“คนทุกคน ทุกเวลา สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยและมีโภชนาการที่ดี เข้าถึงได้ทั้งทางกายภาพและในเชิงเศรษฐกิจ ตามความต้องการและพึงพอใจ เพื่อชีวิตที่ดีและสุขภาพแข็งแรง”

นี่คือนิยามของคำว่า ความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food security จากที่ประชุม World Food Summit ในปี ค.ศ. 1996 ที่มักจะถูกนำมาอ้างถึงบ่อยๆ 

ความมั่นคงทางอาหาร น่าจะเป็นคำที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ เคยได้ยินผ่านหูมาตลอด แต่ลึกๆ แล้วอาจจะไม่ได้เข้าใจความหมายของคำนี้อย่างถ่องแท้ หรือไม่รู้สึกว่ามันใกล้ตัวเราสักเท่าไหร่ จนกระทั่งเกิด ‘วิกฤตโควิด-19’ ขึ้นซึ่งส่งผลกระทบอย่างมหาศาลกับผู้คนทั้งโลก และชัดเจนว่ามันส่งผลให้คนจำนวนมากเผชิญ ‘วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่จึงเป็นเวลาสำคัญที่เราอยากชวนทุกคนมาตั้งหลัก ทำความเข้าใจ และพร้อมรับมือกับเรื่องนี้ไปด้วยกัน

ทำไม ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ ถึงยิ่งสำคัญในช่วงวิกฤต

เพราะวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้รัฐทั่วโลกต้องประกาศล็อกดาวน์ หรือปิดบ้าน-ปิดเมือง รวมทั้งประเทศไทยเราด้วยที่ต้องร่วมกันอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แต่ขณะเดียวกัน การควบคุมการระบาดของโรคนี้ก็ส่งผลให้การทำงานและการดำเนินธุรกิจบางส่วนหยุดชะงัก ส่งผลให้เกิดการถดถอยของเศรษฐกิจโลก และส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงอาหารของประชาชนโดยตรง 

พูดง่ายๆ ว่า คนกลุ่มแรกที่เดือดร้อนเรื่องความมั่นคงทางอาหารคือคนที่ขาดรายได้ในช่วงวิกฤตนี้นั่นเอง ในสถานการณ์แบบนี้ เสบียงอาหารของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ

เพราะค่าใช้จ่ายด้านอาหารมีสัดส่วนมากถึง 35% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับคนทั่วไป และมากกว่า 50% สำหรับคนจนและผู้มีรายได้น้อย 

เราเห็นปัญหาที่เกี่ยวกับ Food security ได้ตามข่าวในแต่ละวัน นอกจากปัญหาที่เกิดกับคนจนและผู้มีรายได้น้อยแล้ว การปิดเมืองของประเทศทั่วโลกเนื่องจากโควิด-19 ยังส่งผลต่อคนปลูกและคนกินในอีกหลายแง่มุม

‘ความไม่มั่นคง’ ที่เกิดขึ้นกับคนปลูกและคนกิน คืออะไรบ้าง

จากข้อมูลของมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI ได้สรุปให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลต่อเกษตรกรรมและอาหาร แบ่งเป็น 3 ระยะ

ระยะแรก ภาวะตื่นตระหนกของผู้คนทำให้เกิดการกักตุนอาหารเข้าบ้าน

อย่างที่เราเห็นภาพข่าวคิวยาวเหยียดในซูเปอร์มาร์เก็ตตอนช่วงแรกๆ ซึ่งพอผู้บริโภคสะสมเสบียงเกินความจำเป็นทั้งที่ยังมีอาหารอย่างเพียงพอ ก็จะมีผู้ค้าที่ฉวยโอกาสเก็งกำไร อย่างที่เกิดขึ้นกับไข่ หน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์ที่มีราคาแพงและหาซื้อไม่ได้อยู่ช่วงหนึ่ง จนรัฐต้องออกมาแก้ปัญหา

กรณีที่ไข่มีราคาแพงในเวลาสั้นๆ แต่กลับพบว่าเกษตรกรไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะผู้เลี้ยงไก่ไข่มากกว่า 75% เป็นผู้เลี้ยงรายใหญ่ ส่วนสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์นั้นราคาต่ำลงทั้งหมด และแม้ว่าแอลกอฮอล์ราคาแพงขึ้นก็ไม่มีผลอะไรกับเกษตรกร เพราะอ้อยและมันสำปะหลังก็ยังเป็นราคาเดิม

ระยะกลาง ห่วงโซ่ของระบบอาหารไม่ลื่นไหล

ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์จนกว่าจะควบคุมการระบาดได้ ห่วงโซ่ระบบอาหารเกิดอุปสรรคตั้งแต่โรงงานผลิต โรงงานแปรรูปที่อาจต้องชะงักหรือขาดแคลนแรงงาน การขนส่งและการกระจายผลผลิตเกิดอุปสรรค ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มและราคายางพาราโลกลดลง ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรที่ขายสินค้าส่งออกเจอกับภาวะขายสินค้าไม่ได้หรือต้องขายในราคาที่ขาดทุน

ใกล้ตัวขึ้นมาหน่อยคือเมื่อร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยวต้องปิดกิจการ ก็ทำให้ผู้บริโภคที่เคยพึ่งพาร้านอาหารเป็นหลัก เดินทางไปกินอาหารได้ไม่สะดวก กินอาหารได้ไม่หลากหลาย และที่หนักหน่อยคือกลุ่มคนที่มีรายได้หรือตกงาน ไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหารได้ 

ระยะยาว เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก แต่คนจนและผู้มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

โดยองค์การ OXFAM คาดการณ์จากการประเมินตัวเลขธนาคารโลกว่า ถ้าสถานการณ์ร้ายแรงที่สุด อาจทำให้มีคนจนเพิ่มขึ้นทั่วโลกมากถึง 434 ล้านคน ซึ่งคนจนในไทยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 13-14 ล้านคน ยังไม่รวมจำนวนคนตกงานที่คาดว่าอาจสูงถึง 7 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าวิกฤตปี 2540 หลายเท่าตัว

เราอาจจะเห็นคนตกงานจำนวนมากเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด กลับไปซบอกภาคเกษตรกรรม แต่ข้อจำกัดที่พวกเขาต้องเจอก็คือทรัพยากรที่ลดลงกว่าเดิมมาก และเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ ความต้องการสินค้าเกษตรในภาพรวมก็จะลดลง ยกเว้นสินค้าประเภทอาหารที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน รวมไปถึงข้อจำกัดเรื่องราคาและจำนวนการผลิตที่เกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมต้องเจออีกด้วย

แล้วเราจะสู้! เพื่อความมั่นคงทางอาหารได้ยังไง

ใช่ว่าเรื่องนี้จะสิ้นหวังไปซะทีเดียว ทางออกที่ BIOTHAI แนะนำ คือการที่ประชาชนผู้บริโภคอย่างเราๆ หันมาสู้! ช่วยกันส่งต่อความรู้ แหล่งอาหาร และร่วมกันผลักดันให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ในประเด็นสำคัญๆ ที่เราสรุปมาให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้

1
สนับสนุนตลาดชุมชน และร่วมกันสร้างระบบอาหารที่ดี

เห็นได้ชัดเลยว่าการทำเกษตรกรรมในช่วงวิกฤตและหลังวิกฤต ควรจะลดปัจจัยการผลิตจากภายนอก แต่หันมาผลิตเพื่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ผู้บริโภคอย่างเราเองมีส่วนอย่างมากในการช่วยสนับสนุนให้เกิดการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง โดยเน้นการซื้อของจากตลาดชุมชนใกล้บ้าน อาหารท้องถิ่น และตลาดในประเทศเป็นหลัก 

อีกส่วนหนึ่งที่ทำได้ คือการช่วยสนับสนุนระบบการกระจายอาหารของตลาดท้องถิ่น เช่น หันมาผูกปิ่นโตโดยตรงกับเกษตรกร หรือเลือกใช้ช่องทางตลาดออนไลน์ทางเลือกที่ไม่ต้องพึ่งพาแพล็ตฟอร์มหลัก การเลือกซื้อของเราจะช่วยทำให้เกิดระบบการจัดส่งผลผลิตและอาหารมาถึงเราได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านระบบค้าปลีกที่มีบริษัทผู้ค้ายักษ์ใหญ่ครอบครองส่วนแบ่งอยู่เกินครึ่ง

2
ลงมือปลูกผัก สร้างแหล่งอาหารปลอดภัยของตัวเอง

หลายคนอาจจะใช้เวลาอยู่บ้านช่วงล็อกดาวน์ในการฝึกปลูกผักสวนครัวง่ายๆ ไว้ใช้ทำอาหารกินเอง ขอบอกว่าคุณมาถูกทางแล้ว เพราะการปลูกผักและทำอาหารกินเองเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารลงได้มาก จากที่เคยต้องพึ่งพาแต่อาหารสำเร็จรูปที่อาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าและเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยมากกว่าด้วย

แต่สิ่งที่อยากให้ทำมากขึ้นถ้ามีแรงทำไหว คือการสร้างความเข้มแข็งในการปลูกผักให้เกิดขึ้นมากกว่าแค่ตัวเอง ลองขยายไปที่คนในครอบครัวและชุมชน ถ้าเราผลักดันให้เกิดเครือข่ายสร้างอาหารปลอดภัยในชุมชนได้ในหัวเมืองและเมืองใหญ่ ก็จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของครัวเรือนไทยลดลงได้แน่นอน

3
ส่งเสียงผลักดัน ขับเคลื่อนให้รัฐมีนโยบายที่เป็นรูปธรรม

ทางออกสุดท้ายที่จะเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ คือการช่วยกันจับตาและผลักดันให้รัฐมีมาตรการหรือหลักประกันให้กับ ประชาชนที่ตกงานและมีรายได้ต่ำ โดยทุกคนควรต้องเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอในช่วงวิกฤต และที่สำคัญ ในช่วงกักตุนหรือวิกฤตที่ยังไม่ผ่านพ้นไปนี้ ต้องไม่มีการเก็งกำไรเกินควรของผู้ค้า

เกษตรกร ควรได้รับเงินสนับสนุนหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผลักดันให้เกิดนโยบายที่ประชาชนจะเข้าถึงแหล่งน้ำและที่ดิน เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรกรรม รวมไปถึงร่วมกันปกป้องพื้นที่เกษตรไม่ให้ปนเปื้อนด้วยมลพิษจากอุตสาหกรรม 

และเพื่อความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวของเราทุกคน ต้องไม่มีการผูกขาด ผลักดันให้มีกฎหมายที่ขจัดการสร้างอิทธิพลเหนือตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ ลดการรวมศูนย์โดยโมเดิร์นเทรด ที่จะส่งผลต่อเกษตรกรคนเล็กคนน้อย

เรื่องสุดท้ายที่ผู้บริโภคต้องช่วยกันจับตาและขับเคลื่อนในช่วงวิกฤตคือ ต่อต้านการใช้สารเคมี และข้อตกลงที่ทำให้เกิดการผูกขาดพันธุ์พืช ล่าสุดที่กำลังเป็นประเด็นร้อนของสังคมอยู่ตอนนี้คือ การพิจารณาเห็นชอบเพื่อเข้าร่วม CPTPP ของรัฐบาลไทย ซึ่งถ้าไทยเข้าร่วม จะทำให้ต้องเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญา UPOV ซึ่งส่งผลทางลบต่อความมั่นคงอาหารดังนี้

  • เพิ่มอำนาจผูกขาดพันธุ์พืชใหม่กับบริษัทเมล็ดพันธุ์
  • ลดทอนสิทธิเกษตรกรในการเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ
  • ขัดขวางนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยจากการเข้าถึงพันธุกรรม
  • ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมอย่างไม่เป็นธรรม

ซึ่งประเด็นจากการผูกขาดพันธุ์พืชนี้ อาจจะกระทบมาถึงคนปลูกให้ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ราคาแพงกว่าเดิมหลายเท่า ทำให้ต้นทุนสูง และส่งผลมาถึงเราคนกินที่ต้องกินอาหารที่มีราคาแพงและไม่หลากหลายอีกด้วย ติดตามอ่านรายละเอียดของประเด็น CPTPP ได้ที่ แฮชแท็ก #NoCPTPP #StopUPOV1991 และ #เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อไม่ใช่อาชญากรรม

สุดท้ายนี้ อย่าลืมว่าการเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในแต่ละครั้ง ทำให้เราได้เห็นว่าการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ทั้งการส่งออกสินค้าและการพึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ก็อาจมีจุดอ่อนและความเปราะบางอยู่เหมือนกัน 

แต่ในเวลานี้เองก็ทำให้ผู้บริโภคอย่างเราได้ตระหนักมากขึ้นว่า วิถีเกษตรกรรมเชิงนิเวศมีความสำคัญมากต่อการกินของเรา และเราจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงทางอาหาร ไม่ใช่แค่สู้วิกฤตในวันนี้แต่มองไกลไปถึงวิกฤตที่อาจเกิดในวันข้างหน้าอีกก็เป็นได้

ที่มาข้อมูล: มูลนิธิชีววิถี, www.facebook.com/biothai.net
ภาพประกอบ: npy.j