หากให้ลองเอ่ยชื่อเชฟระดับโลกมาสักคน เชื่อเถอะว่าหนึ่งในชื่อเหล่านั้นจะต้องมี ‘เจมี่ โอลิเวอร์ (Jamie Oliver)’ เชฟหนุ่มจากเกาะอังกฤษติดโผอยู่ด้วยแน่นอน
ถึงแม้เราอาจไม่เคยรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของเชฟหนุ่มคนนี้อย่างละเอียดนัก แต่ผลงานเท่าที่เราเคยเห็นทั้งจากหน้าจอโทรทัศน์ หนังสือยอดขายนับล้านเล่ม และร้านอาหารที่โด่งดังไปทั่วโลก ก็คงการันตีความสามารถของเชฟผู้นี้ได้เป็นอย่างดี
ในครั้งนี้เราเลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับเจมี่ โอลิเวอร์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นเชฟคนโปรดของชาวอังกฤษให้มากกว่าที่เคย แล้วลองมาดูกันว่านอกจากผลงานมากมายที่เราเห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว เจมี่ได้สร้างแรงขับเคลื่อนอะไรให้แก่วงการอาหารโลกอีกบ้าง
เจมี่เกิดและเติบโตที่เมือง Clavering ประเทศอังกฤษเมื่อปี 1975 ในครอบครัวที่ทำธุรกิจร้านอาหาร เขาจึงคุ้นเคยกับการเข้าครัวมาตั้งแต่ยังเด็ก บวกกับอาการป่วยตั้งแต่เกิดทำให้เจมี่ไม่สามารถสะกดคำได้เหมือนคนทั่วไป เขาจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำสิ่งที่เขาถนัดมากกว่า นั่นคือการเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง
หลังเรียบจบ เจมี่ได้ออกไปฝึกฝีมือที่ร้านอาหารอิตาเลี่ยน Neal Street สถานที่ที่เขาได้พบกับเชฟผู้ช่วยสั่งสมประสบการณ์ด้านอาหารอิตาเลี่ยนให้แก่เขา ก่อนเจมี่จะย้ายไปเป็นผู้ช่วยเชฟ (sous-chef) ที่ร้าน The River Cafe
ทำให้เขาได้เจอกับทีมงานของ BBC ที่เข้ามาถ่ายทำสารคดีที่ร้าน และกลายเป็นผู้ผลักดันเจมี่ให้มีชื่อเสียงผ่านรายการสอนทำอาหารที่ออกอากาศเป็นครั้งแรกในปี 1999 The Naked Chef ซึ่งปรากฎว่ารายการนี้ดังเป็นพลุแตก และหนังสือที่เจมี่เขียนในช่วงนั้นก็ขายดีจนติดอันดับไปทั่วประเทศ!
เจมี่เริ่มเห็นว่าพลังของเขาสามารถส่งไปเป็นแรงผลักดันให้คนอีกมากมายหันมาจับตะหลิวเข้าครัว เมื่อรายการซีซั่นสุดท้ายของ The Naked Chef จบลง เขาเลยหันมาทำสารคดี Jamie’s Kitchen ที่นำเด็กวัยรุ่นด้อยโอกาสมาเรียนรู้การทำอาหารในร้านจำลอง The Fifteen
รายการของเขาไม่เพียงทำให้เด็กๆ เหล่านั้นมีสกิลทำอาหารติดตัวออกไปใช้ในโลกกว้าง แต่มันยังสอนให้พวกเขารู้จักการทำงานเป็นทีม และการบริหารจัดการงานในครัวอย่างเต็มรูปแบบ ผลตอบรับที่ดีเกินคาดทำให้เจมี่ตัดสินใจเปิดร้าน The Fifteen ขึ้นจริงๆ พร้อมกับมูลนิธิ Fifteen Foundation เพื่อสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ด้อยโอกาสและวัยรุ่นที่เคยมีคดี มาฝึกฝนการทำอาหารเพื่อสร้างรายได้ในร้านแห่งนี้
ปี 2005 ชายหนุ่มยังได้ริเริ่มแคมเปญอีกหลากหลาย มุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญเรื่องอาหารการกินของเด็กๆ ในอังกฤษ อย่างแคมเปญ Feed Me Better สนับสนุนให้เด็กๆ หันมากินอาหารดีแทนอาหารขยะ รวมทั้งผลักดันโครงการเกี่ยวกับอาหารโรงเรียนอีกมากมาย ทั้งการทำ Free School Lunch เรียกร้องให้เด็กๆ ได้กินอาหารกลางวันแบบไม่เสียเงินที่โรงเรียน ทำรายการ Jamie’s School Diners เพื่อลงไปทำอาหารร่วมกับเด็กๆ ในโรงเรียนต่างๆ และส่งเสริม Kitchen Garden Project หรือสวนผักเพื่อการเรียนรู้
โครงการเหล่านี้กลายเป็นเสียงสำคัญจากประชาชนที่ส่งไปหารัฐบาลอังกฤษ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องอาหารโรงเรียนของภาครัฐในเวลาต่อมา ปีนั้นเจมี่จึงได้รับเลือกให้เป็น Most Inspiring Political Figure จากประชาชนทั่วเกาะอังกฤษเลยทีเดียว
แต่ความมุ่งมั่นในการส่งต่อเรื่องการกินอาหารดีของเชฟหนุ่มยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะไม่กี่ปีต่อมา เจมี่ได้ทำรายการทีวีรายการใหม่อย่าง Jamie’s Ministry of Food เพื่อพูดถึงการกินอาหารดี ซึ่งเน้นไปที่อาหารท้องถิ่นและอาหารออร์แกนิกโดยเฉพาะ ผ่านการลงไปทำอาหารให้กับผู้คนในเมืองต่างๆ ทั้งในอังกฤษและอเมริกากิน
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ผลจากรายการของเจมี่ ทำให้ยอดขายอาหารออร์แกนิกในอังกฤษพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เจมี่เคยกล่าวถึงอาหารออร์แกนิกไว้ในเพจเฟซบุ๊กของตนด้วยว่า “อาหารออร์แกนิกคืออาหารจากธรรมชาติ หรือการปล่อยให้ธรรมชาติได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ แน่นอนว่าการเลือกกินของธรรมชาติย่อมมีแต่ผลดีกับดีต่อร่างกายเรา”
3 ปีต่อจากนั้น เจมี่ตัดสินใจเปิดร้านอาหารอิตาเลี่ยนของตัวเอง หลังจากสั่งสมความรู้และความสามารถมายาวนาน ร้าน Jamie’s Italian ของเขาสามารถขยายสาขาไปทั่วโลก พร้อมๆ กับการผลักดันแคมเปญต่างๆ อีกมากมาย ทั้งการส่งเสริมการกินปลายั่งยืนหรือโครงการ Sustainable Fish ที่ให้ความรู้ผู้จับปลา ผู้ผลิต ไปจนถึงแม่บ้านในครัวเรือนให้เข้าใจการเลือกกินปลาดีที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ
นอกจากนี้เขายังทำแคมเปญสนับสนุนการลดขยะอาหารในระดับโลก ด้วยการลงไปให้ความรู้กับผู้คนในเมืองต่างๆ เรื่องการทิ้งอาหารเหลือ รวมทั้งทำแคมเปญ Odd Bunch กับซูเปอร์มาร์เก็ตที่ออสเตรเลีย ส่งเสริมให้คนหันมาซื้อพืชผักหน้าเบี้ยวกลับบ้าน และยังเปิดโรงเรียนสอนทำอาหารที่ดีและยั่งยืนโดยเฉพาะด้วย
น่าเสียดายที่ธุรกิจของเจมี่ไปได้ไม่ดีนักในช่วงเหตุการณ์ Brexit ทำให้ปีที่ผ่านมา ทั้งร้านอาหาร โรงเรียนและมูลนิธิต่างๆ ของเจมี่จำเป็นต้องปิดกิจการลง
ถึงอย่างนั้นเจมี่ก็ยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการต่างๆ อีกมากมาย เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องอาหารการกินให้กับผู้คนทุกเพศทุกวัย ทั้งการผลักดันแคมเปญ #NotForChildren ซึ่งหวังจะลดเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่มีโรคอ้วนในอังกฤษ ให้ได้ภายในปี 2030
นี่ยังไม่รวมรายการอาหารรายการใหม่ และหนังสือทำอาหารเล่มใหม่ ที่สนับสนุนให้คนได้กินอาหารดี ที่หาวัตถุดิบง่าย ทำเองสะดวก เหมาะกับสถานการณ์ในช่วงนี้สุดๆ ด้วย
“ผมอยากใส่ความรับผิดชอบต่อสังคมลงไปในทุกสิ่งที่ผมทำ” เจมี่กล่าวกับเว็บไซต์ Financial Times
ในคราวหน้า Organic Story จะหยิบเรื่องของคนสำคัญในวงการออร์แกนิกคนไหนมาเล่า ติดตามได้ที่นี่เลย!
ภาพประกอบ: paperis