เป็นเรื่องน่าดีใจที่ในบ้านเรามีศิลปินนักออกแบบจำนวนไม่น้อย ที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกร้อน และการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อให้ผลงานของพวกเขาเป็นสื่อสร้างความตระหนักรู้ในปัญหาดังกล่าวที่นับวันดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที

ใน Mango Art Festival 2023 ครั้งนี้เองก็เช่นกัน เราได้เห็นผลงานศิลปะและออกแบบหลายชิ้นที่หยิบยกเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาพูด ไม่ว่าจะเป็นจากศิลปินรุ่นพี่ที่ทำงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง หรือศิลปินรุ่นน้องที่เพิ่งก้าวเข้ามาในวงการ

ปีนี้ Mango Art Festival มาในธีม “Rise” ที่หมายถึงการเติบโต ความรุ่งเรือง และความเป็นไปได้ที่ไม่มีขีดจำกัด ซึ่งพร้อม ๆ กับการเติบโตของศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะศิลปินนักออกแบบเลือดใหม่ ที่ทางทีมผู้จัดงานของ Mango ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ อีกประเด็นหนึ่งที่พอจะตีความออกมาจาก “Rise” ก็คือ การปลุกให้สังคมตื่นขึ้นมาตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง หลังจากที่เรื่องนี้ถูกละเลยไปในช่วงที่โลกมีปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องกังวลมากกว่า อย่างการระบาดของโควิด-19

หลังจากไปเดินชม Mango Art Festival ที่ River City Bangkok เมื่อ 2-7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา Greenery. ขออาสานำเอาผลงานศิลปะและงานออกแบบจำนวนหนึ่งที่พูดเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าสนใจมาฝากกัน

ศิลปินหัวใจกรีน จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง
ชื่อของ ต้น-ปฐมพงษ์ ทองล้วน ไม่ใหม่แล้วสำหรับ Mango Art Festival เมื่อปีที่แล้ว ต้นเคยจัดแสดงผลงานจิตรกรรมชุด “ลมหายใจแห่งอนาคต” โดยความน่าสนใจที่สุดของผลงานชุดนี้คือ ถึงเนื้อหาของ “ลมหายใจแห่งอนาคต” จะเกี่ยวกับเรื่องมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควันพิษ PM2.5 ที่เป็นประเด็นร่วมสมัยของสังคมที่หลายคนให้ความสนใจ ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา แต่ศิลปินหนุ่มคนนี้ไม่ได้เพิ่งสร้างสรรค์งานชุดนี้ขึ้น เพราะจริง ๆ แล้ว จิตรกรรมชุดดังกล่าวที่เป็นรูปผู้คนในสังคมใส่หน้ากากกันมลพิษขณะใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป เป็นผลงานที่เขาเริ่มทำขึ้นตั้งแต่เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในขณะที่เป็นนักศึกษาปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ในงานปีนี้ ต้นมีผลงานจิตรกรรมมาจัดแสดง 2 ชุด คือ “ในวันที่ฉันต้องการอากาศบริสุทธิ์” ที่ยังคงมีเนื้อหาเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ แต่คราวนี้ นอกจากผู้คนในเมืองจะใส่หน้ากากกันมลพิษแล้ว ภายในหน้ากากก็ยังมีต้นไม้ฟอกอากาศหลากหลายสายพันธุ์รวมอยู่ด้วย ทำให้ตีความได้ถึงความสำคัญของต้นไม้ที่จะช่วยปกป้องพวกเราจากฝุ่นควัน

และอีกชุดหนึ่งคือ “วันที่หิมะโปรยปราย” ที่เขาวาดสถานที่แลนด์มาร์กต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะขาวโพลน โดยงานชุดหลังนี้อาจเป็นการคลายความร้อนให้คนไทยท่ามกลางที่อุณหภูมิทั่วประเทศทะยานขึ้นสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมทั้งอาจเป็นการบอกเล่าถึงความแปรปรวนของสภาพอากาศอันเนื่องมาจากปัญหาโลกร้อน จนวันหนึ่งเราอาจได้เห็นหิมะตกในกรุงเทพฯ ก็เป็นได้

ถึงแม้ “ในวันที่ฉันต้องการอากาศบริสุทธิ์” จะไม่ได้มีเนื้อหาต่างไปจาก “ลมหายใจแห่งอนาคต” มากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เราชอบคือ จากงานชุดแรก ที่เขาใช้โทนสีทึม ๆ แบบเดียวกับจิตรกรรมส่วนมากในยุคก่อนที่พูดถึงปัญหาสังคม มาครั้งนี้ เขาเลือกใช้สีสันที่สว่างและสดใสมากขึ้น ซึ่งก็ดูจะทำให้ผลงานของเขาเรียกความสนใจจากกลุ่มผู้ชมได้กว้างขึ้นเช่นกัน

ศิลปินหัวใจกรีนอีกคนที่เราอยากแนะนำให้รู้จักเป็นสาวน้อยวัยเพียง 17 ปีเท่านั้น …ใบปอ-ภัทรานิษฐ์ พัฒรชนม์ เกิดและเติบโตในครอบครัวศิลปินอย่างแท้จริง เพราะมีทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นศิลปินด้านจิตรกรรมไทย และตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ใบปอก็เคยมีโอกาสช่วยงานคุณพ่อเขียนจิตรกรรมฝาผนังทางพุทธศาสนา ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดเลย บ้านเกิดของคุณแม่

แต่ใน Mango Art Festival ครั้งนี้ ผลงานจิตรกรรมที่ใบปอนำมาจัดแสดงมีรูปแบบต่างไปจากจิตรกรรมไทยโดยสิ้นเชิง เพราะเธอเลือกวาดภาพแนวเหนือจริง (Surrealism) เป็นรูปสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในธรรมชาติ ที่มีอวัยวะบางส่วนเหมือนกับมนุษย์ เช่น สัตว์ทะเลที่มีมือและนิ้ว ดอกไม้ผลไม้ที่มีลำตัวแบบคนหรือมีลูกตา

ใบปอที่กำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยช่างศิลป บอกว่า ก่อนหน้านี้เธอได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศฝรั่งเศส และได้เห็นการอนุรักษ์จัดการสิ่งแวดล้อมที่นั่นที่มีประสิทธิภาพมาก ในขณะที่ในประเทศไทยเองยังไม่มีการให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังนัก โดยเฉพาะเธอมองว่า มนุษย์มองตัวเองสูงส่งเกินไป จนไม่เห็นความสำคัญของสิ่งมีชีวิตอื่นในธรรมชาติ ในผลงานชุดนี้ เธอจึงอาสาเป็นปากเสียงแทนสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่พูดไม่ได้

ศิลปะไม่สร้างขยะ ศิลปะนำขยะมาสร้าง
ช่วงหลายปีมานี้ การนำเอาวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และวัสดุจากการรีไซเคิลมาใช้สร้างสรรค์งานศิลปะเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ระดับโลกที่มาแรง และศิลปินไทยจำนวนหนึ่งก็นำไอเดียนี้มาปรับใช้ อย่างใน Mango Art Festival ครั้งนี้ ก็มี โอภาส โชติพันธวานนท์ ที่สร้างสรรค์ประติมากรรมหน้ากากจำนวน 100 ชิ้น โดยวัสดุที่เขาใช้เป็นการกระดาษรีไซเคิลที่ถูกนำมาขึ้นรูปใหม่ แม้ว่าแนวคิดของ “100 Masks” จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่การที่เขาใช้สีอะคริลิกวาดลวดลายบนหน้ากากได้อย่างสวยงาม ก็นับเป็นการสร้างมูลค่าให้กระดาษรีไซเคิล เพราะผลลัพธ์ที่ออกมาดูราวกับงานเซรามิกยังไงยังงั้น

ส่วนศิลปินอีกคนที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ นิ่ม-แก้วตระการ จุลบล จาก The Rubber PARAdoxii ที่ชาว Greenery. น่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว นิ่มทำงานศิลปะโดยใช้ยางพาราเป็นวัสดุหลัก ด้วยเหตุผลสำคัญสองข้อ คือหนึ่ง-ยางพาราสะท้อนรากเหง้าความเป็นชาวนครศรีธรรมราชของเธอ และสอง-ในยุคสมัยที่ราคาของยางพาราตกต่ำ เธอต้องการคืนชีพ คืนศักดิ์ศรี ให้กับยางพาราด้วยการนำยางพารามาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ เพื่อเพิ่มมูลค่าและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับผลผลิตทางการเกษตรชิ้นนี้

ที่ผ่านมา ผลงานศิลปะจากยางพาราของนิ่มมีให้เห็นทั้งศิลปะสื่อผสม ศิลปะติดตั้งจัดวาง ศิลปะการแสดงสด หรือแม้แต่แฟชั่นโชว์ ส่วนในครั้งนี้ เธอนำผลงาน “A Memory Space” มาจัดแสดงให้เราได้ดูกัน โดยที่เรารู้ว่าผลงานของเธออยู่ตรงไหนตั้งแต่ยังไม่เห็นชิ้นงานเลยด้วยซ้ำ เพราะ “กลิ่น” ของยางพารานั้นโดดเด่นมาแต่ไกล

นิ่มใช้ทั้งตัวแผ่นยางพาราและน้ำยางพารามาใช้ทำงาน ศิลปะยางพาราของเธอนั้นจัดเป็น ศิลปะชั่วคราว หรือ Ephemeral Art ที่นำธรรมชาติมาเป็นวัสดุสร้างสรรค์งานศิลปะ โดยไม่รบกวนธรรมชาติเหล่านั้น ซึ่งเมื่อชิ้นงานดังกล่าวใช้วัสดุธรรมชาติที่ไม่จีรัง ตัวงานจึงจะไม่คงอยู่ตลอดไปเหมือนแนวคิดของศิลปะแบบขึ้นหิ้งจากโลกเก่า ที่สำคัญ การสูญสลายของชิ้นงานนั้นเป็นการย่อยสลายทางธรรมชาติที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

วัสดุธรรมชาติ เท่แบบร่วมสมัย 
แบรนด์งานออกแบบหลายเจ้าในบ้านเราได้มีการนำเอาวัสดุจากธรรมชาติหรือวัสดุเหลือใช้ มาสร้างสรรค์เป็นงานออกแบบร่วมสมัยที่เท่และเก๋มาหลายปีแล้ว อย่างหนึ่งในแบรนด์ที่สร้างชื่อจากการนำเอาผักตบชวาที่มีอยู่มากมายในแม่น้ำลำคลองมาใช้เป็นวัสดุในงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ก็คือ Yothaka โดยใน Mango Art Festival ครั้งนี้ ทางแบรนด์ก็ได้นำเก้าอี้ทรงสูง ‘SURAA’ ที่ออกแบบโดย สุวรรณ คงขุนเทียน มาจัดแสดง

ยังมีแบรนด์ดีไซน์ที่มีผลงานน่าสนใจอื่นอีก เช่น AmoArte ที่มักนำเอาวัสดุพื้นถิ่นที่พบได้มากในประเทศไทย อย่าง ไม้ไผ่ ไม้ตาล มาออกแบบเป็นชิ้นงานร่วมสมัย ในงานครั้งนี้ AmoArte จัดแสดงพาร์ทิชั่นทำจากไม้ไผ่ทาสีดำแบบโมเดิร์น ชื่อ LADA Collection โดย อมรเทพ คัชชานันท์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ซึ่งนอกจากการนำไม้ไผ่มาใช้เป็นวัสดุจะทำให้ผลงานมีกลิ่นอายความเป็นตะวันออกแล้ว ก็ยังจัดเป็นงานออกแบบที่สนับสนุนความยั่งยืน เพราะไม้ไผ่เป็นไม้ที่ปลูกทดแทนได้ง่ายและโตเร็ว

ส่วนผลงานอีกชิ้นที่สวยโดดเด่นมาก ๆ เป็นการจับมือกันระหว่าง PDM และ AGAL แบรนด์แรกนั้นหลายคนรู้จักดีอยู่แล้วว่าเป็นเจ้าของผลงานเสื่อดีไซน์เท่ ส่วนแบรนด์ที่สองนั้นมีชื่อเสียงจากเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าที่ใช้ผีมือเชิงช่างอันประณีต มาคราวนี้ พวกเขาสร้างสรรค์ตู้ไม้ ‘Tawipope’ ขึ้น โดยได้รูปทรงและแนวคิดมาจากตู้ไม้เนื้อแข็งสำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎก แต่ PDM ได้เปลี่ยนจากประตูกระจกเป็นวัสดุที่เป็นเส้นคล้ายม่านเส้น ซึ่งทำจากเสื่อพลาสติกของ PDM เองที่ถูกรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

Mango Art Festival ครั้งนี้ปิดฉากไปแล้วอย่างสวยงาม และจะกลับมาจัดแสดงอีกครั้ง 7-12 พฤษภาคม 2567 ที่ River City Bangkok ที่เดิม ซึ่งเราก็หวังว่าปีหน้าทางผู้จัดงานจะคัดสรรผลงานศิลปะและออกแบบที่มีความกรีนมาให้เราได้ดูกันอีก

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร