ในบรรดาโปรตีนทางเลือกนั้น ดูเหมือนว่า ‘เต้าหู้’ จะเป็นอาหารที่เป็นมิตรกับคนทุกเพศทุกวัย ด้วยวัฒนธรรมการกินของอาหารไทยซึ่งได้รับอิทธิพลจากอาหารจีนไม่น้อย เต้าหู้จึงกลายเป็นอาหารคู่ครัวมาแต่ไหนแต่ไร ไล่เรื่อยมาตั้งแต่อาหารสามัญประจำบ้านอย่างไข่พะโล้ที่มีเต้าหู้เป็นตัวชูโรง ถั่วงอกผัดเต้าหู้ หรือไม่ว่าเมนูอะไร ก็ใส่เต้าหู้แทนเนื้อสัตว์ได้เกือบทั้งนั้น

แถมการทำเต้าหู้กินเองยังไม่ใช่เรื่องยาก เรียกว่าง่ายในระดับช่วยกันคนละไม้คนละมือในครอบครัวก็ย่อมได้ (วิธีการทำเต้าหู้โฮมเมด) แต่ข้อแม้สำคัญในการทำเต้าหู้กินเองก็คือ การคัดสรรวัตถุดิบอย่างพิถีพิถัน เลือกใช้ถั่วเหลืองเต็มเมล็ด ไม่เก็บค้างนานแรมปีที่เสี่ยงต่อการอาบยากันเชื้อรา ยิ่งถ้าเป็นถั่วเหลืองที่ปลูกในแนวทางอินทรีย์ก็ยิ่งดีต่อสุขภาพ 

ส่วนอีกข้อแม้ก็คือ เต้าหู้โฮมเมดนั้นควรกินตอนทำเสร็จสดใหม่ เพราะนอกจากรสชาติจะอร่อยที่สุดแล้ว ยังลดความเสี่ยงที่เต้าหู้จะบูดเสียเนื่องจากสภาพอากาศร้อนระอุ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ใช่ว่าเราจำต้องทำเต้าหู้ทีละน้อย ค่อยๆ กินไปทีละนิด เพราะแน่ล่ะว่า บางครั้งบางคราวเราก็มีเวลาจำกัด การถนอมเต้าหู้โฮมเมดไว้กินนานๆ จึงเป็นทางเลือกสำหรับคนอยากกินดีแต่ไม่ค่อยมีเวลา กว่านั้นยังได้เต้าหู้รสชาติใหม่เพิ่มสีสันให้กับอาหารอีกด้วย 

รสชาติใหม่จากเต้าหู้เหลือใช้ กับ ‘เต้าหู้ยี้โฮมเมด’ 

สำหรับเรา ‘เต้าหู้ยี้โฮมเมด’ เป็นกระปุกที่มีติดครัวเสมอ เพราะเต้าหู้ยี้เป็นอาหารกินง่าย สามารถกลายร่างเป็นกับข้าวได้โดยไม่ต้องปรุง หรือถ้ามีเวลามากกว่านั้น เต้าหู้ยี้ยังเป็นวัตถุดิบทั้งในก๋วยเตี๋ยว น้ำซุป หรือผัดผักอย่างจีนได้อย่างดี ทุกทีที่เราทำเต้าหู้ปริมาณเกินกินหมดในครั้งเดียว เต้าหู้ยี้ทำเองจึงเป็นอีกหนึ่งที่ทางเลือกที่ช่วยให้เต้าหู้ของเราไม่เสียเปล่าได้เสมอ

มากไปกว่านั้น  ปัจจุบันเต้าหู้ยี้ในท้องตลาดจำนวนมากมีโอกาสเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในแป้งหรือถั่ว โดยเฉพาะผลิตผลทางการเกษตรที่สัมผัสดิน เช่น ถั่วเหลือง หากกระบวนการผลิตไม่สะอาดรัดกุมเพียงพอ ก็อาจเป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษได้ในที่สุด

และต่อไปนี้คือวิธีการยืดอายุเต้าหู้โฮมเมด ให้รสชาติพิเศษยิ่งกว่าเดิม 

อุปกรณ์

1. เต้าหู้ขาวแบบแข็งที่เหลือจากการปรุงอาหาร หรือเก็บไว้นานเกิน 3-5 วัน
2. ดอกเกลือ
3. น้ำกรอง
4. หม้อสำหรับต้ม
5. น้ำดองเต้าหู้: ซีอิ้วขาว, น้ำตาลทรายแดง, ขิงแก่ฝานบางๆ, งาขาวคั่ว, เหล้ารัม 1 ช้อนโต๊ะ (จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้)​, ผงพะโล้

วิธีทำ

1. หั่นเต้าหู้ขาวเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมพอดีคำ จากนั้นนำดอกเกลือละลายน้ำและต้มจนเดือด รอให้เย็น แล้วนำเต้าหู้ที่หั่นไว้ลงเเช่ในน้ำเกลือประมาณ 1 คืน 

2. นำเต้าหู้ที่แช่น้ำเกลือมาสะเด็ดน้ำ ผึ่งแดดจนแห้งดี

3. ปรุงน้ำดองเต้าหู้ ด้วยซีอิ้วขาว ผงพะโล้ น้ำตาลทรายแดง ขิงแก่ฝานบาง 1-2 ชิ้น ต้มจนเดือด ปิดไฟ เติมเหล้ารัม 1 ช้อนโต๊ะ ชิมรสดูให้พอดี แล้วโรยงาขาวคั่วปิดท้าย

4. รอจนน้ำดองเย็น เรียงเต้าหู้ที่พึ่งแดดจนแห้งแล้วในขวดโหลที่นึ่งและตากจนแห้งสนิท จากนั้นเติมน้ำดองเต้าหู้ยี้จนท่วม ปิดฝาขวดโหลให้สนิท

5. วางทิ้งไว้ในที่อับแสง ณ อุณหภูมิห้องราว 2 เดือน (ลองชิมรสดูว่าเนื้อเต้าหู้มีรสชาติถูกใจหรือยัง ถ้าอยากให้เข้มข้นสามารถดองต่อไปได้เรื่อยๆ)

ENJOY!

ภาพถ่าย: ม็อบ อรุณวตรี