ท่ามกลางการเกิดขึ้นของตลาดนัดออร์แกนิกมากมาย เบื้องหลังอาหารคุณภาพดีละลานตาที่เราจับจ่ายซื้อหากัน ยังมีรายละเอียดน่าสนใจซ่อนไว้มากกว่านั้น เหมือนที่ เจเค-จักรกฤษณ์ พูลสวัสดิ์กิติกุล หนึ่งในทีมผู้จัดงาน ‘คนปลูกคนปรุง’ ตลาดออร์แกนิกที่รวบรวมเอาสินค้าคุณภาพเยี่ยมในราคาเอื้อมถึงมาออกร้านขายกันทุกๆ ต้นเดือน ณ ลานกว้างใต้ร่มไม้ของร้านอาหารยามเย็น ย่านทวีวัฒนา เล่าให้เราฟัง

ปลูก ปรุง เปลี่ยน

ตลาดนี้พิเศษเพราะเกิดขึ้นจากการจับมือกันระหว่างเครือข่ายที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม ‘ปลูก ปรุง เปลี่ยน’ โดยเปรียบผู้ปลูกคือเกษตรกร ผู้ปรุงคือพ่อค้าแม่ขายที่นำสินค้ามาแปรรูปเป็นอาหารขายกันในงาน และเปลี่ยน คือกลุ่มลูกค้าที่ต้องการ ‘เปลี่ยนแปลง’ วิถีชีวิตของตัวเองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านการอุดหนุนสินค้าสด สะอาด อร่อย ภายในงาน

“เราพยายามเชื่อม 3 ฝ่ายเข้าหากัน เพราะคิดว่าการเปลี่ยนแปลงน่าจะเริ่มต้นจากตรงนี้” เจเคบอกแบบนั้น ก่อนอธิบายถึงวิธีการเชื่อมดังกล่าวว่าเริ่มจากการลงพื้นที่ตามหาเกษตรกรที่มีสินค้าคุณภาพดีอยู่ในมือแต่ยังไม่ถูกมองเห็นจากวงกว้าง จากนั้นประสานเข้ากับร้านค้าหรือนักปรุง และกำหนดสถานที่นัดพบในแต่ละเดือนให้เป็นหลักแหล่ง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับเครือข่าย
ขึ้นชื่อว่าตลาดออร์แกนิก ย่อมมีร้านค้าและเวิร์กช็อปน่ารัก คนปลูกคนปรุงก็เช่นกัน แต่พิเศษตรงเวิร์กช็อปภายในงานนี้สนับสนุนความเป็นครอบครัวและอาหารไทยเป็นพิเศษ เพราะมีแนวคิดว่าอาหารตำรับเก่าแก่กำลังถูกลบลืม หากไม่รีบส่งต่อให้เด็กจิ๋วรุ่นนี้ก็เห็นทีจะไม่ได้การ เช่น เวิร์กช็อปสอนทำ ‘แตงโมปลาแห้ง’ สำหรับเด็ก ที่ชวนน้องวัยประถมมาจับสากตำปลาแห้งกันจนร่วนแล้วโรยลงบนแตงโมออร์แกนิกเนื้อแดงฉ่ำ ปรุงเป็นเมนูของหวานสูตรโบราณหากินยากที่เรียกความสนใจจากพ่อแม่ลูกหลายครอบครัวได้อย่างล้นหลาม

ออร์แกนิกสเตชั่น จุดกระจายอาหารสดสะอาดให้คนเมืองไม่พลาดของดี

​ถ้ามองในภาพรวม ตลาด คนปลูกคนปรุง นับเป็นสเตชั่นหนึ่งเท่านั้น เพราะเป้าหมายหลักของกลุ่มปลูกปรุงเปลี่ยนคือการสร้างออร์แกนิกสเตชั่นให้ครอบคลุมพื้นที่เมืองหลวง เพื่อกระจายอาหารสะอาดให้คนเมืองเข้าถึงได้ง่ายในราคาเป็นมิตร เพราะสินค้าไม่ผ่านมือพ่อค้าคนกลางหรือห้างร้านขนาดใหญ่ที่มักตั้งราคาสินค้าอาหารออร์แกนิกจนสูงลิบ

​“ออร์แกนิกสเตชั่นของเราตอนนี้มีด้วยกัน 7 สาขา แต่ละสาขาอาจมีวิธีการกระจายสินค้าไม่เหมือนกัน บางสาขาอาจเป็นตลาด เช่น ตลาดคนปลูกคนปรุง แต่บางสาขาอาจเป็นแค่หน้าร้านรับสั่งสินค้าออร์แกนิกส่งถึงบ้าน หรือร้านค้าอาหารออร์แกนิกตามสำนักงานต่างๆ” เขาอธิบาย ก่อนเสริมว่าความยากอยู่ตรงการขนส่งสินค้าจากเกษตรกรสู่สเตชั่นต่างๆ ที่ต้องอาศัยความรวดเร็วแม่นยำเพราะสินค้าเกษตรเสียหายง่ายมากอย่างที่รู้กัน

​“เราพยายามขยายเครือข่ายเกษตรกรออกไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีระบบคัดกรองคุณภาพสินค้าเกษตรที่ไว้ใจได้ ไม่ใช่การขยายอย่างไม่มีทิศทาง” ระบบที่ว่าคือ ‘ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม’ (Paticitipatory Guarantee Systems) ว่ากันง่ายๆ คือการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรในฐานะต่างๆ มีส่วนร่วมประเมินคุณภาพสินค้าในไร่ เช่น การพาผู้บริโภคไปเยี่ยมเยียนไร่ออร์แกนิกแล้วให้คะแนนความพอใจ หรือการให้เกษตรกรในเครือข่ายประเมินคุณภาพสินค้าของเกษตรกรด้วยกันเอง ซึ่งการประเมินทั้งหมดดำเนินไปตามหลักของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ จึงรับรองว่าสบายใจได้

เมื่อคนเปลี่ยนพบคนปลูก

เจเคเล่าเรื่อยถึงปัญหาในวงการออร์แกนิกข้อใหญ่ คือผู้บริโภคยังไม่รับรู้ถึงคุณค่าของอาหารสะอาดสักเท่าไหร่ อาจเพราะยังไม่เข้าใจในกระบวนการ ซึ่งเขาเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงเกิดเป็นโปรเจกต์สเกลใหญ่อย่าง ‘Farm Visit’ ขึ้นตอบโจทย์ ผ่านการพาคนเปลี่ยนกลับไปหาคนปลูก เรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำกันไปเลยว่าอาหารออร์แกนิกคืออะไร

​“วิธีง่ายที่สุดที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจเกษตรกรคือให้เขาได้สัมผัส ได้เห็นกับตาเลยว่ากระบวนการสร้างอาหารที่มีคุณภาพมันมีขั้นตอนที่สมควรจ่าย” เขายกตัวอย่างให้เราฟังถึงสวนชมพู่ออร์แกนิกที่มักมีมดคันไฟไต่เต็มต้น จนเจ้าของสวนต้องจ่ายค่าจ้างคนงานเก็บชมพู่มากเป็นพิเศษ รายละเอียดเหล่านี้เป็นเรื่องที่คนวงนอกจะไม่รู้เลยถ้าไม่ได้เข้าไปสัมผัส

​“จริงๆ เกษตรกรอินทรีย์ส่วนใหญ่อยากขายให้คนไทยก่อนอยู่แล้ว ไม่ได้อยากส่งของดีออกนอกประเทศอย่างที่เข้าใจกัน เพราะเขาก็อยากให้คนบ้านเราได้กินอาหารคุณภาพถ้ามันมีช่องทาง และผู้บริโภคสนับสนุน” เจเคทิ้งท้าย ก่อนชวนให้เราเดินชมงานสักพัก แล้วจะพบว่าอาหารอร่อย มีคุณภาพ ในราคาน่ารัก ไม่ได้หากินยากอย่างที่คิด

และที่สำคัญ เราทุกคนเป็น ‘คนเปลี่ยน’ ได้

ภาพถ่าย: กลุ่มปลูกปรุงเปลี่ยน