สำหรับฉัน สิงคโปร์ไม่ได้เป็นประเทศในสายตาที่จะทำให้กลับไปเยือนได้เป็นครั้งที่สามเลยจริงๆ ก่อนหน้านี้ฉันเคยมาสิงคโปร์กับครอบครัวสมัยเด็กๆ จำได้ลางๆ ว่าเราเดินช้อปปิ้งกันจนปวดขาและไปดูเมอร์ไลอ้อนยักษ์ที่เกาะเซนโตซ่า แม้จะไม่ค่อยอยากกลับมาอีกเท่าไหร่ แต่จนแล้วจนรอดก็ได้กลับมาอีกครั้งเพราะเพื่อนสาวคนสนิทกำลังจะแต่งงาน

ไม่น่าเชื่อว่าเดินทางครั้งนี้เปลี่ยนหน้าตาสิงคโปร์แบบเดิมที่ฉันเคยจำได้ไปเสียหมด

เพราะเราไม่ได้มาเดินเที่ยว แต่เราปั่นจักรยาน เราไม่ได้แวะชมตึกระฟ้า แต่กลับเป็นพื้นที่สีเขียวในชุมชน ในประเทศเล็กๆ ที่ระยะทางจากตะวันออกถึงตะวันตกเพียง 50 กิโลเมตร (เล็กกว่ากรุงเทพฯ ซะอีก) แต่กลับมีเส้นทางจักรยานยาวกว่า 300 กิโลเมตร

ทางจักรยานเชื่อมเมือง พื้นที่สีเขียวเชื่อมคน

เพื่อนชาวสิงคโปร์เล่าให้ฉันฟังว่า แต่ก่อนคนสิงคโปร์ถูกสอนไม่ให้เข้าใกล้แหล่งน้ำเพราะว่าคนทำจะให้แหล่งน้ำสกปรก ยิ่งจะสร้างที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งน้ำนี่ลืมไปได้เลย จนเมื่อพื้นที่เริ่มเบียดเสียดไม่รู้จะไปสร้างตึกตรงไหน รัฐบาลเลยเปลี่ยนนโยบายให้คนหันมาใกล้ชิดกับธรรมชาติและมาให้ความรู้มากขึ้นแทนการกีดกัน

Park Connector Network (PCN) หรือเส้นทางเชื่อมสวนต่างๆ จึงถือกำเนิดขึ้น เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเลียบทางระบายน้ำของเมืองที่พาเราลัดเลาะไปยังพื้นที่ธรรมชาติ เส้นทางนี้ไม่เพียงแต่ทำให้คนได้ใกล้ชิดธรรมชาติแต่ยังเชื่อมต่อชุมชนเข้าด้วยกัน ทำให้มีผู้สูงอายุในชุมชนมีพื้นที่พักผ่อนและได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น

ระหว่างทางมีป้ายอธิบายต่างๆ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ แถมมีนก แมลง และสิ่งมีชีวิตผ่านไปมาให้เห็นเป็นระยะ ไกลออกไปเป็นตึกราที่กำลังก่อสร้างและเส้นทางรถไฟฟ้าที่ดูสะดวกสบาย นี่ทำให้ฉันเห็นว่าการพัฒนาเองก็ไม่อาจลืมพื้นที่สีเขียวอันเป็นอีกส่วนสำคัญของชีวิตไปได้

มีการ์ตูนอธิบายเรื่อง Floating wetland ที่เป็นเกาะปลูกต้นไม้แบบลอยน้ำ รากของต้นไม้จะช่วยดูดสารเคมีออกจากน้ำและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ

สิ่งที่ฉันประทับใจไม่แพ้กับสถานที่คือระบบจักรยานให้เช่าที่แสนทันสมัยและสะดวกสบาย โดยปกติแล้วจักรยานให้เช่าจะมีสถานีไว้ให้จอดเพื่อล็อกจักรยาน แต่จักยานที่นี่มีระบบล็อกในตัวซึ่งเราเอาไปจอดที่ไหนก็ได้ โดยการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมาไว้บนมือถือ พอเราสแกน QR code ของจักรยานคันที่เราเลือกเข้าไป ระบบก็จะส่งรหัสปลดล็อกจักรยานมาให้ พอเราปั่นเที่ยวจนถึงที่หมายก็แค่จอดและล็อกคืนเหมือนเดิม ตัวแอพพลิเคชั่นก็จะให้ข้อมูลว่าเราปั่นไปเป็นระยะทางเท่าไหร่และเผาผลาญพลังงานไปกี่แคลอรี่

จักรยานน่าใช้ขนาดนี้แล้วจะหายากไหม? ไม่ต้องกลัวเลยว่าคนจะแย่งกันเพราะว่ามีจักรยานเยอะมาก… เพราะรัฐบาลเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอกชนหลายเจ้าเข้ามาบริหาร ทำให้แข่งขันกันดูแลให้จักรยานทั้งใหม่และเพียงพออยู่เสมอ

ข่าวดีคือระบบจักรยานแบบนี้ในเมืองไทยก็เริ่มมีเข้ามาใช้แล้วเช่นกัน เท่าที่ทราบคือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต และตัวเมืองจังหวัดภูเก็ต แต่ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลไทยจะเปิดโอกาสให้เอกชนมาแข่งขันในตลาดนี้เมื่อไหร่ และเส้นทางจักรยานที่ใช้ได้จริงเมื่อไหร่

แนวคิดแบบนี้ทำให้เราไม่ต้องมานั่งเถียงกันว่าจะพัฒนาทางจักรยานก่อนหรือรอให้คนปั่นจักรยานเยอะก่อนแล้วค่อยทำทางจักรยาน เพราะว่าโครงสร้างพื้นฐานอันไหนที่อำนวยความสะดวกมากกว่า ประชาชนก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอยู่แล้วล่ะ

ภาพ: สุภัชญา เตชะชูเชิด