เมื่อพูดถึงเนื้อสัตว์ที่ดี เนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย เราคงจะนึกถึงเนื้อสัตว์ปลอดสารเคมี ไร้ยาปฏิชีวนะ แต่น้อยคนนักที่จะนึกย้อนไปถึงวิธีการเลี้ยงดูของฟาร์มสัตว์หรือมีวิธีการจับวัตถุดิบจากแหล่งธรรมชาติที่ไม่โหดร้ายทารุณ 

แต่เราก็เริ่มเห็นความตื่นตัวเกี่ยวกับกระบวนการดูแลที่ใส่ใจความเป็นอยู่ของสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะเทรนด์ของการเลี้ยงหมูและไก่แบบ Free-range หรือเลี้ยงแบบปล่อย เพื่อให้ได้หมูและไก่อารมณ์ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องของสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) ที่เราอยากชวนให้ทุกคนมาทำความรู้จักกัน

สวัสดิภาพสัตว์ – สัตว์ก็มีหัวใจ

แม้เราจะได้ยินคำว่าสวัสดิภาพสัตว์กันบ่อยๆ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริง หลักสวัสดิภาพสัตว์นั้นอาจจะเรียกได้รวมๆ ว่าคือการสร้างความสุขกายและสบายใจให้กับสัตว์ ซึ่งมีการบัญญัติขึ้นให้เป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการโดยสหภาพยุโรป โดยกำหนดไว้ว่าสัตว์จะมีสุขภาวะที่ดีได้ต้องประกอบด้วยอิสระทั้ง 5 ข้อดังนี้

1. Freedom from hunger and thirst เป็นอิสระจากความหิวโหย สัตว์ทั้งหลายต้องได้รับอาหารที่ดี ในปริมาณที่เหมาะสม

2. Freedom from discomfort เป็นอิสระจากความไม่สบายกาย หรือก็คือการได้อยู่อาศัยในสถานที่ที่เหมาะสม

3. Freedom from pain, injury and disease เป็นอิสระความเจ็บป่วย สัตว์ต้องมีสุขภาพที่ดี มีร่างกายที่แข็งแรง

4. Freedom from fear and distress สัตว์ต้องรู้สึกปลอดภัยและเป็นอิสระจากความกลัว ความรู้สึกไม่สบายใจ

​5. Freedom to express normal behavior สัตว์ต้องสามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของตนเองได้

ซึ่งการเลี้ยงสัตว์ให้มีความสุข มีสุขภาพแข็งแรงนี้ยังส่งผลต่อคุณภาพและความปลอดภัยของเนื้อสัตว์โดยตรงอีกด้วย แต่ที่ผ่านมาเราอาจจะยังไม่เห็นความสำคัญของสวัสดิภาพสัตว์ เพราะแทบจะไม่เคยเห็นสัตว์ตัวเป็นๆ ก่อนกลายมาเป็นอาหาร เมื่อไม่รู้ว่ากระบวนการเลี้ยงดูสัตว์ในอุตสาหกรรมใหญ่ๆ นั้นน่าหวั่นใจเพียงใด การที่เราจะเข้าใจได้ว่าสวัสดิภาพสัตว์สำคัญอย่างไร คงต้องเริ่มจากทำความเข้าใจความเป็นอยู่ของสัตว์ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์เสียก่อน

เรื่องราวชวนกังวล ของเนื้อสัตว์บนอาหารจานโปรด



เรื่องอึดอัดตัวและใจของไก่ยืนกรง

อุตสาหกรรมปศุสัตว์อันดับหนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องความน่ากังวลใจคงหนีไม่พ้นปศุสัตว์เนื้อไก่และไข่ไก่ โปรตีนหลักของคนทั่วโลกและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากตอบโจทย์ความเฮลท์ตี้ และกระบวนการผลิตสร้างผลกระทบกับโลกน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ แต่ความต้องการที่สูงขึ้นทุกๆ ปีนี้ ทำให้ผู้ผลิตต้องพยายามหาวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งเนื้อไก่และไข่ในปริมาณมากที่สุด ในต้นทุนที่ต่ำที่สุด 

หนึ่งในวิธีเลี้ยงที่นิยมคือการเลี้ยงไก่แบบกรงตับหรือการเลี้ยงระบบปิด โดยนำไก่เข้าไปอยู่ในกรงขนาดพอดีตัว ไม่ให้แม่ไก่ออกไปไหน เพื่อความง่ายและสะดวกในการเก็บไข่ การให้น้ำ และอาหาร ขณะที่ไก่เนื้อนั้นก็อยู่ในกรงอัดแน่น 10-15 ตัวต่อตารางเมตร ทำให้ไก่แทบไม่ได้เดินไปไหน เพื่อให้ไก่อ้วนไว นำไปขายได้เร็ว

ซึ่งการเลี้ยงไก่แบบนี้มีผลข้างเคียงมากมาย ตั้งแต่อาหารของไก่ที่มักเป็นเมล็ดข้าวโพด ซึ่งเป็นผลผลิตจากฟาร์มเกษตรเชิงเดี่ยวที่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในกระบวนการปลูก มากไปกว่านั้นไก่ในกรงตับยังมีความเสี่ยงต่อโรคที่สูงกว่าการเลี้ยงไก่แบบปล่อย เนื่องจากความเครียดของไก่ที่ถูกจำกัดพื้นที่ในการชีวิต

เมื่อไก่เครียดก็จะอ่อนแอ ป่วยง่าย ต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคเป็นประจำ จากการสำรวจตลาดในไทย พบว่าอกไก่และตับไก่กว่า 40% มีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมายห้ามเลี้ยงแม่ไก่ในกรงตับ โดยมีข้อบังคับว่าพื้นที่ในการเลี้ยงไก่ 1 ตัวต้องมีขนาดใหญ่กว่ากระดาษ A4 ส่วนในประเทศไทย แม้จะยังไม่มีกฏหมายหรือข้อบังคับอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความพยายามของเกษตรกรอินทรีย์ที่จะผลักดันให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคเห็นความสำคัญของแม่ไก่อารมณ์ดีเช่นกัน

เรื่องไม่สบายกายของหมูในฟาร์มซีเมนต์


การเลี้ยงหมูเองก็มีความน่ากังวลใจไม่ต่างกัน ในประเทศไทยนิยมทำฟาร์มกัน 2 ระบบ ระบบแรกคือฟาร์มเปิด ที่จะสร้างโรงเรือนแบบโปร่ง ทำคอกหมูด้วยพื้นปูนซีเมนต์ และอีกระบบคือฟาร์มปิดซึ่งจะทำการคลุมพลาสติกทั้งโรงเรือน เพื่อไม่ให้กลิ่นอันไม่พึงประสงค์จากมูลสัตว์เล็ดลอดออกไป การทำฟาร์มเหล่านี้ถือว่าเป็นการผลิตในระบบอุตสาหกรรม เน้นเลี้ยงสัตว์ในปริมาณมาก ออกแบบพื้นที่ให้เกษตรกรจัดการความสะอาดได้ง่าย แต่ไม่ได้คำนึงถึงธรรมชาติของสัตว์อย่างที่ควร

ธรรมชาติของหมูนั้นเป็นสัตว์ที่ชอบออกเดินไปคุ้ยหาอาหารในดิน การอาศัยอยู่ในคอกหมูแคบๆทำให้หมูเกิดภาวะเครียด อ่อนแอแต่เด็ก ตลอดชีวิตของหมูจึงต้องเจอสารพัดยา ทั้งยาถ่ายพยาธิ วัคซีนป้องกันโรคอีกกว่า 10 ชนิด เพราะไม่สามารถสร้างภูมิด้วยตัวเองได้

นอกจากนี้หมูที่ยืนบนพื้นซีเมนต์ยังทำให้กีบเท้าของหมูแตก ซึ่งจะตามมาด้วยการเจ็บ ป่วย เป็นไข้ ทำให้ต้องฉีดยาปฏิชีวนะเป็นประจำ เพื่อช่วยในการต่อสู้และป้องกันโรคติดต่อในสัตว์ แม้ว่าในปัจจุบัน กรมปศุสัตว์จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะปลอดยาคือควรหยุดการใช้ยาก่อนส่งสุกรเข้าโรงฆ่าสัตว์ 7-14 วัน หรือตามคำแนะนำของฉลากยา แต่ก็ยังพบว่ามีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะหลงเหลืออยู่ในเนื้อหมู

อาจกล่าวได้ว่าเนื้อหมูในทุกวันนี้ นอกจากจะอุดมไปด้วยไขมัน โปรตีน และวิตามิน ยังอัดแน่นไปด้วยสารเคมีอีกมากมาย

ชีวิตแสนรันทดของห่านบนจานหรู


ไม่ใช่แค่วัตถุดิบแมสๆ อย่างหมูและไก่เท่านั้นที่มีวิถีความเป็นอยู่ที่ไม่สบาย วัตถุดิบบนอาหารจานหรูมากมายก็ที่มาซึ่งน่ากังวลใจไม่ต่างกัน หนึ่งในนั้นคือตับห่าน (Foie gras) รสชาติของความหรูหราในอาหารฝรั่งเศสที่แลกมาด้วยวิธีขุนห่านสุดทรมาน ในฟาร์มเลี้ยงห่านนั้นผู้เลี้ยงจะใช้ท่อโลหะสอดเข้าไปในคอและกรอกอาหารจำพวกข้าวโพดผสมไขมันหนักเกือบ 2 กิโลกรัมทุกๆ วัน เป็นระยะเวลา 20 วัน จนห่านอ้วนฉุ เดินไม่ได้ หายใจไม่สะดวก และสุดท้ายก็ตายลงไป

วิธีการเลี้ยงที่ขัดหลักสวัสดิภาพสัตว์นี้ทำให้เกิดการรณรงค์แบนเมนูตับห่านไปทั่วโลก ทั้งในอินเดีย อิสราเอล อังกฤษ ในประเทศแถบยุโรป ล่าสุด รัฐนิวยอร์กประกาศห้ามร้านอาหารทั่วรัฐขายตับห่านอย่างเด็ดขาดให้ได้ภายในปี 2022

การล่าอย่างโหดร้าย ของสัตว์ในธรรมชาติ


นอกจากสวัสดิภาพของสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม ยังมีความความเคลื่อนไหวในเมนูอาหารยอดฮิตของวัตถุดิบที่เลี้ยงไม่ได้ด้วย เช่น เมนูหูฉลาม ที่มีการผลักดันให้หยุดกินไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย แต่ในปัจจุบัน ยังคงมีการล่าฉลามกว่า 100 ล้านตัวทั่วโลก ซึ่ง 73% ของการล่า ฉลามจะถูกจับมาตัดครีบก่อนโยนทิ้งทะเล แม้จะไม่ใช่การฆ่าในทันที แต่การเสียครีบไปก็เท่ากับมันว่ายน้ำไม่ได้และค่อยๆ จมลงใต้พื้นทะเลและตายอย่างทรมาน

มากกว่านั้น ปัญหาใหญ่ของฉลามคืออัตราการขยายพันธ์ุต่ำ เติบโตช้า อีกทั้งยังไม่สามารถนำมาทำฟาร์ม หรือเพาะพันธ์ุเองได้ ทำให้จำนวนประชากรฉลามลดลงอย่างรวดเร็ว จนฉลามหลายสายพันธ์ุเข้าสู่ภาวะเสี่ยงสูญพันธ์ุเป็นที่เรียบร้อย

นอกจากนี้ ยังมีสัตว์ป่าอีกมากมายเช่น กระเบน เก้ง กวาง จนถึงเสือ ที่กำลังจะสูญพันธ์ุไป เพราะวิถีการบริโภคทุกอย่างของมนุษย์

เลือกกินให้ดี อย่าลืมใส่ใจเรื่องสวัสดิภาพ

หลากหลายรูปแบบความทารุณที่เกิดขึ้นบนอาหารจานโปรดนี้ ไม่เพียงแค่มีผลกระทบเชิงจริยธรรม แต่ยังส่งผลไปถึงคุณภาพของเนื้อสัตว์ทั้งหลายอีกด้วย การใส่ใจในชีวิตของสัตว์นอกจากจะทำให้ชีวิตของเขาสุขสบาย ยังส่งผลให้เราได้เนื้อสัตว์ที่อร่อย ปลอดภัยและคุณภาพดีเช่นกัน

แน่นอนว่าหลายๆ คนที่ได้รับรู้เรื่องราวความโหดร้ายของอุตสาหกรรมปศุสัตว์คงอยากลดการบริโภคสัตว์ให้น้อยลง แต่สำหรับมนุษย์กินเนื้ออย่างเราที่ยังไม่สามารถตัดใจจากรสชาติของเนื้อสัตว์ทั้งหลายได้ ทางออกที่ดีที่สุดคงเป็นการเลือกกินเนื้อสัตว์แบบทำความเข้าใจและใส่ใจถึงที่มาของอาหารมากขึ้น เป็นไปได้ควรจะเลิกกินเนื้อสัตว์หายากหรือวัตถุดิบแปลกๆ ที่เราไม่รู้ที่มา ส่วนเนื้อหมูหรือเนื้อไก่นั้น ควรเลือกซื้อจากฟาร์มที่น่าเชื่อถือ มีระบบการผลิตที่โปร่งใส ไว้ใจได้ว่ายึดถือและปฎิบัติตามหลักสวัสดิภาพของสัตว์อย่างแท้จริง 

เราเชื่อว่าในประเทศนี้ยังมีเกษตรกรน่าสนับสนุน ที่พยายามจะสร้างอาหารที่ดี ใส่ใจคุณภาพของสัตว์ที่เลี้ยง ของผู้บริโภค และสังคมแวดล้อมอยู่เช่นกัน

ข้อมูล:
https://nlac.mahidol.ac.th
www.smartsme.co.th
www.voicetv.co.th
www.worldanimalprotection.or.th

ภาพประกอบ: npy.j