ความพยายามหาโปรตีนทดแทนนมวัว เพราะร่างกายย่อยแลคโตสไม่ได้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ใหม่กว่าคือการเลี่ยงโปรตีนจากนมด้วยเหตุผลที่ว่าอยากรบกวนวัวให้น้อยลง ลด carbon footprint และหันมาพึ่งพิงโปรตีนจากธัญพืชแทน ทุกวันนี้เราเลยได้เห็นเครื่องดื่มจำพวกนมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมเม็ดมะม่วงหิมพานต์ นมจากข้าว เคียงบ่าเคียงไหล่บนเชลฟ์คู่กับนมวัวมากขึ้น ส่วนที่ใหม่มากๆ สำหรับเราคือ นมจากข้าวโอ๊ต ที่ตัวเราเองไม่เคยลิ้มลองมาก่อน จนกระทั่งย้ายมากินหลับขยับตัวที่สวีเดนนี่แหละ  

ถ้าบ้านเรานมถั่วเหลืองคือเต็งหนึ่งเมื่อนึกถึงเครื่องดื่มจากธัญพืช ในแถบสแกนดิเนเวีย ผู้ท้าชิงคู่กับนมวัวก็เห็นจะเป็นนมข้าวโอ๊ต เพราะภูมิอากาศและสภาพดินของแถบยุโรปเหนือช่างเหมาะเหลือเกินต่อการเพาะปลูกโอ๊ต จนชาวสแกนดิเนเวียนมั่นอกมั่นใจมากว่า โอ๊ตที่ปลูกในแถบนี้เป็นโอ๊ตที่คุณภาพดีที่สุด ส่วนในสวีเดนเอง โอ๊ตเป็นธัญพืชที่ผลิตได้เองในประเทศถึง 90% เมื่อเทียบกับสัดส่วนผลิตภัณฑ์จากโอ๊ตทั้งหมดที่จำหน่ายในสวีเดน เกษตรกรกลุ่มใหญ่ของสวีเดนเชื่อว่า การขยายพื้นที่เพาะปลูกไม่ใช่ทางออกของยุคนี้ที่สะระตะทุกอย่างต้องคิดถึงการรบกวนโลกให้น้อยที่สุด ทางเลือกใหม่คือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เกษตรกรรมแบบยั่งยืนตามระบบ Sustainable intensification (SI) จึงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม ScanOat ที่ต้องการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆ เกี่ยวกับโอ๊ตในภูมิภาคนี้

ฟาร์มข้าวโอ๊ตนับเป็นหนึ่งในฟาร์มที่จับเข้ากลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนแบบไม่ต้องสงสัย นั่นเพราะโอ๊ตมีความต้านทานโรคสูง ไม่ต้องการการบำรุงมาก เป็นพืชแบบปลูกได้อย่างต่อเนื่อง (Rotation crops) จึงลดปัญหาการกัดเซาะหน้าดิน แถมยังเพิ่มไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมให้แก่ดินอีก

แต่เดิมโอ๊ตมักถูกนำไปกินเป็นอาหารเช้า ซึ่งเทียบเคียงได้กับซีเรียล แต่การผลิตเรื่องดื่มจากโอ๊ตเพิ่งเริ่มมีการวิจัยเมื่อช่วงปี 1980-1990 จนทุกวันนี้นมข้าวโอ๊ตได้กลายมาเป็นเครื่องดื่มที่ชาวมังสวิรัติ วีแกน และคนแพ้นมวัวพึ่งพาเสมอในการปรุงอาหารและเพิ่มความอร่อยในเครื่องดื่มแก้วโปรด

ส่วนแบรนด์นมจากโอ๊ตที่ปังที่สุด ฮิปที่สุด คูลที่สุดในย่านนี้ เราเห็นจะต้องยกตำแหน่งให้ Oatly ที่ไม่ได้มีความดีเด่นแค่รสชาติ หรือเทคนิคการผลิต แต่ยังเป็นการตลาดมาดกวนที่เราอยากมอบดาวดีเด่นให้แก่ทีมโฆษณาและมาร์เก็ตติ้งเหลือเกิน  

Oatly ความภาคภูมิใจติดตู้เย็นของชาวสวีดิช 

เรารู้จัก Oatly ครั้งแรกเมื่อปีก่อนตอนไปกินข้าวบ้านเพื่อนแล้วจบมื้อด้วยกาแฟ เพื่อนยื่นกล่องนมมาให้ พร้อมอวดสรรพคุณอย่างชื่นมื่นว่า นมข้าวโอ๊ตดีต่อร่างกายและโลกยังไง แถมอร่อยแบบไม่ต้องง้อนมวัวมากแค่ไหน Oatly ยังเป็นนมทางเลือกที่เราสังเกตจากหลายบ้านเพื่อนแล้วว่า แม้ไม่ได้เป็นมังสวิรัติ วีแกน หรือแพ้นมวัว Oatly ก็อยู่คู่ตู้เย็นแต่ละบ้านแบบไม่เก้อเขิน 

Oatly เป็นแบรนด์ที่ริเริ่มมาจากงานวิจัยในมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund) เมื่อ 30 ปีก่อน เริ่มแรกนักวิจัยต้องการแก้ปัญหาให้กลุ่มคนที่แพ้แลคโตสในนมวัว แล้วพบว่าเอนไซม์ในข้าวโอ๊ตมีคุณสมบัติแตกตัวและแปลงเป็นของเหลวได้ โอ๊ตยังเป็นไฟเบอร์แบบละลายได้ในน้ำ (Soluble fiber) เส้นใยในโอ๊ตเมื่อละลายในน้ำแล้วจะดูดซับน้ำไว้กับตัว ทำให้มีความหนืดเพิ่มขึ้น เส้นใยชนิดนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและเบาหวาน มีประโยชน์ต่อลำไส้ เพราะทำให้อึไหลปรื๊ดขึ้น ช่วยป้องกันอาการท้องผูกท้องเสีย เมื่อเอาคุณสมบัตินี้มารวมกับนวัตกรรมการผลิต นมข้าวโอ๊ตในนาม Oatly จึงก่อตัวขึ้น พร้อมกับการขยับขยายแบรนด์แบบบ้าดีเดือด ชูจุดขายอันแข็งแกร่งว่าเป็นเครื่องดื่มทางเลือก สารอาหารเต็มเหนี่ยว แต่ส่งแรงกระเพื่อมต่อโลกน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับนมวัว  

อร่อยได้ไม่ง้อนมวัว 

ผลิตภัณฑ์ของ Oatly มีสารพัดจนถ้าใครบอกว่านมจากธัญพืชนำไปแปรรูปได้หลายหลายไม่เท่านมวัว เราก็จะขอยื่นผลิตภัณฑ์จาก Oatly ไปให้ ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ของ Oatly แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มคือ (1) เครื่องดื่มจากโอ๊ตที่มีความเข้มข้นหลายระดับให้เลือกเหมือนนมวัว เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่ชอบดื่มเปล่าๆ กลุ่มบาริสต้าที่ใช้นมนำไปตีเป็นโฟมสำหรับกาแฟ หรือกลุ่มนักอบที่นำไปใช้เป็นส่วนผสมสำหรับเบเกอรี่ ซึ่งอันหลังนี้ Oatly โฆษณาแบบขำๆ ว่า จากนี้ไปเราก็จะบ่นว่าขนมอบแบบวีแกนหรือมังสวิรัติขาดความชุ่มชื่นไม่ได้แล้วนะ (2) เครื่องดื่มกระป๋องที่ใช้นมโอ๊ตเป็นส่วนผสม เช่น มัทฉะลาเต้ มอคค่าลาเต้ (3) โยเกิร์ตจากโอ๊ต (4) ไอศกรีมหลากรสชาติ และ (5) นมโอ๊ตสำหรับปรุงอาหาร เช่น ครีม แคร็มแฟรช (Crème Fraiche) สเปรดทาขนมปัง ที่เอาใจคนรักอาหารชนิดใดก็ตามที่ต้องใช้ครีมไปเลย เพราะผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ช่างเข้มข้นไม่แพ้ครีมที่แปรรูปมาจากนมวัว และทำเราทึ่งมากว่านมจากโอ๊ตแปรรูปได้มากมายขนาดนี้เลยเหรอ

Oatly ยังใส่ใจโลกตั้งแต่ขั้นตอนหาวัตถุดิบ เช่น โกโก้ที่ใช้ก็ต้องมาจากฟาร์มที่ปลูกอย่างยั่งยืน และดูแลเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายรับที่เหมาะสม รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์แต่ละตัวที่ 70% สามารถรีไซเคิลได้ และผ่านการบรรจุหีบห่อภายในประเทศ เพื่อลดการขนส่ง  

การตลาดแบบบ้าดีเดือด 

แค่มุ่งมั่นเชี่ยวชาญด้านโอ๊ตอย่างเดียวยังไม่พอ Oatly ยังเอาจริงกว่านั้นด้วยการทำตัวเป็นผลิตภัณฑ์ ‘พูดมาก’ ด้วยการใช้พื้นที่ทุกตารางส่วนบนบรรจุภัณฑ์สื่อสารข้อมูลเชิงลึกกับผู้บริโภคด้วยน้ำเสียงขบขัน เช่น ด้านที่โชว์ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ก็ใช้คำว่า The Boring Side (But very important) ส่วนด้านที่เหลือก็เล่ามิชชั่นขององค์กร หรือไม่ก็โน้มน้าวให้ปรับพฤติกรรมการกินแบบอ้อมๆ ด้วยข้อความที่คล้ายโฆษณาหาคู่! 

แต่ละช่วง Oatly จะปล่อยแคมเปญต่างๆ ที่สอดรับกับผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ หรือกระตุ้นให้คนใส่ใจพฤติกรรมการบริโภคมากขึ้น เช่น ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา Oatly ปล่อยแคมเปญ Show me your number ที่ท้าทายผู้ผลิตอาหารรายอื่นๆ ว่า ระบบผลิตขององค์กรตัวเองสร้าง carbon footprint ให้โลกมากแค่ไหน พร้อมกันนั้นก็โชว์ตัวเลข carbon footprint ของตัวเองแบบไม่มีหมกเม็ด เล่ารายละเอียดโปร่งใสหมดจดว่า supplier ของตัวเองมาจากแหล่งไหนในโลกบ้าง หรือแคมเปญล่าสุด Ditch milk ที่สื่อสารแบบโต้งๆ ว่าให้เลิกกินนมวัว เพราะนมโอ๊ตปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่ามาก ซึ่งแคมเปญนี้ก็สร้างไฟปะทุให้ฝ่ายตรงข้าม ผู้บริโภคบางส่วนก็ไม่พอใจว่าทำไมการตลาดของ Oatly ช่างขี้แซะขนาดนี้ แต่ Oatly ก็ยังยืนยันในข้อความและเป้าหมายของตัวเองว่า “เราไม่ได้อยากแซะคนอื่นนะ แต่แค่อยากกระตุ้นให้คนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ทุกวันนี้ระบบการผลิตของฟาร์มปศุสัตว์ใช้ทรัพยากรมากและส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก”

“เราแค่ต้องการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับอาหารและความยั่งยืน แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคอยู่ดีนั่นแหละว่าจะกินและดื่มอะไร”

ถึงอย่างนั้น Oatly ก็ยอมรับว่า ด้วยนวัตกรรมการผลิตและความต้องการเข้าถึงผู้บริโภคหลายกลุ่ม ผลิตภัณฑ์หลายตัวจึงเข้าข่ายรักโลกได้ไม่เต็มปากเต็มคำ เช่น Organic Creamy Oat ที่ยังมีน้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสม แต่ Oatly ก็เลือกใช้ปาล์มจากฟาร์มที่สืบข้อมูลการผลิตได้ (Traceability) และเป็นฟาร์มที่เฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟป่า แต่ผลิตภัณฑ์บางตัวที่ Oatly เคยใช้น้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบก็ได้ผ่านการวิจัย ทดสอบ เปลี่ยนมาใช้น้ำมันมะพร้าวแทนแล้ว ซึ่ง Oatly ก็ตั้งเป้าไว้ว่าในวันหนึ่งพวกเขาจะถอดน้ำมันปาล์มออกจากส่วนผสมได้ในท้ายที่สุด 

ภาพถ่าย: Oatly

www.oatly.com