เข้าใจว่าวิกฤตไวรัสระบาดกำลังสร้างความปั่นป่วนในระดับโลก จนทำให้เกิดมาตรการรับมือและป้องกันแบบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงสังคมและวิธีใช้ชีวิตของพวกเราทุกคนไปตามๆ กัน บทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราได้เรียนรู้และปรับตัวกันจากวิกฤตนี้คือเรื่อง ‘ความสะอาด’ ที่ถูกยกระดับขึ้นมาเป็นวาระระดับโลก

ทำไมต้องยกระดับความอนามัยในยามนี้

เพราะความร้ายกาจของไวรัสโควิด-19 ที่สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวต่างๆ ได้นานหลายวัน ถ้าเราใช้มือไปสัมผัสสิ่งของหรือพื้นผิวที่มีเชื้อ แล้วนำมาแตะใบหน้าหรือหยิบอาหารเข้าปาก เราก็จะติดเชื้อได้แบบแทบไม่ต่างอะไรกับการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง แต่โชคยังดีที่ไวรัสชนิดนี้ถูกกำจัดให้ตายได้ด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ หรือสารซักฟอก 

ดังนั้น นอกจากจะหลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอกเพื่อลดการกระจายของไวรัส อีกวิธีการที่เราแต่ละคนจะปราบไวรัสได้อยู่หมัด คือการ ขยันทำความสะอาดและมีวินัยในการสร้างสุขอนามัย ทั้งกับร่างกาย ของใช้ส่วนตัว สถานที่ทำงาน และบ้านอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง 

เชื่อว่าข้อดีหนึ่งของวิกฤตไวรัสนี้ คือการที่เราทุกคนจะหันมาใส่ใจกับอนามัยในการใช้ชีวิตมากขึ้น เริ่มง่ายๆ จากอนามัยรอบตัวเองในชีวิตประจำวัน ดังนี้

อนามัยในมือเรา

ทำไมต้องเริ่มต้นจาก ‘มือ’ เพราะมือคืออวัยวะที่สัมผัสสิ่งของเยอะที่สุด และมีโอกาสแทบตลอดเวลาที่เราจะนำมือมาจับใบหน้าของเรา หรือหยิบสิ่งของเข้าปากต่อ การสร้างอนามัยในมือเราจึงเป็นเรื่องที่ต้องเด็ดขาด 

การล้างมือ

  • ล้างมือด้วยสบู่ ต้องล้างนาน 20 วินาที และถูให้ทุกซอกทุกมุม ทั้งหน้ามือ หลังมือ ง่ามนิ้ว เล็บ ไปจนถึงข้อมือ
  • ล้างมือด้วยเจลแอลกฮอล์ ทางที่ดีต้องเป็นแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% โดยใช้ประมาณ 10 มิลลิลิตร ต้องล้างนาน 20 วินาที และล้างให้หมดจดเช่นกัน
  • ล้างมือบ่อยๆ ทั้งวัน สำคัญคือก่อน-หลังกินข้าว ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ และหลังไอจามหรือทิ้งของปนเปื้อน เช่น ทิชชู่ หน้ากาก
  • หลีกเลี่ยงการจับใบหน้าและหยิบอาหารเข้าปาก ถ้าต้องจับจริงๆ ก่อนจับให้ล้างมือก่อน

เช็ดสิ่งของที่มือเราสัมผัสบ่อย

  • ใช้เอทิลแอลกอฮอล์ 70% พ่นหรือเช็ดสิ่งของส่วนตัวหรือใกล้ตัวที่เราอาจใช้มือสัมผัสบ่อย เช่น ลูกบิดประตู โทรศัพท์มือถือ ของใช้บนโต๊ะทำงาน

นอกจากอนามัยในมือ ที่จริงแล้วยังรวมไปถึงร่างกายส่วนอื่นด้วย ทั้งอาบน้ำ สระผม แปรงฟัน ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด และเปลี่ยนผ้าเช็ดตัวบ่อยๆ อีกด้วย 

อนามัยบนใบหน้า

เน้นย้ำอีกครั้งว่าต้องหลีกเลี่ยงการจับใบหน้า และเว้นระยะห่างระหว่างกัน โดยให้อยู่ห่างจากผู้อื่นประมาณ 1.5 เมตร เพื่อป้องกันไวรัสที่ลอยมากับสารคัดหลั่งหรือน้ำลายของผู้ป่วย และถ้าให้ดีกว่านั้นคือการป้องกันด้วยการใส่หน้ากาก โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำแนะนำไว้ดังนี้

การใส่หน้ากากอนามัย

  • ใส่หน้ากากผ้า ในกรณีไม่ได้ป่วย ไม่ได้มีอาการสุ่มเสี่ยง และไม่ได้ต้องไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยงหรือคนเยอะ เพื่อสงวนหน้ากากอนามัยไว้ให้กับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ก่อน เช่น คนทำงานในโรงพยาบาล และผู้ป่วย
  • ใส่หน้ากากอนามัยแบบทั่วไป ในกรณีที่เป็นผู้ป่วย หรือมีอาการสุ่มเสี่ยง หรือทำงานใกล้ชิดคนป่วย หรือไม่ได้ป่วยแต่ต้องไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยงหรือคนเยอะ โดยใส่ให้พอดีกับใบหน้า หันด้านที่มีสีออก บีบบริเวณเส้นลวดให้พอดีกับจมูก ดึงให้ครอบคลุมทั้งจมูกและปาก
  • ใส่หน้ากากอนามัยแบบ N95 ในกรณีที่เป็นผู้ป่วย ผู้ทำงานใกล้ชิดคนป่วยโดยครอบหน้ากากบริเวณปากและจมูก ดึงสายรัดที่อยู่ด้านล่าง คล้องศีรษะ แล้วดึงลงไปบริเวณใต้ใบหู จากนั้นดึงสายรัดเส้นบนคล้องให้อยู่บริเวณหลังศีรษะ บีบบริเวณเส้นลวดให้พอดีกับจมูก ทดสอบความพอดีของหน้ากากโดยใช้มือทั้งสองข้างทาบบริเวณหน้ากาก แล้วลองหายใจ หากหน้ากากพอดีกับใบหน้าเวลาหายใจเข้าหน้ากากจะยุบตัว หายใจออกจะพองตัวออก
  • เปลี่ยนหน้ากากทันที หากใช้แล้วเปียกจากสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก และไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ 
  • แยกทิ้งหน้ากาก ใส่ถุงปิดให้มิดชิด หรือทิ้งในถังขยะติดเชื้อ และล้างมือทำความสะอาดเพื่อป้องกันการตกค้างของเชื้อโรค 

ทั้งนี้ ถ้าบังเอิญอยากจะจามหรือไอขึ้นมาในจังหวะที่ไม่มีผ้าปิดปาก แม้ว่าจะไม่ได้ป่วย ก็ควรใช้ทิชชู่ปิดปาก (แล้วแยกทิ้งให้เรียบร้อย) หรือไอจามด้วยการยกต้นแขนขึ้นมาปิดปากแทนมือ ไม่ควรใช้มือปิดปากเวลาไอหรือจาม หลังจากนั้นควรล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อีกทีเพื่อความชัวร์

อนามัยในบ้านและที่ทำงาน

สำหรับคนที่ยังต้องไปทำงาน หรือแม้กระทั่งทำงานอยู่บ้านทั้งวันก็เถอะ การสร้างอนามัยในพื้นที่อยู่อาศัยก็สำคัญไม่แพ้อนามัยส่วนตัว โดยเหมารวมตั้งแต่การกวาดพื้น ถูพื้น ขัดห้องน้ำ ทำความสะอาดเสื้อผ้าและผ้าปูเตียง ล้างจานและอุปกรณ์ทำอาหารด้วย 

การดูแลความสะอาดเมื่ออยู่บ้าน

  • ในช่วงนี้ เพื่อความสะอาดแบบมั่นใจ นอกจากน้ำยาทำความสะอาดบ้านทั่วไป แนะนำให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคเช็ดทำความสะอาดบ้านด้วย โดยเฉพาะห้องที่ใช้บ่อย เช่น ห้องทำงาน ห้องครัว และห้องน้ำ
  • อย่าลืมสวมใส่ถุงมือยาง เพื่อป้องกันมือจากความสกปรกและการสัมผัสสารเคมี
  • ถ้ามีหลายคนในบ้าน ต้องดูแลเป็นพิเศษเรื่องการไอจามในห้องเดียวกัน หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน โดยเฉพาะผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดตัว หรืออาจหลีกเลี่ยงการร่วมห้องกับคนที่สุ่มเสี่ยงต่อการป่วย

การดูแลความสะอาดเมื่อไปที่ทำงาน

  • เมื่อไปถึงที่ทำงาน ให้ทุกคนทำความสะอาดมือก่อนเป็นอย่างแรก
  • ออกกฎให้ทุกคนช่วยกันทำความสะอาดที่ทำงานทุกวัน จัดให้มีแม่บ้าน และมีอุปกรณ์ทำความสะอาดบนโต๊ะทำงานส่วนตัวทุกวัน รวมถึงลูกบิดประตู ลิฟต์ ห้องประชุม ห้องครัว และห้องน้ำด้วย
  • ทางที่ดีที่สุด คือควรออกนโยบายทำงานที่บ้าน (Work From Home) ไปก่อนในช่วงระยะนี้

อนามัยบนโต๊ะอาหาร

ร้านอาหารเป็นอีกหนึ่งจุดที่เสี่ยงต่อการระบาด โดยในช่วง 22 มี.ค. – 12 เม.ย. 63 รัฐบาลก็ได้ประกาศออกกฎเข้มงวดให้ร้านอาหารและแผงลอยทุกแห่ง ขายอาหารได้เฉพาะแค่การซื้อกลับบ้านอย่างเดียวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ขายแบบนั่งทานที่ร้าน แต่ความเสี่ยงบนโต๊ะอาหารก็ยังมีอยู่บ้าง ในกรณีที่เราต้องออกไปทำงานร่วมกับคนอื่น หรือแม้กระทั่งคนในบ้านที่อาจไม่สบายอยู่

อนามัยในการกิน

  • กินของร้อนและสดใหม่ อย่างน้อยก็มั่นใจว่าไวรัสจะไม่อยู่รอด
  • ทานอาหารบนถาดหรือภาชนะตัวเอง หลีกเลี่ยงการเขี่ยหรือคายเศษอาหารจากจานลงบนโต๊ะ 
  • ใช้ช้อนกลางเสมอเมื่อต้องทานอาหารร่วมกัน แต่ทางที่ดีเน้นเป็นอาหารจานเดียวไปก่อน หรือตักแยกใส่คนละจาน เพื่อความปลอดภัย
  • ใช้ช้อนและตะเกียบพกพา เมื่อต้องทานข้าวในที่ทำงาน เลี่ยงการใช้ช้อนส่วนกลางในห้องครัวไปก่อน เพราะคนอาจสัมผัสเยอะ
  • ใช้แก้วพกพา พกน้ำไปทานเองเมื่อต้องไปทำงานนอกสถานที่ เลี่ยงการใช้แก้วของส่วนรวมที่อาจล้างไม่สะอาด

อนามัยในห้องน้ำ

สุดท้ายที่ต้องอนามัย คือการใช้ห้องน้ำที่หลายคนอาจมองข้าม เพราะมันคือแหล่งก่อเชื้อโรคที่เสี่ยงต่อการสัมผัสร่วมกับผู้อื่นเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน 

การเข้าห้องน้ำ 

  • กดชักโครกทุกครั้ง ก่อนและหลังใช้งาน โดยแนะนำให้ปิดฝาก่อนกดชักโครกทุกครั้ง เพื่อเลี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโรคผ่านทางละอองฝอยที่อาจกระเด็นออกมาจากการกดน้ำ
  • เช็ดทำความสะอาดฝารองนั่ง ด้วยแอลกอฮอล์และทิชชู่ หรือพ่นเอทิลแอลกอฮอล์ก่อนใช้งานทุกครั้ง
  • ทำความสะอาดในพื้นที่อนามัยส่วนตัวด้วยทิชชู่ หลีกเลี่ยงสายยางฉีดน้ำที่อาจต้องสัมผัสร่วมกับผู้อื่น
  • แยกทิ้งขยะปนเปื้อนและทิชชู่ ใช้ถังขยะที่มีฝาปิด และนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง
  • ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง หลังเข้าห้องน้ำ หรือจับสิ่งปนเปื้อน

ที่มาข้อมูล:

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง