ลึกเข้าไปในป่าลึกของอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่บนเทือกเขาสูงนับพันเมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีชุมชนชาติพันธุ์เล็กๆ เร้นกายอยู่อย่างเงียบเชียบ ‘ขุนแม่หยอด’ คือชุมชนแห่งนั้น และนั่นคือปลายทางของเราในครั้งนี้ เพื่อเรียนรู้ทั้งเรื่องคน สิ่งแวดล้อม รวมถึงประเด็นปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ทิวทัศน์อันสวยงามของป่าเบญจพรรณนับหมื่นไร่ที่รายล้อมชุมชนแห่งนี้ไว้นับร้อยปี

หลังใช้เวลาเดินทางจากสถามบินนานาชาติเชียงใหม่ร่วม 6 ชั่วโมง เราและคณะทำงานจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร รวมถึงผู้เข้าร่วมอีกกว่า 20 ชีวิต ก็ลัดเลาะป่าเขียวชอุ่มกระทั่งถึงลานกว้างกลางชุมชนขุนแม่หยอดในช่วงเย็นวันหนึ่ง อากาศโดยรอบเย็นลงเรื่อยๆ และเข้าขั้นหนาวในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา

แนะนำตัวกันอย่างรวบรัด ชุมชนขุนแม่หยอดเป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอขนาดกลาง สมาชิกในชุมชนทั้งหมดดำรงชีพด้วยการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ผ่านการทำเกษตรแบบ ‘ไร่หมุนเวียน’ (Rotational Farming) ภูมิปัญญาการทำเกษตรที่กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งอาข่าและปกาเกอะญอล้วนมีร่วมกันมานานนับร้อยปีและพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทั่วโลกยอมรับถึงความยั่งยืน

เป้าหมายการเดินทางของเราในคราวนี้ นอกจากต้องการเรียนรู้วิถีการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ว่าจะเหมือนหรือต่างจากการทำไร่หมุนเวียนในชุมชนห้วยหินลาดในจังหวัดเชียงรายที่เราเคยเข้าไปเรียนรู้เมื่อปีกลายมากน้อยขนาดไหน อีกหนึ่งเป้าหมายที่เกิดขึ้นคือ การได้รู้จากกลุ่มนักพัฒนากาแฟไทยว่าชุมชนขุนแม่หยอดแห่งนี้มีต้นกาแฟเก่าแก่อายุกว่าครึ่งศตวรรษยืนต้นอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน เรื่องน่าตื่นเต้นก็คือพวกมันเพิ่งถูกค้นพบไม่นานมานี้ และน่าตื่นเต้นขึ้นอีก เมื่อเหล่านักพัฒนากาแฟพากันตั้งข้อสังเกตว่าต้นกาแฟเหล่านี้มีแววดี และอาจกลายเป็นความหวังใหม่ของวงการกาแฟไทยหากได้รับการพัฒนาอย่างถูกทิศทาง

หลังผู้ร่วมเดินทางทักทายและแนะนำตัวกันเสร็จสรรพ คณะดำเนินงานก็กำชับให้พวกเราแยกย้ายกันเข้าพักในบ้านชาวบ้านแต่ละหลัง ส่วนตัวเราแยกตัวมาอาศัยในบ้านไม้หลังย่อมของพะตีวิตามินและหลานๆ (พะตีในภาษาปกาเกอะญอแปลว่าคุณลุง) จากนั้นจึงร่วมวงทานอาหารค่ำกับชาวบ้าน และแยกย้ายกันพักผ่อนเพื่อกลับมาเจอกันตามนัดหมายในสายวันรุ่งขึ้น

หมุนเวียนที่ไม่เลื่อนลอย

เข้าถัดมาอากาศเย็นลงในระดับลมหายใจของเรากลายเป็นไอ พะตีวิตามินชวนให้เราล้อมวงกินข้าวด้วยกันก่อนจะเริ่มกิจกรรมในตอนสาย อาหารเช้าง่ายๆ ปรุงขึ้นจากพืชผักในไร่ทั้งแกงฟักใส่ไก่ น้ำพริกสมุนไพรประจำถิ่น ‘เซนทอซี’ รสหอมเย็นเข้ากันดีกับแค็บหมูเค็มๆ มันๆ รวมถึงต้มจืดยอดฟักทองนั้นก็ซดคล่องคอในระดับต้องขอเติมข้าวทีเดียว

ระหว่างมื้ออาหาร พะตีวิตามินเล่าให้เราฟังว่าธรรมเนียมของชาวปกาเกอะญอนั้นไม่ต่างจากคนไทยพื้นราบสักเท่าไหร่ ถ้าหากมีแขกมาเยือนถึงบ้านชานเรือนก็ต้องเอ่ยถามก่อนว่ากินข้าวมาหรือยัง และสำรับสำหรับแขกนั้นก็ต้องพิเศษกว่ามื้อไหน ทั้งยังต้องเปิดวงให้แขกกินกันให้อิ่มหนำเสียก่อนเจ้าบ้านจึงจะรับไม้ต่อได้

“เครื่องปรุงหลักของอาหารปกาเกอะญอมีแค่เกลือกับน้ำตาลเท่านั้นแหละ” พะตียิ้มแล้วว่าอย่างนั้น เราพยักหน้ารับรู้ และเห็นด้วยว่าอาหารทุกจานตรงหน้าล้วนรสชาติบางใสไม่บาดคอ เป็นความอร่อยสดชื่นที่เกิดจากความสดใหม่ของวัตถุดิบที่เก็บจากท้องไร่ปลายนาเท่านั้น

หลังกวาดข้าวในจานจนเกลี้ยง เราก็ขอตัวแยกย้ายไปรวมกลุ่มกับสมาชิกคนอื่นๆ ก่อนทยอยกันสาวไปตามทางดินลูกรังเล็กๆ เพื่อมุ่งหน้าสู่ไร่หมุนเวียนที่อยู่ถัดจากตัวชุมชนขุนแม่หยอดเพียงไม่กี่ร้อยเมตร และความประทับใจแรกก็เกิดขึ้น เมื่อทิวทัศน์ของไร่หมุนเวียนตรงหน้าปรากฏแก่สายตาเรา

ด้วยไร่หมุนเวียนของชุมชนนี้นั้นคลับคล้ายแต่ก็ไม่เหมือนกับไร่หมุนเวียนของหมู่บ้านอื่นที่เราเคยพบเสียทีเดียว โดยเฉพาะระยะเวลาการพักหน้าดินก่อนวนกลับมาทำเกษตรยังแปลงเดิมที่นานถึง 12 ปี เพื่อรอให้ธาตุอาหารในดินบริเวณนั้นกลับมาสมบูรณ์เต็มที่อีกครั้งอย่างไม่รีบร้อน เพื่อความกระจ่างสำหรับผู้เดินทางมาครั้งแรก คณะดำเนินงานจึงอธิบายระบบของการทำไร่หมุนเวียนให้กับสมาชิกร่วมทริปฟังอย่างลงรายละเอียด โดยเน้นประเด็นสำคัญคือการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนนั้นเป็นองค์ความรู้ของมนุษยชาติที่สืบทอดกันมานับพันปี ไม่เพียงแต่ในชุมชนชาติพันธุ์ของไทย ทว่าในอีกหลายซีกโลกอย่างในประเทศเปรู หรือในประเทศอินเดียและเนปาลก็ปรากฏการทำไร่หมุนเวียนเช่นกัน

ด้วยกรอบคิดของการทำไร่หมุนเวียนนั้น เกิดจากความตั้งใจ ‘รักษา’ สิ่งแวดล้อมของชุมชนให้อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน ด้วยสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์นั้นล้วนฝากปากท้องไว้กับธรรมชาติ หากหน้าดินพังทลาย ป่าขาดความอุดมสมบูรณ์ หรือต้นน้ำแห้งเหือด เมื่อนั้นพวกเขาก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน

เมื่อการทำไร่หมุนเวียนเกิดขึ้นด้วยหลักคิดเพื่อการรักษา นั่นคือการแบ่งแปลงเกษตรของชุมชนออกเป็นหลายสิบแปลง จากนั้นทยอยปลูกพืชทั้งข้าวไร่และผักสวนครัวในแปลงหนึ่ง เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว สมาชิกในชุมชนก็จะร่วมแรงกันเก็บเกี่ยวผลผลิตและแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ให้สมาชิกในชุมชนช่วยกันรักษาไว้สำหรับดูเพาะปลูกถัดไปซึ่งจะเกิดขึ้นในอีกแปลง หมุนเวียนอย่างนั้นกระทั่งวนกลับมาแปลงเดิมในอีก 12 ปีข้างหน้า และระหว่างนั้น แปลงเกษตรที่อยู่ในระยะ ‘พัก’ หรือที่ชาวปกาเกอะญอเรียกว่า ‘ไร่เหล่า’ ก็จะค่อยๆ มีพืชพรรณเติบโตให้คนในชุมชนเก็บกิน ทั้งแตงบ้าง ฟักทองบ้าง สมุนไพรบ้าง เนื่องจากแปลงเกษตรระยะนี้จะเปิดโล่งรับแดดเต็มที่ พืชพรรณจึงเติบโตดีเป็นพิเศษ กว่านั้นพุ่มไม้เล็กๆ ที่กำลังเติบโตอยู่ในไร่เหล่ายังเป็นบ้านของสัตว์เล็กสัตว์น้อยอย่างกระรอก กระเต็น กิ้งก่า ซึ่งเป็นอาหารของชาวบ้านอีกทาง

ทว่าในอีกแง่ การเวียนแปลงเกษตรอย่างนี้อาจขัดสายตาของคนนอกเมื่อมองเข้ามา จนเกิดเป็นวาทกรรม ‘ชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย’ ขึ้นในสังคมใหญ่ ส่งให้ชาวปกาเกอะญอมีสถานภาพเป็น ‘ผู้บุกรุก’ ไม่ใช่ ‘ผู้รักษา’ กระทั่งเกิดความรุนแรงตามมา เมื่อภาครัฐพยายามไล่คนออกจากป่าโดยขาดการศึกษาถึงข้อเท็จจริง

ปฏิทินตามฤดูกาล การจัดการความรู้เรื่องอาหารให้ยั่งยืน

เมื่อลัดเลาะเรียนรู้เรื่องไร่หมุนเวียนกันพักใหญ่ก็ถึงเวลาของมื้อกลางวันที่เราล้อมวงกินกันกลางไร่! พิเศษสุดตรงทุกเมนูนั้นปรุงขึ้นจากวัตถุดิบที่เก็บกันตรงนั้น ก่อนกลุ่มแม่บ้านชุมชนขุนแม่หยอดจะเปลี่ยนให้เถียงนากลายเป็นครัวขนาดย่อม แล้วลงมือปรุงอาหารกันสดๆ กระทั่งออกมาเป็นมื้ออร่อยอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งตำถั่วรสเปรี้ยวหวานสดชื่น น้ำพริกจากมะเขือขมและบวบดอยที่กินกับข้าวแล้วเข้ากันลงตัว รวมถึงแกงฟักใส่หมูสามชั้นรสชาติใสๆ ซดคล่องคอด้วยได้รสหวานจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ และที่เด็ดมากจนเราอยากแอบขอสูตรก็คือยำแตงดอยรสบางๆ กินแล้วช่วยเจริญอาหาร ทั้งยังดับร้อนแดดยามสายได้ดีเหลือเชื่อ

หลังอิ่มหนำกันจนแรงกายเริ่มกลับมา กิจกรรมในภาคบ่ายนั้นก็ชวนให้หลายคนตื่นตาและตื่นเต้น เพราะคือการลุยเข้าไปเก็บผลผลิตในไร่หมุนเวียนมาสร้างปฏิทินนำเสนอสรรพคุณ รสชาติ ลักษณะ รวมถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยว เพื่อจัดการความรู้ในไร่หมุนเวียนให้เป็นระบบในแบบของตัวเอง และน่าตื่นตากว่านั้นตรงโจทย์ที่คณะดำเนินงานยื่นให้ผู้เข้าร่วมคิด ‘ผลิตภัณฑ์’ จากผลผลิตในไร่หมุนเวียนเพื่อเป็นไอเดียให้สมาชิกในชุมชนไว้ต่อยอดสร้างรายได้ในอนาคต

ซึ่งไอเดียของปฏิทินและผลิตภัณฑ์นั้นก็มีความว้าวแตกต่างกันไปตามแบ็คกราวนด์ของสมาชิกแต่ละกลุ่ม อาทิ การทำปฏิทินแยกรสชาติของผลผลิตในไร่หมุนเวียนออกเป็นเฉดรสอย่างละเอียด เพื่อให้ชาวบ้านสามารถจับคู่รสชาติวัตถุดิบมาปรุงเป็นอาหารจานใหม่ได้อย่างง่ายๆ แบบไม่ต้องมีชื่อเมนูมาจำกัดความคิดสร้างสรรค์ หรือการนำสมุนไพรในไร่หมุนเวียนกลิ่นหอมสดชื่นมาเปลี่ยนเป็นชาเบลนด์ (Blend Tea) ไว้ชงกับน้ำร้อนดื่มแก้กระหายแถมยังมีสรรพคุณหลายประการ สำคัญคือมีเรื่องราวเบื้องหลังถ้วยชาที่อาจจุดความสนใจผู้ดื่มให้หันกลับมา ทำความเข้าใจเรื่องราวของไร่หมุนเวียนด้วยความรู้สึกเป็นมิตรมากกว่าเดิม

หลังกิจกรรมในไร่หมุนเวียนดำเนินไปจนเย็นย่ำ ผู้ร่วมทริปทุกคนก็ล้อมวงแลกเปลี่ยนความคิดและความเข้าใจกันกระทั่งพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า จากนั้นกลุ่มนักพัฒนากาแฟที่ร่วมเดินทางมาด้วยกันก็นัดหมายกับพวกเราว่า พรุ่งนี้คงถึงเวลาของการเดินเท้าเข้าไปดูป่ากาแฟเก่าแก่กันเสียที!

ต้นกาแฟแห่งความหวัง

เช้าวันรุ่งขึ้น สมาชิกทุกคนพร้อมใจมาเจอกันตรงลานกว้างของชุมชน ก่อนลัดเลาะไปตามเส้นทางเล็กๆ เลียบกับป่าครึ้ม ลึกและชันในระดับเราต้องคว้าไหล่คนข้างหน้าไว้ไม่ให้ไถลลื่นลงจากเนิน ราว 10 นาทีหลังจากนั้น เราก็พบต้นกาแฟต้นแรก เป็นต้นกาแฟอาราบิก้าความสูงราว 2 เมตร นับว่าสูงกว่าต้นกาแฟที่เราเคยพบเจอบนดอยอื่นมากทีเดียว ก่อนมารู้ทีหลังว่าเพราะต้นกาแฟเหล่านี้เติบโตตามธรรมชาติ ไม่มีการตัดแต่งกิ่งหรือบำรุงลำต้นเหมือนอย่างสวนกาแฟที่มีการพัฒนาต่อยอดมาหลายสิบปี

กลุ่มนักพัฒนากาแฟ นำโดยกลุ่มสหายที่มีสมาชิกเป็นเจ้าของแบรนด์กาแฟ เจ้าของร้านกาแฟ บาริสต้า รวมถึงนักคั่วกาแฟ เริ่มต้นน้ำร้อนและดริปกาแฟให้สมาชิกในทริปจิบกัน พลางเปิดประเด็นถึงการพัฒนากาแฟของชุมชนขุนแม่หยอดควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดย วัล-วัลลภ ปัสนานนท์ นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ปัจจุบันวงการกาแฟไทยกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลาดของกาแฟพิเศษ (specitalty coffee) มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ กาแฟจึงนับเป็นพืชเกษตรกิจที่จะช่วยให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งอาข่าและปกาเกอะญอซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกกาแฟมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

เท่ากับว่า หากการพัฒนากาแฟ ทั้งเรื่องของการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟ การพัฒนากระบวนการทำกาแฟ (coffee processed-กระบวนการเพิ่มกลิ่นรสของกาแฟให้ซับซ้อน) รวมถึงเรื่องการนำเสนอแบรนด์ของกาแฟไทยออกสู่ตลาดโลก เป็นไปอย่างก้าวหน้า โอกาสในการสร้างแบรนด์กาแฟไทยให้เติบโตระดับสากลก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน ซึ่งต้นกาแฟเก่าแก่ของชุมชนขุนแม่หยอดก็นับเป็นหนึ่งความหวังใหม่ ด้วยต้นกาแฟเหล่านี้ลักษณะดี เติบโตตามธรรมชาติ จึงเเข็งแรงและทนทานต่อโรคภัย สิ่งที่ต้องร่วมมือกันพัฒนาต่อไปก็คือการนำองค์ความรู้ในการผลิตกาแฟมาช่วยเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้ดีขึ้นและดีขึ้น

กาแฟในแก้วพร่องลงพร้อมกับบทสนทนาเกี่ยวกับการพัฒนาที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เรามองไปยังต้นกาแฟที่รายล้อมสมาชิกร่วมทริปอยู่นับร้อยนับพันต้น ขณะนั้นก็สัมผัสได้ถึงความหวังบางอย่างกำลังค่อยๆ เรืองรองขึ้นในชุมชนขุนแม่หยอด เป็นความหวังที่จะช่วยพัฒนาทั้งคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

ภาพถ่าย: อรุณวตรี รัตนธารี, บุญศรี ฉลักนก, พงษ์ศิลา คำมาก