เป็นเช้าวันอาทิตย์ที่เหล่าเด็กๆ หยุดเรียน แดดอ่อนยามเช้าส่องต้องยอดไม้ ลมโชยเบาๆ มองเห็นเทือกเขาบรรทัดเขียวตระหง่านทอดยาวสุดสายตาเสมือนกำแพงกั้น อ่าวไทย-อันดามัน ยอดยางพาราพากันโบกมือไหวๆ อย่างอารมณ์ดี หน้าฝนแห่งภาคใต้ยังไม่มาเยือน พืชพรรณต่างแข่งกันผลิยอดเขียวอวบอ้วน ยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์แห่งพื้นที่ ‘บ้านท่ายูง’ หมู่บ้านเชิงเขาของเมืองพัทลุงได้เป็นอย่างดี

กาลเวลาเคลื่อนไปข้างหน้า พร้อมด้วยยุคสมัยเปลี่ยนตาม ความสมบูรณ์แต่เดิมอาจไม่ตอบคำถามกับยุคปัจจุบัน เป็นเรื่องน่าทบทวนเมื่อพบว่าหนึ่งมื้ออาหารของผู้คนที่อยู่กับพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เริ่มมีอาหารที่บริโภคอยู่ไม่กี่อย่าง วนเวียนด้วยพืชผักไม่กี่ชนิด ส่วนใหญ่ชื้อหาจากร้านค้าซึ่งรับผักจากเมืองมาอีกที

เวลาได้ทำให้ความหลากหลายทางอาหารแห่งหมู่บ้านเชิงเขาจางลง ลึกลงไป หลายมื้อหลายครัวเรือนต้องฝากท้องไว้กับอาหารสำเร็จรูป

เป็นเช้าวันอาทิตย์ที่เด็กๆ หยุดเรียน วันนี้จึงมีนัดกับกลุ่ม ‘ผีเสื้อภูบรรทัด’ โดยเยาวชนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำบ้านท่ายูง ภายใต้แนวคิด ‘ฟื้นคืนของกินพื้นถิ่นท่ายูง’ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เหล่าผีเสื้อภูบรรทัดวางแผนออกตามหาเมนูอาหารที่เคยมีหรือกำลังสูญหายไป เพื่อเรียนรู้ความหลากหลายของอาหารพื้นถิ่น ตลอดถึงการรู้จักบริโภคพืชผักพื้นบ้าน และเลือกรับประทานอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งในครั้งนี้ เป็นการฟื้นคืนเมนูทอดมันสารพัดผัก เหล่าเด็กๆ ตั้งชื่อว่า ทอดมันผักข้างเริน (ข้างเริน เป็นภาษาพัทลุงหมายถึง ข้างบ้านหรือข้างเรือน)

นัดแนะกันไว้ก่อนแล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้แต่ละคนออกตามหาผักที่มีในแต่ละบ้าน ยามเช้าแดดยังไม่แรงเหมาะแก่การตามหาสารพัดผักเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบของเมนู ได้คนละอย่างสองอย่าง รวมกันแล้วเกือบ 30 ชนิด หลายคนมีผักข้างบ้านเยอะ บางคนหอบหิ้วพะรุงพะรัง คนนั้นได้ผักชนิดเดียวกับคนนี้ คนนี้ได้ผักแปลกแตกต่างจากคนอื่น ความสนุกเริ่มมาเยือนเมื่อถึงคราวเรียนรู้เรื่องชื่อ และที่มาของผักแต่ละชนิด ตะไคร้ ใบยี่หร่าได้มาจากบ้านนี้ อีกคนได้ ลอแก้ว ผักปรังม่วง บางคนถือ ชะพลู ใบมะกรูด ใบขมิ้น อีกคนได้ชะพลูมาอีกกำใหญ่ ยังมี วอเตอร์เคส ใบเล็บครุฑ บัวบก ยอดฟักทอง ใบถั่วฝักยาว ผักโขม จิงจูฉ่าย ต้นหอม ดอกชมจันทร์ ใบตานหม่อน โหระพา ดอกห้อย ใบมันชนิดต่างๆ เช่น มันเทศ มันสำปะหลัง มันหอมม่วง อีกคนไม่ได้หิ้วผักชนิดใดมา แต่ได้มะพร้าวมาสองสามลูกแทน ซึ่งต้องเป็นมะพร้าวที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป ชาวบ้านเรียกมะพร้าวเขียว ก็เป็นที่รู้กันว่าต้องใช้มะพร้าวแบบใด

แม่แก่พวง ชูปลอด คุณครูภูมิปัญญาวัย 83 ปีของเหล่าเด็กๆ รับหน้าที่แนะนำการทำทอดมันผักข้างบ้านแก่เหล่าเชฟน้อยในครั้งนี้ “ผักทุกชนิดที่กินใบได้ สามารถนำมาทำทอดมันผักได้ทั้งหมด” แม่แก่พวงพูดพลางยกตัวอย่างผักต่างๆ ที่เด็กๆ เก็บมา ตลอดถึงผักอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งรวมถึงดอกไม้ หัวมัน หรือเห็ดทุกชนิดที่กินได้ “ใส่ได้ทุกชนิดผัก” แม่แก่พวงย้ำอีกที ขนาดแกเองทำทอดมันผักมาตั้งแต่เด็กๆ ยังไม่เคยทำเหมือนเดิม หรือใส่ผักแบบเดิม “เป็นสูตรใหม่ทุกครั้ง” แกบอก

จัดการแบ่งหน้าที่ คนหนึ่งปอกมะพร้าว คนหนึ่งขูดมะพร้าว บางคนจองน้ำมะพร้าว หั่นตะไคร้ ปอกขมิ้น กระเทียม พริกขี้หนู พริกไทย เตรียมโขลกเป็นเครื่องแกง ขณะผักทุกชนิด ล้างรอสะเด็ดน้ำ เสร็จแล้วหั่นซอยเป็นชิ้นเล็กๆ แต่ละคนใช้เครื่องไม้เครื่องมือมีดเขียงคล่องพอตัว ผสมกะปิกับเครื่องที่โขลกไว้ ตามด้วยโขลกมะพร้าวขูด เทลงกะละมัง เติมแป้งข้าวเจ้า ไข่ไก่ คนผสม เติมน้ำเปล่าอีกหน่อย เข้ากันแล้วเป็นอันใช้ได้ ค่อยๆ เติมผักที่หั่นซอยเตรียมไว้ ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน กะดูให้ส่วนผสมทั้งหมดจับตัวพอทอดได้ ผักน้อยไปเดี๋ยวไม่อร่อย ผักมากไปก็อาจจะอมน้ำมัน

ติดไฟด้วยไม้ฟืน ใช้เศษยางพาราเป็นเชื้อเพลิง ครู่เดียวเตาไฟสามเตาก็ลุกโชน รอเศษยางติดไฟหมด จัดการตั้งกระทะ เติมน้ำมัน ทอดมันผักข้างบ้านชิ้นแรกก็ถึงคราวลงไปนอนในกระทะ เสียงฉี่ฉ่าตามด้วยกลิ่นเครื่องแกง ผสมสารพัดผักลอยล่องไปทั่ว บางคนกลืนน้ำลาย ขณะอีกคนจับจองเป็นเจ้าของชิ้นแรก 10 นาทีผ่าน ภาชนะที่เตรียมใส่ทอดมันยังว่างเปล่า ขณะมือเชฟน้อยแต่ละคนเปื้อนน้ำมัน เสียงหัวเราะ บวกเสียงเป่าสิ่งที่อยู่ในมือเพื่อคลายร้อนดังไปทั่ว

อาจเป็นเพราะมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการทำ พวกเขาจึงกินสิ่งนี้ด้วยความสนุก อาจเป็นเพราะพวกเขารู้ที่มาวัตถุดิบ พวกเขาจึงกินมันด้วยความสุขใจ หรือบางทีอาจเป็นเพราะความสดใหม่ของวัตถุดิบ ปราศจากสารพิษ สารปรุงแต่ง จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยรสชาติแห่งความมีชีวิต หรือไม่…อาจเป็นวันอาทิตย์ที่พวกเขาได้ ‘ฟื้นคืนของกินพื้นถิ่นท่ายูง’ ก็อาจเป็นได้

ภาพถ่าย: ArmYa at Home