ใครจะนึกว่าแค่ชั่วระยะเวลา 20-30 นาทีจากสนามบิน จะมีชุมชนเล็กๆ ที่เป็นเพชรเม็ดงามซ่อนตัวอยู่ริมแม่น้ำตาปี ชาวบ้านอยู่กันอย่างเรียบง่าย สงบงามด้วยวิถีชีวิตดั้งเดิมทั้งการทำประมง ทำสวนมะพร้าว ทำสวนปาล์ม และยังมีเรื่องราวหลากหลายภูมิปัญญาจากการใช้ต้นจากที่เนรมิตได้เป็นทุกสิ่งอย่างให้ได้เรียนรู้ เป็นโลกใบเล็กๆ ที่จะเติมพลังกายใจให้ชีวิตมีความหมายขึ้นอีกมากมายจริงๆ

ลีเล็ดเป็นตำบลเล็กๆ ตำบลเดียวในอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีเขตติดต่อกับทะเล ชาวบ้านจึงมีวิถีชีวิตผสมผสานทั้งการทำเกษตรและวิถีประมง ตอนที่ทะเลยังสมบูรณ์ ชาวบ้านทำมาหากินได้ดี แต่นานวันเข้า สัตว์ทะเลเริ่มหายไป ชาวเลต้องออกเรือไปไกลขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังหาเงินไม่ได้มากเท่าเดิม ชาวลีเล็ดจึงเริ่มตระหนักว่า บ้านของสัตว์น้ำคือหัวใจสำคัญของความอุดมสมบูรณ์ เมื่อทุกคนร่วมกันปลูกป่าชายเลน เพียงไม่นานระบบนิเวศทั้งหลายก็กลับคืนมา ชาวบ้านสามารถหากุ้ง หอย ปู ปลาได้ตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องออกไปไกลบ้าน

เรามีโอกาสล่องเรือจากแม่น้ำตาปีลัดเลาะไปยังคลองน้อยใหญ่ต่อเนื่องไปจนถึงทะเล บรรยากาศสองข้างทางร่มรื่นมองเห็นกอจากเป็นทิวแถว เมื่อเข้าเขตที่เชื่อมต่อกับน้ำทะเลจะเห็นป่าชายเลนที่มีทั้งต้นลำพู แสม โกงกาง ตะบูน ฯลฯ ซึ่งต้นไม้เหล่านี้ช่วยยึดตลิ่งไว้ไม่ให้พังทลาย ป้องกันความรุนแรงของคลื่นในฤดูมรสุม เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอาหารของสัตว์อีกหลายชนิด เช่น ลิง นกกระยาง นกกระปูด ปูทะเล ปูเปี้ยว หอยกัน หอยจุ๊บแจง ซึ่งช่วยทำให้วงจรห่วงโซ่อาหารครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นอาหารและสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้ด้วย เมื่อป่าชายเลนเป็นทุกสิ่ง ชาวลีเล็ดจึงร่วมใจกันสร้างศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนทั้งในและนอกชุมชน มีทางเดินศึกษาธรรมชาติในป่าชายเลน เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นเขตอนุรักษ์พิเศษสำหรับสัตว์น้ำไปพร้อมๆ กัน

ชาวบ้านชวนพวกเราลงไปช่วยกันปลูกต้นจากในป่าลำพูริมคลอง เพราะจากเป็นเหมือนพืชเศรษฐกิจของชาวบ้านที่สร้างมูลค่าได้จากทุกส่วนทั้งใบ ใบอ่อนใช้ทำใบจากมวนยาสูบ ใบกลางอ่อนกลางแก่ใช้ห่อขนมจาก ใบแก่ใช้ทำหลังคามุงจาก ดอกอ่อนใช้ลวกจิ้มน้ำพริก งวงจากใช้ทำน้ำตาล ผลอ่อนใช้ทำขนม ทางจากใช้ทำป้อง (หรือช้อนปีก-ภูมิปัญญาประมงพื้นบ้านที่นำทางจากมาปักในทะเลเป็นรูปตัววีเพื่อดักกุ้งมาทำกะปิ) ก้านใบจากใช้มัดของ สานเสวียนหม้อ (ที่รองหม้อ) และทำไม้กวาดเหมือนไม้กวาดทางมะพร้าว

สำหรับชาวบ้าน จากจึงเป็นต้นไม้มหัศจรรย์ที่สร้างรายได้ให้ได้ตลอด แต่ละบ้านจึงมีจากอยู่ริมบ้านเกือบทั้งนั้น แต่ถึงอย่างนั้น การปลูกจากในป่าชายเลนซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะยังเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการเข้าถึงทรัพยากรของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน คนที่มีน้อยก็สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนได้ เช่น ตัดใบจากไปขาย เก็บหอยกัน หอยจุ๊บแจงไปเป็นอาหาร ตอนพวกเราปลูกต้นจากริมคลอง หลายคนได้มีโอกาสเก็บหอยกันด้วย หอยกันเป็นหอยที่ฝังตัวอยู่ริมเลน เวลาใช้เท้าย่ำลงไปจะเห็นเปลือกหอยโผล่ขึ้นมา หอยกันเอามาปรุงเป็นอาหารได้หลายอย่าง เนื้อเหนียวหนึบ เคี้ยวแล้วได้รสสัมผัสที่ดีจริงๆ

ภูมิปัญญาในการทำประมงพื้นบ้านที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับพวกเราคือการทำกร่ำ หรือบ้านที่หลอกล่อให้ปลามาอยู่อาศัยเพื่อจับได้ง่ายขึ้น กร่ำที่ว่ามีหลักการคล้ายการทำปะการังเทียม คือนำกิ่งไม้มาปักไว้ในร่องน้ำเป็นวงกลม นำกิ่งไม้วางสุมจนเต็ม ทิ้งไว้สามเดือนสัตว์น้ำจะเข้ามาอยู่อาศัยในนี้ เมื่อครบกำหนดชาวประมงจะนำโม่ (คล้ายเสื่อเป็นแผ่นทำจากไม้ไผ่) มาล้อมรอบ รื้อกิ่งไม้ออกแล้วตักเอาปลาที่อยู่ภายในออกมา วันที่เราไปชมการรื้อกร่ำนั้นชาวบ้านได้กุ้งแม่น้ำจำนวนมาก ปลาอีกหลายตัว เยอะเสียจนราวกับว่ามีคนร่ายมนต์เรียกปลาอย่างนั้นเลยทีเดียว ข้อดีของการใช้กร่ำคือสามารถเลือกเอาเฉพาะปลาที่ตัวโต แล้วปล่อยปลาตัวเล็กลงทะเลให้เจริญเติบโตต่อไป ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความยั่งยืนได้ในระยะยาว

เพราะป่าชายเลนเป็นเหมือนตู้กับข้าวชั้นดี อาหารของชาวลีเล็ดจึงอุดมสมบูรณ์ เมนูที่เราได้อิ่มอร่อยกันนั้นสะท้อนความเหลือเฟือของทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างดี บวกกับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สร้างสรรค์อาหารอย่างหลากหลาย ได้แก่ แกงเลียงกะทิหอยกันยอดมะขามอ่อน คั่วมะพร้าวกุ้งสด ต้มส้มปลากระบอก หอยแครงลวก น้ำพริกกะปิ และปิดท้ายอย่างฟินด้วยลูกจากลอยแก้วที่ให้ความหอมหวานจางๆ เพิ่มความสดชื่นได้เป็นอย่างดี

ฉันถูกใจน้ำพริกกะปิของที่นี่เป็นพิเศษ เพราะรู้สึกได้เลยว่าอร่อยล้ำและแตกต่างกว่าการกินกะปิทุกครั้งที่ผ่านมา คือเป็นกะปิที่ไม่มีกลิ่นฉุนเค็มๆ แต่ให้รสชาติละมุน มีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เมื่อได้ไปชมการผลิตกะปิถึงได้รู้เคล็ดลับความอร่อยว่ามาจากการใช้กุ้งตัวโตเป็นวัตถุดิบหลักในการทำนี่เอง โดยทั่วไปกะปิจากแหล่งอื่นๆ จะใช้เคย (กุ้งตัวเล็กๆ) แต่ความที่ลีเล็ดสมบูรณ์มากจึงใช้กุ้งหัวมันมาทำกะปิแทน ตอนไปชมลานตากกุ้งแล้วเห็นกุ้งตัวยาวเกือบ 3 ซม.ก็ว่าตื่นเต้นแล้ว แต่เมื่อได้ออกเรือไปชมการลงอวนดักกุ้งด้วยตัวเองแล้วเห็นกุ้งยาว 4 ซม.กว่าๆ นี่ต้องเรียกว่าถึงขั้นตื่นตะลึงเลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่ากะปิลีเล็ดจึงเป็นกะปิดี กะปิดังที่ใครๆ ก็เลือกใช้เพราะให้ความหวานของเนื้อกุ้งผสมผสานอยู่ด้วย

ขั้นตอนการทำกะปิเริ่มต้นจากการทำความสะอาดกุ้ง ผึ่งแดด ตำกุ้งใส่เกลือเม็ดแค่ให้พอคอหัก จากนั้นนำไปหมักและผึ่งแดดอีกรอบ ก่อนนำมาตำละเอียดแล้วหมักรอบสุดท้ายอีกหนึ่งเดือนเพื่อเพิ่มความหอม เนื้อกะปิที่ได้จะเป็นสีม่วงอมชมพู มีกลิ่นหอม ชิมแล้วให้รสเค็มแต่ไม่จัด และทิ้งความหวานแบบอูมามิค้างในปาก ใครชอบทำอาหารจะต้องหลงรักกะปิลีเล็ดแน่ๆ ฉันรับประกันได้เลย

เราได้ไปเที่ยวชมวิถีชีวิตอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น การทำขนมจากที่ใช้แป้งนวดกะทิผสมกับมะพร้าวผัดน้ำตาล ห่อด้วยใบจากก่อนนำไปย่างไฟ การเย็บหลังคาจากซึ่งใช้ใบจากทบครึ่งตามแนวไม้ไผ่ขนาดประมาณหนึ่งเมตรแล้วใช้ไม้คล้าร้อยเป็นเชือกให้ติดกันเป็นแผง ขายได้ตับละ 5 บาท  การทำใบจากสำหรับมวนยาสูบ ขายได้กก.ละ 200-220 บาท ชมการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่คั้นน้ำกะทิมาตั้งทิ้งไว้ให้ไขมันและน้ำแยกชั้นออกจากกัน ก่อนนำไปแช่ตู้เย็นเพื่อแยกเฉพาะไขมันออกมา ก่อนนำไปก่อในผ้าขาวบางเพื่อให้น้ำมันละลายออกมาเป็นน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ ขายได้ขวดละ 100 บาท

กิจกรรมเอ็กคลูซีฟที่ฉันภูมิใจนำเสนอที่สุด คือการขอให้ชาวบ้านช่วยพาไปชมการทำน้ำตาลจากที่ไม่มีใครทำอีกต่อไปแล้ว แต่มีคุณตาท่านหนึ่งที่ท่านยังทำน้ำหวานเมาอยู่ (คือน้ำตาลจากที่ทำให้กลายเป็นแอลกอฮอล์) เหตุที่ไม่มีใครทำอีกแล้วเพราะขั้นตอนการทำน้ำตาลจากนั้นยุ่งยาก ใช้เวลานาน เพราะต้องใช้ไม้ตีงวงจากทุกๆ 7 วัน ครั้งละประมาณ 70-100 ครั้ง ทำซ้ำอย่างนี้ต่อเนื่อง 7 สัปดาห์ งวงจากจึงจะน่วมและพร้อมให้น้ำหวานได้ เมื่อเฉือนปลายงวงจาก น้ำหวานจะเริ่มหยดลงมาทีละหยด เวลารองต้องเอากระบอกไม้ไผ่หรือขวดรองทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วค่อยเก็บออกในวันรุ่งขึ้น น้ำหวานจากให้รสหวานจัดแต่หอมกรุ่นแตกต่างจากน้ำตาลโตนด คนโบราณเอาไปเคี่ยวให้เป็นน้ำผึ้งและเคี่ยวงวดทำเป็นน้ำตาลจาก หรืออาจนำน้ำตาลจากมาหมักในไหให้กลายเป็นน้ำส้มสายชูจากใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารประเภทต้มส้มหรืออาหารที่มีรสเปรี้ยว โดยการรองน้ำตาลจากแต่ละครั้งจะต้องใส่ไม้เคี่ยมลงไปในกระบอกรองน้ำตาลเพื่อไม่ให้น้ำตาลบูดด้วย

หนึ่งในกิจกรรมไฮไลท์ของการเที่ยวลีเล็ดคือการล่องเรือชมหิ่งห้อยยามค่ำคืน แสงระยิบระยับเต็มต้นไม้สองข้างทางราวกับไฟประดับบนต้นคริสมาสต์ไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบโชคช่วย แต่นี่เป็นผลพลอยได้ของการมีป่าชายเลนที่สมบูรณ์และวิถีชีวิตที่ไม่พึ่งพาสารเคมี ตลอดทางเราจะได้เห็นหิ่งห้อยกระพริบแสงแพรวพราว หิ่งห้อยช้างเป็นหิ่งห้อยบก ชอบบินเดี่ยว มีแสงสว่างดวงใหญ่  ส่วนหิ่งห้อยป่าชายเลนจะชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มักอยู่นิ่งๆไม่ค่อยบินไปไหน ผสมพันธุ์ในเวลากลางคืนและนอนหลับในเวลากลางวัน แสงวูบไหวน้อยๆ บนต้นไม้เหมือนดวงดาวพราวฟ้า เป็นของขวัญอันงดงามที่ธรรมชาติมอบให้แก่เราทุกคน บางทีความสุขในชีวิตก็อาจหาได้จากเรื่องเล็กที่เรียบง่ายนี่เอง

ชีวิตของชาวลีเล็ดจึงเป็นภาพสะท้อนของการอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ทั้งอาหารการกิน การงาน และวิถีชีวิต เป็นภาพของความเคารพต่อธรรมชาติโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาช่วยจัดการเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ชาวลีเล็ดใจดี มีน้ำใจ อยู่อย่างพอเพียง มีชีวิตอย่างเคารพตัวเองได้และรักคนอื่นเป็น  เราอาจเดินทางเข้ามาชุมชนในฐานะนักท่องเที่ยว แต่เราจะกลับออกไปในฐานะลูกหลานชาวลีเล็ดแน่นอน

หมายเหตุ : ชาวลีเล็ดจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีบริการบ้านพักโฮมสเตย์ราคา 150 บาท/คน (ไม่รวมอาหาร) มีกิจกรรมให้เรียนรู้หลายอย่าง อาทิ ล่องเรือชมป่าชายเลน ล่องเรือชมหิ่งห้อย ชมวิถีชีวิตชาวบ้านอาชีพต่างๆ ทำขนมจาก ปลูกป่าชายเลน มีบริการรับส่งจากสนามบิน (มีค่าใช้จ่าย) ติดต่อสอบถามได้ที่คุณอำภวรรณ เทพพิพิธ โทร.087-8890034 หรือ อบต.ลีเล็ด โทร.077-491251 หรือที่ FB: ท่องเที่ยวโดยชุมชน ลีเล็ด CBT Leeled

ขอขอบคุณ : กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชนลีเล็ด,ททท.สุราษฎร์ธานี, รสนิยมดี และสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน ผู้สนับสนุนการเดินทาง

www.facebook.com/Leeled.Suratthani