‘กล้วย’ คือพืชสารพัดประโยชน์ที่คนไทยคุ้นเคยกันมาตั้งแต่อดีต ทั้งเป็นอาหารและเป็นวัสดุที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ขนมไทยนานาชนิดมีส่วนผสมของกล้วยสุก และอาหารไทยหลากหลายอย่างก็มีใบตองเป็นภาชนะสำคัญ แต่กล้วยเป็นได้มากกว่านั้นในวันนี้ เมื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมมองเห็นประโยชน์ของกล้วยในอีกหลายรูปแบบ จนเกิดผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลกแบบ ‘กล้วยกล้วย’ โดยมีจุดมุ่งหมายในการช่วยโลกลดขยะพลาสติกแบบง่ายๆ

ในออสเตรเลีย นักวิจัยจาก University of New South Wales (UNSW) เกิดไอเดียในการนำเส้นใยจากต้นกล้วยมาผลิตเป็นสารตั้งต้นบรรจุภัณฑ์ทดแทนพลาสติก โดยระบุว่าต้นกล้วยนั้นมีปริมาณเซลลูโลส (Cellulose) เยอะกว่าพืชชนิดอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นพืชล้มลุก ปลูกง่าย ทว่ามีส่วนที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์น้อยมาก งานวิจัยชิ้นนี้จึงทดลองสกัดเส้นใยจากกล้วยออกมาเป็นสารตั้งต้นความยืดหยุ่นสูงซึ่งสามารถใช้เป็นส่วนผสมในภาชนะขึ้นรูปหลากหลายชนิดและให้คุณสมบัติไม่ต่างจากพลาสติก แน่นอนว่าการค้นพบครั้งนี้คือความหวังใหม่ในแวดวงนักอนุรักษ์ออสเตรเลีย ด้วยมันอาจกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ช่วยลดขยะพลาสติกได้มหาศาล

กลับมาที่บ้านเรา ก็มีผลิตภัณฑ์จากกล้วยที่ช่วยโลกได้ไม่แพ้กัน นั่นคือวัสดุกันกระแทกจากก้านกล้วย ‘กล้วยช่วยโลก’ ไอเดียจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ณ สุโขทัย ผู้เล็งเห็นว่า ‘กล้วย’ คือพืชที่มีปลูกทุกบ้าน โดยเฉพาะในสวนเกษตรที่มักปลูกกล้วยให้อุ้มน้ำในผืนดิน และค้นพบว่า ‘ก้านกล้วยแห้ง’ มีลักษณะนิ่มและยืดหยุ่นคืนตัว คล้ายกับบับเบิ้ลพลาสติกกันกระแทก จึงทดลองคัดสรรก้านกล้วยมาหั่นเป็นท่อนเล็กๆ แล้วตากหรืออบจนแห้งสนิท ก่อนนำมาใช้รองสินค้าก่อนจัดส่ง และพบว่ากันกระแทกจากก้านกล้วยนั้นมีประสิทธิภาพดีไม่แพ้กันกระแทกที่ทำจากพลาสติก ไม่ว่าจะของชิ้นใหญ่หรือสิ่งเปราะบางอย่างไข่ไก่ก็ล้วนใช้กันกระแทกจากก้านกล้วยได้เหมือนกัน และนั่นคือที่มาของ ‘กล้วยช่วยโลก’ ซึ่งในวันนี้กลายเป็นแบรนด์ที่ทำงานกับเครือข่ายผลิตภัณฑ์สายกรีนทั่วไทย และสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทาง… เป็นตัวอย่างของการ ‘กรีนแบบกล้วยกล้วย’ ที่ช่วยโลกได้จริง

ติดตามความเคลื่อนไหวของกล้วยช่วยโลกได้ทาง: www.facebook.com/Kluaychuaylok

ที่มาข้อมูลและภาพ:
www.facebook.com/Kluaychuaylok
https://newsroom.unsw.edu.au/news/science-tech/packaging-made-banana-plants-peeling-alternative