มาโรงเรียนแต่เช้า แล้วเราจะพาไปเดินตลาด…

นี่ไม่ใช่การเชิญที่ชวนให้งงแต่อย่างใด เพราะเราจะพาคุณไปเดินตลาดกันจริง ๆ และ “ตลาดคุณปู่” ที่เรากำลังชวนไปคราวนี้ อยู่ที่หอศิลป์ไม้ไผ่ สถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกับโรงเรียนรุ่งอรุณในย่านพระราม 2 นี่เอง

ทุก ๆ เช้าตรู่ บรรดาพี่ ๆ ผู้ค้าในตลาดคุณปู่ จะนำผลผลิตและสินค้าที่เป็นอาหารการกิน มาจัดเตรียมรอลูกค้าตัวน้อยกันก่อนเวลาโรงเรียนเริ่ม เมื่อถึงเวลาตลาดเปิด 7 โมงเช้า ลูกค้าขาประจำที่มีตั้งแต่ชั้นประถม ไล่ไปจนมอต้น มอปลาย จะพากันออกมาจ่ายตลาด เพื่อเลือกซื้อและนำวัตถุดิบปลอดสารเหล่านี้ไปปรุงเป็นอาหารกลางวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาเรียนของเด็กนักเรียนรุ่งอรุณ เสียงเจื้อยแจ้วของลูกค้าที่ซักถามถึงวิธีกินวิธีปรุง และคำแนะนำแบบไม่มีกั๊กจากพี่คนขาย บางครั้งก็เกิดเป็นเมนูใหม่ ๆ ที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากตลาดแห่งนี้

ไม่ได้มีแต่เพียงเด็ก ๆ เท่านั้นที่เป็นลูกค้าขาประจำ เพราะทั้งครู พนักงาน ผู้ปกครองนักเรียน และชุมชนใกล้ ๆ สถาบัน ก็ได้อาศัยตลาดแห่งนี้จับจ่ายสินค้าคุณภาพดีราคาเป็นมิตร และยังเป็นห้องเรียนอาชีพของนักศึกษาสำนักการประกอบการสังคม สถาบันอาศรมศิลป์ และนักเรียนจากโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย หรือ ‘ลูกยักษ์’ ของอาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร แห่งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องด้วย

เอื้อมพร ลอยประดิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง เล่าให้เราฟังว่า ตลาดคุณปู่ เกิดขึ้นจากการที่อาศรมศิลป์จะทำหอระพีพิพิธ หอที่ระลึกถึงศาสตราจารย์ระพี สาคริก อดีตนายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ผู้ให้หลักคิดแก่สถาบัน ทั้งยังเป็นอาจารย์ของอาจารย์ยักษ์และ รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณด้วย

ระพีพิพิธ พิพิธภัณฑ์ที่ร้อยเรียงชีวิตและหลักคิดของ “คุณปู่ระพี” หรือ “คุณพ่อระพี” ที่ลูกศิษย์เรียกขานมาบอกเล่าผ่านการทำงานในด้านต่าง ๆ ซึ่งในส่วนหนึ่งนั้นมีเรื่องการศึกษา การเกษตร เรื่องข้าว และอาหารปลอดภัยอยู่ด้วย ตลาดซึ่งเป็นพื้นฐานของการกินการอยู่ จึงเชื่อมโยงมาจากพิพิธภัณฑ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ตลาดคุณปู่คือความคิดของอาจารย์ระพีที่ยังมีชีวิต โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายผลิตอาหารปลอดภัยของอาจารย์ยักษ์ และโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ศูนย์การเรียนรู้ที่มีพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยอยู่ในเครือข่ายด้วย

“เราจึงอยากนำสิ่งนี้มาให้เด็ก ๆ เด็กควรได้กินข้าวที่ดี อาหารปลอดสาร สอดคล้องกับที่อาจารย์ประภาภัทรทำในโรงเรียนรุ่งอรุณ คือให้เด็กเข้าใจที่มาของอาหาร ได้สัมผัสกับชุมชนผู้ผลิตอาหาร มีกระบวนการคิดตัดสินใจในการเลือกอาหารของตัวเอง ปรุงอาหารกินเอง เด็กรุ่งอรุณจึงมีวิชาที่ต้องปรุงอาหารกินเองในมื้อกลางวัน”

ตลาดคุณปู่จัดพื้นที่ออกเป็นสามโซน หอศิลป์ไม้ไผ่ หรือ “ประตู” ของอาศรมศิลป์ คือส่วนที่ผู้ค้านำวัตถุดิบปลอดสารจากผู้ผลิตอินทรีย์ และอาหารพร้อมกินที่ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบที่รู้แหล่งที่มาจากคนในชุมชนใกล้เคียงและผู้ปกครองของเด็กรุ่งอรุณ ส่วนที่อยู่ลานใต้ร่มไม้ เป็นร้านกาแฟ “ลูกยักษ์” ของนักศึกษาวิชาผู้ประกอบการสังคมที่สืบทอดกิจการจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง โดยมีร้านนี้เป็นห้องเรียนของหลักสูตร ที่ฝึกฝนวิชาผ่านประสบการณ์ทำงานจริง ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ การตลาดเพื่อสังคม การสร้างเนื้อหาในการโปรโมตตลาด ฯลฯ ในขณะที่ใกล้กันก็มีร้านค้าของพ่อแม่เด็กโรงเรียนปูทะเลย์ฯ ซึ่งเป็นศิษย์ของปูทะเลย์เช่นกัน ซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาออกร้าน เพื่อนำผลผลิตดี ๆ มาสู่มือคนในเมือง และได้แบ่งปันความรู้กันด้วย

“ลูกเราเรียนที่นี่ ส่วนเราก็เปลี่ยนวิถีจากมนุษย์เงินเดือนไปพัฒนาพื้นที่เพื่อพัฒนาตนเอง เราไปฟื้นฟูที่ดินตัวเองที่ต่างจังหวัด ปลูกพืชผักผลไม้แล้วนำผลผลิตมาแบ่งปันมาจำหน่ายที่นี่ และให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนด้วย ส่วนลูกสาวกับลูกชายที่เรียนอยู่ปูทะเลย์ก็มาช่วยงานสื่อในตลาดคุณปู่” เกศแก้ว ทิวาเวช แห่งศูนย์เรียนรู้ปูทะเลย์หนองน้ำแดง ปากช่อง เล่าให้ฟังถึงที่มาของกล้วยแปรรูปและผลไม้ที่นำมาขาย

น้ำผักปั่นสด ๆ ถูกยื่นมาให้เราชิมจากร้านข้าง ๆ เป็นผลผลิตจากสวนวรินทร์ณิชาจากลพบุรี กันย์สินี วรินทร์ณิชา คือเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพไร่นาสวนผสมของจังหวัดลพบุรี เธอเป็นทั้งลูกศิษย์ปูทะเลย์และเป็นแม่ของน้องนักเรียนปูทะเลย์เช่นกัน

“เราไปสร้างฐานที่จังหวัดลพบุรี ที่นั่นมีสาขาของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง และเอาความรู้เรื่องการแปรรูป การทำสบู่ ยาสระผม น้ำยาซักผ้า ไปสอนอยู่ที่นั่น เราทำเองใช้เองตั้งแต่หัวจรดเท้า” น้ำยาที่ว่าบรรจุอยู่ในแกลลอนด้านหน้า เธอชี้ให้ดูขณะที่กำลังปั่นน้ำผักโถใหม่ ซึ่งมีผักกระสัง วอเตอร์เครส ดอกอัญชัน ใบอ่อมแซบ สะระแหน่ ผักแว่น และไซรัปกล้วยหมัก เป็นส่วนผสมกลมกล่อม “กินแบบนี้ทำให้ได้วิตามินหลากหลาย และร่างกายดูดซึมได้ทันที ทานบ่อย ๆ จะทำให้ระบบขับถ่ายดี เราใส่ไซรัปกล้วยเพื่อให้มีรสชาติกลมกล่อม เพราะผักมีความเฝื่อน จะกินให้มีประโยชน์ก็ต้องอร่อยด้วย”

ตลาดคุณปู่ ยึดหลัก 4P Plus เป็นหลัก นั่นคือ Product ที่รู้ที่มาของผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์และผลิตด้วยความตั้งใจ เพาะปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ไม่ทำลายป่า ผู้ผลิตและร้านค้าต่าง ๆ มีเรื่องราวที่พาให้เราได้เห็นถึงที่มาที่ไปของอาหาร ซึ่งกำลังทยอยเผยแพร่ผ่านรายการ ‘๑๐๑ ๗ ย่านน้ำ’ บนเพจตลาดคุณปู่เพื่อให้ผู้ซื้อได้รู้จักผู้ผลิตหรือผู้ปรุงกันถึงแหล่ง

P ที่สอง คือ Price ที่มีแนวทางตั้งราคาอยู่ 5 ข้อ คือราคาแล้วแต่ใจไม่บังคับ เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อตั้งราคาเอง โดยประเมินจากคุณภาพและความประทับใจ ซึ่งร้านจะแสดงราคาต้นทุนเอาไว้ให้, ราคาตลาด ตลาดทั่วไปขายเท่าไรก็ขายราคานั้น, ราคาเท่าทุน เป็นราคาเหมือนซื้อมาฝากเพื่อน, ราคาต่ำกว่าทุน เป็นราคาตามหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ Our Loss, Our Gain, และราคาให้ฟรี เพื่อฝึกจิตในการแบ่งปัน

P ที่สาม คือ Place มีทั้งการขายแบบออนไซต์เพื่อเอื้อให้เกิดความสะดวกสบาย ขายแบบออนไลน์ที่คนติดตามซื้อได้เมื่อถูกใจในคุณค่าของสินค้า และ P สุดท้ายคือ Promotion ที่ผิดไปจากทฤษฎีการตลาดทั่วไปเพราะที่นี่ไม่ใช้การลดแลกแจกแถม หากแต่เป็นการจัดเวิร์กช็อปหรือกิจกรรมเพื่อแจกจ่ายข้อมูลกัน

ส่วน Plus ที่เพิ่มเข้ามานั้น อาจารย์นุ้ยอธิบายว่า “มิติหนึ่งที่ตลาดคุณปู่มีไม่เหมือนที่อื่น คืออาจารย์ยักษ์ได้ให้ไดเร็กชั่นเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เราจึงเป็น 4P Plus ที่บวกเรื่องความกตัญญูรู้คุณ กับความสงบและความพอในใจเข้าไว้ด้วย เชื่อไหมว่าคนในตลาดก็เปลี่ยนเพราะกระบวนการนี้เหมือนกัน เพราะเมื่อสังคมดี เขาจะไม่อยากแข่งขันกัน เขาอยากมาเจอเพื่อน มาเพราะกลัวเด็ก ๆ ไม่มีอะไรกิน ไม่ได้คาดหวังในตัวเงิน และอยากจะให้เด็กได้กินแต่อาหารที่ดี”

ความปรารถนาดีที่มีต่อเด็กจะถูกปักลงในหัวใจ และเป็นมาตรฐานที่ผู้ค้าพัฒนาเพื่อสร้างมาตรฐานในการอยู่ร่วมกัน โดยมีกระบวนการที่ถอดแบบมาจากปูทะเลย์ นั่นคือการทำสภา ที่การจะรับคนเข้ามาในชุมชนตลาดจะต้องผ่านฉันทามติเป็นเสียงเอกฉันท์ มีการตรวจสอบดูแลกันเอง และมีวงสาธิตผ่านการทำเวิร์กช็อปในตลาด เพื่อให้แสดงให้เห็นกระบวนการผลิต อย่างเวิร์กช็อปทำเทมเป้ที่เกิดขึ้นในวันที่เราไปเยือน ก็เป็นหนึ่งวงสาธิตที่เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ ของชาวตลาดคุณปู่

ที่นี่เป็น Learning Space ของทุกคน ทั้งเด็ก ๆ พ่อค้าแม่ค้า ผู้ปกครอง และคนในละแวกชุมชน

“ที่นี่เป็น Learning Space ของทุกคน ทั้งเด็ก ๆ พ่อค้าแม่ค้า ผู้ปกครอง และคนในละแวกชุมชน วัตถุดิบในตลาดจะมีร้านที่ขายอาหารสำเร็จรูปนำไปปรุงต่อเพื่อเอามาขายในวันรุ่งขึ้น เกิดการเรียนรู้ว่าจะทำยังไงกับผลผลิต หรืออย่างเรื่องข้าว อาจารย์ระพีทำงานเรื่องอนุรักษ์พันธุกรรมข้าว และส่งเสริมให้เกษตรกรยืนได้ด้วยตัวเอง เราจึงมีข้าวสีสด ที่สีสดไม่เกินหนึ่งเดือนจากโรงสีที่มาบเอื้องมาให้เด็กกิน ซึ่งเป็นข้าวที่คงคุณค่าสารอาหารไว้ได้มากที่สุด และเป็นข้าวที่ปูทะเลย์ปลูกไว้ในนาที่ปราจีนบุรี และพ่อแม่ของเด็กที่ปลูกเขาก็เอามาด้วย

เด็กเป็นอนาคตของประเทศ เราเชื่อว่าถ้าเขาได้กินของดี ๆ เติบโตขึ้นอย่างดี เขาจะเป็นกำลังสำคัญของอนาคต

“เด็กเป็นอนาคตของประเทศ เราเชื่อว่าถ้าเขาได้กินของดี ๆ เติบโตขึ้นอย่างดี เขาจะเป็นกำลังสำคัญของอนาคต และเราตั้งใจให้ตลาดคุณปู่เป็นโมเดลให้ชุมชนอื่น ๆ ปลูกข้าวที่ดีให้ลูกกินเหมือนเราบ้าง ซึ่งเรากำลังนำโมเดลนี้ขับเคลื่อนไปยังโรงเรียน สพฐ.ในต่างจังหวัดด้วย มีโรงเรียนนำร่องที่นำไปทำเป็นหลักสูตรในโรงเรียน โดยตลาดคุณปู่จะเป็นฟันเฟืองพลิกโครงสร้างการเรียนการสอน ร่วมกับรุ่งอรุณ มหาวิทยาลัย ครอบครัวและชุมชน” อาจารย์นุ้ยเล่าถึงโมเดลตลาดคุณปู่ที่จะถูกนำไปขยายผลต่อ

นอกจากข้าวดี ๆ ที่สีสดแล้ว วัตถุดิบที่มีความปลอดภัยเป็นพื้นฐานสำคัญคือองค์ประกอบของตลาด ที่ร้าน “ใจดี ออร์แกนิก เฮาส์” มีผลผลิตจากเกษตรกรอินทรีย์จากหลายแหล่งปลูก เกี้ย-ดุลยวัฒน์ ปาปะกัง เล่าว่า ครอบครัวของเขาเริ่มต้นจากพ่อทำสวนเกษตรอินทรีย์ที่ทองผาภูมิชื่อมารวยฟาร์ม ส่วนเขากับแม่ที่อยู่กรุงเทพฯ ทำร้านนี้เพื่อจำหน่ายผลผลิตของพ่อ และรวบรวมสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่บางรายมีตราออร์แกนิกไทยแลนด์รับประกัน บางรายเป็นเกษตรอินทรีย์ในเครือข่ายพีจีเอส ถึงอย่างนั้น ท้ายที่สุดเขาได้เข้าไปดูถึงแหล่งผลิตจนมั่นใจมาจำหน่ายต่อ เช่น มะพร้าวของลุงวิทยา ผักจากแม่ทา เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผักผลไม้ตามฤดูกาล

หรือพืชผักจากเซฟติสท์ฟาร์ม เกษตรกรอินทรีย์รุ่นใหม่ที่ทำฟาร์มพึ่งตนเองที่ริมคลองบางมด ที่นอกจากทำตะกร้าผักส่งให้กับสมาชิกละแวกชุมชน ก็ได้นำผลผลิตจากแปลงมาจำหน่ายที่นี่เช่นกัน รวมถึง Plenti Farm สวนเกษตรอินทรีย์จากนครปฐมและเชียงราย ที่เชื่อในการทำผลิตในแนวทางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมว่ายั่งยืนกว่าการเกษตรเชิงธุรกิจที่ใช้สารเคมี

ส่วนวัตถุดิบอาหารทะเลสดในตลาด ไม่ว่าปลา กุ้ง หรืออะไรก็ตามที่ชาวประมงเรือเล็กจับได้ จะถูกนำขึ้นที่สะพานปลาแม่กลอง และส่งต่อไปยังแพปลาของ เป็ด-อุทัยวรรณ บุญประสิทธิ์ ซึ่งอยู่ในชุมชนทันที โดยไม่มีการใช้สารใด ๆ เพื่อรักษาสภาพความสด โดยแพปลานี้เป็นแพของสหกรณ์ที่จะมีการตรวจสอบความปลอดภัยกำกับอยู่ นอกจากขายวัตถุดิบทะเลสด เป็ดยังมีอาหารปรุงสำเร็จจากวัตถุดิบตัวเองเป็นหลักและวัตถุดิบจากร้านค้าในตลาดให้เราได้ชิมรสมือกันแบบทันใจด้วย

และถ้าใครชอบกินลูกชิ้นปลา เราอยากบอกว่าเมื่อไปถึงตลาดคุณปู่แล้วให้ตรงดิ่งไปที่ร้าน Cloud 9 Kitchen ทันที เพราะถ้าช้าอาจไม่ทันการ ชญานุช สกลนุรักษ์ เจ้าของลูกชิ้นปลานึ่งปลอดสาร เริ่มต้นจากทำลูกชิ้นให้ลูกกิน ได้นำฝีมือการทำลูกชิ้นมาจำหน่ายด้วย “ลูกเราชอบกิน แต่เราไม่แน่ใจว่าลูกชิ้นในตลาดเขาใส่อะไรบ้างเพื่อให้เนื้อเด้งกรอบและอยู่ได้นาน เราเลยทำเอง ไม่ใส่สารแต่งรสอะไรนอกจากเกลือ รสหวานได้จากเนื้อปลาธรรมชาติ ซึ่งเป็นปลาทะเลจากสมุทรสงคราม เป็นแพปลาของเพื่อนที่ไม่แช่น้ำยาหรือฟอร์มาลีน จะได้ปลาตามฤดูกาลอย่างปลาหางเหลือง ปลาเสือตอ ปลาน้ำดอกไม้ ความเด้งของลูกชิ้นมาจากกรรมวิธีการตีเนื้อปลา ที่ใช้เป็นเนื้อปลาล้วน ๆ ตีให้ขึ้นฟูเป็นลูกชิ้น”

เพราะนอกจากเด็ก ๆ รุ่งอรุณที่เน้นซื้อวัตถุดิบปรุงอาหาร ลูกค้าของตลาดคุณปู่ยังมีผู้ปกครอง คนในชุมชน และพนักงานบริษัทละแวกใกล้ อาหารปรุงสำเร็จจึงพร้อมเสิร์ฟอยู่อีกหลายร้าน เช่น ‘ร้าน Happy Taste’ เสิร์ฟรสมือแม่ผ่านมือลูก ของเสาวนีย์ พงศ์จิราธเนศ ที่ปรุงกับข้าวรสชาติดั้งเดิม ร้านขนมไทย “แวะเติมหวาน” มีข้าวเหนียวมูนหน้าต่าง ๆ เป็นของเด็ด ร้าน “กับข้าวบ้านแม่” เน้นเมนูกับข้าวโบราณและขนมไทยเป็นหลัก ร้านโจ๊กของป้าแอ๋ว กชมน วิจิตรบุปผชาติ ที่มีปาท่องโก๋เท็กเจอร์ดีต่อใจ บางวันก็มีก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น กระเพาะปลา มาสลับไม่ให้เบื่อ

“เฉาก๊วยกวนสดคือเฉาก๊วยที่เราต้มเอง ใช้แป้งท้าวยายม่อมนิดหน่อยเพื่อให้ขึ้นเงา ความเหนียวได้จากส่วนก้านของเฉาก๊วย สีดำได้จากใบ ความที่เราไม่ได้ใส่แป้งเยอะเลยทำให้เนื้อสัมผัสนิ่มเหมือนเต้าฮวย จะไม่คงตัวหรือเคี้ยวหนึบเหมือนเฉาก๊วยทั่วไป” แก้ว-กฤศกร ปัญญาลักษณ์ ผู้ต้องใช้เวลาในการกวนเฉาก๊วยทั้งนานทั้งวัน ก่อนจะทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วตัดมาขายในวันรุ่งขึ้น เล่าให้ฟังถึงกรรมวิธีที่ให้ได้มาซึ่งเฉาก๊วย เสิร์ฟพร้อมน้ำตาลอ้อยออร์แกนิกและไซรัปใบเตย

และถ้าใครชอบอาหารดีต่อสุขภาพอย่างเทมเป้ ที่ร้าน “คุ้นลิ้น” มีเทมเป้ถั่วเหลืองสดรออยู่พร้อมกับขนมจีบต้มปั้นสด อยู่ติดกันคือร้านเต้าหู้ทำเองของ จารุณี จารุรัตนวารี แห่ง “ปป มาร์ท” อีกหนึ่งผู้ปกครองของนักเรียนรุ่งอรุณ นำเต้าหู้และฟองเต้าหู้สดสูตรครอบครัวที่ทำแบบวันต่อวันมาให้เราชิม ส่วนร้านแทนคุณ ออร์แกนิก ฟาร์ม ที่เรามักพบเขาบ่อย ๆ จนคุ้นเคยในตลาดอาหารปลอดภัย ก็มาประจำการเสิร์ฟอาหารดี ๆ และวัตถุดิบปลอดภัยจากฟาร์มให้กับเด็ก ๆ ด้วย

ตลาดคุณปู่เปิดถึงเที่ยง แต่สักสิบเอ็ดโมงตลาดจะเริ่มวายเพราะของร่อยหรอ ถ้ายังซื้อได้ไม่จุใจพอ หรือยังมีของที่ครัวยังต้องการอยู่ เราแนะนำว่าให้เดินเข้าไปที่ใจบ้านของสถาบันอาศรมศิลป์ และเป็นที่ตั้งของหอระพีพิพิธ พิพิธภัณฑ์ศาตราจารย์ระพี สาคริก ซึ่งเปิดให้เข้าชมแล้ว ที่ชั้นล่างมีร้านจำหน่ายสินค้าของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ทั้งข้าวสีสด อาหารทะเลจากประมงพื้นบ้าน น้ำตาลมะพร้าว น้ำปลาบ้านชนะชล ยาสมุนไพรออร์แกนิกพรรณา ฯลฯ และ refill station ของน้ำยาออร์แกนิกต่าง ๆ ให้เราได้ซื้อกลับไปด้วย แถมยังเปิดจนถึงเวลาปิดทำการของสถาบัน

ตลาดคุณปู่ที่เราใช้เวลาอยู่นานในวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงตลาดที่ทำให้เด็กได้รู้จักอาหารที่เขากิน ได้รู้วิธีการปรุง การคำนวณวัตถุดิบในการปรุง รวมไปถึงคำนวณค่าใช้จ่ายในแต่ละมื้อ แต่เด็กยังเป็นกำลังใจให้กับผู้สร้างสถานที่นี้ในการพัฒนาตลาดต่อ

ส่วนเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ ก็พลอยได้เรียนรู้เรื่องอาหารการกินซึ่งบางเรื่องก็เป็นสิ่งใหม่ ผ่านมิตรภาพใหม่ ๆ จากร้านค้าต่าง ๆ ที่ชวนเราพูดคุยด้วยจนเวลาหมดไปอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ก่อนมาก็คำนวณเอาไว้ว่าเหลือเฟือ
คราวหน้ามาด้วยกันสิ มาโรงเรียนกันแต่เช้า (กว่าเดิมอีกหน่อย) แล้วเดินเข้าตลาดไปด้วยกัน

ภาพ : ศรัณย์ แสงน้ำเพชร, ตลาดคุณปู่