เมื่อพูดถึง ‘ตลาด’ เราล้วนคุ้นเคยกันดี ทั้งบรรยากาศ อาหารการกิน และความคึกคักของผู้คนที่เข้ามาแลกเปลี่ยนทั้งวัตถุดิบและบทสนทนาระหว่างกัน ไม่ว่าจะตลาดเช้า ตลาดเย็น หรือตลาดสด ก็เป็นพื้นที่ที่มีสีสันน่าสนใจ และในบรรดาตลาดทั้งหลาย ‘ข่วงเกษตรอินทรีย์’ ตลาดขายวัตถุดิบอาหารปลอดภัยในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ยืนระยะมากว่า 10 ปี ย่อมเป็นชื่อที่คนรักอาหาร โดยเฉพาะอาหารปลอดสารพิษและอาหารตามฤดูกาล ต่างคุ้นหูและได้รับการยอมรับทั้งในมิติของคุณภาพและแนวทางการพัฒนาเกษตรปลอดภัยจนเป็นโมเดลให้อีกหลายที่ จุดเริ่มต้นของข่วงเกษตรอินทรีย์ เกิดขึ้นผ่านการตั้งคำถามต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรรายย่อย ที่ต้องเผชิญกับทั้งภาระหนี้สินและปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ว่าจะร่วมหาทางออกจากเขาวงกตนี้ได้อย่างไร

และทางออกก็ฉายชัด เมื่อสถาบันชุมชนเกษตรยั่งยืน (ISAC) ซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เกิดแนวคิดสร้างพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนอาหารปลอดภัยขึ้น จนกลายเป็น ‘ข่วง’ ที่แปลว่าล้านกว้างสำหรับทำกิจกรรมในภาษาล้านนา กระทั่งต่อยอดกลายเป็นจุดรวมตัวของคนกินดีอยู่ดีแห่งใหญ่ในเชียงใหม่

จุดเด่นของข่วงเกษตรอินทรีย์อยู่ตรงการรวบรวมวัตถุดิบจากชุมชน ซึ่งเริ่มจากวัตถุดิบเหลือกินเหลือใช้มากกว่าการทำเกษตรเพื่อขายสู่ตลาด วัตถุดิบส่วนมากจึงเป็นวัตถุดิบตามฤดูกาล สดใหม่ และปลอดสารพิษ มากกว่านั้น เมื่อข่วงเกษตรอินทรีย์เริ่มกลายเป็นที่รู้จักในแวดวงตลาดอาหารปลอดภัย กิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้จึงมีความหลากหลายขึ้นตามกัน ทั้งการจัดเวิร์กช็อปเรียนรู้การทำอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารท้องถิ่น รวมถึงการเรียนรู้วิถีการดูแลสุขภาพทางเลือก จนเรียกว่าข่วงเกษตรอินทรีย์ได้กลายเป็นพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตก็ว่าได้

นอกจากบรรดาวัตถุดิบสดใหม่ ในส่วนของระบบการจัดการของข่วงเกษตรอินทรีย์เองก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะมาตฐานการคัดสรรสินค้าคุณภาพของตลาดแห่งนี้ลงลึกถึงระดับชุมชน ผ่านหลักการว่าเกษตรกรต้องมีเป้าหมายในการลด ละ เลิกใช้สารเคมีอย่างจริงจัง และบริหารจัดการพื้นที่สวนของตัวเองอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งมอบสินค้าเกษตรคุณภาพเยี่ยมสู่ผู้บริโภค มากไปกว่านั้น ข่วงเกษตรอินทรีย์ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง เพราะแน่นอนว่าเมื่อมีตลาดรองรับ เกษตรกรรายย่อยย่อมมีโอกาสในการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้คล่องตัวและดีกว่าเดิม

ข้อพิสูจน์ความสำเร็จของข่วงเกษตรอินทรีย์ จังหวัดเชียงใหม่ อาจประเมินได้จากหลาย ๆ มิติ ทั้งจำนวนของร้านค้าในข่วงเกษตรอินทรีย์ที่ยืนระยะต่อเนื่องจนมีลูกค้าประจำทั้งร้านอาหารชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่และคนรักอาหารปลอดภัยชาวล้านนา และนั่นเท่ากับว่ายิ่งเครือข่ายร้านเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ จำนวนเกษตรกรที่เลิกใช้สารเคมีย่อมมากขึ้นเท่านั้น และการเป็นโมเดลการเรียนรู้เรื่องการจัดการตลาดเขียวให้กับอีกหลายตลาด โดยเฉพาะการจัดการตลาดในภาวะวิกฤติโรคระบาด ผ่านการเปลี่ยนมาขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งตรงถึงผู้บริโภค เพื่อพยุงบรรดาเครือข่ายเกษตรกรให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ด้วยดี และเมื่อวิกฤติผ่านพ้น ในวันนี้ข่วงเกษตรอินทรีย์ จังหวัดเชียงใหม่ ก็กลายเป็นพื้นที่ผ่านบทพิสูจน์ในหลายด้านจนได้รับการยอมรับอย่างไม่มีข้อสงสัย

พูดได้ว่า ‘ตลาด’ จึงไม่ใช่เพียงพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้า ทว่ามีความหมายกว้างกว่านั้น โดยเฉพาะ ‘ตลาดเขียว’ อย่างข่วงเกษตรอินทรีย์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นเหมือนพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของทั้งเกษตรกรรายย่อยและคุณภาพชีวิตของผู้คนที่แวะเวียนมาใช้บริการ กระทั่งกลายเป็นคอมมิวนิตีสีเขียวที่ทุกคนมอบใจให้

ติดตามข่วงเกษตรอินทรีย์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ผ่านทาง : www.facebook.com/khuangkasetinsee.chiangmai