หากย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน เราอาจคุ้นเคยกับ แจ๊สกี้-จริยา แซร่าฮ์ เอชเวิท ในฐานะนักร้องดูโอ้สาว ‘นาตาลี-แจ๊สกี้’ เจ้าของเพลงฮิตติดหูประจำยุค 90

แม้หลายปีที่ผ่านมาเราจะไม่ได้พบแจ๊สกี้ผ่านหน้าจอโทรทัศน์บ่อยเหมือนเคย แต่เรากลับพบเธอในฐานะแม่ค้าได้เรื่อยๆ ตามงานตลาดนัดสีเขียวที่วนเวียนจัดกันอยู่บ่อยๆ พร้อมผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิกฝีมือคุณแม่ในแบรนด์ ‘Mumbo’ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่ถือเป็นการเปลี่ยนวิถีการกินครั้งยิ่งใหญ่ของเธอ จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอยากลองแชร์เรื่องราวการกินดี และขอเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้เราได้ใกล้ชิดกับอาหารดีๆ ได้ง่ายขึ้น

บทเรียนจากโรคร้ายที่ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลง

แจ๊สกี้ใช้เวลาวัยเด็กของเธออยู่ในวงการบันเทิง พร้อมฝากผลงานเพลงมากมายที่เราคุ้นเคยกันดีเอาไว้ ก่อนจะไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษอยู่เกือบสิบปี แล้วตัดสินใจย้ายกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยถาวรอีกครั้ง ด้วยความที่ห่างหายจากอาหารไทยไปนาน เธอจึงแวะเวียนเข้าออกร้านต่างๆ เพื่อกินอาหารที่เธอคิดถึง ก่อนจะพบกับอาการแปรปรวนของร่างกายที่ค่อนข้างรุนแรง จนทำให้เธอต้องตัดสินใจพบแพทย์ในที่สุด

“ตอนแรกเขาก็บอกว่าเราเสี่ยงจะเป็นมะเร็งนะ ต้องส่องกล้อง ถึงพบว่าเราเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ในลำไส้เรามีแผลหลายจุดมาก เป็นแผลสดเหมือนเวลาคนหกล้มแล้วเข่าถลอกเลย นานเข้าสภาพจิตใจเราก็เริ่มแย่ ไม่กล้าออกจากบ้าน กลัวปวดท้อง ใช้ชีวิตปกติไม่ได้เลย 

“คำแนะนำของคุณหมอคือให้เรางดกินเผ็ด งดกินอาหารไม่สุกค่ะ แต่ปกติเราไม่ได้กินอยู่แล้ว เลยคิดว่าหรือจริงๆ มันเป็นเรื่องความรับผิดชอบในการกินของเราเองล่ะ”

หลังจากนั้นแจ๊สกี้ในวัย 24 ปีจึงเริ่มศึกษาหาความรู้เรื่องโรคที่เธอเป็นด้วยตนเองอย่างจริงจัง เมื่อพบว่าคำแนะนำที่ได้รับอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุดนัก เธอจึงเริ่มหาบทความเกี่ยวกับโรคนี้มาอ่าน แล้วค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากรายงานต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต จนพบว่าเรื่องของลำไส้นั้นสัมพันธ์กับเรื่องอาหารโดยตรง และการกินที่ผ่านมาตลอดของเธอนี่แหละที่กำลังค่อยๆ สร้างปัญหา ดังนั้นการปรับวิธีการกินให้สะอาดปลอดภัยมากขึ้นอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด หญิงสาวจึงเริ่มลงลึกไปถึงเรื่องการกินตามวิถีอินทรีย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่มากๆ ในตอนนั้นสำหรับเธอ

“2-3 เดือนแรกเราก็ไปหาซื้อผักตามซูเปอร์มาร์เก็ตนี่แหละค่ะ ซึ่งมันแพงแล้วก็มีน้อย มันทำให้เราเริ่มตั้งคำถามด้วยว่าของพวกนี้มันออร์แกนิกจริงหรือเปล่า มันต้องผ่านนายหน้าไหมนะ เราไม่รู้ต้นตอของมันเลย เราก็เลยค่อยๆ หาไปเรื่อยๆ พอเริ่มรู้แหล่ง ก็เลยเริ่มได้คอนเนคชั่น” 

แจ๊สกี้ยอมรับว่า ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน การหาอาหารออร์แกนิกไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเธอเองเป็นเพียงวัยรุ่นคนหนึ่งที่กินอาหารทั่วไป ไม่ได้สนใจเรื่องสุขภาพด้วยซ้ำ แถมภาพของอาหารออร์แกนิกในตอนนั้นสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยก็ดูจะแพงแสนแพง

แต่หลังจากเริ่มศึกษาและมีโอกาสได้พบปะกับเกษตรกรอินทรีย์มากหน้าหลายตา ได้รับคำแนะนำมาเรื่อยๆ จากการค่อยๆ เปลี่ยนเพียงแค่วัตถุดิบหลักเพียงไม่กี่อย่าง แจ๊สกี้เริ่มมองว่าการลงทุนกับอาหารเหล่านี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า นี่จึงทำให้เธอเริ่มเปลี่ยนยาวไปถึงเครื่องปรุงแบบอินทรีย์ การลองอ่านฉลากก่อนซื้ออาหารต่างๆ และกลายเป็นการเปลี่ยนของใช้ในบ้านทุกอย่างให้สะอาดปลอดภัย

“ตอนแรกที่บ้านก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอกค่ะ อย่างแม่เราเขาก็จะมีวิถีชีวิตที่คุ้นเคยของเขาใช่มั้ย เราเลยต้องค่อยๆ อธิบายให้เขาเห็นว่าตอนที่เราเปลี่ยนเนี่ย มันได้ผลนะ เราไม่กินยาได้ เราใช้ชีวิตปกติได้เลย หรืออย่างสมัยพ่อแม่เด็กๆ เขาก็ใช้ของพวกนี้ที่ไม่มีเคมีกันไม่ใช่เหรอ แล้วบางทีแม่ก็แอบออกไปกินอาหารนอกบ้านนะ กลับมาก็จะบ่นว่าปวดตรงนู้น ตรงนี้ หรือเราซื้อน้ำยาล้างจานมา เขาก็จะบอกว่าสู้อันเก่าไม่ได้เลย แต่เขาก็ต้องทำกับข้าวให้เรากิน ต้องใช้ชีวิตกับเรา เขาก็เลยได้ซึมซับไปเอง จนมาบอกเราว่าไม่ปวดตัวแล้ว ไม่แสบมือแล้ว หลังๆ เขาก็สนุกเลย ทำน้ำยาล้างจาน ทำแชมพู สบู่ใช้เอง

“แล้วยิ่งพอจริงจังกับมันมากขึ้น เปลี่ยนทุกอย่าง มันเห็นผลชัดเจนมาก ถึงราคาอาหารอินทรีย์จะสูงกว่าอาหารทั่วไปหน่อย แต่เราก็คิดว่ามันไม่ได้แพงขนาดนั้นนะคะ ยิ่งถ้าเราได้ลองไปซื้อกับเกษตรกรโดยตรง ไปซื้อตามตลาดสีเขียวที่เขาไม่ต้องมาเสียค่านายหน้า มันคุ้มค่ากว่าการเสียค่ายา ค่าหมออีก แต่ก่อนเราเสียเงินเป็นแสนๆ ยาก็ต้องใช้ยานำเข้า แต่หลังๆ มาเราก็เริ่มค่อยๆ ลดยาได้ แล้วเราก็เริ่มบำบัดตัวเองเป็น ไม่ต้องพึ่งยาแล้ว”

ผู้บริโภคที่ได้เรียนรู้ สู่ผู้ผลิตที่เข้าใจเรื่องกินดี

เมื่อสุขภาพของเธอดีขึ้นเรื่อยๆ การไปเยี่ยมเยือนตลาดอินทรีย์จึงกลายเป็นอีกหนึ่งกิจวัตรประจำเดือน เธอเริ่มได้ทำความรู้จักกับเกษตรกรอินทรีย์มากมายในตลาดปันอยู่ปันกิน ตลาดสีเขียวที่เธอมักแวะไปอยู่บ่อยๆ จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการกินมากเข้า เธอจึงพบว่าในความเป็นจริงสินค้าในตลาดเหล่านี้ยังไม่ค่อยมีความหลากหลายนัก 

“จากการลงไปคลุกคลีอย่างจริงจัง เราพบว่าอาหารแปรรูปในตลาดอินทรีย์มีน้อยมาก เราเจอแต่ผักกับเนื้อสัตว์ หรือถ้ามีก็จะเป็นอาหารเพลนๆ แล้วภาพที่คนส่วนใหญ่เข้าใจสำหรับอาหารปรุงแล้วคือต้องหรู เป็นซูเปอร์ฟู้ด ต้องอยู่ในคาเฟ่ราคาแพง ซึ่งมันไม่ใช่ค่ะ อาหารออร์แกนิกก็คืออาหารธรรมดาทั่วไปที่เรากินนั่นแหละ อาจจะเป็นข้าวไข่เจียว ข้าวหมูทอด ผัดกะเพรา แต่เราเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่มาที่ดีเท่านั้นเองค่ะ เพราะคำว่าออร์แกนิกก็เพิ่งมามี แต่สมัยก่อน ยุคคุณทวดเรา หรือก่อนหน้าที่จะมีระบบอุตสาหกรรมมันก็คืออาหารมาจากธรรมชาติแค่นั้นเอง”

ด้วยเหตุนี้เธอจึงปิ๊งไอเดีย การทำอาหารง่ายๆ กินได้ทุกวันเข้ามาขายในตลาดปันอยู่ปันกิน จนได้รับการชักชวนให้ไปเป็นกรรมการตรวจผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกใบสมัคร ลงไปสำรวจฟาร์ม และตามไปดูกระบวนการผลิตของอาหารชนิดต่างๆ นอกจากนี้เธอยังได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ผู้ผลิตซึ่งรู้จักกันระหว่างที่เธอทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการของตลาดในการแนะนำแหล่งวัตถุดิบที่สะอาดปลอดภัยเพื่อนำมาพัฒนาแบรนด์ต่อด้วย

“เราไม่ได้ตั้งใจจะขายจริงจังหรอก คือแม่เราชอบทำกับข้าวอยู่แล้วค่ะ เราก็เลยถามแม่ว่าอยากจะทำอะไร เอาที่แม่แฮปปี้ที่จะขายเลย ด้วยความที่แม่เป็นคนอีสาน แม่ก็เลยบอกว่าแม่ทำปลาร้าบองได้มั้ย เพราะแม่คิดว่าแม่ทำอร่อย ตอนนั้นก็ขายแค่อย่างเดียวเลยค่ะ ไม่ได้คิดเลยว่าจะต้องมีอะไรมากกว่านี้เลยนอกจากคนกินเอากลับไปทานแล้วปลอดภัย

แรกเริ่มเราจึงได้เห็นปลาร้าบองแบบง่ายๆ ภายใต้ชื่อ ‘ปลาร้าบองบอง’ ก่อนที่เธอจะค่อยๆ ขยับขยายมาสู่ ‘Mumbo’ แบรนด์อาหารแปรรูป ทานง่าย ที่มีเมนูให้เลือกหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น น้ำพริกตาแดง น้ำพริกหมูมัลเบอร์รี่ สารพัดของดองหลากหลาย และเครื่องปรุงปลอดภัยทั้ง ข้าวคั่ว พริกป่น กระเทียมเจียว ที่แจ๊สกี้เคลมว่าแม้ตอนนี้จะยังเป็นแบรนด์ตัวจิ๋ว แต่เธอก็ตั้งใจผลิตอาหารง่ายๆ ด้วยฝีมือคุณแม่เพื่อเป็นทางเลือกให้เราได้กินอาหารสะอาดปลอดภัย

 “เราคิดว่ามันก็ดีนะ เพราะใครจะไปคิดว่าปลาร้าบองมันจะไปเป็นอาหารออร์แกนิกได้ แล้วมันก็มีรสชาติด้วย ไม่ใช่ผักอย่างเดียวเหมือนที่เราคุ้นเคยกัน ที่สำคัญมันเป็นอาหารกินง่าย คนเมืองส่วนใหญ่มีเวลาน้อย ไม่มีเวลาเตรียมอาหารเอง อาจจะแค่หุงข้าว ซื้อข้าวออร์แกนิกมาเก็บไว้ วันไหนที่คิดไม่ออกก็เอาน้ำพริกมาทาน หลังจากนั้นเราเลยเริ่มขยายไปทำพวกเครื่องปรุงต่างๆ น้ำพริกอีกหลายๆ แบบ เพื่อเป็นตัวช่วยให้อย่างน้อยถ้าเราไม่มีเวลาหุงข้าวจริงๆ ไปซื้อก๋วยเตี๋ยวกลับมา เอามาปรุงด้วยน้ำปลาอินทรีย์ของเรา แค่นี้มันก็ช่วยให้เรากินดีไปได้อีกนิดหนึ่งแล้วนะ” แจ๊สกี้เล่า

การขยับจากการเป็นผู้บริโภคมาเป็นผู้ผลิตอาจจะดูเป็นเรื่องยากไม่น้อย แต่เมื่อเราถามเธอถึงความท้าทายในการต่อยอดไปสู่ก้าวเล็กๆ ก้าวนี้ แจ๊สกี้ก็ตอบเราพร้อมรอยยิ้มแทบจะในทันทีเลยว่า ไม่มีอะไรยากเลย

“ทุกอย่างคือกิจวัตรประจำวันของเราค่ะ เมนูอาหารหรือของที่เราขายก็คืออาหารที่เราทำกินที่บ้าน แค่เปลี่ยนมาทำเยอะหน่อยเท่านั้นเอง ซึ่งเราไม่ได้ใส่ใจเฉพาะแค่เรื่องวัตถุดิบนะ แต่กระบวนการทำทุกอย่างเราก็ทำให้มันปลอดภัย เราเลือกใช้ขวดแก้ว เราเอาเศษอาหารไปทำปุ๋ย แล้วเราก็ใช้กระทะที่ไม่มีเทฟลอนเพื่อป้องกันสารเคมีจากตัวเคลือบด้วย”

กินให้ดี ดีที่เรา ดีที่โลก

นอกจากความปลอดภัยต่อตัวเราแล้ว แจ๊สกี้ยังพบว่าการใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากใครมีโอกาสได้ช่วยอุดหนุน Mumbo น่าจะรู้ว่าตอนนี้เธอยังช่วยลดราคาเล็กๆ น้อยๆ ให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการฉลากติดขวด เพื่อเป็นการช่วยลดทรัพยากรด้วย

“จริงๆ แล้วเราพยายามให้ทุกขั้นตอนมันใส่ใจสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วแหละ อะไรที่เกี่ยวกับออร์แกนิก หรือการกินอาหารยั่งยืน หัวใจของมันก็คือการรักษ์โลกอยู่แล้ว เพราะว่าเรากำลังสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกสิ่งที่เป็นวิถีธรรมชาติ แปลว่ามันจะไม่มีสารเคมีในดิน ในน้ำ แต่ถ้าเราสนับสนุนการกินที่ไม่ใช่ออร์แกนิก สารเคมีมันก็ยังตกค้างอยู่ในดิน มันไม่ไปไหนแล้วล่ะ ยิ่งถ้าเราไปปลูกพืชตรงนั้นอีก ถึงจะไม่ใช้สารเคมีแล้ว แต่สุดท้ายมันก็จะไปปนกันอยู่ดี มันทำลายโลก ทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากปัจจัยเรื่องอาหาร เราว่าสิ่งแวดล้อมมันก็สำคัญเหมือนกันนะ มันมาจากการกระทำของเราเองทั้งนั้น”

“การที่ผลิตภัณฑ์อาหารไม่ติดฉลากก็เป็นเรื่องยากเพราะต้องซื่อสัตย์กับลูกค้าจริงๆ ด้วยการระบุว่าอาหารที่เราทำมีวัตถุดิบอะไรบ้าง ดังนั้นบางทีมันก็เลยยังต้องใช้ฉลากอยู่ แต่ถ้าลูกค้าที่ซื้อกับเราประจำจนไว้ใจกันแล้ว ไม่เอาฉลากเราก็จะลดให้ค่ะ เพราะเท่ากับว่าเขาช่วยให้เราลดขยะไปได้อีกหนึ่งชิ้น เรารู้สึกดีนะที่เขาอยากจะช่วยสานต่อในสิ่งที่เราตั้งใจ เพราะความจริงการที่เขาสนับสนุนเรา มันก็เท่ากับว่าเขารักโลกอยู่แล้ว” แจ๊สกี้อธิบายถึงความตั้งใจของเธอ

เพราะถึงแม้ตอนแรกอาการป่วยจะนำพาเธอให้มารู้จักกับการกินดีก็จริง แต่เมื่อเธอศึกษาไปเรื่อยๆ เธอก็พบว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งอาหาร โลก และตัวเราล้วนสัมพันธ์กันหมด และเธอก็หวังด้วยว่าจากการเป็นตัวช่วยให้พวกเราได้กินอาหารดีๆ เธอจะสามารถก้าวออกไปอีกก้าว ผ่านการเป็นกระบอกเสียงในการเล่าเรื่องสิ่งที่เธอเคยผ่านมาและวิถีอินทรีย์อย่างง่ายๆ ให้กับเราที่อาจยังไม่ค่อยมีความเข้าใจเรื่องการกินดีนักให้มีความรู้ และสามารถเริ่มต้นได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่อยากส่งต่อในวันที่ยังไม่สายเกินไป

“เราอยากเป็นเสียงที่ใหญ่ขึ้น แชร์อะไรได้มากขึ้น อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการบริโภคอย่างยั่งยืน และสนับสนุนเกษตรอินทรีย์เพื่อให้เขาทำอะไรได้มากขึ้นค่ะ ผ่านเรื่องที่เราเอามาเล่าในเพจหรือเวลาเจอคนที่สนใจ อีกอย่างคือเราอยากช่วยคนเมือง เพราะเราก็อยู่ในเมืองนะ เราเข้าใจแหละว่ามันมีความยาก ด้วยวิถีชีวิต ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง แต่ถ้าทำได้ มันก็จะเป็นวงกลมที่คอยสนับสนุนกันไปเรื่อยๆ

“ตลาดอินทรีย์ในตอนนี้มันยังเป็นจุดที่เล็กมากๆ คนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้จัก เขาอาจจะเข้าไม่ถึงเกษตรกร ไม่ได้เข้าถึงสังคมในเฟซบุ๊กนะคะ เพราะเกษตรกรเขาก็ไม่ได้มีกำลังทรัพย์ในการโฆษณาหรอก ในอนาคตเราเลยหวังว่าเราจะสามารถทำที่ที่คนมานั่งทานอาหารดีๆ ได้ หรืออะไรที่มันง่ายกับคนเมืองมากกว่านี้ แต่ท้ายที่สุดคือเราอยากให้คนหันมาสนับสนุนเรื่องเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ใส่ใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น ดูฉลากกันมากขึ้น”

เธอยอมรับว่าเพราะอาการป่วยที่ผ่านมา ทำให้เธอพบว่าจริงๆ แล้วโรคภัยไข้เจ็บอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยใหญ่ที่สุดที่บั่นทอนร่างกายของคนเราคืออาหาร เพราะอาหารเป็นสิ่งที่อยู่กับเราทุกๆ วัน และทุกการกินที่ไม่ใส่ใจของเรานี่แหละ ที่กำลังค่อยๆ บั่นทอนสุขภาพจากเต็มร้อยให้ค่อยๆ ลบไปทีละนิด และสำหรับใครบางคนจากเต็มร้อยก็อาจจะกลายเป็นติดลบอย่างที่เธอเคยผ่านมา

หลายๆ คนน่าจะสงสัยว่าแล้วเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ในเมื่อเราอาจยังไม่สามารถจริงจังแบบที่เธอทำได้

“จริงๆ เราก็ไม่ได้เคร่งขนาดว่าถ้าออกไปทำงานหรือกินข้าวกับเพื่อนแล้วเราจะต้องกินแต่อาหารออร์แกนิกนะ เราก็กินอย่างอื่นได้ แต่เราอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจ หัดอ่านฉลากให้เป็นค่ะ เพราะว่าจะได้เข้าใจเบื้องลึกของมัน อยากให้ถามเยอะๆ เวลาไปซื้อของ จะได้เข้าใจด้วยว่าคนขายเขาเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า และจะได้เป็นแหล่งข้อมูลให้เราได้ด้วย เลือกของให้เป็นในวันไหนที่มีโอกาสทำอาหารกินเอง หรือในวันที่ไม่มีโอกาส ก็ลองเปลี่ยนอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่มันดีต่อตัวเราบ้างก็ได้ 

“สมมติถ้ายังติดขนมอยู่ ยังขาดขนมไม่ได้ ลองเปลี่ยนมาเพิ่มผักอินทรีย์ เพิ่มข้าวอินทรีย์ในมื้ออาหารแทนก่อน เพราะเราคิดว่าหัวใจสำคัญคือเราต้องแฮปปี้กับมันก่อน ถ้าทำแล้วเครียดมันก็ไม่ได้ผลหรอกค่ะ การหักดิบมันทำให้ยั่งยืนยาก เรามองว่าคนคนเดียวพยายามทำจนสุดทาง กับการที่คนหลายๆ คนทำที่ละเล็กละน้อย อย่างหลังมันได้ผลมากกว่า เช่น พอเราเข้าใจว่าการที่เราเพิ่มเงินสิบบาท ซื้อข้าวอินทรีย์ที่แพงกว่าหน่อย มันเป็นการช่วยชาวนาอินทรีย์ ช่วยโลกของเรา แล้วจากจุดนั้นเราค่อยๆ ขยายไปที่จุดอื่นๆ มันแฮปปี้กว่า ไม่ใช่แค่เราที่แฮปปี้นะคะ พอคนอื่นเห็นเขาก็รู้สึกดีไปด้วย อยากช่วยกันทำไปด้วย มันยั่งยืนมากกว่า” 

หลังจากเราได้คุยและทำความรู้จักกับเธอมากขึ้น เราจึงลองถามกับเธอเล่นๆ ว่า ถ้าหากวันนั้นไม่ได้เจอโรคร้ายที่ทำให้ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตขนาดนี้ เธอจะเป็นแจ๊สกี้ที่ใส่ใจเรื่องอาหารการกินอย่างที่เราเห็นวันนี้หรือเปล่า

“ถ้าไม่ได้เจอโรค อาจจะไม่ได้รู้จักเรื่องพวกนี้เร็วขนาดนี้หรอก แต่ก็รู้สึกขอบคุณนะคะ เพราะถ้าเราไม่ได้ไปเจอจุดต่ำสุดที่หมอบอกว่าเราไม่มีทางหาย หรือจะเป็นมะเร็งเนี่ย พูดตรงๆ เราก็คงไม่เปลี่ยนหรอก แต่เพราะว่าพอเริ่มเปลี่ยนแล้วมันเห็นผล เราเลยบอกพ่อแม่ บอกเพื่อนๆ ว่ามันเป็นเรื่องใหญ่นะ เราเลยยิ่งอยากบอกต่อให้คนอื่นได้เข้าใจเยอะๆ อยากให้เขาได้รู้จักเรื่องเหล่านี้ ก่อนที่จะมาป่วยแบบเราค่ะ” 

FB: www.facebook.com/mumborealfood

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง
ขอบคุณสถานที่ถ่ายภาพ: Broccoli Revolution ปากซอยสุขุมวิท 49
FB: www.facebook.com/broccolirevolution