สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือปัญหาเรื่อง climate change คือเรื่องที่ผู้นำทางความคิดหลายต่อหลายคนทั่วโลก หยิบยกมาอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในแทบทุกแง่มุม ทั้งวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ เรียกว่าแทบไม่มีใครไม่พูดถึงเรื่องนี้ แต่หนึ่งในผู้ที่พูดแล้วโลกต้องหันมาหยุดฟังก็คือ องค์ทะไลลามะ หรือที่โลกรู้จักกันดีในฐานะผู้นำจากเขตปกครองตนเองทิเบต และเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณให้กับคนทั่วโลกนั่นเอง
ที่เราหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูด เพราะเมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวเดอะการ์เดียน และแชนเนล 4 ของประเทศอังกฤษ มีโอกาสได้สัมภาษณ์ท่าน และลงบทความไว้ในเว็บไซต์ของเดอะการ์เดียน เรื่อง ‘Buddha would be green’: Dalai Lama calls for urgent climate action คำว่า ‘Buddha would be green’ ในบทความชิ้นนี้ หมายความว่า หากพระพุทธเจ้ากลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง ท่านต้องเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติแน่ๆ
ประเด็นเรื่อง climate change หรือเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่องค์ทะไลลามะให้สัมภาษณ์ไว้นี้ เหตุผลหนึ่งก็เพื่อเป็นการเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ของท่าน นั่นคือ Our Only Home ที่เขียนร่วมกับฟรานซ์ อัลท์ นักเขียน-นักข่าว ที่คุ้นเคยกับองค์ทะไลลามะมาเกือบ 40 ปี
จะว่าไปแล้ว หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เล่มแรกที่ท่านพูดถึงเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ก่อนหน้านี้ยังมีเล่มสำคัญๆ อีกก็คือ Ecological, Ethics and Interdependence (ที่เป็นการตีพิมพ์บันทึกการสนทนาของท่านกับบรรดานักคิดระดับโลกเกี่ยวกับเรื่อง climate change จากงานประชุม Mind and Life Conference ครั้งที่ 23 ที่จัดขึ้นที่ธรัมศาลา ในประเทศอินเดีย (ส่วนบันทึกการประชุมในครั้งนั้นหาดูได้บนช่อง YouTube โดยพิมพ์คำว่า ecological ethics and Interdependence)
หากย้อนไปถึงที่มาของบทบาทขององค์ทะไลลามะกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ท่านให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้กับนักข่าวเดอะการ์เดียนไว้ว่า จริงๆ ท่านเคยประกาศไปแล้วในปี 2011 ว่าจะขอยุติบทบาทด้านการเมืองและการเป็นผู้นำในการต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพให้กับทิเบต และย้ำว่า เวลานี้ เรื่องนิเวศวิทยาหรือสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ สำหรับท่านไปแล้ว นอกจากนั้นท่านยังบอกด้วยว่า ในปีหน้าที่องค์การสหประชาชาติจะมีการจัดงาน climate change conference 2021 ที่สก็อตแลนด์ ท่านคาดหวังเป็นอย่างยิ่งให้บรรดาผู้นำระดับโลก ปฏิบัติตาม Paris climate agreement (หรือข้อตกลงปารีส – หรือกรอบข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และยังคาดหวังว่า ทางองค์การสหประชาชาติจะมีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้น และประเทศใหญ่ๆ ก็ควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องของนิเวศวิทยามากขึ้นด้วยเช่นกัน
บรรดาประเทศที่ตอนนี้ใช้เงินไปกับการซื้ออาวุธหรือทำสงคราม ควรหันไปทุ่มเททรัพยากรที่มีไปกับการอนุรักษ์และเรื่องสภาพภูมิอากาศ
และถ้าหากตัวท่านเองสามารถสมัครสมาชิกพรรคการเมืองได้แล้วละก็ “ข้าพเจ้าอยากเป็นสมาชิกพรรคกรีน เพราะแนวคิดของพรรคนี้ดีมากๆ”
บทบาทขององค์ทะไลลามะ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น เห็นได้จากการที่ท่านมักจะได้รับเชิญไปร่วมงานและเสวนาบนเวทีระดับโลกที่ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ แต่แง่มุมที่ท่านนำเสนอต่างหาก ที่หาฟังได้ยากจากนักคิด นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมคนใดๆ เพราะสิ่งที่ท่านพูดถึง มักจะเป็นการผสมผสานระหว่างเรื่องความมีเมตตา จริยธรรมด้านนิเวศวิทยา ความพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ธรรมชาติและจิตวิญญาณ เป็นต้น
และหากเราเชื่อว่า พุทธะ คือ ธรรมชาติ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่ผู้นำทางจิตวิญญาณและศาสนาพุทธอย่างท่าน จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เห็นได้จากการที่ ไม่ว่าจะได้รับเชิญไปบรรยายที่ใดก็ตาม ท่านมักจะพูดอยู่เสมอว่า สำหรับชาวพุทธแล้ว ต้นไม้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะพระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นไม้ ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานก็ใต้ต้นไม้ใหญ่อีกเช่นกัน ดังนั้น ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องใกล้ตัว (แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะคิดถึงในแง่มุมนี้)
นอกจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อใหญ่อย่างเดอะการ์เดียนและแชนเนล 4 การไปให้สัมภาษณ์กับ NPR สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติของอเมริกาในโอกาสเปิดตัวหนังสือเล่มล่าสุด ก็มีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพิธีกรถามถึงวิธีที่คนทุกคนสามารถทำได้เพื่อรับมือกับปัญหาเรื่อง climate change
คำตอบของท่านก็คือ “งดการบริโภคเนื้อวัว”
เพราะการเลี้ยงวัว ทำให้เกิดก๊าซมีเทนจำนวนมาก (ที่เกิดจากการที่วัวเรอหรือผายลมออกมา) ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน มากไปกว่านั้น การทำปศุสัตว์ในปัจจุบันยังทำให้เราต้องใช้พื้นที่เพื่อเพาะปลูกจำนวนมากเพื่อใช้เป็นอาหารในการเลี้ยงวัว ซึ่งการใช้พื้นที่มากมายดังกล่าวก็นำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าตามมาอีกนั่นเอง และการที่สัตว์จำนวนมหาศาลต้องมากลายเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ก็ทำให้ท่านเองก็รู้สึกไม่สบายใจนัก “เราควรจะสนับสนุนให้มีการรับประทานอาหารมังสวิรัติให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้” นี่คือสิ่งที่องค์ทะไลลามะบอกกับผู้สื่อข่าว
ทิศทางข้างหน้าต่อไป เชื่อว่าเราน่าจะได้เห็นท่านสื่อสารและให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องจริยธรรมด้านนิเวศวิทยา ที่เน้นเรื่องความเมตตาต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งนี้เพราะท่านเองก็ตระหนักถึงวิกฤตด้านภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบ้านเกิดเมืองนอนของท่านอย่างทิเบต ที่ถือว่าเป็นหลังคาโลก เนื่องจากอยู่บนพื้นที่สูง โดยมีแม่น้ำสายใหญ่ที่รับน้ำจากเทือกเขาหิมาลัย คอยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนกว่าพันล้านคนมายาวนาน ซึ่งหากอุณหภูมิสูงขึ้นมากกว่านี้ แม่น้ำก็อาจจะแห้งเหือดและทิเบตก็อาจกลายเป็นอัฟกานิสถานได้เลย
ท่านเชื่อว่า การกระตุ้นให้คนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องให้พวกเขาคิดถึงตัวเองให้น้อยลงแต่คิดถึงโลกให้มากขึ้น
เพราะการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดี ก็คือการดูแลรักษาตัวเองด้วยเช่นกัน
ส่วนถ้าอยากให้ผู้นำระดับโลกเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแล้วละก็ ในหนังสือเล่มล่าสุดของท่านบอกไว้ติดตลกว่า เราอาจจะต้องจับพวกเขาไปไว้ในห้องที่เต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จนกว่าพวกเขาจะเข้าใจถึงความร้ายแรงของปัญหา climate change ที่ทุกคนกำลังเผชิญกันอยู่
เท่าที่เราได้สำรวจหนังสือเล่มนี้บางส่วน พบว่านี่คือการส่งเสียงถึงบรรดานักการเมือง หรือผู้นำระดับโลกให้ลงมือแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเสียที (หลังจากมีการประชุมบนเวทีกันมาครั้งแล้วครั้งเล่า) เพราะเดิมพันคือการอยู่รอดของโลก และแน่นอนว่าเป็นการอยู่รอดของพวกเราในฐานะมนุษย์ด้วย เพราะเรามีโลกใบเดียวกัน มีบ้านหลังเดียวกัน…
ที่มาข้อมูล
www.theguardian.com
www.npr.org
www.dalailama.com
เครดิตภาพ: Shutter Stock