วันเพ็ญเดือน 12 น้ำนองเต็มตลิ่งแบบนี้ คงเป็นเวลาที่หลายๆ คนตัดสินใจว่าจะออกมาลอยกระทงกันดีหรือไม่ แม้จะเป็นที่เทศกาลสำคัญและสนุกสนานน่ามีส่วนร่วม แต่หลายๆ คนน่าจะรู้ว่ากระทงได้สร้างขยะให้กับแม่น้ำลำคลองของเรามากมายแค่ไหน

ปี 2560 ที่ผ่านมาแค่ในกรุงเทพมหานครก็มีขยะจากกระทงมากถึง 811,945 ใบ (ข้อมูลจาก: สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร) โดยหลังจากเทศกาล กระทงที่ย่อยสลายได้มักจะถูกส่งไปที่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนกระทงโฟมและวัสดุที่ย่อยสลายยากอย่างพลาสติกต่างๆ จะถูกทำลายโดยการฝังกลบเป็นขยะที่จะอยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน

แม้ว่าแนวโน้มการใช้กระทงที่ทำจากโฟมหรือวัสดุที่ย่อยสลายยากจะลดลง และมีกระทงจากวัสดุธรรมชาติหลากหลายมากขึ้น แต่ก็ยังยากที่จะตอบได้ว่ากระทงเหล่านั้นมันดีต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ หรือไม่ เพราะปัจจัยความกรีนอาจไม่ใช้แค่ระยะเวลาการย่อยสลาย แต่ยังต้องดูแหล่งน้ำ ปัจจัยแวดล้อม และการบริหารจัดการขยะของในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เราทุกคนในฐานะผู้เข้าร่วมเทศกาล สามารถ ‘เลือก’ และนำไปปรับใช้ เพื่อให้การลอยกระทงของเราตอบโจทย์มากกว่าแค่ตัวเอง แต่ส่งผลเสียต่อสิ่งเเวดล้อมน้อยกว่าที่เคย

กระทงจากต้นกล้วยและใบตอง

ระยะเวลาย่อยสลาย 14 วัน
ความง่ายในการจัดเก็บ 2/5 คะแนน
แหล่งน้ำที่เหมาะสม สระน้ำ บ่อ บึง ระบบปิด ที่มีการควบคุมดูแล

วัสดุยอดนิยมในการทำกระทงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต้นกล้วยเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่หาง่าย ลอยน้ำได้ดี จึงได้รับความนิยมที่สุดในบรรดากระทงทุกชนิดมาตั้งแต่อดีตกาล กระทงต้นกล้วยที่เราคุ้นเคยกันนั้น ตัวฐานทำจากหยวกกล้วยหรือต้นของกล้วย บายศรีทำจากใบตอง ตกแต่งด้านบนด้วยดอกไม้ ธงกระดาษ และปักธูปเทียนสำหรับบูชา กระทงบางเจ้าอาจมีการติดเชื่อมส่วนต่างๆ ด้วยเข็มหมุดหรือลวดเย็บกระดาษ

นั่นแปลว่า แม้กระทงต้นกล้วยจะทำจากวัสดุจากธรรมชาติ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด จึงยังต้องการการแยกขยะที่ถูกต้องอยู่ดี และต้นกล้วยเองก็ใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายนานถึง 14 วัน หากเรานำไปลอยในแหล่งน้ำสาธารณะที่ไม่มีการจัดการเก็บโดยหน่วยงาน ซากกระทงต้นกล้วยก็จะกลายไปเป็นขยะที่กีดขวางทางน้ำและการระบายน้ำ หรืออาจทำให้น้ำเน่าได้ ทางที่ดี หากอยากลอยกระทงด้วยกระทงแบบตามธรรมเนียมก็ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าสถานที่แห่งนั้นเป็นสระน้ำหรือบ่อน้ำระบบปิดตามที่ กทม. แนะนำ หรือมีระบบการจัดเก็บกระทงขึ้นมาจากน้ำและนำไปเเยกขยะเพื่อจัดการที่เหมาะสมกับขยะแต่ละประเภทต่อไป

กระทงกะลามะพร้าว

ระยะเวลาย่อยสลาย 15 วัน
ความง่ายในการจัดเก็บ 3/5 คะแนน
แหล่งน้ำที่เหมาะสม สระน้ำ บ่อ บึง ระบบปิด ที่มีการควบคุมดูแล

กระทงจากกะลามะพร้าวนั้นดูเหมือนมีคุณสมบัติคล้ายๆ กับกระทงจากต้นกล้วย คือหาง่ายและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่ดีกว่าเล็กน้อยในแง่ของการจัดการหลังจากกลายเป็นขยะ เพราะเป็นกระทงที่มักขายกันแบบมินิมอล ไม่ได้ใช้วัสดุอื่นมาประดับตกแต่งมากมาย เพียงแค่ใส่ดอกไม้และธูปเทียนลงไปในกะลามะพร้าว หรือบางเจ้าก็หล่อเทียนเป็นรูปดอกไม้สวยงามจบในอันเดียวเลย

ข้อดีของกระทงจากกะลามะพร้าวคือการจัดเก็บที่ง่ายกว่า เพราะของตกแต่งมีน้อยกว่า ช่วยลดภาระในการคัดแยกก่อนนำไปกำจัดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างชะงัด แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูเงื่อนไขว่าสถานที่ลอยกระทงแห่งนั้นมีการจัดเก็บที่ถูกวิธีหรือไม่เช่นกัน

กระทงขนมปัง

ระยะเวลาย่อยสลาย 3 วัน
ความง่ายในการจัดเก็บ 1/5 คะแนน
แหล่งน้ำที่เหมาะสม สระน้ำ บ่อ บึง ระบบปิด ที่มีการควบคุมดูแล และมีปลาเพียงพอต่อจำนวนกระทง

อีกหนึ่งกระทงที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพราะหลายคนเชื่อกันว่าขนมปังสามารถกลายเป็นอาหารปลาและถูกกำจัดไปโดยธรรมชาติได้ แต่แนวคิดแบบนั้นก็ไม่ถูกต้องเสมอไป เนื่องจากแหล่งน้ำที่เรานำไปลอย อาจไม่มีปลาหรือมีปลาไม่มากพอที่จะกินขนมปังเหล่านั้นใช้หมดไปได้ ยิ่งถ้าเป็นแหล่งน้ำปิดที่ไม่มีบ่อปลาแล้วยิ่งอันตราย เพราะเมื่อขนมปังยุ่ยจะทำให้น้ำมีค่าบีโอดีหรือค่าสารอินทรีย์สูง ซึ่งจะทำให้แหล่งน้ำนั้นเน่าเสียได้

โดยภาพรวมแล้วกระทงขนมปังนั้นก็ยังถือว่าเป็นกระทงที่หาแหล่งน้ำที่เหมาะสมค่อนข้างยาก หากนำไปลอยในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมก็จะสร้างปัญหาหนัก จึงเป็นอีกกระทงที่ควรเลี่ยงไว้ไม่ต่างจากกระทงที่ทำจากโฟม

กระทงน้ำแข็ง

ระยะเวลาย่อยสลาย 1 ชั่วโมง
ความง่ายในการจัดเก็บ 4/5 คะแนน
แหล่งน้ำที่เหมาะสม สระน้ำ บ่อ บึง ระบบปิด หรือคลอง แม่น้ำ

ไอเดียกระทงรักษ์โลกที่เพิ่งเป็นกระแสในโลกโซเชียลช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราต้องยกให้กระทงน้ำแข็ง ซึ่งเป็นกระทงที่มีแนวโน้มจะสร้างขยะน้อยที่สุดในเวลานี้ โดยกระทงน้ำแข็งแบบนี้ไม่มีขาย แต่ทำได้เองง่ายๆ ที่บ้านโดยนำน้ำเปล่าใส่ภาชนะรูปทรงที่ต้องการ ปักเทียน และตกแต่งเล็กน้อยด้วยดอกไม้สด จากนั้นจึงนำไปเเช่แข็งก็เสร็จเรียบร้อย

กระทงน้ำเเข็งเมื่อละลายเป็นน้ำ นอกจากดอกไม้และเทียนที่ใส่ลงไปก็แทบจะไม่เหลือขยะอะไรทิ้งไว้กับเเม่น้ำลำคลอง จึงเป็นหนึ่งในกระทงทางเลือกที่ค่อนข้างกรีนในยุคสมัยนี้ แต่ก็ต้องระวังเรื่องความเย็นของน้ำแข็ง ถ้าลอยกันมากๆ ก็อาจส่งผลกับสิ่งมีชีวิตในน้ำได้เหมือนกัน

กระทงออนไลน์

ระยะเวลาย่อยสลาย ไม่มี
ความง่ายในการจัดเก็บ 5/5 คะแนน
แหล่งน้ำที่เหมาะสม ทุกที่ ทุกเวลา

ในยุค 4.0 แบบนี้ การลอยกระทงที่ตอบโจทย์ที่สุดก็คือลอยกระทงแบบออนไลน์ ซึ่งเราสามารถลอยได้ผ่านหลายๆ เว็บไซต์ ซึ่งมีกระทงให้เลือกลอยอย่างหลากหลาย แถมเรายังสามารถกรอกคำอธิษฐานลงไปได้ กระทงออนไลน์นี้ลอยได้ทุกที่ ทุกเวลาเพียงแค่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ถือว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับกระแส Zero Waste สุดๆ เพราะมั่นใจได้เลยว่าจะไม่มีขยะทิ้งลงไปในแหล่งน้ำแน่นอน

ฝากไว้ให้คิด ก่อนลอยกระทง

กระทงแต่ละชนิดก็มีจุดเด่น มีปัจจัยกรีนที่ต่างกันออกไป ซึ่งกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขก็ได้แนะนำแนวทางการลอยกระทงไว้ ซึ่งเรานำมาปรับใช้ได้เอง ดังนี้

1. เลือกลอยกระทงแบบออนไลน์เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับใครที่อยากมีส่วนร่วมกับเทศกาลโดยไม่ต้องการทิ้งอะไรลงแม่น้ำ แต่ถ้ายังอยากลอยกระทงจริงๆ ควรเลือกสถานที่ลอยกระทง ที่มีการจัดเก็บอย่างถูกวิธี
2. เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ หรือจะทำกระทงน้ำแข็งไปเองก็ได้
3. ไม่ใช้วัสดุหลากหลายหรือย่อยยาก เพื่อลดภาระการคัดแยกก่อนนำไปกำจัด
4. ลดขนาดกระทงเป็นขนาดเล็ก เพราะใช้วัสดุน้อยกว่า สร้างขยะน้อยกว่า
5. ลดจำนวนกระทง ลอยร่วมกันกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรักก็น่ารักอีกแบบ

ที่มาข้อมูล:
www.thaihealth.or.th
www.pptvhd36.com
www.adeq.or.th
www.facebook.com/keepsukhothaiclean

ภาพประกอบ: paperis