ถ้าเปรียบนิตยสารอายุ 23 ปีอย่าง ‘ครัว’ เป็นคน การเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีก่อน ก็คงเหมือนสาวไทยบุคลิกเรียบร้อยราวกับผ้าพับไว้คนหนึ่ง ที่อยู่ดีๆ ก็ลุกขึ้นมาแต่งตัวเปรี้ยวจี๊ดจนไม่พ้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม

8 ฉบับที่ผ่านมา ‘ครัว’ เปลี่ยนไปมาก จากนิตยสารอาหารแบบสามัญที่เคยมีแต่จานอาหารหน้าตาน่ากินอยู่บนปก กลายร่างเป็นนิตยสารที่นำเสนอเรื่องอาหารผ่านรูปลักษณ์ที่สนุกและกว้างขึ้น ยกตัวอย่างล่าสุด ฉบับแมลง ก็ใจกล้าชักชวนนักร้องหนุ่มขวัญใจวัยรุ่นอย่าง เป้-อารักษ์ มาถือแมลงทอดอยู่บนปกสีเหลืองสด!

ที่เปลี่ยนไปได้ขนาดนี้เป็นเพราะวรรณ-วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ หญิงสาวผู้อยู่เบื้องหลังการลอกคราบ ‘ครัว’ 8 ฉบับต่อเนื่องที่ผ่านมา หลายคนรู้จักเธอจากบทบาทนักเขียนบทซีรีส์วัยรุ่นชื่อดังอย่าง Hormones วัยว้าวุ่น หรือ I hate you I love you แต่ในฐานะทายาทรุ่นที่ 2 ของสำนักพิมพ์แสงแดด วรรณยังทำสตูดิโอถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่ชื่อ Spoonful Production (ร่วมกับแวววรรณ น้องสาว) ซึ่งอยู่ใต้ชายคาเดียวกับสำนักพิมพ์ และคลุกคลีกับการทำสื่อที่เกี่ยวข้องกับอาหารอยู่เนืองๆ เรื่อยมา

ล่าสุด วรรณก้าวเข้ามาอยู่ในตำแหน่งรองบรรณาธิการนิตยสาร ‘ครัว’ นิตยสารของครอบครัวที่พ่อและแม่ (ทวีทอง และนิดดา หงษ์วิวัฒน์) สร้างและดูแลมานาน การก้าวเข้ามาช่วยเปลี่ยนรูปลักษณ์นิตยสารในฐานะคนรุ่นที่สอง มีวิธีคิดในเชิงสร้างสรรค์และสานต่อธุรกิจของคนรุ่นพ่อแม่อย่างไร ต้องใจกล้าแค่ไหน คือประเด็นที่เราชวนเธอคุย



เข้ามาทำ ‘ครัว’ ได้ยังไง

เล่าก่อนว่า ปกติพ่อเรา (ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์) เป็นบรรณาธิการ คือเป็นคนอ่านงาน อีดิตงาน ดูแลเนื้อหาทั้งหมดของครัว ส่วนพี่ชายเราเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ ทีนี้ พี่ชายเราไปบวชแบบไม่มีกำหนดสึก พ่อก็พยายามหาคนมาแทน แต่หาไม่ได้ พ่อก็เลยจะเป็นเอง แต่พ่อไม่ได้ถนัดด้านศิลปะ เราเลยต้องเข้ามาช่วยในช่วงแรกตอนที่ยังไม่เปลี่ยนภาพลักษณ์ ยังไม่ได้ทำเต็มตัวนัก เพราะเราก็ทำ Spoonful Production อยู่ด้วย

ทำไมถึงคิดจะเปลี่ยน ‘ครัว’ ใหม่

พอเข้ามาช่วยพ่อทำ เรารู้สึกว่ามันยังติดอยู่ในกรอบเดิมๆ เราคิดอะไรใหม่ไม่ได้มาก หน้าปกก็ยังตามขนบแบบเก่าว่าต้องเป็นจานอาหารสักจานนึงจากข้างในเล่ม พอใกล้จะถึงครบรอบวันเกิดของนิตยสารครัว ซึ่งปกติเราจะปรับหน้าตานิดๆ หน่อยๆ ทุกปีอยู่แล้ว ประกอบกับทีมเก่าเริ่มมีคนลาออก เราเลยรู้สึกว่าเราต้องเข้ามาทำเต็มตัวมากขึ้น คุยกับพ่อว่าอยากใช้โอกาสนี้สร้างทีมใหม่ เปลี่ยนหัวหนังสือ เปลี่ยนอาร์ตข้างในไปเลยไหม

พ่อกับแม่ยอมให้เปลี่ยนลุคได้ยังไง

เราเคยอยากจะเปลี่ยนหนักกว่านี้ อยากซอยเนื้อหาข้างในใหม่หมดเลย แต่เรารู้ว่าพ่อแม่เรามีสายสัมพันธ์กับสิ่งนี้อยู่ ‘ครัว’ คือลูกคนหนึ่งของเขา นี่เป็นเขตแดนของเขาเหมือนกัน งั้นเราก็ต้องฟังเขา เลยสรุปกันว่าเปลี่ยนแค่ลุค แต่เนื้อหาข้างในยังเหมือนเดิม

ไปๆ มาๆ ก็เลย…

ในเชิงทฤษฎีคือเราเปลี่ยนแค่ลุค ไม่ได้เปลี่ยนเนื้อหา แต่เอาเข้าจริงๆ พอเริ่มลงมือทำงานกันไป พ่อเขาก็ปล่อยให้เรานำเสนอเต็มที่ เราได้พี่อาร์ตไดเรกเตอร์คนใหม่เข้ามา ก็เข้าขากันได้ ทีนี้พอทีมเริ่มมีคนใหม่ๆ เข้ามา เขาก็มีความกล้าที่จะเปลี่ยน กล้าจะนำเสนออะไรใหม่ๆ ทุกคนเริ่มเห็นเสนอสิ่งใหม่เข้ามา จากที่คุยกันแค่ลุค มันก็ค่อยๆ ลามไปที่เนื้อหากันโดยปริยาย เลยมีธีมแบบเล่ม New Year New You เกิดขึ้น

ถ้าเป็นครัวสมัยก่อนคงไม่มีทางทำเรื่องแบบนี้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องอาหารโดยตรง เราคุยเรื่องเนื้อหากันว่าต่อไปนี้เราจะเลือกประเด็นที่มอง Food as entertainment มากขึ้น เพราะรู้สึกว่าบางทีคนเราก็เสพอาหารเป็นความบันเทิงเหมือนกัน มันมีไลฟ์สไตล์เข้ามาด้วย เริ่มเกิดหัวข้อในเชิงไลฟ์สไตล์มากขึ้น อย่างเช่นเล่มแรกที่เปลี่ยน แม่บ้านญี่ปุ่น

ที่ผ่านมา ครัวมอง food as อะไร

Food as culture มุมหัวหนังสือเราก็ยังมีคำนี้อยู่ แต่วิธีการมองหาธีมหลักประจำเล่มจะเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น เมื่อก่อนเราจะทำแต่ธีมแบบ ปลาน้ำดอกไม้ ขนมจีนธรรมชาติ น้ำตาลอ้อย ฯลฯ เลือกแต่อาหารเพียวๆ ตอนนี้หัวข้อกว้างขึ้น ฉีกไปเรื่องอื่นได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังข้องเกี่ยวกับอาหารอยู่

นอกจากหน้าตาภายนอก ปรับอะไรใน ‘ครัว’ ไปบ้าง

ที่ต่างไปเลยคือธีมหลักของเล่ม อย่างฉบับแม่บ้านญี่ปุ่น เราเสนอเองว่าพอมันเป็นเล่มแรกที่เปลี่ยนรูปลักษณ์ ก็อยากเปลี่ยนให้เห็นชัดเจน เรารู้สึกว่าสังคมแม่บ้านญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ มันแข็งแรง เขามีที่ให้จ่ายตลาด ตีเทนนิส แล้วเขาก็ต้องทำอาหารให้ลูกและครอบครัวกินเยอะ เป็นประเด็นที่น่าจะป๊อบดีกับการเป็นเล่มแรกที่จะปรับเปลี่ยน

เล่มแรกออกมาเราก็ยังไม่พึงพอใจทั้งหมดนะ สิ่งหนึ่งที่เราพยายามเปลี่ยนคือภาพถ่าย พอทำมานานๆ การถ่ายรูปของ ‘ครัว’ เริ่มเป็นแบบแผนเดิมๆ วางอาหารแบบนี้ แสงแบบนี้ มันก็สวยแหละ แต่เราสงสัยว่าทำไมคอลัมน์จานเด็ด กับ ต้านโรค ภาพมันไม่ต่างกันเลย เราเลยพยายามเปลี่ยนภาพถ่ายให้มัน customize กับคอลัมน์ ทำให้แต่ละคอลัมน์มีภาพถ่ายของมันโดยเฉพาะ ให้รูปแต่ละคอลัมน์รับใช้คอลัมน์นั้น ไม่ใช่แบบกลางๆ

ส่วนวิธีเขียน แบบเก่าคือการบรรยายไปเรื่อยๆ ตอนนี้พยายามทำสกู๊ปที่มีน้ำหนักของการอ่านมากขึ้น มีล้อมกรอบ มีเล็ก มีใหญ่ จริงๆ มันเป็นอะไรที่พ่อเราพยายามเปลี่ยนมานานแล้วนะ แต่พออยู่ในบรรยากาศเดิมๆ การทำงานแบบเดิมๆ งานเยอะๆ ธรรมชาติของมนุษย์ก็จะไม่ได้เปลี่ยนสักที พอจังหวะนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยน ทุกคนเลยได้เปลี่ยนจริงๆ ก็เป็นโอกาสอันดี

เรื่องเนื้อหา ทำยังไงให้ผ่านพ่อ

เราขายแค่หัวข้อเลย ส่วนจะพูดเรื่องอะไรบ้าง เราปล่อยให้พ่อทำกับกองบรรณาธิการต่อ เขาจะไปลงรายละเอียดเนื้อหากันเอง ตอนแรกเราบอกว่าเขาไม่ยอมเปลี่ยนอะไรเกี่ยวกับเนื้อหาเลยใช่ไหม แต่พอคนเราเริ่มทำอะไรใหม่ๆ แล้ว เห็นหน้าตาสิ่งที่ทำอยู่ เลยมีพลังงานในการที่จะเปลี่ยนเอง เขาก็เอนจอยกับการคิดหัวข้อใหม่ๆ

มีทะเลาะกับพ่อไหม ตามประสาคนทำงานต่างวัย

น้อยมากนะ ไม่มีถึงขั้นทะเลาะกัน มีแค่เราเสนอแล้วไม่ผ่าน เราก็โอเค ไปคิดใหม่ อาจจะเป็นเพราะเราคุยกันเยอะมั้ง คุยงานตลอดเวลาแม้กระทั่งโต๊ะอาหารที่บ้าน พ่อก็จะไม่ยอมให้เราคุยงานตอนกินข้าว แต่ถ้าพ่อมีเรื่องอยู่ในหัวพ่อก็จะพูดเลย ไม่งั้นมันจะค้างคาในหัว เขาก็จะนอนไม่หลับ แก่แล้ว เขาก็ขอพูดออกไปให้จบๆ เถอะนะ คงเพราะคุยกันบ่อยๆ ด้วยแหละ เลยไม่ค่อยมีความขัดแย้งนัก

หลักในการคิดธีมเล่ม มาจากอะไร 

หลักคิดของเราคือ เราคิดว่าเราอยากอ่านอะไร (หัวเราะ) บางทีเราก็คิดจากอาร์ตก่อนว่ามันน่าจะสวยดีนะ อย่างเล่มส้มตำ เราคิดว่าส้มตำเป็นอาหารที่พิเศษ​ครอบคลุมทุกชนชั้น ไม่มีการแยกวรรณะ ทุกคนเสพสิ่งนี้ได้ เรื่องมันกว้างดี และรู้สึกว่าอาร์ตไดเรกชั่นมันชัดเจนได้ ทำเล่มนี้เราก็ไปตระเวนกินส้มตำวันละ 5 ร้านได้ ส่วนเล่มแมลง ไม่เสี่ยงเลยนะ เพราะการกินแมลงมันคือวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทางพ่ออยู่แล้ว เรารู้สึกว่ามันเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่ทำให้ดู exotic และ modern ได้ด้วยในเชิงภาพ เลยเสนอเรื่องนี้

เสียงตอบรับหลังจากกระชากวัย 8 เล่มที่ผ่านมา เป็นยังไง

หลากหลายนะ คนที่เป็นแฟนครัวเก่าๆ เป็นสมาชิกมายาวนาน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยหน่อย บางคนเขาก็ไม่ชอบเลย รับไม่ได้เลยก็มี ครัวเปลี่ยนไป จะกลายเป็นหนังสือวัยรุ่นแล้วเหรอ แต่ขณะเดียวกันเราได้คนใหม่ๆ เข้ามาเหมือนกัน คนที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยว่ามีนิตยสารครัวอยู่ในโลก เราในฐานะคนทำก็รู้สึกว่าต้องรับฟังไว้ แต่เราเปลี่ยนแล้ว เราก็ต้องทำต่อไป ถ้าเขามองข้ามลุคของมันไป เนื้อหาข้างในที่จริงมันยังเหมือนเดิมมากๆ ในแง่ที่ยังเข้มข้น ยังเหมือนทำวิทยานิพนธ์อยู่ เพียงแต่เสื้อผ้าหน้าผมอาจจะไม่เหมือนเดิมเฉยๆ

การซบเซาของวงการนิตยสารไทยกระทบ ‘ครัว’ มากน้อยแค่ไหน

ไม่ได้กระทบเลยมาเปลี่ยน แต่เป็นสิ่งที่เรารู้สึกตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นยอดขายของออฟฟิศเอง (สำนักพิมพ์แสงแดด) สื่อสิ่งพิมพ์ก็ขาลง มันกระทบโดยรวมเลย พ่อเราเองก็หมดแรงลงเรื่อยๆ แต่จะให้เลิกทำตอนนี้ก็ไม่ใช่ เพราะเรายังไม่เห็นชัดเจนว่า จงหยุด ให้ทำแบบเดิมต่อไปมันก็หง่อม เราก็ไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มันจะเวิร์กไม่เวิร์ก แต่ถือว่ามันเป็นพลังงานใหม่ๆ ในการทำงานของทั้งทีม และหวังใจว่าจะทำให้คนอ่านรู้สึกถึงอะไรใหม่ๆ

ทำไมถึงไม่ทำออนไลน์

ไม่ใช่ไม่คิดนะ จริงๆ อยู่ในแพลนว่าวันนึงมันอาจจะเกิดขึ้น แต่ด้วยความที่เป็นธุรกิจครอบครัว คนที่จะทำให้มันขับเคลื่อนไปคือคนในครอบครัว ซึ่งมองหน้ากันก็ไม่มีใครโซเชียลสักคน (หัวเราะ)​ และตัวเราเองก็ยังหลงใหลกับสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ เราไม่รู้ที่อื่นเป็นยังไงแต่เราซีเรียสกับการพิมพ์มากทุกเล่ม ด้วยความที่เป็นการถ่ายอาหาร เราก็จะจริงจังกับสี สีถูกต้องไหม อิ่มพอรึยัง พอเรารู้สึกว่าสิ่งที่ออกมามันจับต้องได้ ยังไงก็รู้สึกดี มันออกมาเป็นเล่ม ได้สัมผัสกระดาษ ได้ไปคุมหน้าแท่นพิมพ์ว่าสีสวยหรือยัง ดีหรือยัง มันเป็นความรู้สึกพิถีพิถันที่ทีมเราชอบมั้ง

ยกตัวอย่างความเนิร์ดสิ่งพิมพ์ให้ฟังหน่อย

ไม่รู้คนสังเกตไหมว่าก่อนหน้านี้เราใช้กระดาษมัน เล่มแม่บ้านญี่ปุ่นเป็นเล่มแรกที่เราเปลี่ยนมาใช้กระดาษปอนด์ คือการพิมพ์อาหารด้วยกระดาษมัน ยังไงก็เซฟกว่า แต่มันเชยเล็กน้อยในความคิดเรา อยากเปลี่ยนมาก ก็เลยลองเปลี่ยนดู เลือกกระดาษนานเหมือนกันเพราะพอเป็นรูปถ่ายอาหาร เราใช้กระดาษอมเหลืองมากไม่ได้ อาหารมันต้องการพื้นหลังกับอาหารที่ตัดกัน ไม่งั้นสีอาหารจะดรอป แต่สีจะฟ้าไปก็ไม่ได้อีกเพราะอาหารจะดูซีด ส่วนไซส์นิตยสารเราก็เปลี่ยนนิดหน่อย รู้สึกว่า A4 มันยาวไป อยากจะกว้างและเตี้ยลงมานิดนึง ทำให้ได้ไซส์พิเศษขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง เป็นความสุขอย่างหนึ่งของคนทำสิ่งพิมพ์

แล้วความสุขของการได้เข้ามาเปลี่ยน ‘ครัว’ คืออะไร

ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าคนเอนจอยอีทติ้งมาก ชอบถ่ายรูป ชอบดูคลิป คลิปอาหารแบบสั้นๆ มันดึงคนได้เยอะมาก เพราะคนชอบเห็นอาหาร คนชอบกิน มันเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เรารู้สึกว่าการทำอะไรเกี่ยวกับอาหารมันยังไปต่อได้เรื่อยๆ เพราะมันยังมีชีวิต

แม้จะเข้ามาเปลี่ยน แต่เราอยากให้ครัวยังเป็นครัวอยู่ เป็นนิตยสารที่ยังมีความเชื่อว่าอาหารมันสะท้อนวัฒนธรรม สะท้อนวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้น ยังมีเนื้อหาที่เข้มข้นถึงลูกถึงคนอยู่ อย่างเล่มที่วางแผงอยู่ก็พูดเรื่องประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นหัวข้อที่หนักมาก แต่จากที่เมื่อก่อนเราคุยแต่กับผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ใหญ่มีความตระหนักในเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว มันจะดีมากสำหรับเราถ้าเกิดว่า ‘ครัว’ คุยกับเด็กได้ เขาจะได้เจอเรื่องที่มันออกไปจากวงจรชีวิตหรือไทม์ไลน์เฟซบุ๊กเขาบ้าง แต่ก็ไม่รู้จะทำสำเร็จรึเปล่านะ (ยิ้ม)

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง