ขอต้อนรับพ่อครัวแม่ครัวมือใหม่ที่เริ่มต้นทำอาหารเพราะวิกฤตโควิด-19

ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะไม่ชอบทำอาหาร ไม่ถนัดเข้าครัว หรือเน้นกินข้าวนอกบ้านมากกว่า แต่สถานการณ์ก็บีบบังคับให้เราส่วนใหญ่ต้องเข้าครัว ปรุงเมนูที่พอทำได้ และพยายามบริหารจัดการวัตถุดิบที่ซื้อมาให้กินได้นานที่สุด เพราะแม้มาตรการคลายล็อกดาวน์จะทำให้เราไปไหนมาไหนได้มากขึ้น แต่ภาวะรีบซื้อ รีบกลับ ไม่อยากอยู่ในที่ที่ผู้คนเยอะๆ ก็ทำให้การจ่ายตลาด เดินซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เคยค่อยๆ เลือก ค่อยๆ ซื้อ กลายเป็นต้องวางแผนดิบดี และทำให้ได้ตามเป้ามากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

และนอกจากการวางแผน ทำ meal plan อย่างที่เราเคยเล่าไปว่าช่วยให้เรากินดีได้มากขึ้น ควบคุมรายจ่ายได้ดีขึ้น และยังลดปัญหาอาหารเหลือทิ้งได้มากโข อีกสกิลหนึ่งที่เราควรมีและเหมาะเจาะกับสถานการณ์นี้มาก คือการเก็บวัตถุดิบอย่างถูกต้อง บริหารพื้นที่ในตู้เย็นให้เป็นประโยชน์ นอกจากจะยืดอายุวัตถุดิบให้ดีได้นานขึ้น ยังช่วยให้เรารู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน ไม่ลืมที่จะใช้ และไม่ปล่อยให้เน่าเสียไปโดยไม่ได้กิน 

อันที่จริง เรื่องเหล่านี้ก็พอมีให้เสิร์ชหาอ่านได้ในโลกออนไลน์ แต่ส่วนใหญ่มักแนะนำใช้ให้ถุงซิปล็อกและพลาสติกซิงเกิลยูสเพื่อจัดระเบียบวัตถุดิบเหล่านี้ เราเลยลองท้าทายตัวเองว่าจะเก็บวัตถุดิบปรุงอาหารให้ดี โดยไม่มีซิงเกิลยูสด้วยได้ไหม และผลลัพธ์จากการทดลองทำดู พบวิธีดังนี้ 

วิธีเก็บเนื้อสัตว์ในช่องแช่แข็งแบบแบ่งพร้อมปรุง 

แหล่งโปรตีนคุ้นเคยไม่ว่าจะเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือเนื้อวัว หลักการพื้นฐานเหมือนกันคือการแบ่งเป็นส่วนพร้อมปรุงสำหรับ 1 มื้อ จากที่เคยซื้อหมูมาหนึ่งกิโลกรัมแล้วยัดเข้าช่องฟรีซทั้งก้อน พอเอาออกมาละลายน้ำแข็งแล้วเฉือนไปใช้สักหนึ่งส่วน แล้วโยนกลับเข้าช่องฟรีซใหม่ นอกจากจะทำให้เนื้อหมูลดคุณภาพ ยังเสี่ยงต่อการเติบโตของแบคทีเรียด้วย ทุกสำนักเลยแนะนำให้เราแบ่งพอร์ชันต่อหนึ่งการปรุง แยกใส่กล่อง ใส่ถุงซิปล็อก ใส่ถุงแกง ก็แล้วแต่ใครจะถนัดแบบไหน แล้วพอจะปรุงอาหารทีก็หยิบมาใช้แค่ส่วนที่ต้องการ ส่วนที่ยังไม่ใช้ก็ไม่เสื่อมคุณภาพเพราะเดี๋ยวแข็งเดี๋ยวละลายนั่นเอง

แต่ถ้าอยากลดขยะซิงเกิลยูสจากการแบ่งเนื้อสัตว์แช่แข็ง บางบ้านก็เลือกใช้กล่องพลาสติกเกรดแช่แข็งขนาดจิ๋ว แบ่งเนื้อไก่หั่นชิ้น หมูสับ เนื้อบด เอาไว้ ซึ่งก็ดูเรียบร้อยสวยงามดี แต่ติดอยู่ที่บ้านเราไม่มีกล่องพร้อมใช้ และช่องฟรีซไม่ได้มีพื้นที่มากขนาดนั้น!

เอากระดาษไขสำหรับรองอบขนม ซึ่งเคลือบผิวด้วยพาราฟินบางๆ ลดการระเหยของความชื้นได้ระดับหนึ่ง ห่อแบ่งสัดส่วนของเนื้อสัตว์ต่างๆ ตามต้องการ

จะแบ่งเป็น 100 กรัม หรือ 200 กรัม ก็แล้วแต่จำนวนสมาชิกและความกินดุ จากนั้นก็ใส่ลงไปในกล่องพลาสติกเกรดแช่แข็งได้ จะทับกันก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัวว่าเนื้อสัตว์จะแข็งติดกันเพราะกระดาษไขเราช่วยเว้นระยะไว้ให้แล้ว แกะมาทีละห่อได้โดยไม่ต้องรอให้น้ำแข็งละลายด้วย

ข้อควรระวัง: ถ้าเลือกกล่องพลาสติกแบบใช้ซ้ำ อย่าลืมดูว่าเป็นเกรดแช่แข็งได้ (พลิกดูสัญลักษณ์รูปเกล็ดน้ำแข็ง)   

วิธีเก็บอาหารทะเลเปลือกแข็งแบบทยอยปรุง

กุ้งทั้งเปลือกบางบ้านมีทริกให้ล้างให้สะอาด แช่กุ้งในน้ำแล้วปิดฝาให้กลายเป็นกุ้งขั้วโลกเหนือ แต่วิธีนี้จะใช้ก็ต้องใช้ทั้งหมด จะหยิบทีละ 2-3 ตัวมาทำไม่ได้ เคยเห็นคอมเมนต์แชร์วิธีประจำบ้านด้วยเกลือแล้วเจ๋งดี เลยเอามาทำตามดูบ้าง

คลุกเกลือเม็ดหยาบ แล้วปิดฝาแช่ฟรีซ ข้อดีคือกุ้งจะไม่แข็งโป๊กติดกัน หยิบทีละตัวสองตัวได้ง่ายๆ แถมรสเกลือก็ไม่ได้ซึมเข้าเนื้อกุ้งแต่อย่างใด

ก่อนจะถมเหลือก็ตัดแต่งเล็มหนวด ตัดแง่งแหลมๆ กันแทงมือก่อนด้วยก็เรียบร้อยดีนะ

ข้อควรระวัง: ต้องมั่นใจว่ากุ้งที่ได้มาสดจริง เพราะถ้ากุ้งเริ่มไม่สด ยิ่งเก็บจะยิ่งคาวนะ

วิธีเก็บเต้าหู้อินทรีย์ไร้สารกันบูดให้อยู่นานๆ 

แม้จะเป็นเต้าหู้อินทรีย์ที่ไม่มีสารกันบูดชัวร์ๆ แต่ถ้าเก็บด้วยวิธีนี้รับรองว่าเก็บได้เป็นสัปดาห์เลยนะ

ล้างน้ำให้สะอาด ใส่ภาชนะมีฝาปิด เทน้ำสะอาดให้ท่วม ปิดฝา แล้วแช่ไว้ในตู้เย็นในช่องชิลล์ (ใต้ช่องแช่แข็ง) แล้วหมั่นเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ ทุกวัน

ใครเจอแหล่งเต้าหู้ดีแต่ไปไม่ได้บ่อย ใช้วิธีนี้ได้เลย!

วิธีเก็บไข่สุดเบสิก ที่รู้ให้ครบทุกทริก!

เบสิกที่สุดอย่างการเก็บไข่ ก็ให้แน่ใจว่าเอาด้านแหลมลงในช่องเก็บ ให้ด้านป้านหงายขึ้นข้างบน เพราะมันมีช่องอากาศภายในที่ช่วยเซฟให้ไข่แดงไม่แตกและเก็บได้นานขึ้น หรือใครจะเก็บใส่กล่องสำหรับเก็บไข่โดยเฉพาะก่อนเข้าตู้เย็นก็ยิ่งเซฟไปได้อีกขั้น (แต่สำหรับคนตู้เย็นแน่นอย่างเรา เก็บไว้ตรงช่องที่ตู้เย็นจัดไว้ให้ ก็จัดการพื้นที่ได้ง่ายขึ้นนะ

อ้อ! แล้วก็รู้กันใช่ไหมว่าไม่ต้องล้างไข่หรอก เพราะนวลที่ติดเปลือกไข่อยู่ช่วยให้อากาศผ่านเข้าไปไม่ได้ ถ้าล้างออกหมดอากาศจะซึมเข้าไป ทำให้ไข่เสียไวขึ้นนะ หรือถ้าใครมีเวลา จะใช้น้ำมันทาเคลือบผิวไข่ไว้บางๆ ก็ช่วยป้องกันไม่ให้อากาศผ่านรูพรุนของเปลือกไข่ได้อีกทางหนึ่งนะ

อย่าตุนไข่ไว้ทีละเยอะๆ เลย คำนวณดูว่าปกติแล้วเรากินไข่กันสัปดาห์ละเท่าไหร่แล้วซื้อตามจำนวนดีกว่า

จะได้กินไข่สดใหม่ทุกสัปดาห์ มันอร่อยกว่า และทำอาหารได้น่ากินกว่าด้วยนะ

วิธีเก็บผักให้สดใหม่ ไม่มีใครหัวเน่า

สายงานละเอียดมักเลือกเก็บผักใส่ถุงซิปล็อกแบ่งตามชนิด เพราะง่าย สวยงาม จัดการรวดเร็ว แต่ถ้าอยากลดการใช้พลาสติกดู เราเลือกใส่พวกกล่องปิดฝาขนาดใหญ่ แล้วเก็บผักชนิดใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน เคล็ดลับคือต้องล้างให้สะอาด แล้วซับให้แห้งด้วยผ้า (อย่างเบามือ) ก่อนจะบรรจุใส่กล่องเดียวกัน

บางตำราบอกให้ใช้กระดาษทิชชูเนื้อหนารองพื้นแล้วปิดด้านบน แต่เราเลือกใช้ผ้าเช็ดมือเก่าๆ (ที่สะอาดดี) หรือผ้าเช็ดหน้าเนื้อผ้าฝ้ายที่ไม่ได้ใช้แล้ว มาใช้แทน ก็ช่วยกักเก็บความชื้นให้ผักสดกรอบอยู่ได้นานโดยเอามาซักใช้ซ้ำได้อยู่เรื่อยๆ 

ส่วนผักใบ ที่เมื่อก่อนเก็บรวมๆ รวบๆ กันไว้ในถุงเดียว มันมักจะมีผักที่สลายร่างใบเน่า รากเปื่อย แล้วลามทุ่งไปเน่าใส่เพื่อนๆ ด้วย วิธีการแก้คือล้างให้สะอาด ถ้ามีรากก็ต้องล้างดินให้หมดจด ซับน้ำให้แห้ง แล้วห่อแยกเป็นชนิดๆ ไป เราเลือกใช้ผ้าเช็ดหน้า ใบตอง หรือถุงกระดาษเก่าๆ (ไม่แนะนำกระดาษหนังสือพิมพ์ที่มีตะกั่วเป็นของแถมนะ!) ถ้าผักชนิดไหนยาวเกินกล่องที่มี ก็ใส่ถุงก๊อบแก๊บใบเก่าๆ ที่ใช้แล้วนั่นแหละ ใส่ลงไปทั้งห่อแล้วผูกให้มิด ใส่ช่องผักไว้ได้ ห่อชั้นแรกช่วยเรื่องความชุ่มชื้น ชั้นสองช่วยไม่ให้ผักเหี่ยว แถมยังได้ใช้ถุงพลาสติกใบเดิมให้คุ้มแล้วคุ้มเล่า ด้วยการล้างใช้ซ้ำเรื่อยๆ จนกว่าจะเปื่อยไปจากกัน

เติมความแซ่บให้ชีวิตด้วยการเก็บพริกอย่างถูกต้อง

ครัวไทยสไตล์แซ่บมันต้องมีพริกติดไว้ซะหน่อย แต่การเก็บพริกทั้งก้านไว้ในถุงก๊อบแก๊บผูกปาก เปิดมาทีไรก็รู้สึกสยองใจว่ามีกลิ่นตุๆ จากพริกเน่า บ้างก็รวมตัวกันขึ้นรา บ้างก็ยมๆ แฉะๆ จนไม่กล้ากิน

ลองเด็ดก้านพริกที่จ้องจะเน่าก่อนส่วนอื่นออกให้หมด ล้างให้สะอาด คัดเม็ดที่อาการน่าเป็นห่วงทิ้ง และซับน้ำหรือผึ่งจนแห้งดี (ย้ำว่าต้องแห้งดี) จากนั้นใส่กล่องปิดฝา

หรือจะห่อกระดาษ ห่อใบตองก็ได้เช่นกัน แต่ใส่กล่องสะอาด สะอาด หยิบใช้ง่าย ใช้ได้บ่อยๆ

วิธีเก็บสามเกลอให้หอมฟุ้งนานๆ 

จะหมัก จะต้ม จะทอด จะย่าง ฯลฯ สามเกลอ หรือกระเทียม พริกไทย และรากผักชี โขลก คือเบสพื้นฐานที่ช่วยให้อาหารง่ายๆ อร่อยอูมามิมากขึ้น แต่พออยากรีบทำ รีบอิ่ม การต้องมาปอกกระเทียม ค้นหารากผักชี แล้วโขลกสามเกลอกรอกมื้อ มันก็เสียเวลาเหมือนกันนะ ก็ลองทำตุนเวลาว่างๆ วันหยุดไปเลยแล้วกัน

สัดส่วนทองคำคือ
กระเทียม : รากผักชี : พริกไทย ในสัดส่วน  2 : 2 : 1
เสร็จแล้วก็แบ่งเก็บไว้ในกล่องจิ๋วสัก 1-2 ช้อนโต๊ะ (พอปรุงหนึ่งมื้อ) แช่ฟรีซเก็บไว้ได้เลย

เอาออกมารอละลายก็หอมฉุยทำอะไรก็อร่อยได้เหมือนเดิมแล้ว

แถม! วิธีเก็บหอม กระเทียมให้ไม่หัวเดียวกระเทียมลีบ

ยังมีคนโยนหอม กระเทียม ใส่ตู้เย็นใช่ไหม! รู้ไหมว่าความชื้นในตู้เย็นเป็นตัวการสร้างราให้กระเทียมเป็นอันดับหนึ่ง จริงๆ พื้นที่ที่ควรเก็บหอม กระเทียม มันฝรั่ง หรือแม้แต่มะเขือเทศ (ใช่ มะเขือเทศไม่ต้องแช่ตู้เย็นหรอก)

เก็บไว้ในตะกร้า วางไว้ในที่ที่อากาศถ่ายเท ลมพัดผ่านได้ยินดี กระเทียมและหอมจะอยู่ยงคงกระพันให้เรากินไปได้นานๆ

ภาพถ่าย: จิราภรณ์ วิหวา