“เราได้ทำงานร่วมกับภาคส่วนของ กทม. เลยได้ทราบข้อมูลปลายทางจากพนักงานเก็บขยะ พบว่า 48 เปอร์เซ็นต์ ของขยะที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ก็คือ ขยะอาหาร ซึ่งความจริงของขยะอาหารกองโตที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่มีคุณภาพดีแถมยังกินได้ แต่เป็นสต็อกตกค้าง เมื่อขายไม่หมดในช่วง holding time ก็ถูกผลักไสไปเป็นขยะในที่สุด ที่สำคัญ ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยขยะอาหารต่อหัวเยอะที่สุดใน South และ South East Asia เลย เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รอบ ๆ เรา”

คำบอกเล่าจากปาก รุจ วริทธิ์ธร มังกรทองสกุล CEO แอปพลิเคชัน Oho ผู้ที่จะพาเราไปรู้จักกับแอปสะดวกกรีนของคนไทย สตาร์ตอัปของคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในจุดนี้และหาทางแก้แบบสมาร์ต ด้วยการออกแบบแอปพลิเคชันสะดวกกรีนที่ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อ food surplus คุณภาพดี มากินได้ในราคาย่อมเยา เพื่อลดปัญหาการเกิดขยะอาหารจากต้นทาง ว่าแต่อะไรดลใจให้หนุ่มนักเรียนนอกที่ชีวิตไม่ eco หันมาเปลี่ยนตัวเองและอยากเปลี่ยนโลกด้วยความสามารถที่มีเพื่อจัดการกับปัญหาเรื่องขยะอาหารอย่างจริงจัง

รุ่นพี่สุดเท่และสต็อกคงค้างในร้านตัวเองคือแรงบันดาลใจ
“ผมเรียนจบสาขาเศรษฐศาสตร์ จาก UCL เมื่อก่อนเราก็ไม่ได้เป็นคน eco อะไรมากมาย ที่ลอนดอนการเดินไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องปกติ วันหนึ่งมีรุ่นพี่ซึ่งเป็นชาวต่างชาติมาเยี่ยม ระหว่างที่เราเดินไปกินข้าวที่ไชน่าทาวน์ รุ่นพี่คนนั้นจะเก็บขยะที่เป็นขวดพลาสติกทุกขวดที่เขาเห็นเพื่อนำไปทิ้งถังขยะ ตรงนั้นเองที่ทำให้เรารู้สึกว่าพี่เขาเท่จัง และเริ่มหันกลับมามองการใช้ชีวิตของเราว่าจะมีทางไหนบ้างที่เราจะปรับให้การใช้ชีวิตเรามันดีต่อโลกมากขึ้น

“พอเรียนจบกลับไทย ผมเองเป็นคนชอบกินอาหารญี่ปุ่นมาก แต่พอเกิดการระบาดของโควิด อาหารญี่ปุ่นดี ๆ หากินยาก เลยตัดสินใจเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นเอง ทำขายแบบออน์ไลน์ และใช้แต่วัตถุดิบที่พรีเมียม ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เราต้องเจอเมื่อทำธุรกิจ F&B คือสต็อกคงค้าง และสต็อกร้านเราราคาสูงเพราะเป็นวัตถุดิบพรีเมียม ด้วยการที่อาหารญี่ปุ่นต้องการความสดใหม่เชล์ฟไลฟ์ของวัตถุดิบเราจึงมีอยู่แค่สามถึงห้าวัน ซึ่งมูลค่าวัตถุดิบคงค้างของเราอยู่ที่สามพันถึงห้าพันบาทต่อกิโลกรัมเลย เราก็พยายามหาทางจัดการอยู่หลายวิธีแต่ก็ไม่ลงตัวสักที และพอไปคุยกับเพื่อนที่ทำธุรกิจอาหารก็มีปัญหานี้เหมือนกัน

“เลยคิดว่าน่าจะแก้ไขปัญหานี้ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของร้านอาหาร และยังเป็นจุดเริ่มของการเกิดขยะอาหารอีกด้วย ว่าจะทำอย่างไรให้ร้านค้าสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ว่าขณะนี้ทางร้านมีสินค้าที่เป็น food surplus อะไรบ้าง เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายและจัดการกับสต็อกอาหารพร้อมกินเหล่านั้น ซึ่งคำตอบที่ผมและเพื่อน ๆ เห็นตรงกันก็คือ แอปพลิเคชันน่าจะเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกับการช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด”

และแล้ว รุจ และเพื่อน ๆ ก็ได้ร่วมกันนำศักยภาพที่ตนเองมีมาจัดตั้งบริษัทเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันรักษ์โลกนี้ขึ้น โดยมีริชชี่ Richard Armstorng เป็นผู้อุดหนุนด้านการลงทุนของบริษัท เอก ศุภณัฐ ไทยยานันท์ ช่วยดูแลเรื่องการตลาดตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน และได้ ลูกแพร ณพัธชกรณ์ ปัณณปคุณ มาช่วยหาร้านอาหารที่เข้าใจในเจตนารมณ์เดียวกัน ในที่สุด แอปพลิเคชั่นสะดวกกรีนที่ช่วยลดปัญหาฟู้ดเวสต์นามว่า Oho ก็ได้ฤกษ์เปิดตัว รุจเล่าต่อว่า

กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ตระหนักถึงการรักษ์โลกมากขึ้นแต่ก็ยังเป็นสายสะดวกกรีน

“มีข้อมูลงานวิจัยในประเด็นเรื่องการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทย ว่ากลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ตระหนักถึงการรักษ์โลกมากขึ้นแต่ก็ยังเป็นสายสะดวกกรีน การที่จะให้เขามีส่วนช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม อะไรต่าง ๆ มันต้องเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ เราก็รู้สึกว่าโมเดลของเรามัน fix มาก ๆ เพราะผู้บริโภคไม่ต้องเสียเวลาในการที่จะต้องไปทำ activity เขาไม่ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นในการซัปพอร์ตหรือใช้ biodecredible product (ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพียงแค่เขาทานอาหารจากร้านค้าที่เราคัดสรรมา เขาก็สามารถที่จะช่วยลดฟู้ดเวสต์ได้แล้ว ซึ่งในแต่ละออร์เดอร์ มันก็ยังมีฟีเจอร์อีกว่า เรามี carbon calculator ที่จะประเมิณได้คร่าว ๆ ว่าการกินอาหารของเขานั้น ผู้บริโภคลด CO2 ไปเท่าไรบ้าง ซึ่งเรากำลังพัฒนาระบบให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จากต่างประเทศ และค่าคาร์บอนที่ได้นี้จะนำไปสู่ reward system เช่นจะมีส่วนลดเพิ่มเติม หรือเป็นสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่เราจะมอบให้ หรือแม้จะพัฒนาไปถึงขั้น carbon credit เลย ก็เป็นได้”

แอปพลิเคชั่น Oho จึงกลายเป็นตัวกลางที่เชื่อมผู้ประกอบการที่มีปัญหาเรื่อง food waste เข้ากับผู้บริโภค เพื่อให้คนซื้อได้รู้ว่า ตอนนี้ร้านนี้มีสินค้าอะไรบ้าง มีจำนวนเท่าไร ที่สำคัญก็คือ อาหารที่ขายในแอปจะมีราคาถูกเป็นพิเศษกว่าที่ขายในร้าน ทั้งยังครอบคลุมทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล (มีทุกจังหวัด แต่อาจยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่) รุจย้ำกับเราถึงความสำคัญของแนวคิดเรื่องการจัดการกับฟู้ดเวสต์ด้วยแอปพลิเคชันของเขาว่า

โมเดลของแอปพลิเคชัน Oho คือการ reduce ซึ่งเริ่มจัดการกับปัญหาขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง

“ในโมเดล 3R เรื่องการใช้ทรัพยากรโลกให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อลดขยะ มันก็จะมี reduce reuse และ recycle ในส่วนของฟู้ดเวสต์เนี่ย การ reuse หรือ recycle มันคือการไปทำเป็นปุ๋ย หรือไปทำเป็นรูปแบบของของเหลว เช่น ในห้างสรรพสินค้าจะมีเครื่องที่ทำให้ฟู้ดเวสต์เหล่านี้กลายเป็นของเหลวเพื่อให้กำจัดได้ง่าย คาร์บอนเกิดขึ้นน้อยลง แต่หากคิดดูแล้ว โมเดลของแอปพลิเคชัน Oho คือการ reduce ซึ่งเริ่มจัดการกับปัญหาขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง ทำให้มูลค่า (value) ของสินค้ามันหายไปน้อยที่สุด และทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (value add) กับผู้ประกอบการมากที่สุด และประโยชน์นี้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคด้วย เพราะได้บริโภคสินค้าในราคาที่ถูก สิ่งแวดล้อมก็ดีด้วย เพราะว่าแน่นอนคือขั้นตอนในการ reduce มันดีที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับ reuse และ recycle”

เป้าหมายที่แตกต่าง การปฏิบัติย่อมแตกต่าง
ทุกวันนี้ แอปพลิเคชันสั่งซื้ออาหารนั้นมีมากมาย Oho แตกต่างอย่างไร เรื่องนี้ CEO ของแอปเล่าเพิ่มเติมว่า

“เมื่อเข้ามาใช้แอปพลิเคชันของเรา คุณจะสามารถเข้าถึงส่วนลดสินค้าได้ทันที 25 เปอร์เซ็นต์ ทุกรายการ ปัจจุบัน Oho เราพยายามผลักดันอยู่ครับ เพื่อให้ส่วนลดนี้สูงขึ้น เพราะว่าแน่นอนว่าเราก็อยากจะให้มันมีความพิเศษมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้านี้ตอบโจทย์ เราก็มีแผนที่อยากจะทำให้ทุกการสั่งซื้อนำไปสู่การเป็น carbon credit ได้ด้วย ทั้งในเชิงของผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เราอาจจะนำตัวนี้ไปทำเป็นกิจกรรมเพิ่มเติม หรือเป็นส่วนลดเพิ่มเติม ซึ่งทางเราเอง ไปทำเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่น reward system อันนี้ก็เป็นอย่างหนึ่ง

เป้าหมายที่แตกต่างกัน ทำให้การปฏิบัติมันไม่เหมือนกันแน่นอน

“จากที่เราทดลองใช้โปรดักต์ออกมาระยะหนึ่งแล้ว เดิมทีแอปพลิเคชันของเราลูกค้ามีความสงสัย และแยกข้อแตกต่างระหว่างฟู้ดแอปอื่น ๆ ไม่ค่อยออก นอกจากส่วนลด แต่ด้วยการที่เรามีการปรับการสื่อสารต่าง ๆ และให้ความรู้ความเข้าใจกับลูกค้ามากขึ้น ปัจจุบันลูกค้าเข้าใจแล้ว แล้วก็โปรดักต์ไดเร็กชัน ผมแชร์เลยว่า ฟีเจอร์ที่จะออกมาหลังจากนี้จะมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากฟู้ดแอปทั่วไป เพราะเราค้นพบแล้วว่า เป้าหมายที่แตกต่างกัน ทำให้การปฏิบัติมันไม่เหมือนกันแน่นอน ก็จะค่อย ๆ แตกต่างกันไปเรื่อย ๆ เพราะเป้าหมายของเราไม่ใช่แค่การซื้อขายอาหาร แต่คือการช่วยลดขยะอาหารที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำ ทั้งในร้านอาหารและทุก ๆ ที่ที่มีปัญหาเรื่องฟู้ดเวสต์”

อาหารที่ผู้บริโภคจะได้รับเมื่อสั่งจากแอป Oho
เจตนารมณ์เรื่องการช่วยจัดการขยะอาหารตั้งแต่ต้นน้ำนั้นเป็นเรื่องน่าชื่นชม ทว่าในมุมของผู้บริโภค ส่วนหนึ่งที่เราต้องไถ่ถามก็คือ อาหารที่จำหน่ายในแอป ซึ่งเป็น food surplus นั้น เมื่อผู้บริโภคตัดสินใจสั่งซื้อ เราจะได้อาหารหน้าตาและคุณภาพเป็นแบบไหนบ้าง ประเด็นนี้รุจอธิบายให้เราฟังว่า

“อาหารที่จำหน่ายในแอปเราจะเป็นอาหารแบบ ‘Ready to Eat’ ถ้าเป็นวัตถุดิบสดจะเกิดขึ้นเฉพาะในเคสของซูเปอร์มาร์เก็ต เราจะไม่ให้ร้านค้าทั่วไปขายวัตถุดิบให้กับลูกค้า แน่นอนว่าอาหารต้องปลอดภัย สะอาด และถูกสุขอนามัย เพราะเราคัดเลือกแบรนด์ที่เข้าใจกับสิ่งที่เราทำอยู่ซึ่งให้ความสำคัญมาก และในกลุ่มของร้าน street food ที่เข้าร่วม เราจะให้ความรู้เรื่องคอนเซปต์ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ใช้อย่างจริงจัง การ QC เราใช้วิธีสุ่มสั่งอาหารเพื่อตรวจสอบคุณภาพอาหารอย่างต่อเนื่อง จากที่เปิดให้บริการมาประมาณ 8 เดือน เคสในเรื่องของ health & safety ก็ไม่เคยเกิดขึ้นเลย ในเรื่องของการแพ้อาหาร อาจมีเกิดขึ้นบ้างแต่น้อยมาก ซึ่งปกติเรื่องการแพ้อาหารมันเกิดขึ้นได้กับทุกเคส

“เรื่องคุณภาพอาหาร เราใช้คำว่า อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ขอยกตัวอย่างเช่น เบอเกอรี อาจจะเป็นเบอเกอรีที่ผลิตช่วงเช้าแต่มาขายช่วงสิ้นวัน ถามว่าเราทานกันเป็นปกติอยู่แล้วไหม ตอบว่าเป็นปกติมากเลย แล้วก็ในกรณีของแบรนด์ที่เป็นฟาสต์ฟู้ด ในวงการอาหารจะมีศัพท์ที่รู้จักกันดี นั่นคือ “Holding Time” คือสินค้าที่ผลิตเตรียมไว้ก่อน และสามารถอยู่บนตู้อบที่ควบคุมอุณหภูมิได้ในระยะเวลาถึงจุดหนึ่ง ถ้าเกินเวลานั้นแล้วบางร้านมีนโยบายคือทิ้งเลย ทีนี้แนวทางเป็นอย่างไร แนวทางคือเราจะเวิร์กกับร้านค้าครับ เพื่อที่จะมาคำนวณและทราบระยะ holding time สมมติปกติร้านตัดที่ 45 นาที เราจะขอเริ่มตัดเคลียร์ตั้งแต่ 30 นาทีแทน เพื่อเผื่อเวลาในเรื่องของขนส่งเพิ่ม มีการขยาย (extend) ระยะเวลาของ holding time แต่ต้องไม่เกินไปที่จะส่งผลเสียต่อคุณภาพสินค้า เพื่อให้คุณภาพนั้นยังคงอยู่

“ทีนี้พอมาออนไลน์ ขายในแอป Oho ที่ขายเฉพาะอาหารที่เป็น food surplus เท่านั้น มันทำให้ร้านค้าสามารถที่จะ activate เมื่อไรก็ได้ ตัวอย่างเช่น บางร้านเบเกอรีที่มีการผลิตสองช่วงเวลาทั้งเช้าทั้งบ่าย และมีการจัดส่งไปที่หน้าสาขา การที่อยู่บนออน์ไลน์และเรียลไทม์ จะช่วยให้ร้านค้าสามารถเริ่มที่จะลิสต์สินค้าเซตแรกที่เป็น bash แรกที่จะขายตั้งแต่เช้าได้ตั้งแต่ช่วง 11 โมง เคลียร์หมด บางกรณีเปิดขายแค่ 20 นาที เปิดขาย 10 – 20 รายการเคลียร์หมดแล้ว มีเวลาที่จะรอเคลียร์ bash 2 ในช่วงเย็นใหม่ ไม่ต้องนำไปเคลียร์ทิ้งเป็นขยะเหมือนที่เคยเกิดขึ้น”

ใครก็จอยกับ Oho ได้ แค่มีใจอยากลดฟู้ดเวสต์
ฟังถึงตรงนี้ ก็ชักเริ่มอยากจะหยิบโทรศัพท์มาโหลดแอป Oho เพื่อช่วยลดขยะอาหารด้วยการกินแล้ว ซึ่งตัวแอปพลิเคชันเองก็รองรับกับทุกระบบทั้ง iOS และ Android และเริ่มสั่งอาหารได้เลย ทุกเมนูจะได้รับส่วนลด 25 เปอร์เซ็นต์ (อาจมีการเปลี่ยนแปลง) ตามที่ CEO ของแอปได้แจ้งไว้ ส่วนของร้านอาหารหรือร้านค้าที่อยากเข้าร่วม รุจอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า

“ร้านค้าสามารถสมัครเข้ามาทางไลน์แอด หรือในส่วนของฟอร์มในเฟซบุ๊ก และทางเว็บไซต์ของเราได้ เกณฑ์ที่มีคือ ร้านใดก็ตามที่มีฟู้ดเวสต์ หรือต้องบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน หรือมีของค้างสต็อก สามารถเข้าร่วมกับเราได้เลย แต่ขอให้เข้าใจจริง ๆ ว่า Oho เรากำลังทำอะไร เราไม่ใช่ฟู้ดแอปทั่วไปที่ให้ร้านค้าเปิดขายทุกรายการ เราต้องการช่วยเหลือร้านค้าในส่วนของ 10 หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ ของเวสต์ที่เกิดขึ้นในร้านจริง ๆ

“ในเรื่องค่าใช้จ่าย ไม่มีค่าใช้จ่ายในการสมัครใด ๆ แต่เราจะเก็บ GP แน่นอนจากแต่ละออร์เดอร์ ที่เกิดขึ้น และเก็บจากราคาที่ลดแล้วด้วย แต่เรทจะต่ำกว่าฟู้ดแอปทั่วไป คือตอนนี้เราเก็บอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ จากราคาที่ลดแล้ว เพื่อนำรายได้ส่วนนี้ไปหล่อเลี้ยงให้กับแอปให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการบริจาค”

วันนี้เป้าหมายของเราคือการช่วยลดฟู้ดเวสต์ที่เกิดขึ้นในร้านอาหารได้จริง ๆ

รุจปิดท้ายบทสนากับเราซึ่งสะท้อนถึงเป้าหมายอันดีของเขาให้ฟังว่า “วันนี้เป้าหมายของเราคือการช่วยลดฟู้ดเวสต์ที่เกิดขึ้นในร้านอาหารได้จริง ๆ แต่ในอนาคตด้วยโมเดลของ Oho ก็อยากจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในส่วนของต้นน้ำ เช่น ในระบบอุตสาหกรรม ฟาร์มหรือสวนซึ่งบางครั้งผลผลิตมีมากเกินไป หรือบางครั้งได้รับผลกระทบ หรือหลายคนอาจจะเคยเห็นในส่วนของ ugly food ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ทำให้เราให้ความสนใจมากที่จะเข้าไปจัดการตรงนั้น

“แต่ ณ วันนี้เรายังโฟกัสอยู่ที่ฝั่งของร้านอาหาร และ ซูเปอร์มาร์เก็ต เป้าหมายระยะสั้นคือการที่เราจะเข้าไปเคลียร์ให้ฝั่งซูเปอร์มาร์เก็ตได้มากขึ้น เรื่องของซูเปอร์มาร์เก็ตมันมีข้อแตกต่างอยู่ เนื่องจากปริมาณสินค้าเขาเยอะมาก จะไม่เหมือนกับร้านค้าที่อาจจะมีอยู่ไม่กี่รายการ ดังนั้นในเรื่องของ tech ก็จะต้องมีความสะดวกมากขึ้น มีความ automate มากขึ้น อาจจะต้องมีมีความ automate มากขึ้น อาจจะต้องมีการใช้เทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ หรือแม้กระทั่ง ai เองที่ถ้ามีโอกาสที่จะเข้ามาทำให้ตรงนี้เนี่ย มันง่ายยิ่งขึ้นกับในฝั่งของ render และ offer สินค้าได้หลากหลายมากขึ้น ให้กับผู้บริโภค”

อ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ ถ้าคุณอยากจะมีส่วนร่วมช่วยโลกกู้วิกฤติขยะอาหาร แอปพลิเคชัน Oho ก็คืออีกหนึ่งทางเลือกให้เราสะดวกกรีนด้วยการกินได้ ชนิดที่ว่าแค่ปลายนิ้วสัมผัสโลกก็เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนขึ้นมาได้แล้ว

ภาพ: ชมรม Youth for Next Step