เนื้อ ๆ เน้น ๆ สายกินใจดี เน้นกินเนื้อดี เพื่อโลกดี

ข้อเท็จจริงที่ว่า ‘การกินเนื้อสัตว์เป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน’ น่าจะเป็นสิ่งที่เราได้ยินจนชิน ทั้งปศุสัตว์อุตสาหกรรมไปจนถึงการขนส่ง แต่การหักดิบเลิกกินเนื้อสัตว์ไปเลยก็เป็นเรื่องยากเกินกว่าจะทำได้ของหลาย ๆ คน

แต่เมื่อปัญหาโลกร้อนรุนแรงและเห็นผลชัดเจนขึ้นทุกวัน คนตัวเล็ก ๆ ที่อยากจะจริงจังกับเรื่องนี้มากขึ้นยังพอมีทางเลือกอะไรได้บ้าง ที่ไม่หักดิบจนเกินไป และยังอร่อยกับการกินได้อยู่

ขอเสนอแนวทางแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ทุกคนได้อร่อยกับเนื้อสัตว์ของโปรดได้เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเป็นมิตรกับโลกมากขึ้นเยอะ!

Level 1: กินเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงและแปรรูปในประเทศ
ปัญหามลพิษจากเนื้อสัตว์ไม่ได้จบแค่กระบวนการเลี้ยงที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ส่วนหนึ่งคือรอยเท้าคาร์บอนที่ทิ้งไว้จากการขนส่งจากแหล่งผลิตมาถึงมือเรา นั่นหมายความว่า ยิ่งเนื้อสัตว์เหล่านั้นมาจากแหล่งผลิตที่ห่างไกลจากตัวเรามากแค่ไหน ก็ต้องใช้พลังงานในการขนส่งมากขึ้นเท่านั้น

ในระดับที่ง่ายที่สุด การกินเนื้อสัตว์ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็ตามที่เลี้ยงและแปรรูปในประเทศ จึงสามารถลดการก่อมลพิษโดยไม่จำเป็นจากการขนส่งเนื้อสัตว์ข้ามน้ำข้ามทะเลได้มหาศาล นี่ยังไม่รวมมลพิษที่เกิดจากการต้องเก็บรักษาเนื้อสัตว์เหล่านั้นให้ได้คุณภาพดี สดใหม่เหมือนออกมาจากต้นทางการผลิตอีกนะ

Level 2: สนับสนุนปศุสัตว์เลี้ยงปล่อย กินหญ้า มีอิสระ เดินสบาย
ถ้าการมองหาเนื้อสัตว์ในประเทศเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ อยู่แล้ว ลองขยับมาอีกขั้นด้วยการมองหาเนื้อสัตว์เลี้ยงปล่อย หรือหลายคนอาจคุ้นชื่อที่ระบุหน้าหีบห่อว่า ‘เนื้อสัตว์อารมณ์ดี’ หรือ ‘Free-range’

อย่างไรก็ตาม การกินเนื้อสัตว์เลี้ยงปล่อย หรือสัตว์กินหญ้าตามธรรมชาติไม่ใช่คำตอบที่เป็นมิตรที่สุดต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดี เพราะจริง ๆ แล้วการปลูกหญ้าเพื่อเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของมนุษย์นั้นช่างมากมาย นั่นอาจหมายถึงการถางที่ขนาดใหญ่เพื่อทำปศุสัตว์ด้วย แต่ถ้าเรามองกันในภาพที่ว่าสัตว์เหล่านั้นถูกเลี้ยงปล่อยในพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว การปลูกหญ้าให้กินแทนอาหารแปรรูปจะเป็นผลดีทั้งต่อสัตว์และผู้บริโภคมากกว่า เพราะหญ้าธรรมชาติช่วยบำบัดหน้าดิน และถ้าผู้เลี้ยงไม่ใช้สารเคมี ระบบการย่อยอาหารของสัตว์ก็จะดีกว่าสัตว์ในระบบอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ช่วยลดมลพิษที่เกิดในระบบย่อยอาหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย

นอกจากนี้การเลี้ยงปล่อยยังส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศดี ๆ ไม่ทำให้น้ำและพื้นที่แถวนั้นเป็นพิษ ซึ่งส่งผลต่อเราโดยตรงแน่นอน เพราะเราเองก็ไม่ต้องกังวลว่าสิ่งที่กินไปจะมีสารเคมีมาปนเปื้อนหรือไม่ แถมปศุสัตว์เล็ก ๆ หลายแห่งที่เลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติ ยังมีระบบจัดการขยะและจัดการระบบนิเวศในฟาร์มที่ดีและยั่งยืนกว่าปศุสัตว์อุตสาหกรรมมาก เนื่องจากเจ้าของหลายรายคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมจริง ๆ

ในประเทศไทยก็มีฟาร์มแนวนี้ที่เราอุดหนุนได้ เช่น ฟาร์มเนื้อไก่และไข่ไก่ แทนคุณ ออร์แกนิกฟาร์ม ฟาร์มเนื้อหมูอินทรีย์พื้นบ้าน G-Pork Farm หมูหลุมดอนแร่ ฟาร์มเนื้อหมูอินทรีย์ด้วยระบบไบโอไดนามิก ว.ทวีฟาร์ม ซึ่งหลายฟาร์มเหล่านี้ยังเปิดให้เราอุดหนุนพวกเขาได้โดยตรง ช่วยลดการขนส่งซึ่งสร้างมลพิษไปได้อีกหนึ่งต่อด้วยนะ

Level 3: ลดเนื้อวัวลงอีกนิด
ในขั้นต่อไป อาจจะเป็นเลเวลที่ต้องอาศัยความพยายามสักหน่อย นั่นก็คือการพยายามลดเนื้อวัวซึ่งเป็นต้นเหตุหลักของการเกิดก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง เพราะวัวหนึ่งตัวสามารถผลิตมีเทนได้มากถึง 70-120 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งคิดเป็นก๊าซเรือนกระจกถึง 15% ของก๊าซที่ถูกผลิตบนโลกนี้เลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเทียบกับสัตว์อื่น ๆ วัวยังเป็นปศุสัตว์ที่ใช้พื้นที่ อาหาร และพลังงานในการเลี้ยงมากกว่า

การเปลี่ยนไปบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ มากขึ้น จึงเป็นส่วนหนึ่งในการลดการสนับสนุนอุตสาหกรรมเนื้อวัวได้ และนี่จะช่วยให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากปศุสัตว์อุตสาหกรรมลดลงตามไปด้วย

Level 4: เลือกกินสัตว์ปีกแทนสัตว์สี่ขา
เนื่องจากสัตว์ปีกเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก กินน้อยกว่า ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อยกว่า ดังนั้นพวกมันจึงผลิตก๊าซมีเทนออกสู่บรรยากาศในปริมาณที่น้อยกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ โดยมีการสำรวจออกมาว่า สัตว์ปีกผลิตก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย 0.25 กิโลกรัมต่อปี ในขณะที่สัตว์สี่ขาประเภทอื่น ๆ ผลิตก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย 122.92 กิโลกรัมต่อปี ดังนั้นสัตว์ปีกจึงเป็นอีกทางเลือกง่าย ๆ สำหรับใครที่อยากลองเปลี่ยนมากินเนื้อสัตว์แบบสร้างผลกระทบน้อยลง

Level 5: ปรับแผนการกินใหม่ ให้มีเนื้อสัตว์น้อยลง
ในระดับสุดท้าย ถึงจะฟังดูยากแต่ก็ไม่ยากขนาดนั้น เพราะปกติแล้ว ก็คงมีมื้ออาหารที่เราไม่ได้กินเนื้อสัตว์กันอยู่แล้ว แค่คราวนี้ลองมามองเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องจริงจังขึ้นอีกนิด หรือถ้าจะมองให้สนุก ลองคิดดูว่านี้เป็นภารกิจที่เราต้องพิชิตในแต่ละเดือนหรือสัปดาห์ก็ได้ ด้วยการมองหาวันที่จะลดหรืองดการกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง อาจเริ่มจากการลดปริมาณให้เล็กลง จนกลายเป็นการงดเนื้อสัตว์ไปเลยในบางมื้ออาหาร (โดยไม่ลืมเพิ่มโปรตีนและสารอาหารจำเป็นจากแหล่งอื่น ๆ แทน)

การงดเนื้อสัตว์ตามใจฉันแบบนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ‘Flexitarian’ ซึ่งเป็นวิธีการกินที่ยืดหยุ่นได้ ทำได้เมื่อพร้อมและตั้งใจ ไม่เคร่งครัดเท่าการกินแบบวีแกน (Vegan) ที่จะไม่บริโภคสินค้าหรืออาหารที่มีส่วนประกอบที่มาจากสัตว์เลย

มีการวิจัยจากสหรัฐอเมริกาออกมาว่า หากคนอเมริกันร่วมกันลดเนื้อสัตว์ในมื้ออาหารของตนเองลง 25% จากที่กินอยู่ เราจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกทั้งโลกไปได้ 1% เลย อาจจะฟังดูน้อยมาก ๆ แต่ลองคิดว่านี่คือหนึ่งในปริมาณก๊าซเรือนกระจกมหาศาลที่โลกใบนี้กำลังเผชิญอยู่ และถ้าไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น รวม ๆ กันคือปริมาณที่เยอะมากเลยนะ

ที่สำคัญที่สุด อย่าเพิ่งโบยตีตัวเอง หากคิดว่าเรายังไม่พร้อมหักดิบลดหรืองดเนื้อสัตว์ แต่ละคนล้วนมีความพร้อมและเหตุผลในการเลือกกินที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการเริ่มในระดับที่ตัวเองทำไหว ก็ถือเป็นการเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่มีพลังมากแล้ว สู้ต่อไปนักกินผู้รักษ์โลกทั้งหลาย!

ที่มาข้อมูล:
www.knowablemagazine.org
www.healthline.com
www.foodprint.org
www.americanostrichfarms.com
www.thepoultrysite.com

Send Us a Message