แน่ใจว่าเริ่มสนใจทำอาหารเองตั้งแต่ตอนไหน รู้ตัวอีกทีก็ตอนม.ต้น ที่มีวิชาที่ต้องเข้าครัว แล้วเราก็กลายเป็นคนที่เพื่อนๆ ขอความช่วยเหลือตอนทำอาหารอยู่บ่อยๆ แต่เหตุการณ์ที่จำได้ดีคือตอนวันเกิดอายุ 15 จำได้ว่าบอกคุณแม่ว่าอยากทำพาสต้าเห็ดกับแอสพารากัส และหอยผัดเนยกระเทียม น่าจะจำมาจากรายการทำอาหารของฝรั่งสักรายการ คุณแม่ก็ไปซื้อวัตถุดิบมาทิ้งไว้ให้จำนวนมาก แล้วก็ทิ้งเราไว้ที่บ้านกับพี่ ตอนนั้นเราทำคนเดียว แต่พี่ก็จะตามมาถามตลอดว่าให้ช่วยมั้ย เราก็บอกไม่เอา น่าจะทำอยู่ 4-5 ชั่วโมงเลย ไม่รู้ทำอะไรตั้งนาน ทำเสร็จก็ตื่นเต้นมาก กลัวไม่มีคนยอมกิน แต่พอกลับบ้านกันมา ทุกคนในบ้านก็มานั่งทานกัน บอกว่าอร่อย ตอนนั้นดีใจมาก แต่ก็แอบสงสัยว่ามีใครมาแอบปรุงอะไรเพิ่มตอนไม่เห็นรึเปล่า (หัวเราะ)

ชอบทำอาหารตรงไหน
จริงๆ ก็ชอบทุกตรงนะ ชอบหั่นเตรียมผักสวยๆ ชอบเวลาที่ปรุง คือ ต้องปรุงนิดเดียวแล้วอร่อย ถ้าต้องปรุงแล้วต้องเติมนู่นนี่แก้เยอะๆ จะเศร้าเล็กน้อย (หัวเราะ) แล้วก็ชอบตอนใส่จาน วางยังไงให้ดูน่ากิน ชอบเวลาก่อนกินได้มองอาหารที่จัดวางสวยๆ

ทำไมเราควรทำอาหารกินเอง
อย่างแรกเลย การทำอาหารกินเอง ทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราใส่ลงไปมีอะไรบ้าง แล้วคราวนี้เราจะรู้เลยถ้าไปกินนอกบ้าน เค้าใส่น้ำปลาเยอะขนาดไหน น้ำตาลขนาดไหน เราก็จะเริ่มตกใจ ว่าที่ผ่านมาเรากินอะไรเข้าไปบ้าง สำหรับเรา เวลาที่เราทำอาหารให้ตัวเองหรือคนในบ้านทาน เราจะถือว่านั่นคือช่วงเวลาของการดูเวลาร่างกาย เราเชื่อที่ว่า อาหารที่อร่อย คืออาหารที่ทำจากวัตถุดิบที่ดี ปรุงแต่งแต่น้อย เพื่อที่จะได้รู้รสชาติที่แท้จริงของวัตถุดิบนั้นๆ การทำอาหารให้ครอบครัว ยังทำให้ทุกคนได้ทานข้าวพร้อมหน้า ได้พูดคุยกันก่อนออกไปทำงาน แล้วถ้าทุกคนทานกันหมด คนทำก็รู้สึกดีเช่นกัน

เรามักจะมีความคิดที่ว่า คนเราที่อยู่ในเมืองสมัยนี้ เก่งทุกอย่าง แต่ถ้าโดนเอาไปปล่อยป่าหรืออยู่ในที่ที่ไม่มีเทคโนโลยี ก็จะทำอะไรไม่เป็นทันที เราจึงเริ่มต้นฝึกตัวเองจากการทำอาหาร

นอกจากทำอาหารกินเองแล้ว การทำอาหารยังเป็นชาเลนจ์อย่างหนึ่งด้วย
โปรเจ็กต์ housewife class 101 เหมือนกับชื่อวิชาพื้นฐานต่างๆ ทำเป็นอัลบั้มเก็บพัฒนาการการทำอาหารของตัวเอง เหมือนกับพอร์ทงานศิลปะ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารญี่ปุ่น เพราะส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่ปรุงน้อย อร่อยมาจากวัตถุดิบที่ดี ซึ่งนอกจากโปรเจ็กต์ housewife แล้ว ต่อๆ ไปอาจจะมีปลูกผัก 101 หรือ ทำนา 101 ก็ได้ (หัวเราะ)