เธอเป็นคนชอบกิน นั่นคือสิ่งแรกที่เราเรียนรู้จากแพร-พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์

ตลอดบทสนทนาเกือบชั่วโมงกว่า เราพบว่า ‘PEAR is hungry’ ไม่ได้เป็นแค่เพจที่พาไปเจอร้านอร่อยๆ แล้วถ่ายรูปมาอวดเราบนโซเชียล แต่ความหลงใหลในการกินนั้นพาเธอออกเดินทางไปยังป่าชุ่มน้ำ ขึ้นดอยไปเชียงดาวและไม่เกี่ยงที่จะใช้ชีวิตเป็นสัปดาห์ๆ กับชาวบ้านที่เพชรบุรี

จากบทบาทพิธีกรสาววัยรุ่นที่เราคุ้นหน้าในโทรทัศน์ แพรในวันนี้กลายมาเป็นนักเล่าเรื่อง เธอเริ่มต้นจากการเล่าเรื่องชวนหิวของตัวเอง แต่ต่อมาเธอพบว่าการขยับไปเล่าเรื่องความหิวของคนอื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่สนุกไม่แพ้กัน และนั่นทำให้แพรพบว่า นอกจากความอร่อยการกินยังเป็นการเรียนรู้ ยิ่งรู้เยอะ เธอก็ยิ่งเห็นคุณค่าจากอาหารเหล่านั้นมากขึ้น

และนี่จึงกลายเป็นอีกหนึ่งก้าวใหม่ในเพจของสาวนักเล่าเรื่องคนนี้ โดยเธอเพิ่งให้กำเนิดคอนเทนต์ใหม่เอี่ยมที่มีชื่อว่า ‘Who is hungry’ รายการที่จะพาเราออกเดินทางไปตามชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือต่างจังหวัด เพื่อเรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจของอาหารถิ่นที่เราหลายคนอาจมองข้ามไป

PEAR is Hungry จากห้องครัวสู่โลกกว้าง

“เรารู้สึกว่าเรื่องของอาหารมันลึกซึ้ง และอยู่กับมนุษย์มายาวนาน มันสามารถอธิบายทุกอย่างได้หมด ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ความเป็นไปของโลก”

“ถ้าย้อนอดีตไปเราจะเห็นเลยว่าทำไมการเกษตรถึงเกิดขึ้น ทำไมมนุษย์ถึงเริ่มมีไฟใช้ นี่เกี่ยวข้องกับอาหารหมดเลย” แพรเริ่มเล่าถึงความสนใจด้านอาหารของเธอ 

อันที่จริงแพรคุ้นเคยกับเรื่องอาหารมาตั้งแต่เด็ก ความฝันอันดับต้นๆ ในวัยเยาว์ของเธอคือการเปิดร้านอาหาร เธอวิ่งเข้าวิ่งออกห้องครัวจนได้ทดลองจับตะหลิว ทำอาหารง่ายๆ แล้วเริ่มอัพเลเวลไปทำเมนูที่ซับซ้อนขึ้นในเวลาต่อมา ในตอนนั้นการกินคือความสุขยามว่างของเธอ

แต่หลังจากเวลาสิบกว่าปีในวงการบันเทิง วันนี้ แพรเริ่มรู้สึก ‘อิ่ม’ ตัวกับสิ่งที่ทำอยู่ และเกิด ‘หิว’ ที่จะเล่าเรื่องที่เธอหลงใหลมาตั้งแต่เด็กอย่างเรื่องอาหาร พอดีกับที่เธอได้มีโอกาสไปเที่ยวประเทศอังกฤษกับว่านไฉ (อคิร วงษ์เซ็ง เจ้าของรายการอาสาพาไปหลง) แล้วได้เจอเรื่องราวของฟิชแอนด์ชิพที่น่าสนใจ แพรจึงตัดสินใจเปิดเพจ ‘PEAR is hungry’ เพื่อลองเล่าเรื่องอาหารตามความตั้งใจที่อยากจะนำเสนอเรื่องการกินในมุมที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ เพราะยิ่งรู้เยอะก็ยิ่งกินอร่อย เธอเชื่อแบบนั้น

“หลังๆ เราเริ่มรู้สึกว่าการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่ค้นเจอมามันไม่พอ อาหารยังมีเรื่องของวัฒนธรรม ที่โยงไปยังเรื่องของวิถีชีวิตและวัตถุดิบท้องถิ่นซึ่งเราชอบมากอีก”

“เราเลยพาตัวเองไปเรียนรู้กับกลุ่มเชฟที่สนใจอาหารถิ่น อย่างเชฟแบล็ค (ภานุภน บุลสุวรรณ) เวลาเขาจะลงไปศึกษาที่พื้นที่ไหนเราก็ขอตามเขาไป บางทีก็ตามไปช่วยเขาทำอาหาร ไปขอคำปรึกษา เพื่อจะได้รู้เรื่องของอาหารในด้านใหม่ๆ” แพรเล่า

หลังจากเก็บเกี่ยวความรู้จนเริ่มเชี่ยวชาญ แพรเริ่มนำสิ่งที่รู้มาเล่าด้วยวิธีหลากหลาย เธอเริ่มทำรายการคุ้กกิ้งโชว์ สาธิตการทำอาหารง่ายๆ ทำรายการวาไรตี้เล่าเกร็ดความรู้ของอาหารต่างๆ เรื่อยไปจนถึงการลงพื้นที่เพื่อไปตามหาวัตถุดิบท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ของอาหารที่เธอกำลังสนใจในขณะนั้นผ่านคอนเทนต์เรื่องเล่ารอบจาน

และเมื่อได้ลงไปคลุกคลีกับชุมชน แพรพบว่าไม่ได้มีแค่เธอเท่านั้นที่อยากจะเล่าเรื่องอาหาร แต่ยังมีชุมชนอีกมากมายที่รอให้เธอลงไปเรียนรู้ และนำเรื่องของพวกเขามาเล่าให้พวกเราฟังอีกที นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘Who is Hungry’ รายการใหม่ของเพจ ที่บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนน่าสนใจโดยไม่จำกัดพื้นที่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ขอเพียงแค่ที่เหล่านั้นอุดมไปด้วยอาหารถิ่นดีๆ และมีประวัติศาสตร์ที่พวกเราคนกินอาจไม่เคยรู้

Who is Hungry เรื่องชวนหิวที่ต้องขอเล่า

แพรนิยามว่าตัวเองคือ ‘นักเล่าเรื่องอาหาร’ ที่ไม่ได้เล่าไปเล่นๆ แต่เธออยากจะเล่ามันอย่างจริงจัง และรายการ Who is Hungry คือหนึ่งในความจริงจังของเธอ

จากการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์อาหารทั่วไป แพรพบว่าในฐานะคนรักการกินเหมือนกัน มีคนอีกหลายคนที่เข้าใจผิดเรื่องอาหาร และความเข้าใจผิดเหล่านั้นอาจนำไปสู่การสูญหายของอาหารหลายชนิด เช่นเดียวกับที่เธอพบว่าอาหารในวัยเด็กหลายอย่างของเธอหายไป ด้วยความเสียดายแพรจึงเริ่มหยิบเอาของกินเฉพาะถิ่นขึ้นมาเล่าในรายการ

“ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย รู้มั้ยว่าปาท่องโก๋มันไม่ได้ชื่อปาท่องโก๋นะ มันชื่ออิ่วจาก้วย แล้วต้นตำรับของปาท่องโก๋จริงๆ นั้นอยู่ที่ตรัง ความไม่รู้ว่ามีสิ่งนี้อาจทำให้เมนูนี้หายไป นี่ยังไม่รวมอาหารบางอย่างที่หายไปแล้วอย่างอาหารหาบเร่ หรือลุงที่ปั่นจักรยานขายโรตีสายไหมที่เราเคยเห็นตอนเด็กๆ อีก ดังนั้นมากกว่าการทำคุกกิ้งโชว์หรือเล่าประวัติศาสตร์อาหารไปเรื่อยๆ เราอยากหันมาเล่าเรื่องชุมชนบ้าง

“เราเริ่มรู้สึกว่าอาหารเป็นเรื่องของท้องถิ่น และในแต่ละถิ่น แต่ละที่เขาจะมีวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน เราเลยอยากจะสื่อสารตรงนั้นให้คนดูเข้าใจ อย่างตอนนั้นเคยไปชุมชนหนึ่งที่สุโขทัย อาหารของเขาเป็นอาหารอีสานหมดเลย เหตุผลคือเมื่อประมาณ 80 ปีก่อนมีคนอีสานอพยพมาจนกลายเป็นหมู่บ้านคนอีสาน” แพรอธิบาย

นอกจากตอนแรกของรายการใหม่ที่แพรใช้เวลาทั้งวันลงไปตามหาร้านท้องถิ่นในย่านประตูผีแล้ว หากย้อนกลับไป เราก็จะเห็นแพรเคยบุกเข้าไปในสวนตาลจังหวัดเพชรบุรีเพื่อไปเรียนรู้การทำน้ำตาลสดกับชาวบ้าน ใช้เวลาร่วมอาทิตย์ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และศึกษาการทำข้าวแช่ชาววัง ขึ้นเขาลงดอยแล้วเดินอยู่ในป่าชุ่มน้ำอิง จังหวัดเชียงราย พร้อมคอนเทนต์ที่เยอะพอๆ กับวัตถุดิบเจ๋งๆ ที่เธอไปเจอมา

“ตอนเราไปป่าชุ่มน้ำอิงเราต้องการนำเสนอเรื่องวิถีชุมชนนี่แหละ เพราะเราไปพบว่าชุมชนตรงนั้นมีทรัพยากรหลากหลายมาก ในเมืองเรารู้จักแต่แครอท กะหล่ำ คะน้าใช่มั้ย แต่ที่นี่มีทั้งผักแคบ มะขามหมอย ชื่อแปลกๆ ทั้งนั้น ซึ่งเราชอบมาก เราได้ไปรู้จักว่ามันคืออะไร อร่อยแค่ไหน แล้วชาวบ้านเข้าป่าไปตรงไหนก็เก็บผักตรงนั้นมากินได้เลย แต่รู้มั้ยทั้งๆ ที่บอกว่านี่เป็นป่าชุ่มน้ำ ที่ตรงนั้นกลับมีน้ำอยู่แค่ตรงฝ่าเท้าเราเอง”

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมอยู่ๆ แพรถึงต้องหยิบเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาเล่า ในเมื่อมันช่างห่างไกลจากวิถีชีวิตคนเมืองอย่างเราๆ เสียเหลือเกิน แต่แพรบอกว่าเมื่อเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ เราจะพบว่านอกจากการสื่อสารเรื่องวัตถุดิบชุมชนแล้ว เรื่องทุกเรื่องยังย้อนกลับมาที่คนกรุงทั้งหมด

“นอกจากวิถีชุมชนที่เราเจอ เราพบว่าน้ำที่มันแห้งไปนี่เป็นผลมาจากความแล้ง ซึ่งมันเป็นสัญญาณจากธรรมชาติที่กำลังบอกเราว่ามันไม่โอเคแล้วนะ แล้วพอไปถึงเรายังพบว่าที่ตรงนั้นรัฐเคยจะเข้ามาเอาพื้นที่ไปทำอย่างอื่น แต่ชาวบ้านเขาก็ต่อสู้กันอย่างหนัก ชุมชนเขาเข้มแข็งมาก แล้วคิดดูนะถ้าเกิดตอนนั้นพื้นที่ป่าสามพันกว่าไร่ตรงนี้หายไป ตอนน้ำมามันจะไปอยู่ที่ไหน นี่แหละที่มันกำลังจะกระทบพวกคุณ” แพรอธิบาย

แม้ในตอนนี้แพรอาจจะยังไม่มีกำลังมากพอในการเปลี่ยนแปลง แต่เธอก็หวังว่าเรื่องเหล่านี้จะกลายเป็นความเข้าใจในตัวผู้ชมได้ไม่มากก็น้อย

ไม่เคยอิ่มที่จะเล่าเรื่อง

การเห็นแพรที่จริงจังและทุ่มเทกับเรื่องกินขนาดนี้ อาจมีคำถามจากใครหลายๆ คน ว่าทำไมเธอถึงต้องลงแรงไปกับเรื่องเหล่านี้มากมายนัก ทั้งๆ ที่เธอเองก็สามารถใช้ชื่อเสียงที่มี ทำเพจชิมอาหารสบายๆ ให้ดังได้แบบไม่ต้องทำอะไรมาก

“จริงๆ เราไม่จำเป็นต้องทำขนาดนี้ก็ได้นะ แต่เราอยากทำ แล้วมันจะดีกว่าไหม ถ้าเราได้ใช้สิ่งที่เรามีมาต่อยอดให้เป็นประโยชน์มากขึ้น ในเมื่อเสียงของเรามันอาจจะดังกว่าคนอื่น ทำไมเราไม่เลือกใช้ให้มันมีประโยชน์ล่ะ คำตอบดูเหมือนนางงามเนอะ แต่เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ” 

แม้ตอนนี้เรื่องราวในเพจอาจมีหลากหลาย แต่แพรก็ยังยืนยันกับเราว่าความตั้งใจแรกของเธอยังไม่เคยเปลี่ยนไป เพจในวันนี้ยังคงพยายามสื่อสารเรื่องอาหารอร่อยๆ ให้เราหิวไปพร้อมกับเธออยู่เหมือนเดิม แต่ความหิวนั้นอาจไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่เมนูใดหรือร้านอาหารร้านใดร้านหนึ่งอีกแล้ว เพราะตอนนี้คอนเทนต์ที่เธอเล่ามักปะปนกันไปทั้งเรื่องกินแบบสนุกๆ และเรื่องกินอย่างจริงจังที่เธอนำมาปรับให้สนุไม่แพ้กัน

“เราพยายามหาจุดตรงกลางเสมอ เพราะเรามีเรื่องที่อยากจะเล่าเต็มไปหมด แต่ก็ต้องคิดด้วยว่าทำแบบไหนคนดูจะเปิดรับ ดังนั้นเราเลยพยายามแทรกข้อมูลต่างๆ เข้าไปเวลาเล่าเรื่อง ใช้รูป ใช้ภาษาสนุกๆ ซึ่งก็มีหลายคนที่เข้ามาคอมเมนต์ตอบเรา ขอบคุณเราว่าเข้าใจเรื่องนี้แล้วนะ ข้อมูลง่ายมากเลย มันอาจจะยังไม่สามารถเปลี่ยนวิถีการกินของเขาได้ในทันทีหรอก แต่เราก็จะได้รู้ว่าอย่างน้อยเขาก็รับรู้แล้ว”

“แล้วสิ่งที่แพรอยากเห็นจริงๆ จากคนดูคืออะไร” เราถาม

“จริงๆ เราอยากให้คนดูรู้นะว่าสิ่งที่พวกเขากินคืออะไร ปลอดภัยมั้ย แต่ตอนนี้เรายังไม่สามารถพูดเรื่องเหล่านั้นได้หมดเพราะมันยากที่เราจะพูดหลายประเด็นพร้อมกัน ดังนั้นเราจึงขอโฟกัสที่เรื่องอาหารถิ่นก่อน 

“เราเชื่อว่าเรื่องที่เราเล่าจะช่วยสร้างคุณค่าให้กับตัวอาหาร เมื่อคนกินรู้สึกถึงคุณค่า เขาก็จะกินได้อร่อยขึ้น เราเองก็มีความสุขขึ้นด้วยที่ได้เล่า” 

ถึงแม้ในตอนนี้แพรจะยังไม่สามารถเล่าเรื่องอาหารได้อย่างรอบด้านเหมือนกับความตั้งใจในหัว แต่เธอมองว่านี่คือการลากเส้นต่อจุด และหวังว่าคอนเทนต์อาหารที่เธอศึกษามาอย่างตั้งใจและเล่าออกไปนี้ จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้นักเล่าเรื่องคนอื่นๆ นำไปสานต่อ และช่วยเล่าเรื่องให้รอบด้านมากยิ่งขึ้นได้

ต่อจากนี้คนจะพูดต่อหรือเปล่าไม่รู้ แต่ว่าเราจะลองพูดมันดู เพราะอย่างน้อยเราก็สามารถยืดอายุเรื่องเหล่านี้ได้อีกหน่อย ไม่ให้มันหายไป”

ภาพถ่าย: มณีนุช บุญเรือง
ขอบคุณสถานที่ถ่ายภาพ: Buddha & Pals
ถนนกรุงเกษม (ใกล้วัดโสมนัสราชวรวิหาร) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร