ในวิกฤตโควิด-19 อีกแง่มุมหนึ่งที่เราได้เห็นคือโอกาสและความเป็นไปได้ในการสร้างพื้นที่อาหารในเมือง และการพึ่งตัวเองเรื่องอาหารของคนเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยเล็กๆ ในบ้าน ชุมชนเล็กๆ ที่รวมตัวกัน หรือหน่วยงานท้องถิ่นที่เริ่มมีบทบาท เลยรวมไปถึงกลุ่มคนเปราะบางที่มีพื้นที่อาหารเป็นตู้กับข้าวที่งอกเงยและงอกงามให้ยังพอแบ่งปันกันได้ ในวิกฤตที่ทุกอย่างหยุดชะงัก
ไม่เพียงแค่แนวคิดการสร้าง Land Sharing ที่เติบโตปักหลักแล้วในหลายๆ ประเทศว่าเป็นการพัฒนาพื้นที่อาหารเมืองได้จริง การมาของวิกฤตนี้ทำให้เราเห็นความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ว่าทั้งยุโรปและอเมริกาเองก็เริ่มมี road map ของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ฟื้นฟูของคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่แตะเรื่องการสร้างพื้นที่อาหาร และการทำเกษตรในเมืองเพื่อดูแลกลุ่มคนเปราะบางเช่นเดียวกัน
นี่จึงไม่ใช่แค่โครงการแบ่งปันพื้นที่ แต่คือโมเดลที่ยั่งยืนของเมืองเพื่อทุกคน
ไม่ใช่แค่ปลูกผักสายชิลล์ Land Sharing คือเรื่องซีเรียสในการสร้างพื้นที่อาหารให้เมือง
ถึงจะมีตลาด มีซูเปอร์มาร์เก็ต หรือมีร้านอาหารตามสั่งอยู่หน้าปากซอย แต่เรื่องพื้นที่อาหารของเมืองก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ!
ปุ้ย-วรางคนางค์ นิ้มหัตถา หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมืองเล่าย้อนไปว่า ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานขับเคลื่อนจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. 2553 บอกว่าการที่เมืองค่อยๆ เติบโตขึ้น นั่นเท่ากับเมืองกำลังค่อยๆ บุกรุกพื้นที่อาหารและพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่รอบๆ เมือง ไปพร้อมๆ กับการที่ผู้บริโภคที่ก็ขยายตัวสูงตาม จนชัดเจนว่าเรามีผู้บริโภคมากกว่าผู้ผลิตอาหาร นี่ยังไม่นับรวมเรื่องภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ไปจนถึงโรคระบาด ที่ส่งผลกระทบเรื่องการผลิตอาหารแน่นอน สิ่งที่โครงการตั้งเป้ามาตั้งแต่ต้น จึงเป็นการสนับสนุนให้คนเมืองมีทักษะในการเพาะปลูก ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการพึ่งตนเองเรื่องอาหารได้
และจากการทำงานยาวนานนับสิบปี ก็ทำให้โครงการเห็นชัดเจนว่าเมืองมีศักยภาพในการเป็นพื้นที่ผลิตอาหารได้ โดยเฉพาะการทำสวนผักในชุมชน สวนผักในองค์กร และสวนผักในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า
“ที่เราทำงานมาตลอด เราก็เห็นว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้จริง และสิ่งสำคัญคือพื้นที่อาหารนั้นต้องทำให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วม ได้มาทำงานด้วยกัน ได้มาเป็นผู้ผลิตด้วยกัน ได้เอาผลผลิตนั้นไปแบ่งปันดูแลกัน สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สวนผักคนเมืองทำมาแล้วก็เห็นว่ามันชัดเจน
“พอมีวิกฤตเกิดขึ้น เราจะเห็นภาพว่าพื้นที่ผลิตอาหารที่เราทำงานด้วย เขาไม่ได้เอาตัวรอดแค่คนเดียว แต่แบ่งปันผลผลิตนั้นกับคนอื่นๆ ดูแลคนอื่นๆ ให้สามารถเข้าถึงอาหารได้ด้วย”
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ Land Sharing กลายเป็นโมเดลที่น่าส่งเสริม เพราะมันไม่ใช่แค่การให้คนหนึ่งคนใดลุกขึ้นมาปลูกผัก ผลิตอาหาร แต่คือการชวนกันมาช่วยปลูกอาหารแล้วแบ่งปันกัน ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจกว่า
เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้ไม่เป็นภาระเรื่องภาษี และปรับสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นแบบยั่งยืน
“ตั้งแต่มีเรื่องกฎหมายเรื่องภาษีที่ดิน ใครปล่อยให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์จะถูกเก็บภาษีเพิ่ม แต่ถ้าหากคุณเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ผลิตอาหาร ทำพื้นที่เกษตร จะถูกลดเหลือแค่ 0.01% คนที่เป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ในเมืองก็เปลี่ยนพื้นที่ตรงนั้นมาทำพื้นที่อาหาร แต่ว่าเราเรียกมันไม่ได้ว่าเป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่แท้จริง เพราะคุณเปลี่ยนไปปลูกกล้วยปลูกมะนาว แต่ไม่ได้ผลผลิต ปลูกไปแค่ให้รู้ว่าปลูกกล้วยเป็นเกษตร
“แต่การเปลี่ยนมาใช้เป็นพื้นที่อาหารจริงๆ จะต้องมีมาตรการรองรับ เช่น ควรจะดึงให้คนรอบๆ พื้นที่นั้นได้ใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง เช่นพื้นที่ขนาด 1 ไร่ คุณควรจะดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนหรือคนเปราะบาง คนจน คนที่เข้าไม่ถึงสิทธิในที่ดิน หรือเข้าไม่ถึงอาหาร มีรายได้น้อย เข้าไปใช้ประโยชน์ตรงนั้นเพื่อผลิตอาหาร” วรางคณาเล่าถึงพื้นที่ผลิตอาหาร ‘ที่แท้จริง’ ซึ่งมากกว่านิยามตามกฎหมาย ก่อนจะเล่าต่อถึงเหตุและผลในปั้นโมเดล Land Sharing แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต ขึ้นมา
“การทำเกษตรในเมืองมีความสำคัญ แต่ก็เป็นการลงทุนเรื่องปัจจัยการผลิตที่มากอยู่เหมือนกัน ซึ่งกลุ่มคนจน คนเปราะบาง คนที่ไม่มีที่ดิน ไม่มีอะไรของตัวเองไม่สามารถเริ่มต้นตรงนั้นได้ มาตรการของเราก็คือสนับสนุนปัจจัยการผลิตเบื้องต้นให้เขาสามารถทำพื้นที่อาหารได้จริง เรื่องของการเพาะปลูกและการแบ่งปันกันก็ควรจะมีมาตรการในการดูแล เราก็เลยลุกขึ้นมาทำโมเดลเรื่อง Land Sharing แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันอาหาร แบ่งปันชีวิต ด้วยการเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างเจ้าของที่ดิน”
หลักการทำงานของสวนผักคนเมืองจึงชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นว่าสิ่งที่เจ้าของที่ดินจะได้นอกจากการลดหย่อนภาษี (และไม่ได้ค่าเช่าที่ดิน) คือได้เรียนรู้ร่วมกับคนที่จะปลูกผักในพื้นที่นั้น ได้รับผลผลิตจำนวนหนึ่ง ที่ดินได้รับการดูแลให้เรียบร้อย ปลอดภัย สวยงาม และยังมีผลพลอยได้ในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพราะรูปแบบการลงแปลงแบบสวนผักคนเมือง ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีแน่นอน
“สวนผักคนเมืองเราเน้นเรื่องของเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรธรรมชาติ การเพาะปลูกอาหารของเรามันควรจะเป็นเรื่องการเพาะปลูกอาหารที่ดี มีคุณภาพ แล้วก็เป็นการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของเมืองไปด้วย”
”เราจึงต้องเน้นไปที่เรื่องการปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ตามหลักของเกษตรธรรมชาติ ซึ่งมันก็ต้องอาศัยเวลา ฉะนั้นการทำงานของเราคือการมองเรื่องความยั่งยืน และความมั่นคงในระยะยาว”
คนเมืองปลูกผัก ต้องรักที่จะเรียนรู้
การทำงานตลอด 10 ปี ของสวนผักคนเมืองชัดเจนว่าเรื่องเกษตรในเมืองเติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะความรู้เทคนิคต่างๆ ที่สามารถค้นคว้าและเรียนรู้กันได้ สิ่งที่เป็นปัญหาคือความพร้อมที่จะลงมือทำและเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นคนเมืองที่เกิดในพื้นที่เมืองจริงๆ และแทบจะไม่มีประสบการณ์ กับกลุ่มคนที่ย้ายจากต่างจังหวัดเข้ามาอยู่ในเมือง ซึ่งมีทักษะความรู้เรื่องการทำเกษตรอยู่บ้าง แต่ต้องเรียนรู้เรื่องสภาพแวดล้อมที่อาจจะไม่เหมือนกัน
ทุกพื้นที่มีความแตกต่าง แต่ความชัดเจนในเป้าหมายของการทำงานในพื้นที่คือการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้วยกัน ช่วยกันทำงาน เน้นการปลูกและการแบ่งปันกัน แล้วในกระบวนการก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ เช่น การออกแบบการปรับปรุงดินที่แตกต่างกัน รูปแบบของพื้นที่ หรือแม้แต่รูปแบบของกลุ่มคน ที่แต่ละกลุ่มต้องค่อยๆ เรียนรู้เรื่องแสงแดด เรียนรู้เรื่องน้ำ เรียนรู้เรื่องดินของตัวเอง หรือเรียนรู้การทำงานร่วมกัน เช่นในกลุ่มที่มีผู้สูงวัยจำนวนมาก อาจจะต้องออกแบบแปลงผักให้เอื้อต่อการทำงาน และแบ่งหน้าที่กัน เช่นคนหนุ่มสาวอาจจะต้องเข้ามาช่วยเตรียมแปลง แล้วเหล่าสูงวัยเป็นฝ่ายดูแล หรือแปลงผักในโรงงานพื้นที่ขนาดใหญ่ ก็อาจจะแบ่งแปลงตามแผนกเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ และสร้างให้เกิดพื้นที่อาหารได้จริง
คู่มือเตรียมศักยภาพของชุมชนให้พร้อมทำ Land Sharing
- มีความมุ่งมั่นที่อยากจะมีพื้นที่อาหารของตัวเอง มีวิสัยทัศน์ของกลุ่มหรือของชุมชนว่าเห็นความสำคัญของพื้นที่อาหาร เห็นความสำคัญของเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากพอ
- ต้องมีพื้นที่ พื้นที่สัก 100 ตารางเมตร ซึ่งสามารถดูแลคนได้ 40-60 คนต่อเดือน ตามหลักการมาตรฐานว่าแต่ละคนต้องกินผัก 400 กรัมต่อวันด้วย
- ต้องมีความรู้ และมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้จากการลงมือทำ พร้อมค้นหาความรู้และเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำงานของตัวเอง
- ต้องมีเงินทุนหรืองบประมาณบางส่วน แต่ถ้าหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในงานสนับสนุนเรื่องงบประมาณ หรือเรื่องปัจจัยการผลิต ก็สามารถที่จะขยับได้มากขึ้น
- อย่ามองเรื่องเกษตรในเมืองเป็นมิติแค่เรื่องอาหาร แต่ต้องมองให้เชื่อมโยงว่าคุณค่าของงานที่ทำ ไม่ใช่แค่ได้อาหารปลอดภัย แต่ยังทำให้เราได้สัมผัสดิน ได้เรียนรู้การเติบโตตามธรรมชาติ ได้เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงกับคนรอบข้าง การกลับมาทำงานด้วยกัน หรือการแบ่งปันอาหารระหว่างกัน ได้ดูแลสิ่งแวดล้อม ได้ช่วยจัดการขยะในเมือง และได้ดูแลพื้นที่ในชุมชนของเราให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีคุณค่า
ภาพถ่าย: สวนผักคนเมือง, ArmYaAtHome