สงกรานต์ผ่านไปไม่นานก็ถึงฤกษ์งามยามดีที่ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนเล็ก ๆ บนเกาะรัตนโกสินทร์อันเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และสังคมที่หลายคนยังคงติดตามให้ความสนใจมาตลอด ได้จัดพิธีสมาพ่อปู่ป้อมมหากาฬ ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่เมื่อครั้งคุณตาคุณยายยังเด็ก เป็นพิธีกรรมที่เชื่อมร้อยจิตวิญญาณของชุมชนเข้ากับพื้นที่ ซึ่งสืบทอดกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน และชาวชุมชนก็ได้ร่วมกับ Mahakan Model กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พยายามเสนอทางออกในการให้คนอยู่ร่วมกับเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป จัดกิจกรรมชื่อน่ารักว่า ‘แปลงผัก แปลงเมือง’ ขึ้นในวันเดียวกันด้วย

เริ่มต้นจากแปลงผัก

เหตุผลที่ต้องปลูกผักนั้นเริ่มต้นจากกระบวนการร่วมสร้าง (Mahakan Co-Creation) ในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ‘แปลงผัก’ เป็นหนึ่งในสิ่งที่ชาวชุมชนและหลายคนเสนอให้เกิดขึ้นแต่ยังไม่สบโอกาสที่จะได้เริ่มดำเนินการ ด้วยสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย จนกระทั่งต้นปีที่ผ่านมามีการรื้อบ้านเรือนในชุมชนเพิ่มเติม ทำให้เกิดพื้นที่ว่างเปล่ากลางหมู่บ้านไม้โบราณ ไอเดียนี้จึงถูกนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยชาวชุมชนเลือกที่จะปรับพื้นที่บ้านที่หายไปเหล่านั้นให้กลายเป็นแปลงผักสวนครัวในชุมชน เป็นแหล่งอาหารของชาวป้อมมหากาฬ ที่ทุกคนเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ แปลงผักเหล่านี้ก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่หากใครแวะเวียนเข้ามาก็สามารถมารดน้ำพรวนดิน ดูแลผักสวนครัวเหล่านี้ร่วมกับชาวชุมชนได้อย่างเต็มที่ ตามแนวคิดที่ชาวชุมชนพยายามเสนอให้พื้นที่นี้เป็น Living Museum หรือสวนสาธารณะสำหรับทุกคนที่มีชาวชุมชนอาศัยอยู่ด้วยได้ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในการแสดงออกให้เห็นถึงพลังในการเปลี่ยนแปลงเมืองของพลเมืองธรรมดาที่อยากมีส่วนร่วมในการออกความคิด เสนอแนวทางในการพัฒนาพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองอย่างจับต้องได้ง่ายใกล้ตัวที่สุด นั่นคือเรื่องของอาหารการกิน

แปลงผักให้เป็นรอยยิ้ม
บรรยากาศในวันงานเป็นไปอย่างสนุกสนานคึกคักด้วยผู้คนจากหลากหลายที่มา ทั้งคนรักเมือง คนรักต้นไม้ คนสนใจการปลูกผัก หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวทั้งที่ตั้งใจมาร่วมงานและอีกหลายคนที่เดินเข้ามาโดยบังเอิญก็ได้รับต้นกล้าพืชผักกันไปคนละต้น ร่วมกันลงแรงปลูกพืชผักสวนครัว อย่างพริกขี้หนู มะเขือ ตะไคร้ ฯลฯ ลงในดินแต่ละแปลง โดยมีเสียงกลองยาวของชาวชุมชนตีประโคมสร้างสีสัน แถมยังต่อด้วยการแร็ปจากโปรโตซัว (ProtoZua) แรปเปอร์ผู้มีหยิบจับประเด็นทางสังคมมาเรียงร้อยชวนผู้คนให้ฉุกคิด สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้ทุกคนในงานจนลืมอากาศร้อนกว่า 40 องศาเซลเซียสในวันนั้นไปได้เสียสนิท

เปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกัน        

ช่วงบ่ายมีการล้อมวงพูดคุยเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันของสิ่งใหม่ในพื้นที่เก่าท่ามกลางความท้าทายของการพัฒนาเมืองที่กำลังเกิดขึ้น โดยมี ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร จากคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร และศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ร่วมก่อตั้ง Mahakan Model ในหัวข้อ ‘เราอยู่ร่วมกันได้ เมืองเก่า ก้าวใหม่?’ ประเด็นในการพูดคุยเริ่มต้นตั้งแต่เหตุและผลในการสร้างเมืองเก่าในอดีต การมีอยู่ของชุมชนป้อมมหากาฬมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์มากกว่าแค่ตัวป้อมหรือกำแพงพระนคร แต่เป็นประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างเมืองที่ต่อเนื่องกันมาตลอด 235 ปีจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นการมีอยู่ของชาวชุมชนป้อมมหากาฬก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมที่ควรค่าแก่การรักษาไว้เช่นกัน

แม้จะเป็นกิจกรรมเล็ก ๆ ที่จัดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ก็นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองด้วยมือของคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างร่วมกัน และแสดงให้อีกหลายคนเห็นว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใคร แตกต่างกันมากเพียงไหน เราก็อยู่ร่วมกันได้