เมื่อพูดชื่อของอนุสรณ์ ติปยานนท์ นักอ่านหลายคนคงนึกถึงนวนิยายหรือเรื่องสั้นกลิ่นอายโรแมนติกอันเป็นเอกลักษณ์ แต่ My Chefs งานเขียนล่าสุดของเขากลับไม่ใช่หนังสือนิยายแบบที่หลายคนคุ้นเคย หากเป็นความเรียงที่เล่าประสบการณ์และความทรงจำของเขากับอาหาร ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน ในฐานะคอลัมนิสต์ว่าด้วยเรื่องอาหารและวัฒนธรรมอีสาน วิทยากรผู้เข้าร่วมเสวนาในประเด็นทางอาหาร รวมถึงผู้ปรุงอาหารในกิจกรรม Chef’s Table บางครั้งบางคราว

My Chefs คือความเรียงบันทึกประสบการณ์ การเดินทาง และมื้ออาหารของอนุสรณ์ ที่เล่าผ่านความสัมพันธ์ของเขากับผู้คนมากมายในหลายช่วงเวลาของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำเกี่ยวกับอาหารการกินในวัยเด็ก การเข้าครัวอย่างหลงใหลจริงจังตอนไปเรียนต่อที่ลอนดอนพร้อมๆ กับเป็นผู้ช่วยเชฟในร้านอาหาร จนถึงช่วงเวลาที่เขากลับมาสนใจอาหารในเชิงวัฒนธรรมในปัจจุบัน ด้วยวิธีการเล่าที่เดินเรื่องสนุกและลื่นไหลเหมือนอ่านนิยายช่วยให้เรารู้สึกอินไปกับเรื่องราวของเขาได้ไม่ยาก ซึ่งการร้อยเรียงประสบการณ์ชีวิตกับมุมมองของอาหารที่ลึกซึ้งของผู้เขียน ทำให้หนังสือเล่มนี้ทั้งชวนติดตามและชวนให้เราคิดไปพร้อมๆ กัน

บทตอนหนึ่งที่เราชอบมากๆ คือตอนที่เล่าเรื่องการเดินทางเพื่อไปเรียนรู้วิถี ‘กินข้าวกินปลา’ ของผู้คนริมฝั่งโขง ในอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ที่ทำให้อนุสรณ์ได้รู้จักวิธีการทำลาบปลาตองกราย ซึ่งการทำลาบของผู้คนริมฝั่งโขงนั้น นอกจากจะมีเมนูลาบที่ทำจากเนื้อปลา ส่วนอื่นๆ ของปลาที่ไม่ได้ใช้อย่างหัวปลาและก้างปลายังถูกนำไปปรุงรสเป็นต้มปลาเพื่อกินควบคู่กันไปอีกด้วย นอกจากจะทำให้เราเห็นวิธีการปรุงปลาที่หลากหลาย ยังสะท้อนวัฒนธรรมการกินปลาที่ฝังลึกอยู่ในวิถีการกินของชาวอีสานและชาวลาวเหมือนที่อนุสรณ์เขียนไว้ว่า

‘การกินลาบปลาในวิถีอีสานและวิถีลาวแบบดั้งเดิมจึงไม่ใช่การกินลาบเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการกินที่แสดงความเคารพต่อปลาตัวนั้น ด้วยการใช้ทุกส่วนของมันทำอาหาร’

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีเพียงเรื่องเล่าจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน แต่เขายังสอดแทรกเรื่องราวของเชฟคนดังหรือบุคคลสำคัญที่ขับเคลื่อนวัฒนธรรมอาหารระดับโลกไว้อีกมากมาย เราได้รู้จักกับ ไมเคิล พอลแลน นักวิชาการชาวอเมริกันเจ้าของวลีเด็ดที่ว่า ‘อย่ากินอะไรก็ตามที่ยายของคุณไม่เคยมองมันว่าเป็นอาหาร’ ได้รู้จักกับคาร์โล เพตรินี่ นักวิชาการด้านอาหารผู้ก่อตั้งแนวคิดสโลว์ฟู้ดมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ที่ประกาศหลักการ 3 ข้อเกี่ยวกับอาหารที่มนุษย์ควรกิน ได้แก่ Good (อาหารที่ดี) Clean (อาหารที่สะอาด) และ Fair (อาหารที่เกิดจากความยุติธรรมในการผลิต) ซึ่งกลายเป็นแนวคิดการกินที่แพร่หลายในปัจจุบัน

นอกจากเรื่องเล่ามากมาย อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ถูกสอดแทรกไว้ในหนังสือตลอดทั้งเล่ม คือสารพัดชื่อของวัตถุดิบท้องถิ่นที่เราไม่มีทางเจอในห้างสรรพสินค้าหรือท้องตลาดทั่วไป เช่น ไข่มดแดงที่มีเฉพาะฤดูหน้าในกาดนัดแถววารินชำราบ ปลาร้าที่ขายได้ปีละครั้งเพราะทำจากปลาตะเพียน หรือผักสะแลที่ออกช่วงปลายฤดูหนาวในวัดโป่งน้อย ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้ไม่เพียงแค่เปิดโลกการกินของเราให้กว้างไกล แต่ยังสะท้อนถึงความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารที่เราสร้างได้จากการกิน เหมือนกับที่ในหนังสือบอกไว้

‘การเลือกซื้อสินค้าที่เฉพาะเจาะจงเช่นนี้ ทำให้การกินของเรามีเป้าหมายยิ่งขึ้น หากเราสามารถเลือกสรรวัตถุดิบและกระบวนการปรุงได้ เราย่อมมีเสรีภาพในการกำหนดว่าจะเลือกวัตุดิบที่มีผลต่อชีวิต ต่อสังคมและต่อโลก เราสามารถกินเพื่อลดภาวะโลกร้อน เราสามารถกินเพื่อรักษาป่าชุมชน เราสามารถกินเพื่อรักษาระบบนิเวศของท้องทะเล เราสามารถกินเพื่อเปลี่ยนโลกของเราได้’

การเดินทางไปในเส้นทางอาหารของอนุสรณ์ จึงไม่เพียงแค่สะท้อนให้เห็นถึงวัตถุดิบในท้องถิ่นที่มากมายและวัฒนธรรมของการกินที่หลากหลาย แต่ยังทำให้เห็นว่าการกินของเรานั้นมีเรื่องราว มีผู้คน มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร

และหนังสือเล่มนี้จะทำให้เราใส่ใจหลากหลายเรื่องราวที่อยู่ในอาหารการกินของตนเองมากขึ้นอย่างแน่นอน

My Chefs
อนุสรณ์ ติปยานนท์
สำนักพิมพ์แซลมอน  

ภาพถ่าย: อนุสรณ์ ติปยานนท์