ในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปีที่โลกของเราเผชิญกับโรคระบาดใหม่ๆ มากมายแทบนับไม่ถ้วน ตั้งแต่อีโบลา ไข้หวัดนก โรคซาร์ส โรคเมอร์ มาจนถึงโควิด-19 หรือไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่

แม้เราจะเจอโรคระบาดกันแทบทุกปี แต่ไวรัสเหล่านี้ก็ยังคงสร้างความหวั่นวิตกให้กับหลายๆ คน เพราะไม่รู้ว่าโรคมีความร้ายแรงแค่ไหน ไม่รู้ว่าควรจะรับมืออย่างไรให้ไม่ป่วยหนักได้ เราจึงอยากจะมาสแกนไวรัสเพื่อให้รู้จักเข้าใจถึงที่มา ความรุนแรง เพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมทั้งในระยะสั้น ระยะยาว  

ย้อนรอยไวรัสอันตราย ที่เริ่มแพร่หลายเพราะการกิน?

โรคระบาดเป็นสิ่งที่อยู่คู่มนุษย์มาอย่างยาวนาน เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องของโรคไข้เหลือง โรคอหิวาตกโรค หรือกาฬโรคที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในอดีต แม้โรคระบาดจะเกิดในต่างพื้นที่ ต่างช่วงเวลา มีความความรุนแรงของโรคต่างกันไป แต่เมื่อมองไปยังต้นเหตุของโรคระบาดในคนทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เราจะพบว่ากว่า 3 ใน 4 เป็นการติดไวรัสที่มาจากสัตว์ ซึ่งไวรัสส่วนใหญ่เมื่ออยู่กับสัตว์อาจจะไม่เป็นอันตราย แต่เมื่อแพร่มาสู่มนุษย์ผ่านการสัมผัส การกิน และทางเดินหายใจ ไวรัสเหล่านั้นสามารถจะกลายพันธุ์กลายเป็นตัวการที่ทำให้เราป่วยจนถึงระดับเสียชีวิตได้ ดังเช่นโรคระบาดร้ายดังต่อไปนี้


อีโบลา 

  • รหัสไวรัส : EVD
  • ช่วงเวลาที่ระบาด: 1976 – ปัจจุบัน
  • พื้นที่ระบาด: ทวีปแอฟริกา
  • ต้นเหตุการระบาด: คาดว่ากินเนื้อสัตว์ป่าที่ติดเชื้ออีโบลามาจากค้างคาว  
  • วิธีแพร่เชื้อ: สัตว์สู่คน จากการสัมผัสผิวหรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่มีเชื้ออยู่ กินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ไม่ปรุงสุก / คนสู่คน จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือดและสารคัดหลั่งจากคนที่ติดเชื้อ
  • สถานการณ์ปัจจุบัน: ยังมีการระบาดเกิดขึ้นในประเทศคองโก

หนึ่งในโรคระบาดของไวรัสที่รุนแรงที่สุดและยังคงถูกพูดถึงในทุกวันนี้คืออีโบลา ที่เริ่มระบาดในคนครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อนักท่องเที่ยวเข้าไปหาของป่าและกินสัตว์ป่า อย่างเนื้อละมั่งและเนื้อลิงรมควันที่คาดว่าติดเชื้ออีโบลามาจากค้างคาว  

อีโบลาถือว่าเป็นเชื้อไวรัสที่รุนแรงที่สุดในโลกมีอัตราการตายที่สูงถึง 43.99% หรือ 1 ใน 2 ของคนที่ติดเชื้อจะเสียชีวิตในที่สุด แต่แนวโน้มการติดเชื้อโรคไวรัสอีโบลาเป็นวงกว้างนั้นถือว่าต่ำ เพราะโรคนี้จะแพร่ได้เมื่อสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยที่มีอาการ โรคนี้จึงสามารถควบคุมโดยการกักโรคหรือการแยกผู้ติดเชื้อโดยบังคับ นอกจากนี้ยังเป็นโรคที่มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันสำเร็จแล้ว ถึงอย่างนั้นอีโบลาก็ยังคงระบาดมาอย่างต่อเนื่องในบางประเทศของแอฟริกา เพราะผู้คนในพื้นที่ยังต้องพึ่งพิงป่าเป็นแหล่งอาหาร แต่บุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถเข้าไปฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ระบาดได้เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองและการกีดกันของกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่


ไข้หวัดนก 

  • รหัสไวรัส : H5N1
  • ช่วงเวลาที่ระบาด: 2003 – ปัจจุบัน
  • พื้นที่ระบาด: จีน ฮ่องกง เวียดนาม มาเลเซีย และไทย
  • ต้นเหตุการระบาด: สัมผัสกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ
  • วิธีแพร่เชื้อ: สัตว์สู่คน จากการสัมผัสกับอุจจาระและสารคัดหลั่ง หายใจเอาเชื้อเข้าร่างกาย กินเนื้อสัตว์และไข่ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก / คนสู่คน อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อมากๆ (เกิดขึ้นน้อยมาก)
  • สถานการณ์ปัจจุบัน: ล่าสุดพบการระบาดในฟาร์มไก่มณฑลหูหนาน แต่ไม่แพร่เชื้อมาสู่คน

หนึ่งในโรคระบาดที่คนไทยคุ้นเคยที่สุดคงจะเป็นไข้หวัดนกหรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ เพราะเคยแพร่ระบาดในไทยเมื่อปี 2004 ไข้หวัดนกเป็นโรคระบาดที่มักเกิดขึ้นในเกิดขึ้นในสัตว์ปีก แต่ไวรัสนี้มีโอกาสพัฒนาติดโรคมาสู่คนได้ผ่านการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดยตรงหรือโดยอ้อม เช่น การทำงานร่วมกับสัตว์ปีกในฟาร์ม หรือการบริโภคเนื้อไก่ เลือด และไข่ดิบหรือที่ปรุงแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ 

การระบาดของไข้หวัดนกในไทยเป็นการระบาดในฟาร์มไก่ก่อนจะแพร่มาสู่คน ส่วนความสามารถในการแพร่จากคนสู่คนเป็นไปได้น้อยมาก ซึ่งไข้หวัดนกสามารถรักษาด้วยยาต้านไวรัสแต่การรักษาควรเริ่มโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดนก แต่การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถลดความรุนแรงของอาการจากโรคไข้หวัดนกได้เช่นกัน


โรคตระกูลโคโรน่า 

โรคซาร์ส 

  • รหัสไวรัส: SARS-CoV
  • ช่วงเวลาที่ระบาด: 2003 – 2004
  • พื้นที่ระบาด: ทั่วโลก
  • ต้นเหตุการระบาด: คาดว่ามาจากค้างคาวและสัตว์จำพวกชะมดและอีเห็น
  • วิธีแพร่เชื้อ: สัตว์สู่คน จากการกินหรือสัมผัสกับสัตว์ที่มีเชื้อ / คนสู่คน จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง และการสูดอากาศที่มีเชื้อโรคเข้าไป
  • สถานการณ์ปัจจุบัน: สามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว

ไวรัสโคโรน่าเป็นที่รู้จักครั้งแรกเมื่อเกิดโรคระบาดของโรคซาร์สในบริเวณเมืองกว่างโจวหรือฮ่องกง ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการกินอาหารป่าของมนุษย์ เพราะโคโรน่าเป็นอีกหนึ่งไวรัสที่มีค้างคาวเป็นพาหะนำโรค สามารถติดต่อในสัตว์ป่าชนิดต่างๆ และติดต่อมาสู่คนได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง ตั้งแต่ที่เกิดโรคซาร์สขึ้น นักวิทยาศาสตร์ก็พยายามกันเป็นอย่างมากในการสร้างวัคซีนที่จะใช้เพื่อป้องกันการกลับมาของโรคซาร์สในอนาคต อย่างไรก็ตามด้วยความที่โรคซาร์สได้หายไปอย่างหาสาเหตุไม่ได้มาตั้งแต่ปี 2004 ทำให้การสร้างวัคซีนจึงดำเนินการไปแบบค่อนข้างช้าและยังไม่มีองค์กรไหนพัฒนาสำเร็จมาจนปัจจุบัน 

โรคเมอร์ส

  • รหัสไวรัส: MERS-CoV
  • ช่วงเวลาที่ระบาด: 2012-2013
  • พื้นที่ระบาด: ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ จอร์แดน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • ต้นเหตุการระบาด: คาดว่ามาจากการสัมผัสและกินอูฐที่ติดเชื้อ
  • วิธีแพร่เชื้อ: สัตว์สู่คน จากการกินหรือสัมผัสกับสัตว์ที่มีเชื้อ / คนสู่คน จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย สูดอากาศที่มีเชื้อโรคเข้าไป
  • สถานการณ์ปัจจุบัน: สามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว

หลังจากที่โรคซาร์สหายไป ไวรัสโคโรน่าเกิดการระบาดอีกครั้งในประเทศซาอุดิอาระเบีย ก่อนจะระบาดไปในหลายๆ ประเทศฝั่งตะวันออกกลางทั้งกาตาร์ จอร์แดน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจุดเริ่มต้นของโรคนี้คาดว่ามาจากค้างคาวแล้วแพร่ระบาดเข้าสู่อูฐ ก่อนจะพัฒนาเข้าสู่คนจากการสัมผัสหรือรับประทานเนื้ออูฐที่ติดเชื้อ ปัจจุบันเมอร์สก็ยังไม่มีวิธีการรักษาและวัคซีนป้องกันเช่นเดียวกับโรคซาร์ส แต่ด้วยอัตราการติดต่อจากคนสู่คนต่ำจึงสามารถควบคุมโรคได้ภายใน 1 ปี

โรคโควิด-19 

  • รหัสไวรัส: COVID-19
  • ช่วงเวลาที่ระบาด: 2019-ปัจจุบัน
  • พื้นที่ระบาด: ทั่วโลก
  • ต้นเหตุการระบาด: คาดว่ามาจากการสัมผัสค้างคาวและงูป่าที่ติดเชื้อ
  • วิธีแพร่เชื้อ: สัตว์สู่คน จากการกินหรือสัมผัสกับสัตว์ที่มีเชื้อ / คนสู่คน จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย สูดอากาศที่มีเชื้อโรคเข้าไป
  • สถานการณ์ปัจจุบัน: ยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่องทั่วโลก

ล่าสุดการระบาดของโคโรน่ามาในชื่อสายพันธ์ุ COVID-19 ซึ่งไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ุใหม่ล่าสุดนี้คาดกันว่าสัตว์ที่เป็นพาหะอาจจะเป็นค้างคาวกินผลไม้หรืองูในป่าที่ถูกรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัยทำให้ต้องขยับแหล่งหากินเข้าใกล้สังคมมนุษย์มากขึ้น บวกกับพฤติกรรมการบริโภคสัตว์ป่าของชาวจีน ทำให้แหล่งขายเนื้อสัตว์หลายชนิดถูกเก็บเนื้อไว้รวมกันจนมีการปนเปื้อนไวรัสจากสัตว์ที่เป็นพาหะหลายชนิด 

สำหรับการรักษาเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ ยังคงเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการของผู้ป่วย หากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันดีและรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่ป่วยระยะแรกคือเริ่มมีไข้ ไอแห้งๆ หายใจไม่สะดวก รู้สึกเหนื่อยล้า มีอาการคล้ายๆ กับเป็นไข้หวัดใหญ่จะยังสามารถรักษาให้หายได้

แต่ก็เสี่ยงเสียชีวิตหากมีอาการปอดบวมอักเสบร่วมด้วย เพราะเป็นการติดเชื้อที่เข้าขั้นรุนแรงคือเชื้อไวรัสเข้าไปโจมตีปอดส่งผลให้ปอดเสียหายทำงานไม่ได้ ร่างกายจึงเกิดการขาดออกซิเจนส่งผลให้อวัยวะต่างๆ หยุดทำงานในที่สุด

กลุ่มคนเสี่ยงที่จะเกิดอาหารหนักมีอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอจึงยากที่ร่างกายจะฟื้นฟูตัวเองจากการติดเชื้อ

แม้ล่าสุดทางประเทศจีนกำลังพัฒนายาต้านไวรัสตัวใหม่ที่กำลังจะประกาศใช้กับผู้ป่วยในประเทศ แต่การระบาดของโควิด19 ยังคงลุกลามไปอย่างรวดเร็วทั่วโลกและไม่มีวี่แววว่าอัตราการระบาดจะลดลงในเร็ววันนี้

(ข้อมูลล่าสุด 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563)

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไวรัสรุนแรงขึ้นทุกวัน


แม้โรคระบาดส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมลดความรุนแรงจนกลายเป็นเพียงโรคประจำถิ่นหรือโรคประจำฤดูกาลได้ แต่ก็ยังคงมีโอกาสที่โรคระบาดใหม่ๆ อุบัติขึ้นมาได้อยู่เสมอ และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 
ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคระบาดนั้นรุนแรงขึ้น คือวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบัน

1.การบุกรุกพื้นที่ป่าและกินอาหารป่า 

การกินสัตว์ป่า การเปลี่ยนป่าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ เช่น ถางป่าเพื่อทำที่อยู่อาศัยและฟาร์มปศุสัตว์ นอกจากจะเป็นการคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรุนแรงแล้ว ยังกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคระบาดติดต่อ เพราะคนจะอยู่ใกล้สัตว์ป่าซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อโรคมากขึ้น กรณีศึกษาที่เห็นได้ชัดคือการระบาดของโรคอีโบลาที่มีผู้ป่วยรายแรกเกิดอาการไข้หนาวสั่นและมีเลือดออกในทางเดินอาหารหลังกลับมาจากท่องเที่ยวป่า ในขณะเดียวกัน สัตว์ที่ถูกทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย ก็ต่างอพยพเข้าเมือง และอาจนำเชื้อโรคมาด้วยเช่นกัน 

2. ประชากรเพิ่มขึ้นและการคมนาคม

การเพิ่มขึ้นของประชากร นอกจากจะทำให้เราบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อนำมาสร้างที่อยู่อาศัยแล้ว ยังเกิดสังคมเมืองที่ผู้คนต้องใช้ชีวิตและปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าการส่งต่อเชื้อโรคต่างๆ สู่กันและกันไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ อากาศ หรืออาหารง่ายขึ้นด้วย 

นอกจากนี้การคมนาคมระหว่างประเทศที่ทำให้การระบาดของเชื้อไวรัสต่างๆ เดินทางไปได้ไกลมากขึ้นด้วย อย่างเช่นการระบาดของโรคซาร์สที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 8,000 คน ในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก และเชื้อไวรัสซิก้า ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อมากกว่า 84 ประเทศ หรือ โควิด-19 ที่ระบาดไปแล้วมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

3. ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของของสภาพภูมิอากาศ

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคระบาดรุนแรงขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถาบัน National Academy of Sciences ระบุว่าในรอบ 70 ปีที่ผ่านมาโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งความอุ่นในแต่ละพื้นที่มีผลกระทบต่ออัตราการเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะโรคที่มีพาหะเป็นแมลง ซึ่งอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นจะทำให้ประชากรแมลง สัตว์กลุ่มนักล่าที่มีแนวโน้มเป็นพาหะอย่างค้างคาวและงู เริ่มอพยพเข้าใกล้ชุมชนมนุษย์เพื่อหาอาหารกิน ทำให้มีโอกาสที่มนุษย์และสัตว์จะส่งผ่านไวรัสก่อโรคเกิดเป็นโรคติดต่อที่มีความสามารถเฉพาะตัวในการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

ไข้หวัดนกเองก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและเชื้อไวรัส เดิมทีหวัดนกนั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติในสัตว์ปีก โดยเฉพาะในเป็ดหรือนกป่า ซึ่งตามปกติความหลากหลายของสายพันธุ์ ความสมบูรณ์ของถิ่นที่อยู่และอาหารจะทำให้สัตว์ปีกเหล่านี้มีภูมิต้านทาน แต่สภาวะโลกร้อนและการสูญเสียถิ่นที่อยู่ส่งผลให้ประชากรของนกลดลง ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศได้ไปเปลี่ยนวงจรและเส้นทางการบินอพยพของสัตว์ปีก  เส้นทางการบินที่เปลี่ยนไปหรือการเติบโตขึ้นของเมืองก็มีโอกาสที่นกป่าจะใกล้ชิดกับปศุสัตว์และมนุษย์มากขึ้น เมื่อไวรัสที่เจอกับสิ่งแวดล้อมใหม่ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาตัว กลายเป็นการระบาดของไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ในหลายๆ ประเทศแถบเอเชีย

แม้ว่าเราจะมีวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวไกล มีองค์กรด้านสาธารณสุขระดับโลกที่เข้ามาดูแลโรคระบาดโดยเฉพาะ แต่ในขณะเดียวกันโลกของไวรัสและแบคทีเรียนั้นเป็นเสมือนอีกจักรวาลหนึ่งที่ความรู้ของมนุษย์ยังไม่สามารถเข้าใจได้ ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์บอกไว้ว่าในปัจจุบันเรารู้จักแบคทีเรีย ไวรัส และจุลินทรีย์ ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้เพียงแค่ 1% เท่านั้น อาจกล่าวได้ว่าความไม่รู้และปัจจัยกระตุ้นมากมาย ทำให้โรคระบาดเลวร้ายและคาดเดาไม่ได้มากขึ้นกว่าเดิม

รับมือโรคระบาดให้ปลอดภัยทั้งในระยะสั้นและยาว


แม้ว่าโรคระบาดจะเป็นเรื่องน่ากลัว ก็อย่ามัวแต่หวั่นวิตก เพราะเราสามารถรับมือกับโรคระบาดได้ดังนี้

ปลอดภัยในระยะสั้น

ในขณะที่เรากำลังเผชิญช่วงเวลาที่กำลังเกิดโรคระบาดทางเดินหายใจอยู่นั้น สิ่งสำคัญที่สุดควรหลีกเลี่ยงไม่เดินทางไปยังพื้นที่ที่เกิดโรคระบาด

หรือพื้นที่ที่ มีคนแออัด โดยเฉพาะพื้นที่ปิด เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าใครมีเชื้อโรคระบาดนี้อยู่บ้าง เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะใช้เวลาแสดงอาการนานกว่า 14-24 วัน แต่โรคระบาดอย่างโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ไม่แสดงอาการ

ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยของมือเป็นสิ่งสำคัญ หมั่นล้างมือให้สม่ำเสมอด้วยสบู่หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลที่มีความเข้มข้นเกิน 70 – 95% อย่างน้อย 20 วินาที

และเลี่ยงการนำมือที่สกปรกไปสัมผัสปาก จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจได้

ส่วนการใส่หน้ากากอนามัย องค์การอนามัยโลกและ CDC ของสหรัฐอเมริกาไม่ได้แนะนำให้ผู้ที่สุขภาพแข็งแรงใส่หน้ากากอนามัยในสถานการณ์ทั่วไป

หากใครเป็นกังวลอาจใส่หน้ากากผ้าได้ ส่วนหน้ากากอนามัยนั้นแนะนำสำหรับคนที่ต้องเป็นผู้ดูแลผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย คนทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ เช่น โรงพยาบาล สนามบินคนขับรถ หรือคนที่มีโอกาสต้องไปอยู่ในที่ที่อาจใกล้ชิดผู้ป่วย เช่น สถานที่แออัด 

ซึ่งควรใช้เป็นหน้ากากอนามัยแบบ surgical mask  ซึ่งเป็นหน้ากากที่มี 2 ด้านคือ คือด้านนอกผิวมัน ที่ช่วยกันเชื้อโรคและของเหลวจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ส่วนด้านในจะมีลักษณะนุ่มสีขาว สามารถดูดซับสารคัดหลั่งที่อาจจะมาจากการไอและจามของตัวเองได้ สำหรับหน้ากาก N-95 ก็สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ แต่ต้องใส่ให้ถูกต้อง ซึ่งอาจจะมีราคาสูงกว่าและยังทำให้อึดอัด หายใจไม่ค่อยออก ผู้เชี่ยวชาญจึงไม่ค่อยแนะนำให้ใช้งานนอกสถานพยาบาล

ที่สำคัญคือหน้ากากอนามัยทุกชนิดต้องใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อให้เกิดการป้องกันสูงสุด วิธีการกำจัดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วหากเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้ทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อที่มีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจน ส่วนคนทั่วไปให้ทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิด อย่าลืมล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งทั้งก่อนใส่และหลังทิ้งหน้ากากอนามัยเพื่อสุขอนามัยที่ดี

ถ้าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดไวรัส เช่น มีอาการของโรคหรือเพิ่งกลับจากประเทศที่เสี่ยงติดเชื้อมา สามารถขอตรวจโรคกับทางโรงพยาบาลได้

ซึ่งเราสามารถเข้าตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ฟรี หากมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์เหล่านี้

  1. เพิ่งกลับจากการเดินทางไปในประเทศกลุ่มเสี่ยง
  2. มีอาการผิดปกติที่ระบบทางเดินหายใจ
  3. มีไข้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
  4. มีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย ปอดอักเสบอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  5. มีประวัติใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เช่น คนในครอบครัวเพิ่งกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง
  6. ทำอาชีพที่ต้องพบปะชาวต่างชาติจำนวนมาก เช่น คนขับแท็กซี่ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ลูกเรือสายการบิน เป็นต้น

โดยสามารถเข้ารับการตรวจฟรีได้ที่โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลศิริราช และสามารถเช็กโรงพยาบาลอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ กรมควบคุมโรค โทร 1422

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารป่า ต้องกินอาหารที่ปรุงสุก และซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่เชื่อใจได้เท่านั้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียอื่นๆ ที่เราไม่อาจคาดเดาได้ รวมถึงกินอาหารที่เสริมสร้างภูมิต้านทานได้ ไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้ที่มีวิตามินซีและวิตามินเอสูง สมุนไพรรสชาติเผ็ดร้อน และการดื่มน้ำมากๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ

(ข้อมูลล่าสุด 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563)

ป้องกันโรคระบาดในระยะยาว

สำหรับการรับมือในระยะยาวที่ทางสาธารณสุขทั่วโลกให้ความสำคัญคือการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ระบบสาธารณสุขยังได้พัฒนากระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการปัญหาที่เรียกว่า One Health (เอกาสุขภาพ) ที่เชื่อว่าทุกคนในสังคมต้องให้ความร่วมมือในการสร้างสุขภาพที่ดีทุกด้านทั้งมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม 

ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราเองก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างโลกที่สุขภาพดีได้ ผ่านวิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน ตั้งแต่งดบริโภคสัตว์ป่าทุกชนิดโดยเฉพาะสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์เพื่อรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ การกินเนื้อให้น้อยลงเพื่อลดพื้นที่บุกรุกป่าและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไปจนถึงการไม่กินอาหารทิ้งๆ ขว้างๆ เพราะจะสร้างขยะอาหาร ซึ่งเป็นตัวการของภาวะโลกร้อน

การต่อสู้กับภัยของโรคระบาดทั้งในปัจจุบันและอนาคตจึงไม่ใช่เรื่องของวงการสาธารณสุขเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสนใจ มองที่มาที่ไปของการเกิดโรคให้ครบรอบด้านทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สัตว์ มนุษย์ และเทคโนโลยี

เพราะเมื่อเราสามารถสร้างความสมดุลช่วยให้โลกไม่ป่วยได้ สิ่งมีชีวิตบนโลกจะไม่ป่วยหนักเช่นกัน

ที่มาข้อมูล

www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019
www.un.org/en/chronicle/article/climate-change-and-malaria-complex-relationship
www.greenpeace.org/thailand/story/11035/climate-heating-planet-increase-disease
www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/about/prevention-treatment

ภาพประกอบ: npy.j