ข้ออ้างอันดับต้นๆ ของการไม่ทำอาหารกินเอง เพราะยุ่ง วุ่น เหนื่อย และแพง

ใช่, เราส่วนใหญ่คิดว่าการทำอาหารกินเองแพงกว่าการฝากท้องไว้กับสตรีทฟู้ด ร้านสะดวกซื้อ หรือกระทั่งร้านแฟรนไชส์ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งพอถามหาเหตุผลจริงๆ จังๆ ว่าทำไมถึงคิดว่าแพงกว่าล่ะ หลายคนก็บอกว่า เวลาเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตซื้อของมาทำอาหารที่อยากกินแต่ละที บวกลบคูณหารออกมาแล้วไม่คุ้มเท่ากับออกไปกินนอกบ้านเลย

แต่นอกจากความคุ้มค่าเรื่องราคา สิ่งที่เรามักลืมไปคือการกินอาหารนอกบ้านยังมีประเด็นเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพที่เราไม่แน่ใจว่าอาหารที่เรากินมีที่มาจากไหน ปรุงอย่างไร ความสะอาดไว้ใจได้มากน้อยแค่ไหน มีสารพิษปะปนมาหรือเปล่า

ในโอกาสใกล้หมดปี เตรียมยกเครื่องปีหน้า เราเลยอยากชวนมาคิดเรื่องนี้จริงๆ จังๆ กันดูสักที ดีไหม

ทำอาหารกินเอง ‘ดี’ กว่า

ดีเพราะเฮลท์ตี้กว่า เพราะการทำอาหารกินเอง เราสามารถเลือกได้ว่าจะกินอะไร วัตถุดิบมาจากไหน ปรุงรสยังไง สะอาดแค่ไหน ล้างผักผ่านน้ำนานเท่าไหร่ มั่นใจว่าปลอดสารปรุงแต่ง กันบูด กันเสีย แถมยังกะปริมาณได้ว่าจะกินเยอะกินน้อยเท่าไหร่ถึงจะพอดี ไม่ต้องสู้กับจิตใจเหมือนเวลาไปกินบุฟเฟ่ต์เน้นความคุ้มค่า (ที่ต้องมากินยาช่วยย่อยเพราะอึดอัดท้องทีหลัง)

ดีเพราะได้อุดหนุนเกษตรกรที่ใจดีกว่า ไหนๆ จะทำอาหารกินเองทั้งที วัตถุดิบก็ต้องดีสิ การอุดหนุนเกษตรกรอินทรีย์จึงดีกว่า แต่อุปสรรคสำคัญคืออาหารทั่วไปที่เรากินมีราคาถูกเกินไป ‘มากๆ’ เพราะระบบกดให้เกษตรกรต้องผลิตให้มาก ขายให้ถูก และพึ่งพาเคมี ความเหลื่อมล้ำที่เราชักจะชินกัน ก็มาจากอาหารราคาถูกนี่แหละ หากเรามีกำลัง ก็อุดหนุนเพื่อให้กำลังใจเกษตรกรที่เปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ตลาดนี้กว้างขึ้น ดึงดูดเกษตรกรเข้ามาทำมากขึ้น และสร้างสังคมที่แฟร์มากขึ้นจากการเลือกกินของเรานี่แหละ

ทั้งสองดีนี้ เป็นที่มาว่าทำไมเราต้องวางแผนให้ครอบ ‘ครัว’

ถูกกว่า ดีกว่า เอลท์ตี้กว่า แค่วาง meal plan

ปัญหาของ ‘การทำอาหารกินเองแพงกว่า และยิ่งซื้ออาหารอินทรีย์ยิ่งแพงใหญ่’ นั้น แก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการวาง meal plan หรือแผนการว่าแต่ละวันในหนึ่งสัปดาห์จะกินอะไร แล้วไปจ่ายตลาดรวดเดียว เพราะการที่เรารู้ว่า วันนี้จะกินอะไร วันไหนเข้าครัวปรุงเอง วันไหนฝากท้องนอกบ้าน เราจะคำนวณวัตถุดิบได้คร่าวๆ ว่าควรจะซื้อวัตถุดิบอะไรเท่าไหร่ จะทำผัดผักต้องมีผักอะไรบ้าง มื้อนี้กินแครอทแค่ครึ่งหัว อีกครึ่งหัวเอาไปทำเมนูถัดไปยังไงดี การวางแผนทำให้เราสามารถจัดการวัตถุดิบให้หมดจดไม่เหลือทิ้ง เราจึงไม่ต้องทิ้งวัตถุดิบไปเปล่าๆ ทั้งที่เสียเงินไปแล้ว เมื่อเทียบกับการนึกอยากทำเมนูอะไรก็วิ่งไปซื้อสำหรับทำเมนูนั้นๆ แล้วก็ปล่อยวัตถุดิบที่เหลือคาตู้เย็นไว้ นึกได้เมื่อไหร่ก็มาโละสักที กินได้ก็ดีไป หมดอายุแล้วก็กลายเป็นขยะอาหารสร้างปัญหาการจัดการอีกต่างหาก เห็นมั้ยว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ราคาเท่ากับพฤติกรรมการกิน

เอาล่ะ เก็ตไอเดียคร่าวๆ แล้ว ไปลองวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนกันเถอะ

1. วางแผนออกมาให้ชัด

กำหนดไปเลยว่าเราในหนึ่งสัปดาห์เราต้องไปตลาดหนึ่งครั้ง แล้วเริ่มต้นคิดเมนูคร่าวๆ ที่เราอยากกินตลอดหนึ่งสัปดาห์ โดยใช้วัตถุดิบไม่กี่อย่าง (แต่ก็ไม่ให้ซ้ำซากจนน่าเบื่อ) เมื่อได้เมนูมาแล้วก็ลองแตกออกมาเป็นวัตถุดิบ หรือจะตั้งต้นจากวัตถุดิบแล้วแตกเป็นเมนูก็ได้ เช่น กะหล่ำปลีหนึ่งหัว วันแรกจะทำต้มจืด วันที่สองจะซอยกินสดๆ กับน้ำสลัดงา เหลืออีกนิดหน่อยลวกกินแกล้มน้ำพริก และอย่าลืมวางลำดับดีๆ เพราะผักบางชนิดอร่อยเมื่อกินสดๆ ให้หมดในวันสองวัน แต่บางชนิดพอรอท่าอยู่ปลายสัปดาห์ได้ การเห็นภาพชัดเจนทำให้เราบริหารจัดการได้ดีเชียวล่ะ

2. ไปตลาดสีเขียวใกล้บ้าน หรือผูกปิ่นโตกับเกษตรกรใจดี 

อันที่จริง ถ้าเราไปหาซื้อวัตถุดิบอินทรีย์ตามตลาดสีเขียว ไม่ใช่ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหลายเลเยอร์ ราคาของวัตถุดิบอินทรีย์ก็ไม่ได้สูงขนาดนั้น ยิ่งเมื่อวางแผนซื้อมาอย่างดี บวกลบแล้วก็อยู่ในระดับรับไหวอยู่นา แถมยังได้พูดคุยรู้ที่มาของวัตถุดิบจากคนปลูก ได้ถามไถ่สูตรอาหารจากวัตถุดิบพื้นบ้านที่ไม่เคยกิน รับรองว่าฟินแน่นอน 

แต่ถ้าไม่ถนัดไปตลาดสีเขียว หรือพิกัดบ้านไม่ใกล้ตลาดไหน ลองใช้บริการออร์แกนิกสเตชั่น ระบบพรีออเดอร์ หรือออร์แกนิกแพลตฟอร์มที่มีบริการอยู่ก็ได้เหมือนกัน ระบบมักจะแจ้งเราล่วงหน้าว่าจะพรีออเดอร์อะไร เราก็ลองคิดๆ เมนูและจำนวนที่อยากได้แล้วค่อยสั่ง ถ้าเลือกวิธีนี้ ก็อาจจะรวบขั้นตอนวางแผนจากวัตถุดิบที่เราอยากพรีออเดอร์ก็ได้

3. ปรุงด้วยของดี

ผัก ผลไม้ และวัตถุดิบออร์แกนิก เชื่อขนมกินได้เลยว่าอร่อยกว่าใช้วัตถุดิบเคมีทั่วไป เพราะได้รสธรรมชาติและความสดใหม่เต็มเปี่ยม นั่นแปลว่าเราไม่จำเป็นต้องประโคมเครื่องปรุงรสจนหนักข้อให้ลำบากตับไตไส้พุง

และนอกจากวัตถุดิบ ลองมองหาเครื่องปรุงรสอินทรีย์ที่มาจากวัตถุดิบดี และกระบวนการผลิตที่ผ่านกระบวนการน้อยมาร่วมด้วยช่วยกัน ถึงจะทำอาหารไม่ค่อยเก่ง แต่ถ้าได้ใช้ของดีๆ ของคนที่ตั้งใจทำมา โอกาสจะไม่อร่อยก็ถือว่าน้อยมากเลยนะ

4. อย่าเหลือทิ้ง กินให้เกลี้ยง 

หลักการสำคัญที่มาแก้ปัญหาทำอาหารกินเองแล้วแพงกว่า คือการวางแผนดีและกินไม่เหลือ เพราะความคุ้มค่านั้น ยังขึ้นอยู่กับปริมาณขยะอาหารที่เหลือต่อสัปดาห์ที่จ่ายตลาดมา ถ้าเรากินหมด ก็เท่ากับได้รับคุณค่าของอาหารได้อย่างเต็มที่ ไม่ทิ้งไว้จนเกินความอร่อยสดใหม่ ที่สำคัญไม่มีขยะอาหารให้ต้องจัดการเป็นภาระโลกอีก

ในโอกาสใกล้จะถึงต้นปี greenery. ชวนทุกคนมาวางแผนครอบครัวด้วยกัน ด้วยการแจกเทมเพลตง่ายๆ ไว้ปรินท์ใช้ถือไปจ่ายตลาด ดาวน์โหลดได้ที่นี่เลย Greenery Meal Plan

ภาพประกอบ: npy.j