สูตรคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ (ฉบับผู้บริโภค)

รู้ไหมว่า ทุกกิจกรรมที่เราทำล้วนฝากรอยเท้าไว้ให้โลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกิน การเดินทาง ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ฯลฯ เพราะไม่ว่าจะทำอะไร เราล้วนต้องพึ่งพาพลังงาน ที่สร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) หรือรอยเท้าคาร์บอนที่ส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้ไม่มากก็น้อย

ในช่วงหลัง ที่องค์กรใหญ่ ๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คาร์บอนฟุตพรินต์จึงกลายเป็นมาตรวัดสำคัญที่ใช้วัดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ และแม้ชื่อของมันจะมีแค่คำว่าคาร์บอน แต่โดยหลักการแล้ว คาร์บอนฟุตพรินต์นั้นนับจากการปล่อย 7 ก๊าซในกลุ่มก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์

สิ่งนี้อาจดูยากและซับซ้อนไปเสียหน่อยสำหรับคนทั่วไปแบบเรา และปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์มักจะเป็นสิ่งที่องค์กรใหญ่ ๆ เขาคิดกันด้วยโปรแกรมล้ำสมัย เพื่อประเมินและปรับปรุงการทำธุรกิจของตนเองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น ผู้บริโภคอย่างเราก็สามารถคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์เบื้องต้นได้เช่นกัน Alexandra Shimo-Barry ผู้เขียนหนังสือ The Environment Equation ได้ลองออกแบบสูตรคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ในหนึ่งปี ที่คิดได้โดยการกดเครื่องคิดเลขง่าย ๆ มาให้ทุกคนลองทำดู แม้จะไม่ละเอียดเท่าการคำนวณระดับองค์กรใหญ่ แต่ก็น่าจะเป็นตัวช่วยให้เราได้ย้อนกลับมาสำรวจพฤติกรรมประจำวันของเราได้เป็นอย่างดีเลยล่ะ

คำนวณค่าไฟ แก๊ส น้ำมันรถ
รวบรวมบิลค่าไฟ แก๊สหุงต้ม และค่าน้ำมันรถตลอดปี แล้วคูณผลรวมของแต่ละประเภทด้วย 0.028 เพื่อเปลี่ยนหน่วยบาทเป็นดอลลาร์ (เนื่องจากการคำนวณนี้อิงจากฝั่งอเมริกา) จากนั้นคูณผลลัพธ์ของค่าไฟและแก๊สหุงต้มด้วย 105 และค่าน้ำมันรถด้วย 113

คำนวณระยะการเดินทาง
ใครที่มีรถส่วนตัว บวกต่อได้เลยด้วยการเช็กระยะทางของรถที่ขับมาตลอดปี ปรับสูตรจากกิโลเมตรให้เป็นไมล์ด้วยการคูณด้วย 0.62 หลังจากนั้นคูณผลลัพธ์ด้วย 0.79

สำหรับใครที่นั่งเครื่องบิน ให้นับจำนวนไฟลต์ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือไฟลต์ที่ใช้เวลาต่ำกว่า 4 ชั่วโมง และไฟลต์ที่ใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมง คูณจำนวนไฟลต์ที่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมงด้วย 1,100 และไฟลต์ที่มากกว่า 4 ชั่วโมงด้วย 4,400

บวกเพิ่มอีกนิด ตามพฤติกรรมการแยกขยะ
กระบวนการสุดท้าย คือการบวกเพิ่ม 184 หากไม่แยกขยะกระดาษ และบวกเพิ่มอีก 166 หากไม่แยกขยะอะลูมิเนียม หลังจากนั้นให้บวกผลลัพธ์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน จะได้เป็นปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ (หน่วยเป็นปอนด์) ที่เราสร้างรวมกันตลอดปี

ถึงอย่างนั้นใครที่อยากลองคำนวณเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก็สามารถคิดจากบิลค่าไฟ ค่าน้ำมัน หรือนับระยะการเดินทางด้วยรถยนต์ในช่วงเวลาหนึ่งแทนก็ได้ เพื่อจะได้รู้คร่าว ๆ ว่าเราได้ทิ้งรอยเท้าไปมากน้อยแค่ไหนในช่วงเวลาหนึ่ง

เมื่อได้ตัวเลขออกมาแล้ว ให้นำมาวัดกับค่าเหล่านี้ หากปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ ของคุณน้อยกว่า 6,000 ปอนด์/ปี ก็ตบมือให้ตัวเองดัง ๆ ได้เลย เพราะนั่นหมายความว่าคุณสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ในระดับที่ต่ำมาก ๆ และขอให้รักษาความตั้งใจแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ หรือหากยังอยู่ระหว่าง 6,000-15,999 ปอนด์/ปี ก็ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่เจ๋งไม่แพ้กัน เพราะนี่ก็ยังเป็นปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่ และเป็นค่าเฉลี่ยที่ควรจะเป็นของพวกเราด้วย

ส่วนใครที่คำนวณออกมาอยู่ในช่วง 16,000-22,000 ปอนด์/ปี ถือว่าใช้ได้ เพราะนี่คือค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป อาจจะลองปรับลดอะไรบางอย่างที่ไม่จำเป็นดูได้หากไหว แต่หากคิดไปคิดมาแล้วพบว่าปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ของคุณมีมากกว่า 22,000 ปอนด์/ปี แล้วล่ะก็ ควรพิจารณาการใช้ชีวิตของตนเองอย่างจริงจังได้แล้ว! เพราะนี่เริ่มเข้าขั้นมากเกินไปเสียแล้ว ลองสังเกตตัวเองดูว่ามีกิจกรรมไหนที่ฝากรอยเท้าไว้มากเกินจำเป็นหรือเปล่า เมื่อรู้แล้วก็ลองหาวิธีปรับ ลด หรือหาทางเลือกใหม่ ๆ ที่จะทำให้รอยเท้าคาร์บอนของเราลดลงได้ก็จะดีมาก ๆ เลย สู้ ๆ นะ!

ตัวเลขเหล่านี้อาจจะไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับปริมาณคาร์บอนมหาศาลที่ถูกปล่อยทั่วโลก แต่ก็อย่าลืมว่าเราต่างก็เป็นส่วนเล็ก ๆ ในการฝากรอยเท้าทิ้งไว้บนโลกนี้ ใครคำนวณออกมาได้เท่าไหร่ จะเป็นอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ เราก็หวังว่านี่จะเป็นแรงผลักดันให้ทุกคนรักษากิจวัตรดี ๆ แบบเดิมไว้ หรือเป็นพลังให้อีกหลาย ๆ คนเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรกับโลกนี้มากขึ้นได้สำเร็จแบบที่ตั้งใจ เมื่อลองเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว อย่าลืมลองมาคำนวณกันใหม่ว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครั้งนี้ส่งผลแบบที่ตั้งใจหรือเปล่า

(*)สูตรคำนวณนี้เรานำมาจากคุณ Alexandra Shimo-Barry ผู้เขียน “The Environment Equation” ที่มีต้นฉบับเป็นหน่วยปอนด์ ถ้าอยากเปลี่ยนหน่วยเป็นกิโลกรัมคูณด้วย 0.453592 นะ

Send Us a Message