ปัจจุบัน วาระเรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมาก เป็นเรื่องน่ายินดีที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้มากมาย มีอินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากที่หันมาทำคอนเท้นต์ที่เกี่ยวกับความยั่งยืนในชีวิตประจำวัน ที่ในระดับครัวเรือนสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็น แพรี่พาย (Pearypie) บิวตี้บล็อกเกอร์ที่ผันตัวมาทำสวนออร์แกนิกในเมือง คุณก้อง กรีนกรีน (KongGreenGreen) ที่ทำคอนเทนต์เรื่องขยะได้น่าติดตาม
อย่างไรก็ดี สำหรับภาคธุรกิจ การขับเคลื่อนวาระด้านความยั่งยืนนั้นมีมิติที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเพิ่มเติมทั้งในทางกว้างและเชิงลึกมากมาย การขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนนั้น การมีองค์ความรู้เกี่ยวกับดัชนีตัวชี้วัดหรือเทคโนโลยีสีเขียวนั้นอาจไม่เพียงพอกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ยังต้องรู้สึกเข้าใจถึงปัญหาและโครงสร้าง (Empathize) รวมทั้งมองเห็นสังคมทั้งในด้านสวยงามและด้านที่อาจไม่สวยงามนัก
หากเราต้องการขับเคลื่อนในภาคธุรกิจ เราสามารถติดตามและเรียนรู้ได้จากหลายแหล่ง ทั้งที่เป็นสถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานวิจัย องค์กรไม่แสวงหารายได้ (NGOs) ครีเอทีฟเอเจ็นซี่ ไปจนถึงศิลปินและนักกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อมองเห็นและเข้าใจปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในหลากหลายด้าน บทความนี้จึงจะมาแนะนำแหล่งความรู้ที่น่าสนใจที่นำไปปรับใช้กับการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวได้ โดยมีคอนเทนต์หลากหลายสายให้ลองติดตาม ดังนี้
สายวิชาการ และองค์กรอิสระ
- World Economic Forum เป็นเวทีฟอรัมนานาชาติ ที่จัดประชุมเพื่อเสวนาแลกเปลี่ยนประเด็นด้านทิศทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีการผลิตสื่อและบทความต่างในด้านเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนมานำเสนออย่างต่อเนื่อง
- ป่าสาละ เป็นบริษัทที่ทำงานวิจัยรวมถึงสื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย ผ่านการจัดสัมมนา อบรม ประชุมเชิงปฏิบัติการ การผลิตสื่อ สิ่งพิมพ์และออนไลน์ การจัดทำงานวิจัยเรื่องประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญในประเทศไทย ตลอดจนการวัดผลลัพธ์ทางสังคมและผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) โดยมีคุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งองค์ความรู้ที่ป่าสาละเผยแพร่จะเป็นบทความด้านความยั่งยืนในมิติทางเศรษฐศาสตร์และการเงินที่น่าสนใจ รวมถึงมีการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านเครื่องมือในการขับเคลื่อนและการวัดผลที่สะท้อนความเป็นจริง
- SDGs Move เป็นศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Centre for SDG Research and Support (SDG Move) ภายใต้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทำหน้าที่ติดตามองค์ความรู้และการขับเคลื่อน SDGs ทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริม จัดการและพัฒนาองค์ความรู้ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะงานวิจัยเชิงนโยบาย โดยมีสื่อทั้งในรูปแบบบทความ งานวิจัย วีดีโอ รวมถึงเวิร์กชอปและเสวนาอย่างต่อเนื่อง
สายครีเอทีฟ เอเจ็นซี่
- TED เป็นเวทีทอล์กที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในนาม เท็ดทอล์ก โดยในแต่ละปีจะมีสปีกเกอร์ที่น่าสนใจ ในประเด็นที่หลากหมายผลัดเปลี่ยนกันมาให้ความรู้ แบ่งปันไอเดีย และสร้างแรงบันดาลใจ โดยมีทอล์กจำนวนมากเกี่ยวกับประเด็นด้านความยั่งยืนที่ถูกพูดบนเวที TED และ TEDx ต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถสร้างความเข้าใจ เกิดไอเดียใหม่ ๆ ที่สามารถใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวได้อย่างแน่นอน
- CreativeMOVE เป็นครีเอทีฟเอเจ็นซี่ที่ทำงานด้านนวัตกรรมทางสังคม ให้บริการด้านการวิจัยและออกแบบพัฒนานวัตกรรมสังคม ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ กิจกรรม โครงการ แคมเปญรณรงค์ กิจกรรม CSR ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเผยแพร่บทความที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจทั่วโลก เกี่ยวกับสังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ที่สามารถจุดประกายไอเดียในการเดินหน้าธุรกิจสีเขียวของทุกคนได้
สายนักกิจกรรม
- Greenpeace น่าจะเป็นชื่อที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี จากแคมเปญรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่สร้างแรงกระเพื่อมในวงกว้างต่าง ๆ กรีนพีซ เป็นเอ็นจีโอนานาชาติที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ โดยเป็นองค์กรอิสระจากรัฐและเอกชนที่มีสำนักงานในกว่า 41 ประเทศทั่วโลก ไม่เพียงแต่แคมเปญรณรงค์ที่โดดเด่น กรีนพีซยังเป็นแหล่งความรู้ที่เผยแพร่บทความรวมถึงสื่อวีดีโอที่น่าสนใจ เกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง การเป็นองค์กรอิสระและนักรณรงค์นี้เอง จึงทำให้เนื้อหาของประเด็นที่เผยแพร่มีความเผ็ดร้อน แต่ก็เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของรัฐ ทุนเอกชน รวมถึงพลเมืองโลกด้วยสันติวิธี
- Greta Thunberg เกรต้า ทุนเบิร์ก เป็นเยาวชนนักกิจกรรมชาวสวีเดนที่มีชื่อเสียง โดยเธอรณรงค์เรียกร้องประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อายุเพียง 15 ปี เธอได้รับคัดเลือกให้ขึ้นปกนิตยสาร TIME ในปี 2562 และในวันที่ 23 กันยายน 2019 เกรต้า ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่องค์การสหประชาชาติว่า “ระบบนิเวศกำลังล้มลง เรากำลังจะสูญพันธุ์ แต่พวกคุณกลับพูดถึงกันแต่ความยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจ คุณกล้าดีอย่างไร!” (How dare you!) สปีชดังกล่าวกลายเป็นประโยคอมตะ ที่ถูกพูดถึงในวงกว้างว่าเป็นการวิพากษ์ต่อสังคมอย่างรุนแรงและตรงไปตรงมา โดยเกรต้า ยังคงรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และวิพากษ์ประเด็นต่าง ๆ ผ่านทวิตเตอร์ของเธออยู่เสมอ หลายประเด็นที่เธอนำมาเสนอล้วนมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน
การขับเคลื่อนสาระด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ประเด็นท้าทายไม่ได้อยู่ที่วิธีการ เทคโนโลยีนวัตกรรมหรือเครื่องมือ แต่เป็นความเข้าอกเข้าใจอย่างแท้จริงถึงปัญหาและความสลับซับซ้อนของกลไกและโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคม ธุรกิจที่ต้องการที่จะปรับตัวเป็นธุรกิจสีเขียว (Green Transformation) ควรเริ่มจากการเชื่อว่าธุรกิจเป็นส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ แล้วเปิดใจเรียนรู้และทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าวอย่างรอบด้านแล้วขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าอย่างจริงใจ เชื่อได้ว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ภาพประกอบ : missingkk