จากความเดิมตอนที่แล้วที่เราเริ่มต้นเล่าถึงเจ้าคุณปู่ผู้ให้กำเนิดคำว่า ‘organic farming’ อย่างท่านลอร์ดนอร์ธบอร์น กับคุณย่าผู้แผ้วถางดินดีไร้ปุ๋ยเคมีด้วยวิถีธรรมชาติในนามเลดี้อีฟ บัลโฟร์ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการบุกเบิกวงการออร์แกนิก แต่ถ้าหลับตานึกถึงช่วงเวลาคาบเกี่ยวก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น วงการอินทรีย์และวิถีธรรมชาติยังคงกระจุกตัวอยู่ในลักษณะของการบุกเบิกและทดลองของกลุ่มคนหัวกะทิที่มีความสนใจ และเผยแพร่ออกไปในลักษณะของงานเชิงวิจัยมากกว่า ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังอยู่วิ่งตามกระแสหลักที่ระบบอุตสาหกรรมกำลังฟื้นฟูโลกหลังสงครามอย่างหนักข้อ

จนกระทั่งหนังสือเล่มหนึ่งชวนให้ผู้คนในวงกว้าง หันมาสนใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำลังปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีปราบศัตรูพืช!

The Silent Spring (1962) คือหนังสือเล่มที่สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่และกลายเป็นปรากฏการณ์อย่างคาดไม่ถึง เขียนขึ้นโดย ราเชล หลุยส์ คาร์สัน นักธรรมชาติวิทยาและนักรณรงค์ชาวอเมริกัน แรกเริ่มเดิมที คุณยายคาร์สันจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ เริ่มเข้าทำงานในหน่วยงานสัตว์น้ำและสัตว์ป่าของสหรัฐฯ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องชีววิทยาทางทะเล และออกผลงานหนังสืออย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับโลกมหาสมุทรที่ได้รับรางวัลระดับประเทศ กลายเป็นหนังสือไตรภาคทางทะเลสุดคลาสสิก แต่หลังจากนั้น คุณยายคาร์สันเริ่มสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เธอเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่กำลังบูมในช่วงนั้น The Silent Spring จึงถูกเขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าความน่าสะพรึงกลัวของสารเคมีทางการเกษตรที่เป็นทั้งสารก่อมะเร็ง ไปจนถึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรนกอินทรีลดลงเพราะสารเคมีทำให้เปลือกไข่เปราะบาง

ด้วยสำเนียงและสำนวนที่ต่างไป คุณยายเลือกใช้ถ้อยคำที่ชวนให้เกิดอารมณ์ร่วมและเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง หนังสือที่ควรจะอยู่ในหมวดวิชาการในชั้นหนังสือห้องสมุด จึงกลายเป็นหนังสือยอดฮิตที่โดนใจเหล่าบุปผาชนหัวใจขบถที่เพิ่งเริ่มรวมตัวกันต่อต้านสงครามเวียดนามและเป็นขบถในสังคมสมบูรณ์แบบอย่าง ‘American Dream’ ในยุคนั้น

และเพราะในหนังสือมีเนื้อหากล่าวโจมตีการใช้สารปราบศัตรูพืชโดยเฉพาะ DDT ว่าไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ไม่ละลายน้ำ จึงมีคุณสมบัติสะสมในชั้นไขมันของสิ่งมีชีวิต บริษัทผู้ค้ายาจึงต้องออกมาวิ่งเต้นแก้ต่างกันยกใหญ่ มีการรวบรวมว่าสมาคมนักธุรกิจสารปราบศัตรูพืชต้องใช้เงินกว่า 250,000 เหรียญสหรัฐ ในการทำแคมเปญให้ข้อมูลแก่สาธารณชนถึงจุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้ และผู้ต่อต้านบางกลุ่มถึงขั้นยอมลงทุนสาธิตการ ‘กิน DDT’ ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ให้สาธารณชนเห็นกันจะจะ!

การต่อสู้ระหว่างนักอนุรักษ์ที่มีเหล่าฮิปปี้เป็นกองหนุน และนักลงทุนที่มีเงินเป็นกองกำลัง กลายเป็นสงครามในยุคสงครามเวียดนามอีกที คุณยายคาร์สันถูกบริษัทผลิตสารเคมีทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการทำงาน รวมทั้งฟ้องร้องเอาผิดชนิดกัดไม่ปล่อย แต่ในที่สุด ‘war is over’ ก็เกิดขึ้นในการต่อสู้ครั้งนี้ เมื่อหนังสือ The Silent Spring สร้างกระแสความตื่นตัวให้สาธารณชนทั้งในอเมริกาและทั่วโลกเห็นถึงพิษภัยและผลกระทบของยาฆ่าแมลงที่แพร่หลายอย่างมากในภาคเกษตรกรรม จนบีบให้รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งหน่วยงานดูแลปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในสมัยประธาธิบดีริชาร์ด นิกสัน นั่นคือ The U.S. Environmental Protect Agency (EPA) รวมทั้งยังแบน DDT โดยสิ้นเชิงโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1972

นั่นอาจเป็นชัยชนะที่จับต้องได้ แต่ในแง่ของไลฟ์สไตล์และวัฒนธรรมย่อย หนังสือเล่มนี้ยังทรงอิทธิพลอย่างมากในการปลูกฝังแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมในหัวใจของคนอเมริกัน คุณยายคาร์สันเป็นขวัญใจฮิปปี้ในยุคบุปผาชน สร้างแรงบันดาลใจให้ฮิปปี้อินกับวิถีธรรมชาติ ตั้งคำถามกับเทคโนโลยีและกับดักทางเคมีที่กำลังเบ่งบานหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนกลับไปสนใจงานฝีมือ ผ้าทอพื้นถิ่น หรือเสื้อผ้ามือสองรุ่นคุณตาคุณยาย กลายเป็นแฟชั่นฮิปปี้ที่หมุนเวียนมาจนถึงทุกวันนี้อีกด้วย

ตอนถัดไป Organic Story จะเล่าถึงการขับเคลื่อนวิถีอินทรีย์ในยุคถัดมาผ่านคุณลุงคุณป้าคนไหน ติดตามได้ที่นี่เหมือนเคย

หมายเหตุ: หนังสือ The Silent Spring ได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทยในชื่อ ฤดูใบไม้ผลิอันเงียบงัน แปลโดย ดิสทัต โรจนาลักษณ์ สำนักพิมพ์ สวนเงินมีมา ราคา 360 บาท

ภาพประกอบ: Paperis