เคยไหมคะ เวลาที่เรามีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ แปรปรวน ไม่ก็หดหู่ ซึมเศร้า หรือสมองเต็มไปด้วยความคิดที่กระจัดกระจาย มันมีผลต่อจิตใจและร่างกายไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน บางคนอาจเลือกที่จะทานยา บางคนเป็นมากๆ ก็อาจพบคุณหมอ แต่วันนี้เราจะมานำเสนออีกหนึ่งวิธีค่ะ นั่นคือการใช้ ‘ อาหาร ‘ เป็นตัวช่วย ที่จะ ground อารมณ์ของคุณลงมาให้สมดุลขึ้นค่ะ

คำว่า ‘ grounding ‘ อาจแปลได้ว่าการต่อสายดินหรือการสร้างรากฐาน ซึ่งในความหมายของการ ground อารมณ์มันก็เหมือนกับเราสร้างรากหยั่งยึดตัวเราไว้กับผืนดิน สร้างสมดุล สร้างเซนเตอร์ สร้างความหนักแน่น ไม่ลอยบินและฟุ้งไปกับความคิดและความรู้สึก ในขณะเดียวกันการที่เรา ground ตัวเอง สามารถสร้างความรู้สึกปลอดภัยมั่นคง เหมือนการกลับบ้าน อีกทั้งเป็นการดึงสติกลับมาที่ร่างกายด้วยเช่นกัน

อาหารที่สามารถช่วยให้เรารู้สึก ground ได้คือพวกพืชหัว เมล็ดธัญพืช หลายคนอาจไม่รู้ว่า พืชหัว หรือพืชที่เติบโตใต้ดิน อย่าง มันฝรั่ง มันเทศ แคร์รอต บีตรูต ฟักทอง ขิง ขมิ้น นั้นมีมากมายหลายอย่าง ทั้งเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ที่ช่วยให้อิ่มนาน และปรับสมดุลของระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด ป้องกันความอยากอาหารและการกินที่มากเกินไป นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ เป็นแหล่งของทองแดง แมงกานีส โพแทสเซียมเส้นใยที่ละลายน้ำได้ ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย มีเอนไซม์ที่เป็นประโยชน์ ถือว่ามีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก อีกสิ่งที่สำคัญคือการที่พวกเขาเติบโตใต้ดิน มีความเป็น ‘ราก’ จึงมีพลังงานที่ช่วยเชื่อมโยงตัวเรากับผืนดินมากขึ้น อีกทั้งพืชหัวเหล่านี้มีคาร์โบไฮเดรตและ ที่จะทำให้เรารู้สึกหนักท้องและ ground เราได้ดียิ่งขึ้นด้วย

นอกเหนือจากอาหารแล้ว เราอาจเสริมการ ground ทางร่างกาย ด้วยการออกไปยืนเท้าเปล่าบนสนามหญ้า ดึงความรู้สึกไปที่ฝ่าเท้าทั้งสอง ว่าเรามีรากยาวงอกลงไปที่ผืนดิน ที่ศูนย์กลางของโลกหรือก่อนรับประมานอาหาร ลองสละเวลาสัก 5 นาที ให้กลับมาอยู่กับตัวเอง หยุดทำกิจกรรมอื่นๆ สูดหายใจเข้าออกลึกยาวสัก 5 ครั้ง เพื่อช่วยเตรียมร่างกายให้ย่อยอาหารได้ดี เพราะเมื่อ nervous system ของเราเริ่มสงบและผ่อนคลาย ร่างกายก็จะส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะ ‘rest‘ (พักผ่อน)และ ‘digest‘ (ย่อยอาหาร) แล้วค่ะ

เมนูสำหรับเดือนนี้ของเราที่จะช่วย ground จะมีพระเอกหลักคือ ‘ถั่วเลนทิล’ ค่ะ ซึ่งเป็นถั่วที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศอินเดีย ว่ากันว่าเป็นพืชตระกูลถั่วที่เก่าแก่ที่สุด มีโปรตีนและไฟเบอร์สูง สามารถทดแทนเนื้อสัตว์ได้อย่างดีเยี่ยม มีวิตามินบี ฟอสฟอรัส และแมงกานีส มีธาตุเหล็กมากกว่าตระกูลถั่วอื่นๆ ถึงสองเท่า นอกจากนี้ยังมีโฟเลตสูงอีกด้วย ซึ่งดีต่อหญิงวัยเจริญพันธุ์ เพราะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของระบบสมองในเด็กทารกแรกคลอด

ถั่วเลนทิลนี้มีหลายสีและหลายขนาดค่ะ คือดำ เขียว เหลือง ส้มและน้ำตาล แต่วันนี้เราจะทำซุปอุ่นๆ ร้อนๆ ซึ่งเหมาะกับช่วงหน้าฝน อีกทั้งการทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยเสริมการ ground ได้ดียิ่งขึ้น เราจึงจะใช้ถั่วเลนทิลสีส้ม เพราะให้รสชาติค่อนไปทางหวานและให้เนื้อสัมผัสนิ่มเมื่อปรุงสุก จึงมักใช้ในการทำซุปหรือสตู

ส่วนนางเอกคือบีตรูตค่ะ ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มสีสันแล้ว ยังเป็นพืชหัวสีแดงที่อุดมไปด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ที่สำคัญมีไลโคปีน (Lycopene) ซึ่งเป็นเม็ดสีแคโรทีนอยด์ที่ให้สีแดงแก่พืชผัก ที่ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์ผิวหนังและช่วยบำรุงสายตา ป้องกันโรคต้อกระจก และยังมีตัวประกอบในเมนูนี้อีกหลากหลาย ทั้งขิง ขมิ้นและอื่นๆ ที่จะมาเสริมทัพช่วยให้คุณ ground ตัวเองกันได้ แต่จะมีใครกันบ้างไปดูส่วนผสมกันเลยดีกว่าค่ะ

ซุปถั่วเลนทิล (Lentil Pink Soup)
ส่วนผสม

– ถั่วเลนทิล 150 กรัม
– บีตรูต 1/4 ลูก
– มะเขือเทศ 1 ลูก
– หอมใหญ่ 1 ลูก
– ขิงซอยตามชอบ
– ผงขมิ้น 1 ช้อนชา
– ผักชีลาว (ตามชอบ และสำหรับแต่งหน้า)
– มิโซะ 3 ช้อนชา
– มะนาว 1 ซีก
– กะทิ 3 ช้อนโต๊ะ
– ออริกาโน
– พริกไทยดำ
– น้ำมันมะกอก
– น้ำสะอาด 500 มล.

วิธีทำ
1. ล้างถั่วให้สะอาด แล้วแช่น้ำไว้หนึ่งคืน เพื่อให้นิ่ม จากนั้นนำมาต้มประมาณ 15-20 นาที แล้วกรองน้ำออก พักไว้

2. หั่นหอมใหญ่ มะเขือเทศ บีตรูต เห็ดหอม ทรงลูกเต๋า แล้วซอยขิง

3. ตั้งกระทะหรือหม้อใส่น้ำมันมะกอก ใส่หอมใหญ่ มะเขือเทศ และบีตรูตลงไปผัดจนเริ่มนิ่ม จากนั้นเติมน้ำสะอาด ใส่เห็ดหอม ถั่วเลนทิล ขิง ผงขมิ้น และผักชีลาว ต้มทุกอย่างเข้าด้วยกัน

4. ปรุงรสด้วยกะทิ มิโซะ มะนาว และออริกาโน่ ตามชอบ ปิดไฟ ตักใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยพริกไทยดำ ผักชีลาว หรือหยดน้ำมันมะกอกด้านบนก็ได้ค่ะ เท่านี้คุณก็ได้ซุปถั่วเลนทิลสีชมพูสวยไว้ ground yourself แล้วค่ะ