ข่าวใหญ่ที่กระทบวงการสิ่งแวดล้อมในปีนี้ คงหนีไม่พ้นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการงดแจกถุงของห้างสรรพสินค้าและร้านค้าชั้นนำทั่วไทย แม้ว่านโยบายสิ่งแวดล้อมที่มาแรงแซงโค้งนี้จะได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับความพยายามลดถุงในอดีต แต่ก็ยังมีผู้คนมากมายที่กังวลใจว่านโยบายนี้จะได้ผล มีคนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริงหรือไม่ เราจึงอยากพาทุกคนมาทำความเข้าใจนโยบายแบนถุงให้มากขึ้น และแนะนำเคล็ดลับการลดใช้ถุงที่ทุกคนสามารถทำได้ เพื่อสร้างสังคมไร้พลาสติกไปด้วยกัน

ทำไมใครๆ ก็แบนถุง

ปัญหาขยะพลาสติกกำลังเป็นวิกฤตที่ทั่วโลกตื่นตัว จำนวนของถุงพลาสติกที่ถูกทิ้งมากกว่า 160,000 ใบ ทุกๆ 1 วินาที สร้างผลกระทบมากมายทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ท้องทะเล และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาชนทั่วไปที่เริ่มรณรงค์ ลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงที่ใช้ซ้ำได้ หรือ อย่างน้อยก็ถุงที่รีไซเคิลกันมากขึ้น และในฝั่งของรัฐก็มีการออกกฏหมาย ข้อบังคับ หรือนโยบาย เพื่อหวังแก้วิกฤตปัญหาขยะพลาสติกในระดับโครงสร้าง จากการสำรวจพบว่าทั่วโลกมีการประกาศแบนถุงพลาสติกอย่างจริงจังแล้วกว่า 32 ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส จีน อินเดีย เนปาล แอฟริกาใต้ นิวซีแลนด์ ซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

ซึ่งการออกนโยบายและกฎหมายควบคุมต่างๆ จะต้องย้อนไปศึกษาว่าพฤติกรรมที่มีปัญหาในประเทศนั้นคืออะไร เกิดจากอะไร และพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการคืออะไร รวมถึงจะส่งผลดีหรือเสียอย่างไรด้วย เช่น เคนย่า เคยทดลองออกกฎเพื่อลดปริมาณขยะถุงพลาสติกด้วยการควบคุมความหนาและขึ้นภาษี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในปี 2017 จึงได้ประกาศกฏหมายแบนถุงพลาสติก และกลายเป็นประเทศที่มีบทลงโทษรุนแรงที่สุดในโลกขนาดที่ถือถุงพลาสติกก็อาจโดนปรับหรือติดคุกได้เลย ในขณะที่บางประเทศเลือกใช้มาตรการเก็บค่าถุงแทนเช่น ไอร์แลนด์ ที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับสิ่งแวดล้อม จากร้านค้าและลูกค้าที่ใช้ถุงพลาสติก ราว 22 เซนต์หรือประมาณ 7 บาทต่อถุง ซึ่งพบว่าสามารถช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกได้ดีเช่นกัน

ไทยแลนด์กับการแบนถุงหิ้ว

กลับมาที่เมืองไทยของเรา นโยบายการแบนถุงเคยเป็นที่ถกเถียงและพยายามใช้กันมานาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ผลักดันโครงการ ‘รวมพลังสร้างวินัย ลดใช้ถุงพลาสติก’ ร่วมกับห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ออกนโยบายงดแจกถุงมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 โดยเริ่มงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแก่ลูกค้าในวันที่ 15 ของทุกเดือน จากนั้นจึงขยับความถี่เป็นเดือนละ 2 วัน (วันที่ 15 กับ 30) และเดือนละ 4 วัน (ทุกวันพุธ) ในเดือนเมษายน 2559

แต่เห็นได้ชัดว่าโครงการนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หลายห้างยังกลับมาแจกถุงตามเดิม เพราะห้างร้านยังหวั่นผลกระทบต่อยอดจำหน่าย เนื่องจากสร้างความยุ่งยากให้ผู้บริโภคต้องเตรียมถุงผ้า ภาชนะมาใส่ของจนอาจทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนสถานที่ซื้อของได้

จนปีที่ผ่านมา เราเห็นข่าวเศร้าของวาฬเกยตื้นจนถึงพะยูนมาเรียมที่ต่างก็เสียชีวิตเพราะติดเชื้อในกระเพาะอาหารเนื่องจากกินขยะพลาสติกเข้าไป กลายเป็นประเด็นสำคัญกระตุ้นกระแสสังคมให้ตระหนักและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากขึ้น ทส. จึงคว้าโอกาสนี้ ตัดสินใจประกาศนโยบายสิ่งแวดล้อมที่มาแรงแซงทุกโค้ง จากที่เคยวางแผนโร้ดแมปการจัดการขยะพลาสติก กำหนดให้ยกเลิกถุงใช้ในห้างสรรพสินค้าภายในปี 2565 มาเป็นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 

ซึ่งโครงการนี้ทาง ทส. จะร่วมมือกับ 43 ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศงดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วทุกชนิด ยกเว้น ถุงพลาสติกใส่ของร้อน ของเปียก เนื้อสัตว์ และผลไม้ รายชื่อห้างสรรพสินค้าและร้านที่เข้าร่วมโครงการเลิกแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว มีดังต่อนี้ 

7-Eleven, The Mall, Central Department Store, Tesco Lotus, FamilyMart, Big C, Tops ,Loft Bangkok, Power Buy, Supersports, Blúport Hua Hin, B2S, OfficeMate, Index Living Mall, Makro, ICONSIAM, Emporium Department Store, Siam Paragon, Siam Takashimaya, Isetan, FN Outlet, SPAR, CP Freshmart, บางจาก, PTT Blue Society, CJ Supermarket, Baan & Beyond, Boots, ไทวัสดุ, watson, Future Park Society, Foodland และ Villa Market

ยืดอก พกถุง ยังไงดี

คำถามสำคัญที่สุดที่ตามมาจากนโยบายงดแจกถุง คงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่าแล้วจะเอาอะไรมาใส่ของทดแทนถุงก๊อบแก๊บเหล่านี้ ซึ่งคำตอบที่ง่ายที่สุดก็คือให้พกถุงทางเลือกติดตัวไว้เสมอ เราจึงมีเคล็ดลับการเลือกถุงง่ายๆ ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์แต่ละคนมาแนะนำกัน

ชอบกินจุบกินจิบ ชอบเข้ามินิมาร์ท

สำหรับคนที่ซื้อขนมบ่อยๆ ในระหว่างวัน แนะนำให้พกถุงผ้าใบเก่งที่มีความจุพอประมาณสามารถพับได้ เพื่อให้พกพาได้ง่ายๆ ติดกระเป๋าเวลาออกไปเรียนหรือทำงาน 

แม้ว่าการพกถุงผ้าน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่ก็ต้องระวังการใช้ถุงผ้าของตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะถุงผ้าเองก็ผ่านกระบวนการผลิตที่ต้องเสียทรัพยากรไปมากมาย จากการวิจัยของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและอาหาร ประเทศเดนมาร์ก บอกว่าเราควรจะต้องใช้ถุงเหล่านั้นให้บ่อยถึงประมาณ 7,000 ครั้ง ดังนั้นการใช้ถุงผ้าที่เรามีอยู่แล้วและไม่รับถุงผ้าใบใหม่เพิ่ม เป็นการรักษ์โลกที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพที่สุด

ชอบซื้อของเยอะ เน้นความจุใจ

สำหรับคนที่มักจะช้อปปิ้งบ่อยๆ เราแนะนำให้ใช้ถุงห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่เคยได้รับมาใช้ซ้ำ เพราะถุงหูหิ้วของห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตค่อนข้างเหนียวทนทาน สามารถใช้ซ้ำหลายๆ ครั้งได้ 

อีกหนึ่งถุงทางเลือกที่มีขนาดใหญ่ แต่สามารถใช้ซ้ำได้โดยประสิทธิภาพไม่ลดลงไปตามกาลเวลา คือถุงช้อปปิ้งที่ทำจากพลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP) หรือถุงกระสอบพลาสติกที่เรารู้จักกัน เพราะนอกจากจะหาซื้อง่าย มีขนาดใหญ่ ยังมีน้ำหนักเบา สามารถพับพกพาได้ง่ายและล้างทำความสะอาดง่ายอีกด้วย 

ชอบซื้อของสด ของแห้ง วัตถุดิบปรุงอาหาร 

ถุงทางเลือกอีกหนึ่งประเภทที่หลายๆ คนมักนึกถึงคือถุงกระดาษที่เคยรับมา เหมาะกับการนำไปใช้ใส่ของสด ของแห้ง หรือวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารเวลาไปเดินตลาด ช่วยห่อผักผลไม้ไปด้วยในตัว

แต่การใช้ถุงกระดาษเป็นประจำก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะในกระบวนการผลิตถุงกระดาษจะใช้พลังงานและน้ำในการผลิตมากกว่า มีรอยเท้าคาร์บอนในกระบวนการผลิตมากกว่า รวมไปถึงมีขนาดและน้ำหนักมากกว่าถุงพลาสติกทำให้สิ้นเปลืองพลังงานในการขนส่งมากกว่า 

อีกทางเลือกหนึ่ง แนะนำถุงตาข่ายผ้าใส่ผักผลไม้แทน เพราะนอกจากจะสวยงาม น้ำหนักเบา พกพาได้ง่ายแล้ว ยังทนทาน โปร่งโล่งระบายอากาศได้ดี สามารถไปใส่ตู้เย็นต่อได้โดยที่ของสดไม่อับชื้น ถุงชนิดนี้นำไปเลือกซื้อผักผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วให้พนักงานชั่งคำนวณราคาได้สะดวก ไม่ต้องพึ่งถุงพลาสติกขนาดบางที่ห้างเตรียมไว้ได้ด้วย

ชอบกินข้าวนอกบ้าน หรืออาหารสตรีทฟู้ด 

นอกจากถุงหูหิ้วแล้วอีกหนึ่งประเภทถุงยอดนิยมที่เรามองข้ามไม่ได้ คงจะเป็นถุงใส่แกงหรือถุงใส่กับข้าวที่มักจะหาตัวตายตัวแทนได้ยาก แม้จะยังไม่อยู่ในนโยบายแบนถุงตอนนี้ แต่ลดใช้ก็ดีเช่นกัน ผู้คนส่วนใหญ่มักเลือกพกกล่องข้าวที่มีฝาล็อก สามารถกันน้ำหกเลอะ แต่อาจจะเทอะทะกินพื้นที่ในกระเป๋าอยู่สักหน่อย 

อีกทางเลือกที่น่าสนใจคือถุงซิลิโคน ที่ปลอดภัยทนทาน ใส่อาหารที่เย็นและร้อนได้ ขนาดเล็ก พกพาง่าย นอกจากใช้ใส่อาหารปรุงสุกแล้ว ที่หลายคนคาดไม่ถึงคือสามารถใส่เศษอาหารเหลือเวลาไปกินข้าวนอกบ้านแล้วนำกลับมาหมักทำปุ๋ยได้สำหรับคนที่หมักปุ๋ยอยู่แล้ว

ทางออกของคนติดถุง (มาใส่) ขยะ 

อีกหนึ่งคำถามที่เราได้ยินบ่อยๆ คือถ้าห้างไม่แจกถุงพลาสติกหูหิ้วแล้วจะใช้อะไรแทนถุงขยะ จะต้องซื้อถุงดำก็เป็นพลาสติกอยู่ดี สายกรีนหลายคนแนะนำว่านอกจากถุงหูหิ้วแล้ว ถุงพลาสติกหลากหลายขนาดที่มาพร้อมสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายชนิดก็สามารถใช้แทนได้ เช่น ถุงกระดาษ ถุงใส่ขนม ถุงข้าวสาร หรือกระทั่งถุงอาหารเม็ดของสัตว์เลี้ยง ที่แม้จะไม่สะดวกเท่าถุงพลาสติกหูหิ้วที่คุ้นเคย ต้องพึ่งพาหนังสติ๊กบ้าง ใช้เชือกช่วยมัดบ้าง ทว่ารวมๆ ยังถือว่าทดแทนกันได้

นอกจากนี้ ถ้าเราแยกขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำขยะแห้งต่างๆ ไปบริจาคและขายเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล แยกขยะเศษอาหารออกมาหมักทำปุ๋ย ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยลดขยะได้ตั้งแต่ต้นเหตุ ช่วยให้ปริมาณของขยะต้องทิ้งแต่ละวันมีจำนวนน้อยลง จนบางครอบครัวแทบจะไม่สร้างขยะในชีวิตประจำวันเลย

ยิ่งแยก ยิ่งใช้คุ้ม

แม้นโยบายแจกถุงจะสามารถลดถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งได้ แต่เชื่อว่าในบ้านของเรายังคงมีถุงพลาสติกมากมายที่ไม่รู้จะจัดการอย่างไร เราจึงจะมาแนะนำเคล็ดลับการแยกถุงง่ายๆ ที่ทำได้จริงในทุกบ้านโดยแยกเป็น 2 กลุ่มคือ

1.แยกไปรีไซเคิล: ถุงพลาสติกที่มีความเหนียว นิ่ม ยืดง่าย

ปกติแล้วถุงพลาสติกหูหิ้วที่เราใช้กัน รถซาเล้งและโรงแยกขยะรีไซเคิลจะไม่ค่อยรับซื้อเท่าไหร่ เนื่องจากมีต้นทุนในกลายนำไปรีไซเคิลต่อที่สูง ไม่คุ้มค่ากับการนำไปรีไซเคิล แต่ในปัจจุบันได้เกิดโครงการที่รับซื้อหรือขอรับบริจาคพลาสติกประเภทนี้เพื่อรีไซเคิลหรือใช้ประโยชน์ต่อ โดยจะต้องเป็นถุงพลาสติกเหนียว นิ่ม ยืดง่าย หรือที่เรียกว่ากลุ่มโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene หรือ LDPE) ไม่ว่าจะเป็น ถุงชอปปิ้ง ถุงหูหิ้ว ถุงแกง ถุงขนมปังแถว ฟิล์มหุ้มแพ็กกล่องนมหรือขวดเครื่องดื่ม พลาสติกกันกระแทก 

พลาสติกเหล่านี้เมื่อนำไปล้างขจัดเศษอาหารออก รวบรวมเก็บไว้ครบทุกๆ 1 กิโลกรัมก็สามารถส่งขายให้กับรถซาเล้ง หรือร้านรับซื้อขยะรีไซเคิล เช่น วงษ์พาณิชย์, GEPP ได้เลย แต่ถ้าเก็บไว้นานแต่ยังไม่ครบโลเสียทีก็สามารถส่งรีไซเคิลกับโครงการ ‘วน’ ได้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/wontogether 

2.แยกเก็บไว้ ทำเป็น Eco-Bricks: ถุงขนม ซองฟอยล์

ซองฟอยล์ ถุงลามิเนต (ถุงพลาสติกที่มีฟิล์มพลาสติก ตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป เช่น ถุงใส่ขนม ถุงอาหารแห้ง) ฟิล์มห่ออาหาร เศษพลาสติก พลาสติกกลุ่มนี้เก็บไว้ให้ดีและพยายามนำกลับมาใช้ซ้ำเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นพลาสติกที่ขายไม่ออก รีไซเคิลไม่ได้ วิธีจัดการที่ดีที่สุดในเวลานี้คือนำมาทำความสะอาด ผึ่งแห้ง ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วอัดลงขวด PET ที่แห้งและสะอาดจนเต็ม รออัพเกรดสถานภาพเป็น Eco-Bricks ที่สามารถใช้ก่อสร้างบ้านดินหรืออาคารเรียนได้ในอนาคต

ระวังถุงหลอก!!

นอกจากถุงพลาสติกทั่วไปที่เราพูดถึงไปข้างต้น ยังมีถุงทางเลือกมากมายที่เกิดขึ้นมาเพื่อหวังจะแก้ปัญหาถุงพลาสติกที่ย่อยสลายยากได้ แต่อาจไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนเท่าไหร่ 

Biodegradable plastic: ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในสภาวะต่างๆ เช่น oxo-biodegradable plastic พลาสติกที่ย่อยสลายได้เมื่อถูกออกซิเจน หรือ photo-biodegradable plastic พลาสติกที่ย่อยสลายได้เมื่อเจอแสงแดดและความร้อน แต่ biodegradable plastic เหล่านี้ไม่ได้มีวัตถุดิบแตกต่างจากพลาสติกทั่วไป เพียงแค่เติมสารเร่งปฎิกิริยาให้แตกตัวเร็วยิ่งขึ้น พอแตกตัวแล้วก็ทำให้เรามองไม่เห็นเท่านั้น แต่ยังหลงเหลือเม็ดพลาสติกเล็กๆ ที่เรียกว่าไมโครพลาสติกปนเปื้อนตามแหล่งน้ำและระบบนิเวศ biodegradable plastic จึงไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้จริง และนำไปรีไซเคิลรวมกับถุงพลาสติกทั่วไปได้

ถุงผ้าสปันบอนด์: อีกหนึ่งสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อทดแทนถุงพลาสติก และได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีราคาถูก สวยดูดี แต่แท้จริงแล้วถุงชนิดนี้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่หลายคนคิด ถุงชนิดนี้ทำจากเส้นใยพลาสติก PP ที่อัดเป็นแผ่น ทำให้ไม่ทนเหมือนถุงผ้าธรรมดาทั่วไป ขณะเดียวกันก็แข็งแรงทนทานสู้พลาสติกปกติไม่ได้ ที่สำคัญเลยคือเปื่อยง่าย แตกสลายเป็นไมโครพลาสติกได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับ biodegradable plastic

ก้าวต่อไป สู่สังคมไร้พลาสติก

การงดแจกถุงพลาสติกนั้นเป็นเพียงก้าวแรกของโร้ดแมปการจัดการขยะพลาสติกเท่านั้น หลังจากการนำร่องงดแจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 100% ในบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้ง 43 ภาคี แล้วภายใน 1 ปีหลังจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าว่าจะผลักดันให้ทุกร้านทั้งห้างใหญ่และร้านค้ารายย่อย จะต้องเลิกแจกถุงพลาสติก และคลอดกฎหมายงดใช้พลาสติกในประเทศให้ได้ 

โดยในกฎหมายดังกล่าวจะมีการระบุห้ามใช้พลาสติก 7 ชนิด คือ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม, พลาสติกผสมสาร oxo,พลาสติกไมโครบีดส์, พลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน, กล่องโฟมบรรจุอาหาร, หลอดพลาสติก และแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยจะใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน รวมทั้งจะนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้ง 100% อีกด้วย

แต่ความพยายามของภาครัฐและเอกชนอย่างห้างสรรพสินค้าจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากประชาชนอย่างเราไม่ให้ความร่วมมือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต้อนรับนโยบายงดถุงนี้ แม้ในช่วงแรกจะมีความขลุกขลักกันไปบ้าง แต่เราเชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายตั้งใจเตรียมตัวรับมือความไม่คุ้นชินไปด้วยกัน ความพยายามของทุกคนจะกลายเป็นจริงได้ และการลด เลิก ใช้พลาสติกจะกลายเป็นค่านิยมใหม่ที่ทุกคนคุ้นเคยอย่างแน่นอน

ที่มาข้อมูล

https://news.thaipbs.or.th
https://mgronline.com/greeninnovation
www.waste360.com

ภาพประกอบ npy.j