ในฐานะคนเดินตลาด เราดีใจที่ช่วงหลังๆ มานี่มีตลาดน่ารักให้เดินเพลินมากมาย บ้างเป็นตลาดนัดเกษตรกรที่นำผลผลิตสดๆ จากไร่ ปลอดภัยจากสารเคมีมาพบกับผู้บริโภคโดยตรง บ้างเป็นตลาดของคนเล็กๆ ที่ตั้งใจลงมือทำสิ่งที่ใกล้ชิดและไม่เบียดเบียนธรรมชาติ และบ้างก็เป็นตลาดที่พยายามสร้างเครือข่ายของคนที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน

และในจำนวนนั้น ตลาดนัดอาร์ตแอนด์ฟาร์ม คือหนึ่งในตลาดที่เราหลงรัก

เพราะนอกจากตลาดแห่งนี้จะมีส่วนผสมของทุกสิ่งที่เราเล่ามาข้างต้น สิ่งที่ตลาดนัดประจำปีแห่งนี้บรรจุอยู่เต็มแน่นคือความเชื่อของเจ้าของพื้นที่ที่อยากสร้างสังคมของการแบ่งปันแบบ ‘ไม่เพ้อเจ้อ’ เธอและเขา (อันหมายถึง หนู-ภัทรพร อภิชิต และโจ-วีรวุฒิ กังวานนวกุล) จึงแบ่งปันฟาร์มขนาดกระทัดรัดในเมืองแม่กลอง ให้เป็นทั้งพื้นที่เรียนรู้ผ่านโครงการ WWOOF หรือเครือข่ายอาสาสมัครในฟาร์มออร์แกนิกที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก เลยรวมไปถึงพื้นที่เวิร์กช็อปแบบจริงใจให้เรียนรู้การลงมือทำ และพื้นที่ในการจัดตลาดที่ว่า

25-28 มกราคมนี้ ตลาดนัดอาร์ตแอนด์ฟาร์ม (NooJo Art and Farm Festival-NJAAF Fest) กำลังจะจัดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 3 เปิดพื้นที่ให้นักขายมากางเตนท์นอนริมสระกว้างตอนกลางคืน แล้วตื่นมาเปิดแผงขายสินค้ากันยามเช้า มีเวิร์กช็อปน่าสนใจหลากหลาย มีโรงเรียนนอกห้องสี่เหลี่ยมให้เด็กๆ เรียนรู้การซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน มีนิทรรศการภาพถ่าย มีงานฉายหนังสารคดีในโรงนา และมีบรรยากาศแห่งความถ้อยทีถ้อยอาศัยที่เราอาจจะลืมเลือนกันไปบ้าง ซึ่งนอกจากอยากจะชวนให้ทุกคนไปทำความรู้จักและหลงรักตลาดนี้ด้วยกัน เราขอชวนเจ้าของฟาร์มและเจ้าของแนวคิดนี้มาเล่าถึงความตั้งใจที่เต็มไปด้วยพลังงานที่ดี

พลังงานที่เราเชื่อว่า ส่งต่อ หยิบยื่น และบันดาลใจกันได้โดยไม่ต้องซื้อขายหรือจ่ายสตางค์

จุดเริ่มต้นของตลาดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ตั้งแต่เริ่มต้นที่เราทำหนูโจอาร์ตแอนด์ฟาร์ม เราเรียกว่าที่นี่คือพื้นที่เกษตรและศิลปะ เรามั่นใจว่าสองอย่างนี้ไปด้วยกันได้ เกษตรคือการดำรงชีพทางกาย และศิลปะคือการส่งเสริมคุณค่าทางจิตใจ ที่นี่เป็นที่ที่เราอยู่อาศัยใช้ชีวิต เป็นบ้านจริงๆ ของเรา ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าพื้นที่นี้ควรได้ทำประโยชน์ที่มากไปกว่าแค่ประโยชน์ส่วนตนของเราสองคนเท่านั้น ในที่สุดเราจึงเลือกที่จะแบ่งปันพื้นที่เปิดบ้านของเราให้ผู้อื่นได้เข้ามาสัมผัส ไม่ว่าจะผ่านการพักผ่อนในฐานะที่พัก การร่วมกิจกรรมหรือเวิร์กช็อปต่างๆ ซึ่งตลาดนัดอาร์ตแอนด์ฟาร์มก็เป็นกิจกรรมหนึ่ง เราทำมาสามครั้งแล้ว ปีละครั้ง เหมือนการเปิดบ้านประจำปีที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากขึ้นๆ ทุกปี

มีหลายเหตุผลที่ทำให้เราเลือกทำตลาดนัด เหตุจูงใจหนึ่งมาจากการที่เราเองก็เป็นคนเล็กคนน้อยที่ทำงานศิลปะ งานฝีมือ ทำงานอิสระ เป็นคนหัวอกเดียวกันกับร้านค้ารายย่อยมากมาย และเราไม่ลืมว่าครั้งหนึ่งนานมาแล้ว โจก็เคยเป็นช่างภาพข้างถนน เร่ขายโปสการ์ดภาพถ่ายและภาพเขียนบนทางเท้าสาธารณะ ต้องการเพียงแค่พื้นที่เล็กๆ และโอกาสในการทำงาน จนเมื่อวันนี้เรามีพื้นที่ เราก็เลยยินดีที่จะมอบโอกาสให้กับร้านค้ารายย่อยคนทำงานอิสระต่างๆ ที่อยู่บนเส้นทางสายเดียวกัน เข้ามาออกร้านขายผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นอกจากมุมของคนขาย ตลาดนี้ตอบอะไรคนซื้อ
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ในภาคหนึ่งคนต่างเป็นอิสระต่อกันและกัน ทำงานส่วนตัวไปตามภารกิจแต่ละคน แต่ในอีกภาคหนึ่งคนก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย แต่สภาพสังคมสมัยใหม่แยกผู้คนออกจากกัน ตัดขาดความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างมนุษย์ เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้อาจมีผลต่อจิตใจ จึงพบได้ว่าบางทีผู้คนในเมืองใหญ่เกิดอาการเคว้งคว้าง และโหยหาคุณค่าอะไรบางอย่างทางใจ ที่จริงแล้ว โดยอุปนิสัยเราสองคนค่อนข้างรักความสันโดษมาก (ยิ้ม) แต่เราก็ยังเชื่อในพลังของการรวมตัว การเป็นชุมชน ความเป็นสังคมเดียวกัน

เราอยากอยู่ในสังคมแบบไหนล่ะ เราก็สร้างเอา ทำเอา แล้วก็เอาตัวเองไปอยู่ในสังคมสิ่งแวดล้อมแบบนั้น

เราเลือกใช้กิจกรรมในรูปแบบตลาดเพราะคิดว่า ตลาดเป็นอะไรที่คนเข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก  แต่เบื้องหลังในเนื้อหาของตลาดมันจะแทรกซึมอยู่ในองค์ประกอบทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งผู้คนจะสัมผัสได้เมื่อเขาเข้ามาที่ตลาด

การที่คนซื้อได้เจอคนขายซึ่งเป็นคนทำสินค้านั้นๆ ได้รับรู้ว่าสินค้ามาจากไหน ทำอย่างไร มันเห็นคุณค่าของการจับจ่ายใช้สอยของตัวเอง คนขายก็ได้เห็นคนซื้อ ได้สำนึกว่าเราจะทำของให้คนๆ นี้กินหรือใช้ เมื่อคนคุยกัน มองตากัน เข้าใจและรับฟังกัน การซื้อขายมันไม่ใช่แค่เอาเงินแลกของแล้ว มันเชื่อมโยงคน มันเป็นสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ สิ่งเหล่านี้จะเกิดโดยธรรมชาติ

อะไรคือสิ่งที่ได้รับในการจัดตลาดในครั้งที่ 1 และ 2 จนส่งผลให้มีครั้งต่อมา
พลังค่ะ ตอนที่เราจัดตลาดนัดครั้งที่หนึ่ง มันเริ่มจากว่าเราจะมีทำบุญบ้าน แล้วเลยคิดกันว่าไหนๆ ญาติมิตรของเราก็จะมาร่วมทำบุญ ให้เขาติดสินค้ามาออกร้านเล่นขายของไปด้วยเลยดีกว่า มีร้านค้าประมาณ 10 ร้านเท่านั้นเอง งานแค่ครึ่งวันแต่ถือว่าเป็นงานเล็กๆ แต่อบอุ่นประทับใจมาก จากนั้นเราก็มีครั้งที่สอง คราวนี้ยังไงไม่รู้ร้านค้าเพิ่มขึ้นมาเป็น 60 ร้านแน่ะ มีตลาดสองวัน ร้านค้าส่วนมากมานอนกางเต๊นท์พักแรมและขายของหน้าเต๊นท์ตัวเอง กลายเป็นชุมชนตลาดแค้มปิ้ง เราก็อยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ชี้แจงคุยกับร้านค้าถึงความอัตคัดขัดสนของสถานที่ ร่มเงาก็น้อย แดดก็ร้อน น้ำประปาก็ไหลช้าเพราะเราไม่มีปั๊มน้ำ ต้องช่วยกันประหยัดน้ำ แต่เราก็อยู่ร่วมกันได้ด้วยดี งานผ่านไปอย่างราบรื่นและประทับใจ ทั้งคนที่มาออกร้านและคนที่มาเที่ยวตลาด

สิ่งที่บอกว่าเป็นพลังก็คือ เราจัดตลาดทั้งสองครั้งโดยที่ไม่มีงบประมาณ ไม่ใช้ตังค์ สาเหตุหลักก็เพราะเราไม่มีตังค์จะใช้ เราไม่ได้ใช้เงินหรืองบประมาณในการจัดงาน แต่สามารถทำงานออกมาได้อย่างราบรื่นสวยงาม มันไม่ใช่เพราะอื่นใดเลย เพราะพลังล้วนๆ ที่แต่ละคนช่วยกันคนละไม้ละมือนั่นเอง สิ่งเหล่านี้มันก็ส่งพลังกลับมาให้เราด้วยเช่นกัน ส่งแรงกันมาไป เป็นสิ่งซึ่งประเมินค่ามิได้สำหรับเรา

พลังที่ว่า มันสะท้อนหรือบอกอะไรเราบ้าง
มันตอกย้ำให้เราเชื่อว่า เหนืออื่นใดแล้วคนทุกคนปรารถนาการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลและการมีมิตรจิตมิตรใจต่อกัน คนที่มาเที่ยวตลาดมีหลากหลายกลุ่มมากเลยนะคะ ทั้งคนที่มาจากกรุงเทพฯ มาจากในเมือง มาจากต่างจังหวัด ไปจนถึงชาวบ้านที่อยู่ละแวกชุมชน แต่เสียงสะท้อนที่เราได้รับจากคนที่หลากหลายนั้นคล้ายกันคือทำนองว่า “เขารู้สึกมีความสุข” ความสุขมันเกิดจากอะไรล่ะ มันเกิดจากสิ่งที่คนหยิบยื่นให้คนนั่นเอง เมื่อเราอยู่ในสังคมสิ่งแวดล้อมที่คนเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ทำการค้าอย่างมีมิตรจิตมิตรใจต่อกัน เราย่อมเป็นสุข ใครๆ ก็เป็นสุข ไม่ใช่ว่าต้องเป็นมองโลกสวยเท่านั้นหรอก   

ในงานครั้งนี้ มีแนวคิดหลักที่คลุมงานทั้งหมดไว้ไหม
แนวคิดที่คลุมกระหม่อมของเรา ไม่ใช่แค่คลุมงาน คือเราน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระราชทานครั้งสุดท้ายแก่คุณสุเมธ ตันติเวชกุลว่า “งานยังไม่เสร็จ” มาเป็นแนวทางหลัก คำนี้เหมือนเป็นปริศนาธรรมสำหรับเรา งานคืออะไร งานของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น งานแบบนี้มันไม่เสร็จง่าย และไม่สิ้นสุดที่คนใดคนหนึ่ง หน้าที่ของเราก็คือทำงานอันไม่สิ้นสุดนี้ต่อไป ไม่เสร็จในช่วงชีวิตของเราก็ไม่เป็นไร แต่ทำให้ถึงความเป็นที่สุด และส่งต่อ เพราะฉะนั้นคำนี้ก็เตือนใจเสมอ แล้วเราเชื่อมโยงเป็นแนวคิดของตลาดครั้งนี้ก็เพื่อเตือนให้ระลึกถึงความไม่ประมาท การลงมือทำ เพราะเราเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการเล็กๆ มากมายก็คือคนทำงานที่ใฝ่ฝันจะสร้างสังคมที่ดีงามส่งต่อแก่คนรุ่นหลังเช่นกัน

เลือกร้านค้าและกิจกรรมที่เข้ามาอยู่ในตลาดนัดนี้อย่างไร
เราเลือกเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ผลิต สร้างสรรค์ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้านั้นๆ ของตนเองโดยตรง ไม่ใช่รับสินค้าจากระบบอุตสาหกรรมมาขาย สินค้าก็จะเป็นทั้งผลิตผลทางการเกษตร ที่เป็นธรรมชาติ ปลอดสารพิษ งานศิลปะ งานทำมือ งานความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ อาหารโฮมเมด เราอยากให้มีสินค้าที่หลากหลายในตลาด ถ้าแนวทางของผลิตภัณฑ์และแนวคิดของผู้ประกอบการไปในทางเดียวกันกับตลาด คือเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไรสูงสุด ผลิตด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม อยู่บนฐานคิดของการพึ่งตนเองและหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ว่าสินค้านั้นจะถูกตาต้องใจเราหรือไม่ ตรงรสนิยมเราหรือเปล่า เราไม่ใช่คนตัดสิน

แล้วเจ้าของพื้นที่จะได้เปิดร้านขายอะไรด้วยไหม
เราก็เปิดร้านด้วยตามประสาที่เราเองเป็นคนมีร้านค้ามาก่อน งานศิลปะ งานทำมือ ภาพเขียน และงานปั้น เราก็ทำขายอยู่แล้วค่ะ แต่เป็นการประดิษฐ์งานช้าๆ ซึ่งเราเรียกกันว่า slower handcraft คือช้ายิ่งกว่าช้า เช่นงานผ้าก็เย็บมือที่ช้ากว่าเย็บจักร งานปั้นดินก็ขึ้นรูปด้วยมือล้วนๆ ที่ช้ากว่าแป้นหมุน จึงแทบไม่มีสินค้า แต่เราตั้งใจว่าจะทำสินค้าที่ระลึกของงาน เพื่อระดมทุนทำระบบน้ำเพื่อการเกษตรของหนูโจอาร์ตแอนด์ฟาร์ม

และที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ เราขายพิซซ่าด้วย เรามีเตาพิซซ่าที่ปั้นจากดินด้วยฝีมือและความร่วมแรงร่วมใจของอาสาสมัครนานาชาติ ช่วงที่เขามาวูฟกับเรา คนนั้นไปคนนี้มา ต่อเติมคนละนิดละหน่อย จนกลายเป็นเตานานาชาติ กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของหนูโจอาร์ตแอนด์ฟาร์ม ที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องอาหาร แต่พูดเรื่องความร่วมมือร่วมใจ ใครมาที่นี่ก็เรียกร้องอยากกินพิซซ่า เปิดเตาขายจริงจังแค่ปีละหนเดียวนี่เอง และก็จะทำเพียงจำนวนจำกัดเท่านั้น เพื่อให้คนไปกินร้านอื่นด้วย และเพื่อเราจะได้มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นที่อยากทำด้วย ได้คุยกับคนที่มางาน คราวนี้เราจะทำเป็นบุฟเฟ่ต์พิซซ่า คือให้แต่งหน้าพิซซ่ากันเอาเองตามความชอบใจ เราทำแป้ง ทำซอส ทำเครื่องหน้าต่างๆ ไว้ให้ ทุกอย่างเป็นโฮมเมดหมด ใครอยากกินอะไรก็ใส่เอา มากน้อยตามชอบ ขายราคาเดียว ถาดละ 300 บาท โอกาสเจ๊งสูงมาก แต่ก็ไม่เป็นไร คนกินจะได้สนุกด้วยที่ได้แต่งหน้าพิซซ่าด้วยตัวเอง (ยิ้ม)

ไฮไลท์ของงานที่ไม่อยากให้พลาด
ที่จริงแล้วทุกอย่างเป็นไฮไลต์หมด (หัวเราะ) ไม่อยากให้พลาดอะไรเลย เราคิดว่าร้านค้าทุกร้านเป็นไฮไลต์ เพราะทุกคนนำเสนอสิ่งที่เขาตั้งใจที่สุด ด้วยเจตนาที่ดีที่สุด ทุกร้านจึงเป็นหมู่ดาวในจักรวาลที่พากันส่องแสงวิบวับ คนละนิดละหน่อยก็กลายเป็นความสว่างไสว นอกจากนี้เราก็มีกิจกรรมอื่นๆ ด้วย คือภายในหอศิลป์โรงนาหลังคาสีแดงก็จะได้ทำหน้าที่เป็นแกลเลอรี จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายและจำลองสถานการณ์แบกะดิน ‘ช่างภาพหาบเร่’ จากพื้นถนนมาอยู่บนแกลเลอรี โดยเพื่อนช่างภาพ 7 คนที่โจได้พบเจอและผูกพันตั้งแต่สมัยเร่ขายฝัน แล้วทุกคนก็ยังคงทำงานตามฝันของตัวเองอยู่จนปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเวิร์กช็อปที่น่าสนใจมาก ไม่ว่าจะเป็นสอนตัดเสื้อ สอนทำขนมปัง ทำงานศิลปะ สอนย้อมคราม สอนดริปกาแฟ งานปั้นดิน และเวิร์กช็อปย่อยๆ ตามร้านค้าต่างๆ อีกมากมาย เพราะเราคิดว่าคนที่มางานบางทีไม่ได้แค่อยากช้อปปิ้งซื้อของเท่านั้น แต่การได้หาประสบการณ์เรียนรู้จากคนที่ทำจริงก็เป็นโอกาสอันดีและน่าสนใจ บางทีอาจให้แรงบันดาลใจใหญ่ๆ หรือได้ค้นพบความสุขจากการทำสิ่งเหล่านี้เป็นงานอดิเรกต่อไป เราเรียกกิจกรรมนี้ว่า ‘ห้องเรียนผู้ใหญ่’ แล้วแน่นอนว่าต้องมีห้องเรียนของเด็กด้วย เราทำกิจกรรมที่เรียกว่า ‘โรงเรียนตลาดนัด’ ชวนนักกิจกรรมที่ทำงานด้านกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก มาจัดคอร์สเล็กๆ สำหรับเด็กอายุ 8 – 14 ปีให้มาเรียนรู้วิชาชีวิตนอกห้องเรียน ให้ตลาดนัดกลายเป็นโรงเรียนหลังใหญ่ และพ่อค้าแม่ขายกลายเป็นคุณครูของเด็ก บอกเล่าประสบการณ์ ถ่ายทอดแบ่งปัน ให้เด็กๆ ได้เก็บเกี่ยวสร้างเสริมประสบการณ์ตามวัยของเขา

ไฮไลต์อีกอย่างคือกิจกรรมคืนวันเสาร์ เราฉายหนัง หลังฉายหนัง เรานั่งคุยกัน อันนี้คือเราร่วมกับ Documentary club จัดฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Seed : the untold story ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกทำให้สูญหายไปของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน การครอบงำโลกอนาคตโดยเงื้อมมือของทุนใหญ่ ซึ่งเราคิดว่าที่จริงมันไม่ใช่แค่เรื่องเมล็ดพันธุ์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะเป็นความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติ หลังฉายหนังเราก็เลยชวนคนหลากหลายแบบมาทอล์คโชว์ แต่ละคนเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ด้านต่างๆ ที่งอกงาม เราหวังว่าช่วงเวลาสั้นๆ ที่พวกเขามาแบ่งปันประสบการณ์นั้น เราคนฟังทั้งหลายจะได้ผลิดอกออกผลงอกงามตามกันไปด้วย

สุดท้ายคือการร่วมฉลอง 20 ปี กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งทำงานกับชุมชนด้วยเครื่องมืออย่างของเล่นพื้นบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มที่โจและพี่น้องของเขาได้ก่อตั้งและทำงานสืบสานต่อกันมา เราจะมีวงพูดคุยถึงความเป็นมาและอนาคตที่กำลังจะเป็นไป ของการทำงานด้านพัฒนาชุมชน การรักษาภูมิปัญญา และการต่อยอดขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่ได้มีทุนสนับสนุน

ตั้งใจให้ผลลัพธ์ของ ‘เทศกาลแห่งการใช้ชีวิตร่วมกัน’ ครั้งนี้เป็นอย่างไร

ที่จริงแล้ว ผลที่เราตั้งใจไว้อยู่ห่างไกลออกไปลิบลับ ตลาดเป็นแค่กุศโลบายที่ใช้เพื่อจูงใจและให้คนเข้าถึงง่ายเท่านั้นเอง ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมง่ายๆ เช่นว่า ถ้ามีชาวนาชาวสวนสักคนได้ประจักษ์กับตัวเองแล้วว่าพืชผักปลอดสารพิษขายได้ มีราคา มีคนอยากกิน มีคนมาซื้อถึงที่ แล้วเขาเกิดแรงบันดาลใจหันมาปลูกผักแบบธรรมชาติ ปลอดสารเคมีแทน ลองคิดดูว่าผลลัพธ์ของการกระทำเล็กๆ นี้มหาศาลกว้างไกลขนาดไหน

และการที่เราใช้คำว่า ‘เทศกาลแห่งการใช้ชีวิตร่วมกัน’ มันมีนัยยะมากมายที่แฝงอยู่ในนั้น เราคิดว่าช่วงเวลาตลาดนัด 4 วัน 3 คืนคือการจำลองชุมชนชั่วคราวซึ่งครบองค์ประกอบ ‘บวร’ คือ บ้าน วัด โรงเรียน แบบที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 บอกไว้ บ้านคือร้านค้าที่มาอยู่รวมกัน กินนอนร่วมกัน ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมแห่งการพึ่งพาอาศัยกัน ผลัดกันทำเวรดูแลทำความสะอาดห้องน้ำ เก็บขยะ บางร้านเอาของแลกของแทนการซื้อขาย แบ่งอาหารให้กันกิน ช่วยกันทำร่มเงาบังแดดให้เพื่อนบ้าน มันคือชุมชนแบบที่เคยเป็นมาในอดีตนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้ออะไรเลย วัดคือเราจะมีการทำบุญบ้านเป็นการภายในด้วย และพระอาจารย์ที่เราเคารพก็เมตตาจะมาแสดงธรรมเทศนา โรงเรียนคือกิจกรรมที่เราทำทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ การให้ความรู้ เสริมประสบการณ์ชีวิต เป็นวิชานอกห้องเรียนที่จะติดตัวทุกคนจนถึงวันที่เขาเติบใหญ่ ชุมชนชั่วคราวแบบนี้จึงเป็นสังคมที่เราอยากอยู่ อยากให้คนที่เรารักอยู่ อยากให้ลูกหลานของเราเติบโตขึ้นมา และเราไม่มีเวลาที่จะมัวแต่พร่ำบ่นก่นด่า เราสร้างมันขึ้นมา ใครๆ ก็ช่วยกันสร้างมันขึ้นมาได้ เริ่มจากตรงนั้น เริ่มจากตรงโน้น เริ่มจากตรงนี้ ช่วยๆ กัน เราเชื่อแบบนี้ เราจึงทำ จึงกลายเป็นตลาดนัดอาร์ตแอนด์ฟาร์มนี่เอง

FB: NooJo-Art-and-Farm
ภาพถ่าย: หนูโจ อาร์ตแอนด์ฟาร์ม