เขียนหัวข้อขึ้นมาแบบนี้ เชื่อว่าหลายคนคงกำลังนึกภาพเชื่อมโยงกันอยู่ว่า มันเกี่ยวกันตรงไหน? แต่คณะกรรมการผู้พิจารณารางวัลโนเบลประจำปี 2020 ย่อมเห็นภาพความเชื่อมโยงและการส่งผลซึ่งกันและกันของ อาหารกับสันติภาพอย่างจริงแท้แน่นอน จึงมีมติมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2020 หรือ Nobel Peace Prize ให้กับ World Food Programme (WFP) ไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดย WFP ก็คือหน่วยงานสำคัญอีกหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาตินั่นเอง
ทันทีที่ได้ทราบผล ผู้อำนวยการของ WFP อย่างเดวิด บีสลีย์ (David Beasley) ก็เรียกได้ว่าแทบจะไม่เชื่อหูตัวเองเหมือนกัน เขาให้สัมภาษณ์กับผู้อำนวยการของ The Norwegian Nobel Institute ทางโทรศัพท์หลังมีการประกาศผลอย่างเป็นทางการว่า
“มีคนเดินเข้ามาหาผมในห้องแล้วพูดว่า ‘รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพน่ะครับ’ ผมเลยพูดว่า ‘ครับ แล้วมันทำไมเหรอ?’ แล้วเขาก็ตอบมาว่า ‘เราได้รางวัลครับ” เรียกว่าเจ้าตัวอึ้งแล้วอึ้งอีกไปเลยนั่นแหละ
เดวิดกล่าวด้วยว่า การที่ทางคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลตัดสินมอบรางวัลนี้ให้กับ WFP คือการสร้างความตระหนักเพื่อให้ทุกคนยอมรับความจริงที่ว่า เราไม่สามารถเพิกเฉยกับคนยากจน คนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือและคนที่เปราะบางทั้งหลายที่กำลังทนทุกข์ทรมานอยู่ทั่วโลกได้อีกต่อไปแล้ว
มีข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า เฉพาะในปี 2019 ที่ผ่านมา ทาง WFP ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้คนกว่า 100 ล้านคนใน 88 ประเทศทั่วโลก ที่กำลังตกเป็นเหยื่อของความอดอยากหิวโหยและความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรง
ถึงตรงนี้ เราอยากชวนทุกคนย้อนกลับไปดูคำประกาศผลอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลกันสักนิด ที่ว่า คณะกรรมการได้มีมติที่จะมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2020 ให้กับโครงการอาหารโลก (The World Food Programme) “สำหรับความพยายามในการต่อสู้กับความอดอยากหิวโหย สำหรับความอุทิศตนในการสร้างสันติภาพให้งอกงามขึ้นในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและทั้งยังมีบทบาทในฐานะที่เป็นพลังขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลังในการปกป้องการใช้ความหิวโหยเป็นอาวุธของสงครามและความขัดแย้ง”
ในคำประกาศผล ยังให้ข้อมูลที่พวกเราหลายคนอาจจะนึกไม่ถึงอีกด้วยว่า ความหิวโหยมีความเชื่อมโยงกับ armed conflict หรือการขัดกันด้วยอาวุธ (การสู้รบกันด้วยอาวุธระหว่างกองกำลังของรัฐบาลและไม่ใช่รัฐบาลจนเกิดผลกระทบกับพลเรือนหรือผู้บริสุทธิ์เป็นวงกว้าง) ซึ่งถือเป็นวงจรอุบาทว์เลยก็ว่าได้ เพราะสงครามและความขัดแย้งส่งผลโดยตรงต่อปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารและความหิวโหย พูดง่ายๆ ว่าที่ไหนมีสงคราม มีการสู้รบ ผู้คนก็ต้องได้รับผลกระทบเรื่องการขาดแคลนอาหาร และส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่ซุกซ่อนอยู่อีกมากมายตามมา จนในที่สุดก็นำไปสู่การใช้ความรุนแรง ดังนั้นเราจึงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของการทำให้ความหิวโหยกลายเป็นศูนย์ได้เลย หากเราไม่ยุติสงครามและความขัดแย้งทางอาวุธ
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมอาหารกับสันติภาพจึงเป็นเรื่องเดียวกัน
ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ลองถอยกลับมาดูสเกลที่เล็กย่อยเช่นตัวเองดูก็ได้ เราเคยหิวโหยอย่างหนักถึงขั้นมือไม้สั่น และหงุดหงิดทุกอย่างที่ขวางหน้ามั้ย? แล้วคิดดูว่าผู้คนในพื้นที่การสู้รบที่ต้องเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารเป็นเวลานาน จะรู้สึกอย่างไร
มองจากมุมนี้ WFP จึงไม่เพียงเผชิญกับความเสี่ยงในพื้นที่สงครามเท่านั้น แต่ยังเผชิญกับความหิวโหยของผู้คนจำนวนมหาศาลที่ปะทะเข้ามาในคราวเดียว เรียกว่าน่าจะเกิดขึ้นแทบทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่นำอาหารไปแจกจ่ายให้กับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและความขัดแย้งเลยก็ว่าได้
และในปีนี้ ความหิวโหยและความไม่มั่นคงทางอาหาร ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้น จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กลายเป็น pandemic ไปแล้วทั่วโลก
เดวิดเองก็เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AP เกี่ยวกับเรื่องภาวะโรคระบาดกับการขาดแคลนอาหารไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันมีประชากรโลกราว 135 ล้านคนที่กำลังเผชิญกับภาวะอดอยากหิวโหยในระดับวิกฤตหรือในระดับเลวร้าย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมาด้วย และ WFP ก็ยังวิเคราะห์ไว้เพิ่มเติมว่า โรคโควิด-19 อาจจะผลักให้ผู้คนสุ่มเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะอดอยากเพิ่มขึ้นอีกกว่า 130 ล้านคนภายในสิ้นปี 2020 นี้
WFP เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า “จนกว่าจะถึงวันที่เรามีวัคซีนป้องกันโรค อาหารคือวัคซีนที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับความโกลาหลทั้งปวง”
สอดคล้องกับที่สถาบันวิจัยชื่อดังอย่างสถาบัน Brookings ในอเมริกาเปิดเผยผลสำรวจเรื่องความไม่มั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีสมมติฐานว่า ครอบครัวที่มีลูกครอบครัวใดก็ตาม ที่เห็นด้วยกับคำถามที่ยกตัวอย่างมานี้ แปลว่าพวกเขากำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารอยู่ คำถามดังกล่าวก็คือ
อาหารที่เราซื้อมา อยู่ได้ไม่นานและเราไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้อมาเพิ่ม
เด็กๆ ในบ้านของฉันกินไม่อิ่มเพราะเราไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้ออาหาร
และหากเด็กๆ ขาดแคลนอาหารเป็นเวลานาน ก็ย่อมส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางความคิดและการเจริญเติบโตของพวกเขาอย่างไม่ต้องสงสัย
พูดก็พูดเถอะ สถานการณ์นี้น่าจะเกิดขึ้นในอีกหลายครอบครัวทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย เพราะอย่างที่เรารู้กันว่า วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ได้เปิดเปลือยให้เห็นความไม่เท่าเทียมและอีกสารพัดปัญหาที่เคยซุกซ่อนอยู่ในบ้านเรามากมายเหลือเกิน และการไม่มีเงินแม้แต่จะซื้ออาหารประทังชีวิต ก็คือหนึ่งในปัญหาดังกล่าว
ปีนี้ล่วงเลยมาจนถึงใกล้สิ้นปีกันแล้ว และหลายสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจเห็นตรงกันว่า ปีหน้าน่าจะหนักหน่วงไม่แพ้กัน แม้จะมีข่าวดีเรื่องการผลิตวัคซีนที่น่าจะใกล้ความจริงมาให้เราลุ้นกันบ้างแล้วก็เถอะ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เงินทองก็ยังต้องหา ข้าวปลาก็ยังต้องกิน เราอาจจะต้องทบทวนกันอย่างจริงจังเรื่องอาหารการกินและการสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อให้เป็นที่พึ่งได้ไม่ว่าภัยอะไรจะมาก็แล้วแต่ และประเด็นแรกที่ต้องคิดก็คือ เราสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยตัวเราเองได้หรือยัง? เราพึ่งพาตัวเองได้หรือเปล่า? จำได้มั้ยว่า ความโกลาหลที่เกิดจากการขาดแคลนจนแทบจะเป็นสงครามขนาดย่อม ก็เคยเกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อยก็ในซูเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้านเรา ในวันที่ทุกคนแตกตื่นและทยอยกักตุนอาหารกันเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
อาหารกับสันติภาพ จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ที่ทุกคนต่างก็รู้เห็นเป็นพยานกันด้วยตาตัวเองมาแล้ว หากเรายังไม่ลืมกันง่ายๆ
ที่สำคัญต้องอย่าลืมด้วยว่า การขจัดความหิวโหย หรือ Zero Hunger เป็นเป้าหมายข้อที่ 2 ของ Sustainable Development Goal หรือ SDGs ในทั้งหมด 17 ข้อ เป็นรองจากเป้าหมายข้อแรกคือ No Poverty หรือการไม่มีความยากจน นั่นเอง
ไม่ยากจน ก็ไม่ต้องอดอยากหิวโหย เมื่อท้องอิ่ม สันติสุขก็เกิด เรื่องนี้ไม่ว่าคนยากดีมีจน ต่างก็รู้ซึ้งแก่ใจ เพราะเราทุกคนล้วนเคยถูกทำร้ายด้วยความหิวโหยมาแล้ว ไม่มากก็น้อย…
ที่มาข้อมูล
www.apnews.com
www.brookings.edu
www.nobelprize.org
เครดิตภาพ: Shutter Stock