“พลาสติกย่อยสลายได้” จริงไหม ?

เราเคยตั้งคำถามว่า “พลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ” เป็นพระเอกหรือผู้ร้ายในเกมการจัดการขยะ (หาคำตอบได้ที่นี่) ครั้งนั้นเราเปรียบนโยบายแบนถุงพลาสติกที่มาแทรกกลางความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับพลาสติก เท่ากับพ่อแม่บังคับให้ลูกวัยรุ่นเลิกกับแฟนแบบไม่อธิบายเหตุผล จนพบรักครั้งใหม่คือ “พลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ”

วันนี้ความสัมพันธ์ของผู้บริโภคกับพลาสติกย่อยสลายได้ เติบโตเหมือนความรักแบบผู้ใหญ่ ที่มักชอบพูดกันว่า จะอยู่ด้วยกันได้นั้นความรักอยากเดียวยังไม่พอ แต่ต้องมีความเข้าใจและองค์ประกอบแวดล้อม เช่นกัน การใช้พลาสติกย่อยสลายได้อาศัยความรัก (โลก) อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องอยู่ด้วยกันโดยสร้างขยะน้อยที่สุดได้

แล้วรักษ์ครั้งนี้ต้องใช้อะไรบ้าง ?
เรากลับไปปรึกษา วิน-วรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste หนึ่งในทีมโครงการแก้ว Zero Waste Cup ซึ่งริเริ่ม Closed-loop Bio Management หรือการจัดการพลาสติกชีวภาพอย่างครบวงจรภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขอคำแนะนำการอยู่ร่วมกับพลาสติกย่อยสลายได้ ให้รักษ์ครั้งนี้ยั่งยืนจริง ๆ

พลาสติกที่ย่อยสลายได้คืออะไร
สมัยก่อน คำว่า “Biodegradable” ภาษาไทยใช้คำว่า “ย่อยสลายได้” หมายถึงกลุ่มของวัสดุที่มาจากธรรมชาติและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น ใบตอง กาบใบไม้ ต่อมามีกลุ่มผู้ผลิตพลาสติกคิดวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้และใช้คำว่า Biodegradable จึงมีผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ออกมาในตลาดมากมาย และเนื่องจากไม่มีมาตรฐานและไม่ต้องขออนุญาตในการใช้คำนี้ ดังนั้นไม่ว่าจะย่อยได้ภายใน หนึ่งปี ห้าปี สิบปี หรือร้อยปี ก็สามารถใช้คำนี้ได้

พลาสติกย่อยสลายได้ หรือ Biodegradable จึงเป็นคำที่ใช้กันเยอะมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และกลายเป็นคำที่โดนการตลาดทำร้าย เมื่อผู้บริโภคพบว่าคำว่าย่อยสลายได้นั้นมีเงื่อนไขที่ซ่อนไว้ใต้ดอกจันตัวจิ๋วที่ผู้ผลิตตั้งใจบอกไม่ครบ

ปัจจุบันจึงมีการบัญญัติคำศัพท์ โดยไม่ใช้คำว่าย่อยสลาย แต่เปลี่ยนมาใช้คำว่า “Compostable” หรือ “การสลายตัวทางชีวภาพ” ซึ่งแปลว่าวัสดุหรือผลิตภัณฑ์นั้นสามารถย่อยสลายและได้รับมาตรฐานรับรอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค แต่ถ้าไปดูในตลาดของไทย เราจะยังเห็นทั้งสองคำนี้

อะไรที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด
หนึ่ง คำว่า “ย่อยสลายได้” ปัจจุบันมีการใช้คำนี้เยอะมาก เช่น ใช้พลาสติกแล้วผสมสารที่ย่อยสลายได้ ก็อ้างว่าย่อยสลายได้แล้ว ซึ่งความเป็นจริงคือ สารที่ผสมเข้าไปนั้นย่อยได้ แต่ส่วนพลาสติกย่อยไม่ได้

สอง Compostable Plastic เป็นคำที่วงการอุตสาหกรรมใช้ และมีมาตรฐานรับรอง ซึ่งมี 2 ประเภท คือ

1. Industrial Compostable สามารถย่อยได้ในสภาวะที่เอื้ออำนวยให้เกิดการย่อยทางอุตสาหกรรม กล่าวคือ ย่อยได้เฉพาะในโรงย่อยอุตสาหกรรม ที่ต้องมีอุณหภูมิ 60-80 องศา มีความชื้น และจุลินทรีย์ช่วยเร่งการย่อยเท่านั้น จะย่อยสลายการเป็นดิน (ชีวมวล/ Biomass) ภายใน 6 เดือน-1 ปี แต่ถ้าปัจจัยไม่ครบจะไม่ย่อยสลาย*

2. Home Compostable เป็นวัสดุที่ออกแบบมาให้ย่อยได้ง่าย สามารถย่อยได้ในสวนหลังบ้าน ในกองปุ๋ยหมัก ภายในเวลา 6 เดือน-1 ปี

มีวิธีให้ผู้บริโภคอย่างเราแยกได้ไหม
ถ้าแยกระหว่าง Biodegradable Plastic กับ Compostable Plastic ตอนนี้มีมาตรฐาน Compostable กำกับอยู่ ให้มองหาคำนี้

ส่วน Industrial Compostable กับ Home Compostable ตอนนี้ในผลิตภัณฑ์ยังไม่มีบอก ยังเป็นความรู้ทางเทคนิคอยู่ อาจเดาเบื้องต้นได้จากการสังเกต เช่น Industrial Compostable มีลักษณะแข็ง เช่น ฝา หลอด แก้วกาแฟ แต่ถ้าเป็นลักษณะอ่อนๆ หรือใช้เคลือบกระดาษ ถุงบางๆ พอจะเดาได้ว่าเป็น กับ Home Compostable

ถ้าจะใช้พลาสติกหรือกลุ่มวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จะต้องมีการจัดการอย่างครบวงจร คือ ใช้ เก็บ และย่อย

ถ้าจำเป็นต้องใช้ เราควรจะเลือกใช้พลาสติกแบบไหนดี
คนมักจะติดกับดัก แล้วมองว่าพลาสติกย่อยสลายได้ดีกว่าเสมอ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าจะใช้พลาสติกหรือกลุ่มวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จะต้องมีการจัดการอย่างครบวงจร คือ ใช้ เก็บ และย่อย เพราะถึงจะเลือกใช้พลาสติกย่อยสลายได้ แต่ถ้าเป็น Industrial Compostable และไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี ก็ไม่สามารถย่อยได้ในสภาพแวดล้อมปกติ

ถ้าไม่มีปลายทางที่จัดการได้อย่างถูกต้อง ผมไม่แนะนำให้ใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้

การจัดการอย่างครบวงจรคืออะไร ช่วยเล่าถึงโครงการจัดการพลาสติกชีวภาพอย่างครบวงจร ที่เกิดขึ้นในจุฬาฯ ให้ฟังหน่อยได้ไหม
โปรเจ็กต์ในจุฬาฯ เริ่มจากเป้าหมายในการลดผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Items) บนฐานความเข้าใจว่า การอยู่ในสังคมปัจจุบันไม่สามารถจะลดทั้งหมดได้ แต่ต้องเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค จึงคิดหาทางเลือกใหม่ โดยการทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับเอกชน จนได้เป็นแก้ว Zero Waste Cup ออกมาก ซึ่งต้นทุนสูงกว่าปกติ โดยโปรเจ็กต์นี้เป็นการบูรณาการเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และเทคโนโลยี (กระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ) และการจัดการอย่างครบวงจร

เราเริ่มจาก​ ‘ใช้’ คือบังคับให้ทุกร้าน ทุกโรงอาหารในจุฬาฯ ใช้แก้วแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือต้นทุนสูงขึ้น เราก็ผลักภาระทั้งหมดให้ผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยต้องห้ามสนับสนุนใดๆ ทั้งสิ้นในการจัดการตรงนี้ เพราะการสนับสนุนนั้นไม่ยั่งยืน สมมติปีนี้สนับสนุนได้หนึ่งล้าน ปีหน้าอีกหนึ่งล้าน แล้วปีถัดไปต้องหาเงินมาอีกเท่าไรล่ะ ดังนั้นทุกอย่างจึงผลักไปที่ผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกันเราต้องสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายด้วย สิ่งที่เราโปรโมตคือพกแก้วน้ำ ขวดน้ำมาเอง แล้วเราจะลดราคาเท่ากับราคาแก้ว ถ้าผู้บริโภคเอามาก็ไม่ต้องจ่าย ถ้าไม่เอามาก็ต้องจ่าย พอเราทำแบบนี้ปั๊บ ทำให้ทางเข้าเรามีแค่วัสดุเดียว จากนั้น เก็บ เรามีจุดทิ้งขยะที่แยกแก้วออกมา เมื่อเราแยกได้แล้วก็เอาไปย่อย ซึ่งแก้วนี้เป็น Home Compostable ทำให้จัดการง่าย

พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพอย่างครบวงจร ไม่ใช่ที่แรกที่นำพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพมาใช้ แต่เป็นที่แรกที่ใช้ เก็บ ย่อย อย่างครบวงจร

เราใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์คือ ราคา เน้นให้คนเอาแก้วมาเองซึ่งดีที่สุด แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ บอกให้ใช้แบบนี้ แต่คุณต้องจ่ายนะ และเรามีระบบจัดเก็บเพื่อนำมาจัดการให้ถูกต้อง ซึ่งลูปนี้เกิดขึ้นในทุกโรงอาหารในจุฬาฯ โครงการจัดการพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพอย่างครบวงจร ไม่ใช่ที่แรกที่นำพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพมาใช้ แต่เป็นที่แรกที่ใช้ เก็บ ย่อย อย่างครบวงจร นี่คือหลักการ พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพจะช่วยแก้ปัญหาได้เมื่อมีการจัดการอย่างครบวงจร ช่วยลดขยะพลาสติกจากแก้วที่รีไซเคิลไม่ได้ปีละกว่าสองล้านใบ แต่ถ้าใช้แล้วไม่มีการเก็บคืนหรือจัดการ พลาสติกย่อยสลายได้ก็จะกลายเป็นวัสดุใหม่ในตลาดและสร้างขยะเพิ่ม

พลาสติกย่อยสลายได้ตอนนี้ส่วนใหญ่ใช้ผลิตแก้วน้ำ ขอถามแทนเจ้าของคาเฟ่ว่า ใช้แก้วกาแฟแบบไหนรักโลกมากที่สุด
ขอเล่าก่อนว่า ในตลาดแก้วกาแฟพลาสติกในประเทศไทย มี 4 วัสดุ หนึ่งคือ PP (Polypropylene) ลักษณะแข็งขุ่น สองคือ PET (Polyethylene Terephthalate) ลักษณะแข็งใส หรือที่นิยมใช้ทำขวดน้ำ สามเป็น PS (Polystyrene) ลักษณะแข็ง ใส เปราะ และสี่คือ PLA (Polylactic acid) เป็นชนิดที่ย่อยสลายได้

ปัญหาคือ ทั้งหมดแยกด้วยสายตาแทบไม่ออก หรือให้ลองดีดแก้ว PLA เสียงจะดังและก้องกว่า จะแยกได้ก็ต่อเมื่อมาเทียบกัน ซึ่งเป็นความยากต่อผู้บริโภคที่ไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า และนี่เป็นสาเหตุว่าในประเทศไทย ไม่มีใครรับซื้อแก้วกาแฟเพื่อไปรีไซเคิลเลย เพราะว่ามีหลายประเภทและไม่สามารถแยกได้ วัสดุที่มีโอกาสเข้าสู่การรีไซเคิลมากที่สุดคือ PP เพราะมีโรงงานแล้ว มีที่รับซื้อแล้ว แต่ปัญหาคือยังไม่มีระบบแยกที่เหมาะสม ทำให้ร้านรับซื้อไม่มั่นใจที่จะรับซื้อเพราะกลัวว่าจะมีอย่างอื่นมาผสม

ถ้าให้แนะนำ คาเฟ่ควร ใช้ PP แต่วิธีการที่เวิร์กที่สุดคือ ทั้งตลาดใช้วัสดุชนิดเดียวกัน

ในขณะที่ PET ตอนนี้รับรีไซเคิลเฉพาะขวดน้ำ ส่วนแก้วน้ำกับถาดใส่ไข่ ไม่มีใครรับไปรีไซเคิล เพราะตอนผลิตแก้วน้ำหรือถาดไข่มีการเติมสารลงไป หากสังเกตจะพบว่าแก้วและถาดไข่มีความแข็งกว่าขวดน้ำ แม้จะเป็น PET เหมือนกัน แต่รีไซเคิลร่วมกันไม่ได้ เพราะย้อนกลับมาเป็นขวด และเอาไปทำอย่างอื่นไม่ได้เพราะคุณสมบัติมันเปลี่ยน ดังนั้นถ้าให้แนะนำ คาเฟ่ควร ใช้ PP แต่วิธีการที่เวิร์กที่สุดคือ ทั้งตลาดใช้วัสดุชนิดเดียวกัน

ผมขอยกตัวอย่างที่เกาหลี ขวดโซจูสีเขียวเหมือนกันทั้งประเทศ ซึ่งเกิดจากอุตสาหกรรมโซจูเขาตกลงกันว่าให้ทุกคนใช้ขวดแก้วสีเขียวเหมือนกัน แล้วจะติดฉลากหรือรูปทรงอย่างไรก็ได้ เพื่อให้สามารถเก็บกลับมารีไซเคิลได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ถ้าแก้วกาแฟของเมืองไทยใช้พลาสติกชนิดเดียวกันทั้งประเทศ ก็จะทำให้เกิดปริมาณที่มากพอ เกิดสิ่งแปลกปลอมน้อย ก็จะเกิดแรงจูงใจให้คนอยากเก็บและรับซื้อเพื่อไปรีไซเคิล นี่เป็นไอเดียนะ

จะใช้วัสดุอะไรก็ได้ แต่ขอให้ใช้ไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อต้นทางเป็นวัสดุเดียวกัน ปลายทางจะเกิดเอง เรื่องนี้จึงไม่มีคำตอบที่ถูกที่สุด ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการ อย่างที่บอกว่าต้องคิดครบลูป และบริบทของระบบการจัดการที่มีอยู่ บางร้านเลือกใช้ Industrial Compostable ให้น้อยที่สุด โดยใช้แก้วกระดาษ หลอดกระดาษ บางร้านใช้ Industrial Compostable แล้วมีโครงการขอรับแก้วกลับคืนเพื่อนำไปจัดการ บางร้านเลือกใช้ PP ทั้งแก้วและฝา ซึ่งออกแบบฝาให้ใช้ดื่มได้

ผมเคยไปนั่งสังเกตการณ์ร้านที่ใช้ PP และออกแบบฝาให้ดื่มได้ เราพบว่าพนักงานจะคอยอธิบายลูกค้าว่าแก้วของเราดื่มได้เลย พูดกับทุกคน ทุกแก้ว และไม่มีหลอดวางหน้าร้าน รวมทั้งเดลิเวอรี่ก็ไม่ให้หลอด แต่ขอได้นะ ซึ่งจากการนั่งสังเกตพฤติกรรม พอพนักงานบอกแบบนี้ ผมว่าคนกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ไม่ใช้หลอดนะ เพราะดีไซน์ของแก้วมันออกแบบมาเพื่อให้ดื่มได้อยู่แล้ว และขึ้นอยู่กับพนักงานด้วย เพราะถ้าพนักงานไม่กระตุ้น คนก็จะมองหาหลอดตามความเคยชิน แต่พอพนักงานบอก เขาก็จะรู้ว่าไม่ต้องใช้ก็ได้นี่ และที่สำคัญทั้งแก้วทั้งฝาเขาใช้วัสดุเดียวกัน

การมีลายสกรีนบนแก้วส่งผลต่อการรีไซเคิลจริงไหม
มีผลน้อยครับ เพราะในกระบวนการรีไซเคิลสามารถล้างลายสกรีนออกได้ เขาจะเอาไปบด แล้วใช้สารเคมีในการล้าง แต่การเติม additive ลงในพลาสติกเพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้แข็งขึ้น หรือใช้สีอื่นที่ไม่ใช่สีใส จะมีผลต่อการรีไซเคิล โรงงานรีไซเคิลส่วนใหญ่ในประเทศไทย จึงรับแต่ขวดใส

ประเทศไทยมีกำลังการผลิต Bioplastic เป็นอันดับสองของโลก แต่เราส่งออก 99% เพราะราคาสูง

ความท้าทายในการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ มีอะไรบ้าง
หนึ่งคือเรื่องราคา ลักษณะของวัสดุพวกนี้มีราคาสูงกว่าแก้วทั่วไป เมื่อเราต้องผลักค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปให้ผู้บริโภค เราต้องสร้างทางเลือกให้เขาไม่ต้องรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ด้วย ประเทศไทยมีกำลังการผลิต Bioplastic เป็นอันดับสองของโลก แต่เราส่งออก 99% เพราะราคาสูง และไม่สามารถลดต้นทุนลงเพื่อแข่งกับพลาสติกที่ผลิตจากน้ำมันได้ เมื่อราคาแตกต่างกันเท่าตัวและไม่มีกฎหมายบังคับให้ใช้ ในประเทศไทยจึงมีความเป็นไปได้ยากที่พลาสติกชนิดนี้จะเป็นที่นิยม

สองคือระบบการจัดการ ถ้าเราใช้วัสดุชนิดเดียวกัน หรือมีการตกลงทิศทางร่วมกัน ปลายทางการจัดการจะเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันเราไม่มีการกำหนดหรือบังคับ รวมทั้งอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศไทยแต่ละเจ้ามีผลิตภัณฑ์ของตัวเองที่ต้องการขาย เราต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้คือธุรกิจด้วย เพราะฉะนั้นการจะมาตกลงกันให้ใช้แค่วัสดุอย่างเดียวจึงเป็นเรื่องยากมาก

เมื่อเป็นแบบนี้จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายเข้ามาช่วย เช่น EPR (Extended Producer Responsibility) ซึ่งก็เป็นอีกทางที่กำลังร่วมกันผลักดันในไทยอยู่ บางประเทศมีการกำหนดให้ขวด PET ต้องเป็นขวดใสเท่านั้นเพื่อให้รีไซเคิลได้ หรือเรื่องราคา ในต่างประเทศมีกฎหมายบังคับ เช่น เก็บภาษีผลิตภัณฑ์พลาสติกจากน้ำมัน เพราะฉะนั้นในต่างประเทศ พลาสติกจะแพงเพื่อให้มีราคาเท่ากันกับวัสดุธรรมชาติ เมื่อราคาเท่ากันคนจึงหันมาเลือกวัสดุที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เขาใช้กฎหมาย EPR เพื่อให้ทุกฝ่ายมาแก้ปัญหาร่วมกัน

มีอะไรที่น่าจับตามองว่าจะเข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่ให้ผู้บริโภคไหม
พลาสติกที่ผลิตจากพืช Bio Based ซึ่งผลิตเป็น PE และ PET คือเป็นพลาสติกเหมือนกัน มีปลายทางและการจัดการเหมือนกัน แต่จุดกำเนิดต่างกัน ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำมันเพื่อผลิตพลาสติกมาเป็นใช้พืชแทน แต่กระบวนการวุ่นวายกว่ามาก ทำให้ยังมีราคาสูงกว่า แนวโน้มที่จะเข้ามาในไทยคือ Bio PE มีคำว่าไบโอแต่ไม่สามารถย่อยได้นะ แต่ช่วยลดการใช้น้ำมัน ลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ซึ่งถ้าเรามีวัสดุกลุ่มนี้เข้ามาในตลาด และมีปลายทางที่ถูกต้อง ในภาพรวมก็จะช่วยลดพลังงานในการผลิตได้

สุดท้ายแล้ว ในฐานะที่ปรึกษาด้านวัสดุให้ภาคีอุตสาหกรรมและขับเคลื่อนเรื่องการจัดการขยะ อะไรทำให้ยังมีความหวังในความรักษ์ครั้งนี้
ผมไม่ได้คิดไกล ผมแค่คิดว่าวันนี้ผมทำ แล้วขยะหนึ่งชิ้นไม่หลุดรอดไปในธรรมชาติ ขยะจากตัวเรา ขยะจากคนรอบข้างเรา ขยะจากคนที่เราเทรน ไม่ว่าจะกี่ชิ้นก็ตาม เราก็ได้ทำแล้ว ไม่ได้หวังว่ากฎหมายจะต้องเกิดทันที แต่ถ้าเกิดก็ดีมาก เราก็ผลักดันเท่าที่เราทำได้อย่างเต็มที่ บนความเข้าใจว่าพลังงานของเราเองก็มีจำกัด และสิ่งแวดล้อมบางอย่างก็ไม่เอื้ออำนวยให้เราผลักดัน แต่ทุกวันที่ตื่นมา เห็นขยะหนึ่งชิ้นที่แยกได้ดีก็พอแล้ว

หากเปรียบกับความสัมพันธ์ คนสองคนจะอยู่ร่วมกันได้นั้น ยังต้องอาศัยองค์ประกอบมากมายที่บางทีความรักยังต้องพ่ายแพ้ การอยู่ร่วมกันกับพลาสติกของเราทุกคนในโลกที่หมุนด้วยทุนนิยม ย่อมต้องอาศัยมากกว่าความรัก (โลก) หรือความตั้งใจดีที่จะลดขยะ แต่ต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ระบบการจัดการจัดเก็บที่ครบวงจร กฎหมาย นโยบาย เพื่อให้ความรักษ์ครั้งนี้ของเราทุกคนยั่งยืน

*ไม่ย่อยสลาย ในบทความนี้ หมายถึง ไม่ย่อยสลายในเวลาที่รวดเร็วหรือชั่วชีวิตของมนุษย์ พลาสติกสามารถย่อยสลายได้โดยใช้เวลาหลักร้อยปีถึงพันปี และอาจกลายเป็นไมโครพลาสติก

Send Us a Message