ระยะหลัง วงการอาหารเริ่มมีประเด็นร้อนผุดขึ้นมาให้ถกเถียงกันอยู่ตลอดเวลา ปีก่อนก็เรื่องการกระจายอาหารและ food waste มาปีนี้เป็นเรื่องนวัตกรรมทางอาหารที่ดูท่าทางจะน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ In Vitro Meat หรือ เนื้อสัตว์ปลูก
ที่จริงๆ เนื้อสัตว์ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนักวิทยาศาสตร์คิดค้นวิธีการผลิตเนื้อแบบนี้ขึ้นมาได้ตั้งแต่ยุค 90 แล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่สามารถผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้ เพราะเทคโนโลยีสมัยนั้นยังตามไอเดียไม่ทัน จนเมื่อเร็วๆ นี้บริษัทสตาร์ตอัพจาก Silicon valley ที่ชื่อ Hampton Creek ออกมาประกาศว่าบริษัทสามารถผลิตเนื้อสัตว์ปลูกทีละมากๆ สำเร็จแล้ว แถมรสชาติยังเหมือนเนื้อสัตว์ปกติทุกประการ ที่สำคัญคือพวกเขามีกำลังผลิตมากพอจะส่งเนื้อดังกล่าวออกวางตลาดภายในปี 2018 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 4 ปี!
ความเห็นของคนในวงการอาหารแตกออกเป็นสองฝ่ายชัดเจน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่พารานอยด์และตั้งคำถามกันใหญ่ว่าสิ่งนี้จะมา ‘ทำลายล้าง’ (Disruption) การเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารที่มนุษยชาติทำกันมาเป็นพันๆ ปีหรือเปล่า บ้างก็ว่าอาหารดัดแปลงอาจแสดงผลร้ายแก่ร่างกายจนเราไม่อาจรับมือได้ในอนาคต ขณะที่อีกกลุ่มมีความเห็นว่าเนื้อสัตว์ปลูกเป็นทางเลือกที่เวิร์กในภาวะที่โลกมีประชากรทะลักล้น
ส่วนเราในฐานะผู้บริโภค ถ้ายังเลือกไม่ได้ว่าจะอยู่ข้างไหน ความรู้ที่เรารวบรวมมา 4 ข้อต่อไปนี้เกี่ยวกับเนื้อสัตว์ปลูก อาจทำให้คุณตัดสินใจเลือกว่าจะกินหรือไม่ได้ง่ายกว่าเดิม
1. เนื้อสัตว์ปลูกเกิดจากการเพาะเลี้ยงเซลล์
เนื้อสัตว์ปลูก คือการเอา Stem Cell ของสัตว์บริโภค เช่น วัว หมู หรือไก่ มาเพาะเลี้ยงในห้องทดลองที่ควบคุมอุณหภูมิและให้อาหารเซลล์อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เซลล์เพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆ จนได้เป็นเนื้อแดงที่กินได้เหมือนเนื้อสัตว์ทั่วไป เพียงแต่สัมผัสของมันอาจประหลาดนิดหน่อยเพราะเป็นเนื้อที่ไร้ไขมัน ไร้พังผืด ไร้เส้นเอ็น ต่างจากเนื้อจากสัตว์ที่เลี้ยงตามธรรมชาติ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ยอมแพ้ เลยจัดการเติมสาร Myoglobin (โปรตีนที่ทำให้เกิดสีในเนื้อสัตว์) ลงไปปรับให้เนื้อสัตว์ปลูกคล้ายคลึงกับเนื้อวัวปกติมากที่สุด
2. เนื้อสัตว์ปลูกช่วยลดมลพิษและการฆ่า
ประเด็นที่ฝ่ายบริษัทสตาร์ทอัพ Hampton Creek ยกขึ้นมาเป็นตัวชูโรงเรียกคะแนนเสียงก็คือ เนื้อสัตว์ปลูกจะช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรมลงได้อย่างมหาศาล อ้างอิงจากสถิติของก๊าซเรือนกระจกจากการเลี้ยงสัตว์ราว 13.5 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถูกปล่อยสู่บรรยากาศแต่ละปี ยังไม่รวมความเสี่ยงเรื่องโรคระบาดเมื่อนำสัตว์หลายพันตัวมาเลี้ยงรวมกัน ทั้งโรคไข้หวัดนก โรคซาร์สหรือโรควัวบ้า ที่ว่ากันว่าจะกลายพันธุ์ร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ หากเราไม่รีบหาทางรับมือ รวมถึงยังลดเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ ที่รังแต่จะเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้บริโคที่เร่งเร้า อาทิ สารเร่งเนื้อแดงในหมูและสารเร่งโตในไก่ แต่ประเด็นที่ฝ่ายนักปลูกเนื้อขีดเส้นใต้เลยก็คือ การเพาะเลี้ยงเนื้อช่วยลด ‘การฆ่า’ ลงได้นับล้านชีวิต เรียกว่าแค่ข้อนี้ก็กวาดคะแนนจากสายวีแกนไปได้อย่างล้นหลาม
3. เนื้อสัตว์ปลูกไม่ใช่เนื้อสัตว์ปลอม
หลายคนเริ่มหลงประเด็นคิดว่าเนื้อสัตว์ปลูกคือเนื้อสัตว์ปลอม แต่นักวิทยาศาสตร์กลับยืนยันว่าเนื้อสัตว์ปลูกที่เกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยงนั้นเป็น ‘เนื้อสัตว์จริงๆ’ มีคุณค่าทางโภชนาการเหมือนเนื้อสัตว์ตามธรรมชาติทุกประการ ต่างกันเพียงกรรมวิธีการผลิตเท่านั้น ส่วนเนื้อสัตว์ปลอมที่คาดกันว่าจะกลายมาเป็นทางเลือกใหม่สำหรับสายเนื้อมีด้วยกันสองแบบ คือหนึ่ง plant-based meat หรือเนื้อสัตว์ที่ปรุงขึ้นจากพืช เช่น เนื้อเบอร์เกอร์ที่ทำจากถั่วบด ทว่ามีรสสัมผัสไม่ต่างจากเนื้อวัวจริงๆ และอีกทางเลือกคือ Insect meat หรือการกินแมลงทั้งแบบยังเห็นเป็นตัว และแบบที่นำมาบดจนจำไม่ได้ก่อนกลายเป็นเนื้อชิ้นโอชาในแต่ละเมนู
4. แต่สุดท้ายก็ยังเป็น GMOs
ถึงนักวิทยาศาสตร์ในซิลิคอน วัลเลย์ จะยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่าเนื้อสัตว์ปลูกไม่มีพิษมีภัยต่อร่างกาย พร้อมออกวางขายให้ทุกคนได้ชิม แต่สุดท้ายเนื้อสัตว์ปลูกหรือ In vitro meat ก็ยังถูกองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้อยู่ในกลุ่มอาหาร GMOs หรืออาหารดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งหลายประเทศไม่รับประกันความเสี่ยงหรืออาจถึงขั้นกีดกันการนำเข้าเลยด้วยซ้ำ ดังนั้น โอกาสที่เนื้อสัตว์ปลูกจะเดินทางมาถึงซูเปอร์มาร์เก็ตแดนสยามของเราจึงน้อยนิด เพราะบ้านเรายังมีกฎหมายควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรซึ่งไม่อนุญาตให้สินค้า GMOs เข้ามาขายเชิงพาณิชย์ได้อย่างอิสระ
อ้างอิงข้อมูล: www.businessinsider.com/hampton-creek-lab-grown-meat-2017-6, www.sciencemag.org/news/2017/03/artificial-chicken-grown-cells-gets-taste-test-who-will-regulate-it, https://futurism.com/a-new-company-will-have-fake-meat-on-the-shelves-next-year/
เครดิตภาพถ่าย: Hampton Creek