เจ้าพืชมหัศจรรย์ชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปทุกพื้นที่ของบ้านเรา นั่นก็คือ “กล้วย” ด้วยเป็นพันธุ์พืชที่เจริญงอกงามได้ทุกภูมิภาค ประโยชน์ใช้สอยก็มากหลาย เรียกได้ว่าทุกส่วนของมันสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ตั้งแต่ส่วนใบ ก้านทาง ยอด ลำต้น หยวก กาบ ราก หน่ออ่อน ผลอ่อน ผลสุก มันจึงเป็นพืชคู่เรือกสวนไร่นาของใครหลายคนเสมอมา เปรียบเสมือนพืชคู่บ้านคู่เมืองก็ว่าได้

วันนี้เราจึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับเรื่องกล้วยๆ ที่ใครหลายคนอาจคุ้นเคย หรือในบางคนอาจหลงลืมมันไปแล้ว โดยครั้งนี้เจาะจงไปที่ส่วนประกอบของกล้วยที่เราเรียกกันว่า “ปลีกล้วย” บางพื้นที่อาจเรียกหัวปลี ซึ่งเจ้าส่วนนี้ก็คือส่วนดอกของกล้วยนั่นเอง

พูดถึงปลีกล้วยแล้ว ทุกคนคงนึกถึงภาพเจ้าสิ่งที่มีกาบดอกสีแดงๆ คล้ายกับดอกบัว แต่มีความแหลมๆ ยาวๆ กว่าดอกบัว เนื้อในสีขาวของปลีกล้วยบางคนอาจเคยเจอพวกมันถูกเสิร์ฟมาในจานผัดไทยเจ้าประจำ บางท้องที่มันอาจวางปะปนอยู่กับจานผักในร้านขนมจีนข้างทาง หรือบ้านไหนมีเด็กอ่อนอาจเจอเมนูปลีกล้วยสำหรับคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตร

หลายคนคงคุ้นเคยรสชาติอ่อนนุ่มปนกรุบกรอบของเนื้อในสีขาวของเจ้าปลีกล้วยกันไปบ้างแล้ว แต่เจ้าปลีกล้วยนั้น บางคนก็อาจจะยังไม่ทราบว่า

ทุกส่วนของปลีกล้วยสามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นเมนูต่างๆ ได้ โดยเราไม่ต้องทิ้งส่วนหนึ่งส่วนใดของมันเลย เรียกได้ว่าการกิน  ปลีกล้วยกินได้ทั้งปลี และกินได้ทั้งปี เนื่องจากกล้วยจะออกดอก  ออกผลในทุกฤดูกาลตลอดทั้งปีนั่นเอง

โดยทั่วไปแล้ว ส่วนนอกสุดที่เป็นกาบดอกสีแดงๆ มักถูกลอกหรือปอกทิ้งไป บ้างก็อาจเคยมีบทบาทเพียงวัสดุรองอาหารเพื่อเสริมให้เมนูอื่นๆ โดดเด่นขึ้นมา แต่วันนี้เราจะนำเจ้าพระรองตัวนี้ขึ้นมาเป็นพระเอกดูบ้าง เริ่มจากแกะกาบดอกสีแดงออกมาจากตัวปลีกล้วย แกะไปทีละชั้นจนถึงเนื้อในสีขาวที่เป็นส่วนอ่อนของมัน

เราจะหยุดไว้เพียงแค่นั้นก่อน ในขั้นนี้เราจะแยกส่วนของกลีบดอกเกสรของมันไว้ทำเมนูอย่างอื่น เอามาเฉพาะกาบดอกสีแดง จัดการล้างให้สะอาด นำมาเรียงซ้อนกันสักสี่ถึงห้ากาบ จัดการหั่นซอยตามแนวขวาง จะได้เส้นกาบปลีกล้วย หั่นซอยจนหมด เราก็นำมาล้างด้วยน้ำเปล่า หรือหากอยากได้สีของเส้นปลีกล้วยแบบสดสวย ไม่ดำคล้ำ อาจเป็นน้ำผสมเกลือหรือมะนาว หรือน้ำส้มสายชูเล็กน้อย


เมื่อได้เส้นกาบปลีกล้วยออกมาแล้ว นำมาสะเด็ดน้ำ ก็พร้อมจะเป็นวัตถุดิบในการทำเมนูผัดแบบผัดผักทั่วไป โดยเราอาจจะเติมเครื่องปรุงแค่ซีอิ๊วขาว หรือปรุงรสแล้วแต่ชื่นชอบได้เลย อาจโรยต้นหอมซอยเพื่อเพิ่มรสชาติและความสวยงาม เท่านี้เราก็ได้เมนูพระเอกที่เคยได้รับแต่บทพระรองของเราแล้ว

ส่วนต่อไปที่เราจะนำมาทำเป็นเมนู คือส่วนที่โดนแกะทิ้งไปในหลายๆ ครั้ง นั่นก็คือส่วนของกลีบดอกที่ได้จากการลอกกาบสีแดงนั่นเอง เจ้ากลีบดอกนี้เราจะจัดการดึงเกสรที่อยู่ตรงกลางกลีบดอกออกก่อน เพราะมีความแข็งไม่น่ากิน  เป็นส่วนเดียวของปลีกล้วยที่เราจำเป็นต้องทิ้งไป โดยอาจนำไปทำปุ๋ยหมักก็เข้าท่าดีเหมือนกัน

เมื่อเราได้กลีบดอกมาแล้วก็จัดการล้างให้สะอาด เจ้าตัวนี้ไม่ค่อยมีปัญหาสีคล้ำดำ อาจล้างด้วยน้ำเปล่าอย่างเดียวก็ได้ แล้วนำมาทำเมนูแกงส้มสไตล์ปักษ์ใต้ หรือที่เราเรียกว่าแกงเหลืองนั่นเอง จะเติมกุ้งหรือเนื้อสัตว์หรือโปรตีนตัวไหนตามใจชอบได้เลย ยิ่งทานคู่กับผัดกาบปลีกล้วยเมนูแรกของเราด้วยแล้ว จะมีความฟิน เข้ากันมากๆ

เมนูสุดท้ายของเราเชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี ด้วยเป็นเมนูคู่ครัวของหลายๆ บ้าน นั่นก็คือเมนูแกงเลียงหัวปลีอ่อนกับผักพื้นบ้านหลากชนิด เมนูนี้ปรุงได้ไม่ยาก เพียงมีกะปิ หอมแดงนิดหน่อย ส่วนปลีกล้วยอ่อนของเราก็หั่นซอยตามแนวขวาง เติมผักต่างๆ ที่เรามีลงไปตามชอบได้เลย เท่านี้เมนูอันอุดมไปด้วยความอร่อยและคุณประโยชน์ ก็พร้อมเสิร์ฟซดน้ำแกงคู่กับเมนูแกงส้มกลีบดอก และผัดกาบหัวปลีของเราแล้ว

ตบท้ายด้วยส่วนปลีกล้วยอ่อนที่ยังเหลือ เราอาจนำมาทำเมนูลวกจิ้ม หรืออาจจะทานสดเป็นผักแนมกับเมนูน้ำพริกได้อีกด้วย ปลีกล้วยหนึ่งปลีสามารถรังสรรค์เมนูได้ถึง 4 เมนู หรืออาจมากกว่านี้ แล้วแต่เราออกแบบได้เลย

ครั้งต่อไปที่เรามีเจ้าปลีกล้วยอยู่ในมือ อย่าลืมทดลองใช้ทุกส่วนของเขามาสร้างสรรค์เมนูมากประโยชน์ในแบบของคุณเอง เพราะกินปลีกล้วยทั้งที ต้องกินได้ตั้งแต่หัวปลียันท้ายปลี ฉะนั้นอย่ามัวรอช้า หยิบปลีกล้วยแล้วเข้าครัวไปด้วยกันกับพวกเราได้เลย

*หมายเหตุ หัวปลีหรือปลีกล้วยอาจมีหลายสายพันธุ์ โดยทุกสายพันธุ์ส่วนใหญ่ใช้รับประทานได้ แต่ในบางชนิดอาจมีรสชาติขม ฝาด ไม่เหมาะกับการรับประทาน โดยในการทดลองสร้างสรรค์เมนูในครั้งนี้ เลือกใช้ปลีของกล้วยน้ำว้า ซึ่งมีรสชาติดี หาได้ง่ายทั่วไป เหมาะกับการรับประทานสด หรือนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย ทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย

ภาพถ่าย: ArmYaAtHome