เชื่อหรือไม่ว่า โลกนี้มีนางเงือกอยู่จริงๆ ไม่ได้มีแต่เพียงในนิยาย นางเงือกสาวที่เราคุ้นชินกับตำนานกันดีว่าเป็นตัวแทนแห่งท้องทะเล และปกป้องสรรพสัตว์น้ำทั้งหลาย ในยุคนี้ที่ใครๆ คงจะไม่ได้เชื่อตำนานที่เล่าขานกันมามากแล้ว แต่เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ เคท เนลสัน (Kate Nelson) สาวนักกีฬาทางน้ำชาวอเมริกัน ผู้เป็นกระบอกเสียงเพื่อการพิทักษ์ระบบนิเวศใต้น้ำ และใช้ชีวิตปลอดขยะพลาสติกมามากกว่า 12 ปี

เธอขนานนามตัวเองว่าเป็น ‘Plastic Free Mermaid’ ด้วยการเป็น Influencer ในโลกออนไลน์ประกอบการเขียนบล็อกของตัวเอง ที่คอยพูดถึงหลักความจริงทางวิทยาศาสตร์ของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมไปถึงความร้ายแรงของขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของตัวเอง

เคทหลงรักท้องทะเลเป็นอย่างมาก จึงพาตัวเองไปยังประเทศออสเตรเลีย และใช้เวลาอยู่กับทะเลส่วนใหญ่ไปกับการเล่นกระดานโต้คลื่น ดำน้ำอิสระ (Free-diving) ล่องเรือเพื่อค้นหาความสงบในทะเล สำรวจความความอัศจรรย์ของระบบนิเวศทางทะเลที่หลากหลาย และฝึกสมาธิเพื่อที่จะได้พบว่าทะเลนั้นมีพลังมหาศาลที่ช่วยในการบำบัดร่างกายและจิตใจ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ดูเหมือนว่าเคทคงจะมีความสุขกับการทำกิจกรรมต่างๆ ไปทุกวันโดยไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องอื่นใด เคทไม่เคยได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อท้องทะเลที่เธอรัก จนกระทั่งเมื่อ 12 ปีที่แล้วในช่วงที่เธอเรียน Environmental Philosophy อยู่ที่มหาวิทยาลัยในรัฐแคลิฟอร์เนีย เคทได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครให้กับนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งที่ Jean Michel Cousteau’s Ocean Futures Society

เธอได้เริ่มเรียนรู้และเข้าใจว่าพลาสติกนั้นไม่สามารถย่อยสลายไปได้ ถึงแม้จะมีการระบุไว้ว่าใช้เวลายาวนานหลายร้อยปีก็ตาม

แต่แท้จริงแล้วมันแตกออกเป็นเศษเล็กเศษน้อยนับล้าน (micro-plastics) กระจายอยู่ทุกแห่งหนไม่พ้นแหล่งน้ำธรรมชาติ มันทำให้เธอรู้สึกว้าวุ่นใจมาก เพราะแต่ก่อนนั้นเธอเองยังคงใช้พลาสติกอยู่ตลอดเวลาเหมือนกับคนอื่นรอบๆ ตัวเธอ โดยที่เธอไม่รู้เลยว่าเธอเองก็มีส่วนอย่างมากทำให้เกิดมลพิษในมหาสมุทร นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เคทตัดสินใจใช้ชีวิตอย่างไร้พลาสติกใช้แล้วทิ้งมาตั้งแต่วันนั้น จนถึงปัจจุบัน

“เมื่อได้รู้ว่าพลาสติกนั้นก่อปัญหาร้ายแรงต่อธรรมชาติ รวมไปถึงเหล่าจุลินทรีย์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ฉันก็นึกขึ้นได้ทันทีว่าที่ผ่านมาฉันใช้ชีวิตบนความสะดวกสบายมาตลอด กินตามใจตัวเองเสมอ หากอยากดื่มน้ำผลไม้ปั่นก็ไปแค่เดินไปซื้อจากร้านที่ใส่แก้วพลาสติกมาแล้วดื่มด้วยหลอดทันที เวลาจะไปออกกำลังกายฉันก็เอาแต่พกขวดน้ำพลาสติกขวดใหม่ไปทุกครั้ง หรือตอนที่ไปจ่ายตลาดก็ไม่เคยสนใจว่าจะต้องใส่ถุงพลาสติกกลับบ้าน ทั้งหมดนี้ทำให้ฉันเห็นว่าที่ผ่านมาพฤติกรรมการบริโภคของฉันนั้นดูเหมือนจะไม่ถูกต้อง”

เคทเริ่มต้นโครงการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาสนใจปัญหาขยะพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม ในยุคที่ยังไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก และถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มคนที่สนใจเรื่องนี้อยู่แล้วบ้างในขณะนั้น พวกเขามักจะใช้วิธีการสื่อสารที่รุนแรงไม่น่าฟัง ซึ่งอาจทำให้ปัญหาดูคล้ายว่าจะเป็นเรื่องที่มีแต่การตัดสินว่าเป็นสีขาวหรือสีดำเท่านั้น ไม่มีจุดตรงกลางที่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกันได้ เคทจึงผุดไอเดียโครงการไม่แสวงหาผลกำไรโครงการแรกกับเพื่อนๆ ของเธอโดยใช้ ‘นางเงือก’ มาเป็นตัวแทนการสื่อสารปัญหาในท้องทะเล

โครงการนี้มีชื่อว่า ‘Save the Mermaids’ เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะการอธิบายปัญหาของเธอนั้นน่าสนใจ และทำให้ผู้คนฟังแล้วอยากจะช่วยเหลือนางเงือกและเหล่าเพื่อนสรรพสัตว์น้ำทั้งหลายจากมลภาวะต่างๆ นอกจากนี้เคทยังได้พาโครงการนี้เข้าไปเจรจาต่อรองกับภาครัฐบาลท้องถิ่น องค์กรเอกชนนานาชาติ และโรงเรียนต่างๆ เกี่ยวกับความอันตรายของพลาสติกที่มีต่อทะเล เพื่อผลักดันให้เกิดการเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของประเทศขึ้นมาอีกด้วย

ในส่วนระดับผู้บริโภคที่เป็นปัจเจกบุคคลนั้น เคทไม่ได้คิดที่จะหยุดความเคลื่อนไหวทางสังคมในเรื่องของการเลิกใช้พลาสติกไว้กับตัวเธอเพียงคนเดียว เธอได้ชวนคนทั่วโลกที่เป็นผู้ติดตามของเธอ ให้ลองมาร่วมเปลี่ยนแปลงตัวเองไปด้วยกัน เคทมักจะเล่าเสมอว่าเธอนั้นให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและใจมาก ซึ่งการที่เธอดูแลตัวเองนั้นเหมือนเป็นการได้รักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย เพราะเธอเห็นว่าอาหารสดที่ไม่ปลอดภัย อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์ที่ขายตามท้องตลาดนั้น ล้วนแต่บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกแทบทั้งสิ้น เธอจึงยึดมั่นมาเสมอว่า เวลาจะทานอาหารอะไร หากเป็นไปได้เธอจะปลูกขึ้นมาเอง หรือซื้อวัตถุดิบอินทรีย์จากตลาด หรือร้านค้าที่ขายของตามปริมาณโดยเกษตรกรใกล้บ้าน จากนั้นก็ทำกินเองหรือใส่ปิ่นโตไปทานระหว่างวันเสมอ และเมื่อเธอต้องการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน เธอมักจะศึกษาสูตรการปรุงน้ำยาทำความสะอาดและทำเองเพื่อใช้ในบ้านของเธอ เช่น สเปรย์ทำความสะอาดจากน้ำสมสายชู ผสมเปลือกส้ม หรือเปลือกมะนาว เป็นต้น

“การที่ฉันตั้งมั่นว่าจะหยุดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวโดยสิ้นเชิง เป็นอีกวีธีหนึ่งที่ช่วยให้ฉันสามารถรักษาสุขภาพได้ง่ายขึ้น”

“จริงๆ ฉันก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่บางครั้งอยากจะกินมันฝรั่งทอดกรอบบ้าง แต่ทำอย่างไรได้ในเมื่อมันมากับบรรจุภัณฑ์พลาสติก ฉันเลยกลับบ้านไปอบมันฝรั่งในแบบฉบับเพื่อสุขภาพของฉันเองแทน เพื่อแก้ความอยากกินขนมไม่มีประโยชน์ในครั้งนั้น”

การที่เคทได้แสดงให้คนทั่วไปได้เห็นเป็นตัวอย่างในทุกๆ วันผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย และแบ่งปันสูตรการทำอาหาร ทำสิ่งของและเครื่องใช้ในฉบับของตัวเองมา ทำให้ปัจจุบันเธอมีผู้ติดตามมากกว่า 1 แสนคน มีบทความนานาชาติ รวมไปถึงรายการ Podcast ติดต่อมาพูดคุย หรือแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจสำหรับการดำเนินชีวิตไร้พลาสติกอยู่บ่อยครั้ง และล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้เอง เคทก็ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกของตัวเอง ซึ่งมีชื่อว่า ‘I Quit Plastics’ เป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และประสบการณ์การใช้ชีวิตไร้พลาสติกของเคทมาตลอด 12 ปี เป็นคู่มือที่สร้างแรงบันดาลใจ และมีแนวทางการใช้งานได้จริงในการลดการใช้พลาสติกที่ใครๆ ก็ทำได้ ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม

มาถึงตรงนี้แล้วคงจะต้องบอกออกไปว่า นางเงือกนั้นมีจริง และเคทก็เป็นนางเงือกที่ต่อสู้เพื่อปกป้องแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อความอยู่รอดของความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์ และรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

ที่มาข้อมูล
www.iquitplastics.com
www.theseea.com
www.ocean-impact.org
www.youtube.com

ภาพประกอบ: Paperis