“ต้องชอบก่อนครับ การจะทำสิ่งไหนให้สำเร็จเราต้องชอบในสิ่งนั้น”

ชายวัย 30 ปลายๆ บอกเราว่า เขาไม่ได้เป็น ‘เจ้าชาย’ อย่างสมญานามที่เพื่อนตั้งให้ แต่เป็นแค่คนที่มีใจชอบเลี้ยงสัตว์ ชอบจนทำมันเป็นอาชีพ ชอบจนกลายเป็นชีวิต

ถ้าเล่าว่า ก้องเกียรติ ถาดทอง หรืออั้น คือข้าราชการหนุ่มที่ตัดสินใจลาออกมาทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เปลี่ยนพื้นที่บ้านและห้องแถวย่านบางเขน มาทำคอกเลี้ยงไก่เลี้ยงแพะแบบแนวตั้ง จนกลายเป็นหนุ่มเกษตรกรกลางเมืองที่ถูกสัมภาษณ์ออกรายการจนโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่ว แบบนี้คงฟังดูเป็นชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่มนุษย์เงินเดือนอิจฉา

แต่คำถามคือ ชีวิตแบบช้าๆ ชีวิตแบบที่ชอบ ที่เป็นชีวิตจริงๆ ต้องมีต้นทุนอะไร ต้องแลกกับอะไร และน่าอิจฉาจริงไหม

สะสมความชอบ

“ผมชอบเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่จำความได้ ตอนเด็กอยู่บ้านแคบๆ ก็ซื้อลูกไก่ย้อมสีมาแอบเลี้ยง พอได้ย้ายมาอยู่บ้านที่พอมีที่เลี้ยงสัตว์ได้ ผมก็ได้คืบเอาศอก เริ่มเลี้ยงไก่ชน เพราะมันสวย ตัวใหญ่ เหมือนนักมวย มีตัวผู้ตัวเมียก็ให้มันออกไข่ บางทีก็เก็บไข่มากิน คือเลี้ยงไปสนุกๆ ตามประสาคนชอบสัตว์”

คนรักของสะสมคงเข้าใจคำว่าความชอบเป็นอย่างดี เมื่อชอบสิ่งไหนก็อยากได้มาครอบครอง คุณอาจมีของสะสมเป็นสิ่งของ แต่สำหรับผู้ชายที่ชื่อก้องเกียรติ ของสะสมของเขาคือสิ่งมีชีวิตที่ออกไข่ได้

“บางคนชอบสะสมมอเตอร์ไซค์ บางคนชอบสะสมของเก่า แสตมป์เก่า ส่วนผมชอบสะสมสายพันธ์ุไก่ พันธุ์นี้ สีนี้ มันให้ไข่สีฟ้า อีกพันธุ์ให้ไข่สีชมพู อีกพันธุ์ให้ไข่สีช็อกโกแลต อีกพันธุ์ให้ไข่สีขาว แล้วในสีขาวเนี่ยมันมีอีกหลายเวอร์ชั่น โอ้โห มันสนุกมาก” อั้นเท้าความถึงไก่ที่เริ่มเลี้ยงสะสมไว้ตั้งแต่ยังทำงานราชการ

“ผมก็ทำงานไป เลี้ยงสัตว์ไปเป็นงานอดิเรก จนเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ตอนอายุประมาณ 30 เริ่มคิดว่ามันไม่ใช่ชีวิตเรา ผมไม่ชอบชีวิตที่ถูกตีกรอบมาก เพราะการทำงานในเมืองมันเหมือนทุกคนต้องแข่งกันหมด ผมเลยเกิดอยากมีชีวิตแบบคนต่างจังหวัดดูบ้าง อยากรู้ว่าชีวิตสโลว์ไลฟ์ ชีวิตเรียบง่าย มันจะเป็นยังไง”

เหมือนคนที่สะสมความชอบจนล้นปรี่ หนุ่มข้าราชการก็ตัดสินใจลาออกมาทำฟาร์มตามฝันที่เคยคิดไว้เล่นๆ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการเลี้ยงสัตว์ในกรุงเทพฯ มันจะเป็นจริงได้ยังไง

สะสมองค์ความรู้

“ระบบเกษตรกรแบบบ้านเราคือเกษตรกรต้องโง่ บริษัทใหญ่ถึงจะคุมได้ครับ เขาพูดอะไรชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ขณะที่ต่างประเทศเขาโอ๋เกษตรกรกันจะตายเพราะถือว่าเป็นครัวของประเทศ ไม่มีคนเหล่านี้คุณจะกินอะไร ประเทศเราเนี่ยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่า เราเหมาะกับการทำเกษตรที่สุด เกษตรกรเป็นอาชีพที่สำคัญที่สุด ผมก็ยิ่งซึมซับ ยิ่งศึกษาว่าทำไมพระองค์ถึงต้องมาทำจุดๆ นี้ ทำไมถึงต้องมาทำโครงการที่เกี่ยวกับเกษตร แล้วก็มาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรแบบของผมเอง”

เมื่อหยิบองค์ความรู้ที่เป็นแนวคิด มาผสมผสานกับองค์ความรู้ที่เคยลงมือทำ ประกอบกับความอยากทดลองสู้กับข้อจำกัด เมื่อลาออกจากงาน ก้องเกียรติจึงนำเงินก้อนแรกมาลงทุนสร้างคอกเลี้ยงสัตว์

คอกที่ไม่ใช่คอก แต่เป็นอาคาร!

“ผมอยากจะเลี้ยงไก่บนอาคารแล้วก็จำหน่ายสายพันธุ์ให้กับเกษตรกร คิดแค่ว่าเราไม่มีที่ดินแนวกว้าง เราก็เลี้ยงบนตึกเลยละกัน ขนาดคนยังอยู่คอนโดได้เลย ทำไมไก่จะอยู่ไม่ได้ ชีวิตสัตว์กับคนก็เหมือนกันครับ ที่สำคัญคือต้องมีอาหารที่ดี จะอยู่บ้านหลังใหญ่หรือเล็กแค่ไหน ขอให้กินอิ่มนอนหลับ ผมว่ามันโอเคละ”

อาคารทรงสี่เหลี่ยมกว้าง 5 เมตร ยาว 10 เมตร ถูกก่อสร้างขึ้นมาเพื่อเลี้ยงไก่ แต่ไม่ได้เลี้ยงไก่เพื่อหวังไข่ไก่ กลับเลือกที่จะเลี้ยงไก่เพื่อขายสายพันธุ์เป็นหลัก ขายไข่เป็นรอง

“​แต่ก่อนเราเลี้ยงเล่นๆ แต่ตอนนี้เราต้องทำเต็มที่ เพื่อให้มันเลี้ยงเรา หลายคนถามว่าเลี้ยงไก่ไข่ทำไมไม่ขายไข่ ผมก็บอกว่าสัตว์ก็เหมือนคนแหละ พอไม่ได้อยู่ธรรมชาติมันก็จะเกิดภาวะเครียด พอเกิดภาวะเครียดเนี่ยปริมาณไข่จะลดลง ผมก็ถามตัวเองว่าพื้นที่ 5 เมตรคูณ 10 เมตร เลี้ยงไก่ได้ 100 ตัว ผมต้องขายไข่เยอะแค่ไหนถึงจะได้เท่าเงินเดือนที่เคยมี ทำไมเราต้องทำเหมือนชาวบ้านเขา ในเมื่อของที่เรามีเราสะสมเนี่ย ผมเชื่อว่ามีสายพันธุ์อีกเยอะแยะมากมายที่คนยังไม่รู้จัก”

องค์ความรู้เรื่องสายพันธุ์ไก่ถ่ายทอดจากเกษตรกรหนุ่มมาสู่เรา ทำให้ได้รู้ว่าไก่ในบ้านเราที่จริงแล้วมีแค่ 4 สายพันธุ์ที่กรมปศุสัตว์คัดเลือกมาว่าให้ไข่ค่อนข้างดี แต่ไก่ที่คนส่วนใหญ่เลี้ยงเพื่อเอาไข่ไม่ใช่ไก่สายพันธุ์แท้ เพราะไก่พันธุ์แท้แยกเพศไม่ได้ ทำให้เกษตรกรต้องลงทุนเวลาและเงินมาก เลยต้องซื้อไก่สายพันธุ์ที่บริษัทใหญ่ผสมมาแล้วว่าเป็นไก่ที่แยกเพศได้ง่าย ตัวเล็ก กินน้อย แต่ให้ไข่ดก

​ไก่ของก้องเกียรติ มีจุดขายคือเป็นไก่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์แท้ ที่เหมาะกับเกษตรกรที่อยากได้ไก่พันธุ์ดี สวยงาม แม้จะไม่ได้ให้ไข่ดกมาก แต่มีความเสถียรในการออกลูกไก่ที่ให้ไข่ดกในปริมาณเท่าแม่พันธุ์

“​ผมเน้นตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าคุณอยากได้ตัวเมีย 20 ตัว คุณก็ฟักประมาณ 40 ฟอง แล้วก็เก็บไข่ฟักสิ แล้วตัวผู้คุณก็นำไปประกอบอาหารก็ได้ หรือถ้าคุณไม่ทำก็ขายคนอื่นไป ก็ไม่เสียเปล่ากับค่าอาหารที่คุณเลี้ยงมันมา มีรายได้สองทางจากทั้งไข่ทั้งเนื้อ ถ้าทำเกษตรเชิงเดี่ยวมันไปไม่รอดหรอก อย่างผมทำไก่ไข่ด้วย ไก่เลี้ยงสวยงามด้วย บางทีลูกค้ามากันหนึ่งครอบครัว แม่อยากเลี้ยงไก่ไข่ พ่อเห็นไก่แจ้ก็ขอเลี้ยงไก่แจ้สักคู่ ลูกมาเห็นนกเป็ดน้ำเล็กๆ ก็ซื้อให้อีก ผมมีหมด”

จากตอนแรกที่ขายแต่ไก่ ขยายไปเป็นเลี้ยงแพะนมบนดาดฟ้า ซึ่งให้ผลิตภัณฑ์เป็นนมแพะที่ขายดิบขายดี จนทุกวันนี้ก้องเกียรติไม่ได้มีแค่คอกบนตึก แต่ขยับขยายฟาร์มมาอยู่บนที่ดินผืนกว้างท้ายซอยบ้าน

สะสมประสบการณ์ชีวิต

“การเลี้ยงสัตว์ ผมบอกเลยว่าโลกสวยไม่ได้” เกษตรกรหนุ่มเล่าจากประสบการณ์ที่ตนมี

“ชีวิตเกษตรกรมันเหนื่อย แต่มันเป็นอาชีพที่มีใจรักและได้เป็นนายตัวเอง เขาถึงมาทำ คุณไม่มีทางรู้ถึงหัวอกของเกษตรกรที่แท้จริงหรอก ถ้าคุณไม่มาลงมือทำ อย่าคิดว่าปลูกผักสี่ห้ากระถางในคอนโดแล้วบอกได้ว่าคุณพอเพียง คำถามคือพอเพียงแล้วมันยั่งยืนหรือเปล่า”

“ผมพูดแรงนะเวลาสื่อมาสัมภาษณ์ เพราะบางเรื่องมันควรจะถูกถ่ายทอดออกไปด้วยความจริง คุณต้องวิเคราะห์ได้ ไม่ใช่มโนกันไปเรื่อย แล้วก็หลอกลวงให้คนออกมาทำเกษตรกัน อย่างผมมีประสบการณ์ด้านนี้เพราะผมทำมายี่สิบสามสิบปี คำแนะนำของผมคือ อย่าเห็นว่าผมทำประสบความสำเร็จแล้วคุณจะทำมั่ง อย่าเห็นเม็ดเงินที่ผมได้เป็นความสำเร็จ”

ความสำเร็จของชีวิตไม่ใช่เงิน แล้วมันคืออะไร เราถาม

“เดือนนี้ผมขายของไม่ได้แต่ผมไม่ต้องจ่าย ผมมีของกินโดยที่ผมไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องเสียอะไรเลย ผมไม่เป็นหนี้ ความสำเร็จคือวิถีชีวิตที่ผมได้มา แล้วผมก็ไม่ใช่พ่อพระ เวลาเจอสัตว์อันตรายเข้ามาที่ฟาร์มผมก็ต้องกำจัด เวลาเจอน้ำท่วมผมก็ต้องเอาตัวรอด มันคือความเป็นจริง ผมมองว่าทุกอาชีพแหละ ถ้าอยู่กับความเป็นจริงได้ เราจะอยู่รอด”

เจ้าชายคนนี้เล่าให้เราฟังถึงตอนน้ำท่วม จากที่เลี้ยงแต่สัตว์บก เขาก็หันมาเลี้ยงปลา ถือโอกาสนั้นเป็นช่วงเวลาหมักดินทำปุ๋ยธรรมชาติ แล้วก็ลองทำนา ชวนเพื่อนมาดำนาในกรุงเทพฯ ไปด้วยกัน เขาเรียกสิ่งนี้ว่าการทำเกษตรแบบไม่มีสูตรตายตัว

“ตอนนี้ผมอยากรวมคนที่ชอบเหมือนกับเรา ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นอาชีพเกษตรกร คุณอาจจะชอบสัตว์แต่คุณเลี้ยงไม่ได้หรอก คุณจะไปเลี้ยงที่ไหนเพราะบ้านคุณอยู่กลางเมือง เพราะฉะนั้นคุณมาหาเรา คุณก็มาเล่นได้ มาพบปะกัน ผมก็อยากทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นแหล่งแบบนั้น”

กวาดตาไปรอบๆ กระต๊อบกลางนาที่เรานั่งคุยกัน มีทั้งพื้นที่สำหรับทำนาปลูกข้าว คอกเลี้ยงเป็ดไก่ คอกแพะ บึงน้ำ บ่อเลี้ยงปลา แม้กระทั่งคอกสัตว์ใหญ่อย่างควายและม้า ก้องเกียรติมีความตั้งใจว่าอยากจะเปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรที่เปิดให้คนทั่วไปได้เข้ามาใกล้ชิดกับสัตว์และวิถีชีวิตแบบเกษตรกร นี่คือเป้าหมายที่เขากำลังทำให้เกิดขึ้นจริงในภายภาคหน้า

​“ผมยังคุยเล่นกับพวกปรินซ์ (เจ้าชายผัก) อยู่เลย ว่าตอนแก่ๆ เราน่าจะไปซื้อที่ใหญ่ๆ แล้วก็ไปอยู่รวมกันเลย บ้านคุณทำเห็ดนะ บ้านคุณเผาถ่านนะ บ้านคุณผลิตจุลินทรีย์ บ้านผมจะผลิตไข่อย่างเดียวเลย เพื่อเอามาให้ทั้งหมู่บ้านกินทั้งหมด มันจะเป็นสังคมที่เหมือนย้อนกลับไปในอดีตที่เมืองไทยเคยเป็นเลย”

ถ้ากลุ่มเจ้าชายผักและเจ้าชายสัตว์มาอยู่ด้วยกันคงน่ารักดี เราแซวไปขำๆ ก่อนจะแอบถามถึงที่มาของฉายาว่าใครเป็นคนตั้งให้

“​ได้มาจากเพื่อนในกลุ่มนี่แหละครับ ก็แซวๆ กัน มีเจ้าชายผักแล้ว มึงก็เป็นเจ้าชายสัตว์ไปเลย (หัวเราะ) แต่ผมก็เฉยๆ นะ วันๆ ก็ไม่ค่อยได้ออกไปเจอโลกเท่าไหร่ เลิกบรรยายก็กลับบ้านมาดูสัตว์ ตื่นเช้ามาก็รีบออกไปให้อาหาร ตอนนี้ฟาร์มผมก็มีสัตว์รวมๆ กันน่าจะเป็นร้อยตัวได้แล้ว”

“ความสุขของผมคือการเลี้ยงสัตว์จริงๆ อย่างสัตว์บางประเภทมันไม่ได้มีประโยชน์ในแง่ธุรกิจหรอกนะ อย่างม้าเนี่ยผมก็เลี้ยงเพราะชอบ มันสวย ผมถึงบอกไงว่าคุณต้องชอบในสิ่งที่คุณทำ แล้วคุณจะไม่มองว่ามันเป็นเรื่องที่สร้างปัญหา บางคนบอกเลี้ยงสัตว์เนี่ยไปไหนก็ไม่ได้ เป็นภาระ แต่ผมไม่เคยมองว่ามันเป็นภาระ เพราะผมชอบมัน”

เกษตรกรที่ปฏิเสธฉายาเจ้าชาย เล่ายิ้มๆ

พูดจบประโยค ถึงเวลาที่ก้องเกียรติต้องไปให้อาหารสัตว์ประจำวันพอดี เลยถือโอกาสพาเราเดินเที่ยวฟาร์มไปพลางๆ ถึงแม้บรรยากาศจะเป็นท้องทุ่งและฟาร์มที่ไม่ได้สวยงามหมดจด แต่เราก็ชักจะรู้สึกได้ถึงออร่าของเจ้าชายสัตว์ขึ้นมาจริงๆ แล้วล่ะ

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง