หากพูดถึงอาหารแห่งมหานครนิวยอร์ก คงหนีไม่พ้น พิซซ่า เบเกิ้ล เบอร์เกอร์ หรือฮอตดอกจากรถเข็นริมทาง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่หาทานได้ง่ายและได้รับความนิยมอย่างมากที่นี่คือ ‘หอยนางรม’ ซึ่งความนิยมหอยนางรมของคนนิวยอร์กนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

Oyster ในประวัติศาสตร์เมืองนิวยอร์ก

ย้อนกลับไปช่วงปี ค.ศ. 1609 ที่ Henry Hudson ล่องเรือมานิวยอร์กนั้น เขาเจอปะการังหอยนางรมขนาด 560,000 ไร่ (ถือเป็น 15 เท่าของเกาะแมนฮัตตัน) การที่ประชากรหอยนางรมกว่า 60% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ที่นี่ ทำให้นิวยอร์กได้ตำแหน่งเมืองหลวงหอยนางรมของโลก อุตสาหกรรมร้านอาหารและส่งออกหอยชนิดนี้เฟื่องฟูอย่างมาก นิวยอร์กกลายเป็นจุดหมายแสนอร่อยของนักกินจากทั่วโลก เพราะหากินได้ง่ายและราคาถูกจนกินทิ้งกินขว้าง

น่าเสียดายที่ชาวนิวยอร์กนั้นกินหอย แต่ไม่ได้ทิ้งเปลือกหอยกลับลงทะเล ขยะเปลือกหอยนางรมถูกจัดการด้วยการเผา ลองนึกภาพตามว่าขยะเปลือกหอยมีปริมาณมหาศาลขนาดที่ปูนขาวที่ได้จากการเผา กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างตึกจำนวนมากเพื่อขยายเมืองในยุคนั้น ขณะเดียวกัน การเผาสร้างมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรง การได้รับความนิยมอย่างมากของหอยนางรมทำให้เกิดการจับมากเกินไป (overfishing) ประชากรหอยลดลงอย่างรวดเร็ว บวกกับการปล่อยน้ำเสียลงทะเล สร้างมลพิษให้น้ำ จนหอยนางรมเป็นพิษเกินกว่าจะเอามากินได้ ปี ค.ศ. 1927 แหล่งเพาะพันธุ์หอยนางรม (oyster bed) ที่สุดท้ายปิดตัวลง อุตสาหกรรมหอยนางรมจึงล่มสลายไปพร้อมๆ กับระบบนิเวศทางน้ำของนิวยอร์ก

แม้ว่าปัจจุบันจะไม่สามารถจับหอยนางรมรอบนิวยอร์กได้อีกแล้ว แต่ความนิยมกลับยังคงอยู่ หอยนางรมที่ทานกันในนิวยอร์กส่วนใหญ่มาจาก Long Island โดย Todd Mitgang หัวหน้าเชฟแห่งร้าน Crave Fishbar กล่าวว่าในช่วงเวลา Happy Hour ที่ร้านของเขาสามารถเสิร์ฟหอยนางรมได้มากถึง 1,500 ตัวทุกวัน และนั่นหมายถึงเปลือกหอย 1,500 อันจากแค่หนึ่งร้าน

The Billion Oyster Project (BOP)

โปรเจกต์รีไซเคิลเปลือกหอยแห่งนิวยอร์ก ริเริ่มโดย The New York Harbor Foundation เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 2014 ด้วยรีไซเคิลเปลือกหอยนางรมจากร้านอาหารเป็นบ้านหลังแรกให้ตัวอ่อนหอย และสร้างปะการังหอยนางรมเพื่อเป็นระบบกรองน้ำธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายใหญ่คือ การฟื้นฟู เพาะพันธุ์ และพาหอยนางรมสองล้านล้านตัว กลับสู่ท่าเรือนิวยอร์ก เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางน้ำ ภายในปี ค.ศ. 2035

หอยนางรมคือผู้เล่นสำคัญในระบบนิเวศ มันเติบโตด้วยการกรองกินพืชน้ำขนาดเล็ก จึงกลายเป็นระบบกรองน้ำแบบธรรมชาติที่ดีเยี่ยม โดยหอยนางรมหนึ่งตัวสามารถกรองน้ำได้ 30-50 แกลลอนต่อวัน แต่ก่อนจะไปทำความเข้าใจว่าเปลือกหอยกลายมาเป็นเครื่องกรองน้ำได้อย่างไร ต้องเข้าใจเรื่องชีววิทยาหอยก่อน

หอยนางรมผสมพันธ์ุภายนอก โดยตัวผู้จะปล่อยสเปิร์มออกมา มาผสมกับไข่ที่ปล่อยออกมาจากตัวเมีย กลายเป็นตัวอ่อนหอย (larvae) หลังจากนั้น ตัวอ่อนหอยจะหาบ้านของตัวเองเพื่อเกาะและเริ่มหาแคลเซียมไบคาร์บอเนตมาสร้างเปลือกของตัวเอง (ในอุตสาหกรรมฟาร์มหอยนางรมมักจะใช้ตะแกรงหรือแท่งไม้เป็นบ้านให้ลูกหอยเกาะ และป่นเปลือกหอยเก่าโรยลงในน้ำเพื่อเป็นแคลเซียมตั้งต้นให้หอยสร้างเปลือกของตัวเอง) นอกจากนั้นตามหลักวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติของคลื่นน้ำ พลังงานของคลื่นจะอยู่ที่ฐาน การมีแนวปะการังชายฝั่งจะเป็นบัฟเฟอร์ (สิ่งรับแรงปะทะ) ธรรมชาติช่วยลดความรุนแรงเมื่อคลื่นเข้าฝั่ง ลดความสูญเสียจากพายุลงได้อีกด้วย

ขั้นตอนการดำเนินการ คือ BOP จะรับบริจาคขยะเปลือกหอยจากร้านอาหารในเครือข่าย และร่วมมือกับ Harbor School (โรงเรียนมัธยมที่สอนเกี่ยวกับเรื่องทะเลโดยเฉพาะ) ในการทำวิจัยและเพาะพันธุ์หอยนางรมในห้องทดลอง ต่อมาจึงนำตัวอ่อนหอยมาเพาะต่อที่เปลือกหอยเก่า เปลือกหอยนางรมเก่าหนึ่งเปลือกสามารถเป็นบ้านให้หอยได้ถึง 20 ตัว เมื่อหอยโตเต็มที่จึงนำใส่กล่องตะแกรงเพื่อใช้เป็นปะการัง ขั้นตอนสุดท้ายนำไปติดตั้งยังท่าเรือต่างๆ เพื่อฟื้นฟูคุณภาพของน้ำทะเลรอบเมืองนิวยอร์ก

หอยนางรมฝาเดียวแก้ได้สองปัญหา

อีกหนึ่งความตั้งใจของโครงการคือ อยากทำให้โครงการนี้เข้าถึงได้ง่ายสำหรับเด็ก จึงออกแบบให้เป็นหลักสูตรเพื่อการศึกษาสำหรับนักเรียนประถมและมัธยม ทำงานร่วมกับคุณครูและอาสาสมัคร เด็กๆ จึงเข้ามามีบทบาทหลักในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ทำโครงงาน เพาะพันธุ์ ดูแลระบบโครงสร้างปะการัง ตรวจสอบ และติดตามคุณภาพน้ำ ไปจนถึงติดตั้งแนวปะการัง

นอกจากการไอเดียการจัดการขยะที่ฟังแล้วว้าวแล้ว ยังทำให้เราสนุกไปกับการเรียนชีววิทยาการเกิดของหอย เราจึงแอบอิจฉาเด็กๆ ที่นี่ที่ได้ทำโครงงานสนุกๆ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่คิดมาอย่างครบวงจร แก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์มากๆ เป็นตัวอย่างของการบูรณาการความรู้ในและนอกห้องเรียน เรียกได้ว่าหอยนางรมฝาเดียวแก้ได้สองปัญหา

ปัจจุบันมีร้านอาหารเข้าร่วมโครงการนี้กว่า 70 ร้าน เก็บเปลือกหอยได้มากกว่า 4 ตันต่อสัปดาห์ ร่วมมือกับกว่า 50 โรงเรียน มีนักเรียนในโครงการมากกว่า 3,000 คน และปล่อยหอยนางรมกลับสู่ทะเลไปแล้วประมาณ 35 ล้านตัว

ข้อมูลเพิ่มเติม: https://billionoysterproject.org
ภาพถ่าย: Parppim Pim