เชื่อไหมว่า เราเปลี่ยนโลกได้โดยเริ่มจากการเปลี่ยนตัวเอง
อุ๊-อันติกา ศรีรักษา เชื่อเช่นนั้น จนกลายเป็นตัวตั้งตัวตีในการลดขยะไม่จำเป็นภายในโรงแรมที่เธอทำงาน จาก 200 กิโลกรัมต่อวัน เหลือเพียง 20 กิโลกรัม เธอจับมือกับพาร์ตเนอร์สายกรีน เสาะหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และออกแบบระบบรีไซเคิลน้ำจนพาโรงแรมรับรางวัล Asean Green Hotel Awards และ Asean Energy Award
แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียง ‘จุดเริ่มต้น’ เพราะตอนนี้เธอผันตัวมาเป็นเจ้าของร้านที่ไม่อยากเก็บความรักษ์ที่มีให้โลกไว้เพียงผู้เดียว จึงตัดสินใจ ‘ปันสุข’ ให้ผู้อื่นผ่านร้าน Pansook Eco Store & Tea Room รีฟิลคาเฟ่เจ้าแรกและเจ้าเดียวในจังหวัดกระบี่
เปลี่ยนทุกข์เป็นสุข
คาเฟ่ในฝันเริ่มต้นจากการบ่มเพาะประสบการณ์สายกรีนจากปกาสัย รีสอร์ท โรงแรมที่เธอเคยทำงานอยู่เป็นนาน อันติกาคร่ำหวอดในวงการธุรกิจโรงแรมมาเกือบ 20 ปี สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาแล้วหนึ่งทศวรรษตั้งแต่ช่วงที่กระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กำลังเป็นที่พูดถึงในสังคม ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวแถบสแกนดิเนเวียที่เป็นผู้มาเยือนกลุ่มหลักของกระบี่
ในฐานะผู้จัดการโรงแรมควบตำแหน่งการตลาด เธอรับรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภคที่จริงจังกับเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ถึงอย่างนั้น ตัวเองเมื่อสิบปีก่อนก็ยังไม่ได้ตระหนักมากพอ ภาคปฏิบัติที่เกิดขึ้นจึงหนีไม่พ้นการเดินเก็บขยะตามชายหาด หรือการปลูกต้นไม้
“เก็บไปบ่นไปว่าทำไมคนไม่ทิ้งขยะให้เป็นที่ เราโทษคนอื่นไปเรื่อย เพราะคิดว่าเราทำดีแล้ว จนวันหนึ่งกลับมาที่โรงแรมหลังทำกิจกรรม เอ๊ะ! ทำไมหน้าโรงแรมของฉันถึงเหม็น เราก็เดินไปที่จัดเก็บขยะรอทิ้ง ปรากฏว่า อบต. ยังไม่มาเก็บ ทีนี้ ขยะตกค้างนานขึ้นจาก 1 วัน กลายเป็น 2-3 วัน
“เมื่อปัญหามาถึงหน้าบ้าน เราสงสัยว่า ขยะอะไรเนี่ย ทำไมมันเยอะจนเก็บไม่ทัน แล้วเมื่อ 10 ปีที่แล้วธุรกิจท่องเที่ยวทางภาคใต้บูมมาก การเติบโตของเมืองเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ขณะที่การบริหารระดับท้องถิ่นตามไม่ทัน ตอนนั้นเราเลิกโทษคนอื่น แล้วหันไปดูว่าขยะพวกนี้คืออะไรกันแน่”
อันติกาสุ่มขยะมาเทบนผืนผ้าใบ มีทั้งกระดาษทิชชู ขวดแชมพู ยาสระผม ครีมนวด พลาสติกซีล และสิ่งอำนวยความสะดวกอีกมากมายที่เปลี่ยนใหม่ทุกวัน เป็นอันว่าโรงแรมขนาด 100 ห้อง สร้างขยะต่อวันมากถึง 200 กิโลกรัม ในที่สุด เธอก็ค้นพบว่า บริการสะดวกสบายไม่จำเป็นต้องทำร้ายโลกขนาดนี้
‘รีฟิล’ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ เพื่อลดขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
“จากสถิติที่เก็บ ขยะของเราเหลือแค่ 20 กิโลกรัมต่อวัน สบู่ แชมพู เปลี่ยนไปใช้แบรนด์ไทยคุณภาพส่งออก อย่าง Hug Organic รีฟิลในบรรจุภัณฑ์เซรามิกสวยงาม ทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจ บางคนอาจบอกว่าราคาสินค้าออร์แกนิคค่อนข้างสูง แต่พอเราย้อนกระบวนการการทำงานมาดูถึงต้นทาง ต้นทุนของเราลดไปเยอะจริงๆ สิ่งนี้เปลี่ยนภาพลักษณ์ให้เราเป็นโรงแรมสิ่งแวดล้อมทันที”
หลังจากนั้น เธอและทีมยังติดตามข้อมูลการใช้พลังงานน้ำและไฟฟ้า เพื่อพัฒนาระบบทุกอย่างให้ยั่งยืน เพิ่มป้ายข้อมูลเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แขกอ่าน และออกแบบระบบรีไซเคิลน้ำสำหรับโรงแรมเอง
“ขยะเป็นเรื่องของปลายทาง เราจึงกลับไปคิดตั้งแต่ต้นทางให้เข้าใจมากขึ้น เราบังคับแขกให้ใช้น้ำน้อยลงไม่ได้ การปิดก๊อกไม่ได้ตอบโจทย์ เราจึงคิดว่าต้องลดการปนเปื้อนในน้ำ เพราะโรงแรมอยู่ติดทะเลด้วย การใช้สบู่ แชมพูออร์แกนิกตอบโจทย์การบำบัดน้ำ ระบบที่เราคิดนำน้ำจากห้องพักแขกกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วโรงแรมของเรามีต้นไม้เยอะมาก สิ่งนี้ยังลดการใช้น้ำดิบที่ซื้อมาเพื่อลดต้นไม้โดยเฉพาะได้ นอกจากนี้ น้ำบางส่วนยังนำกลับมาใช้ในชักโครกของห้องพัก ลดไปอีก 45 เปอร์เซ็นต์จากที่เคยใช้”
สิ่งประดิษฐ์ล้ำค่าต่อโลกใช้เวลาพัฒนาและการลงทุน ทางโรงแรมติดมิเตอร์น้ำ 21 ตัว เพื่อดูปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางแก้ไข ยกตัวอย่างการปนเปื้อนในน้ำส่วนใหญ่เกิดจากห้องครัว เมื่อมีไขมันจำนวนมากจึงต้องใช้สารเคมีในระบบบำบัดมากตาม แต่อันติกาไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เธอจัดการไขมันด้วยระบบไบโอแก๊ส โดยนำขยะไขมันจากบ่อดักไขมันไปใส่ในระบบ ทีนี้ก็ได้ทั้งไบโอแก๊สใช้ และน้ำที่ออกสู่สาธารณะก็ลดการปนเปื้อน
ทุกอย่างดำเนินไปพร้อมการตั้งคำถามและลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างคำตอบ กระทั่งโควิด-19 ระบาดหนัก ภาคการท่องเที่ยวโดนมรสุมอย่างแรงจนหยุดอยู่กับที่ อันติกาพร้อมทีมงานจึงผันตัวไปทำเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ ‘ต้นน้ำ’ ที่เคยซื้อไว้
ต้นน้ำของการปันสุข
“เมื่อก่อนเราอยู่กลางน้ำ ซื้อของมาส่งต่อให้ผู้บริโภคอีกที แต่ความฝันของเราคือ หากได้มาอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำและเป็นผู้ผลิต เราต้องลดผลกระทบด้วย จึงเกิดเป็น ‘ไร่ปันสุข’ ขึ้นมา ที่ดินนี้ระบบนิเวศสวยมาก ความคิดแรกคืออยากปลูกป่า พอโควิด-19 มา เรามีเวลาคิดเพิ่มว่าอยากทำเกษตรอินทรีย์ คำว่า ‘ปันสุข’ จึงมาจากโลกก็สุข เราก็สุขนั่นเอง”
อันติกาชวนพนักงานโรงแรมมาร่วมกันทำเป็นวิสาหกิจชุมชน แต่นอกจากการทำเกษตรอย่างที่ตัวเองใฝ่ฝัน เธอยังคงคอนเซ็ปต์การรักษ์โลกโดยเริ่มจากตัวเองเช่นเคย
“ทุกวันเราพกกล่องรีฟิลในกระเป๋าผ้า ในรถมีตะกร้าสำหรับใส่ปิ่นโตอันเล็ก ภาชนะ ช้อนส้อม เดี๋ยวนี้การออกแบบก็สวย ใช้งานตอบโจทย์ เราได้เจอคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันจากชาเลนจ์ที่ Greenery. ทำ ทุกคนพก ฉันก็พก
“ส่วนชีวิตประจำวัน บ้านเราแยกขยะอยู่แล้ว ทำปุ๋ยหมักใช้เองในสวน แทบไม่มีขยะทิ้งเลย เศษอาหารก็ใส่ถังหมัก ตอนทำเกษตรอินทรีย์เราได้เข้าค่ายกสิกรรมธรรมชาติกับอาจารย์ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัลยกำธร) จึงเริ่มหมักขยะอินทรีย์”
จากโรงแรมที่นำเธอไปค้นพบต้นทางของปัญหา อันติกาได้พบพันธมิตรผู้ใส่ใจเรื่องเดียวกัน และพันธมิตรผู้ลงมือสร้างสรรค์สินค้าออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งกลายมาเป็นขุมทรัพย์ผลิตภัณฑ์ให้เธอเลือกสรรมาใส่ในร้านแสนรักในเวลาต่อมา
ปันให้ไกล ไปให้ถึง
จากที่คิดว่าจะทำคาเฟ่แห่งนี้ตอนเกษียณ ปลายทางกลับขยับเข้ามาใกล้ขึ้น เธอคิดในใจว่า เรื่องการรีฟิลสร้างผลกระทบได้ในระดับชีวิตประจำวันของคน ถ้าไม่ทำตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำตอนไหน Pansook Eco Store & Tea Room จึงถือกำเนิดขึ้นในฐานะรีฟิลคาเฟ่เจ้าแรกและเจ้าเดียวในจังหวัดกระบี่ ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 นี้เอง
“ร้านเปิดพร้อมกับกระแสสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วงที่การท่องเที่ยวซบเซา ธรรมชาติในกระบี่งดงามเหมือนได้ใช้ชีวิตอยู่บนสรวงสวรรค์ที่มีทุกอย่างตั้งแต่ทะเลจนถึงน้ำตกและถ้ำ ต่อให้การท่องเที่ยวเปิดก็ยังอยากให้สิ่งแวดล้อมสวยงามเช่นเดิม สุดท้ายเลยคิดถึง ‘คนกระบี่’ ก่อน เริ่มตรงนี้แหละ ให้พวกเราหวงแหนดูแลพื้นที่ของตัวเองในฐานะเจ้าบ้านที่ดี”
อันติกาบอกเสมอไม่ว่าจะพูดปากเปล่าหรือเขียนเอาไว้ในเฟซบุ๊กว่า ‘Say NO to single use, make it a lifestyle’ เพราะเธออยากให้การรีฟิลเป็นชีวิตประจำวันของคนโดยแท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังสะท้อนผ่านการออกแบบร้านที่ตั้งใจให้ความรู้สึกเก๋เหมือนอยู่บ้าน มีความโมเดิร์น อยู่ได้จริง มีสินค้าราคาจับต้องได้ รวมตัวได้ และคุยกันได้ด้วย
“หลายคนเคยเห็นร้านรีฟิลจากสื่อ แต่เชื่อว่า 9 ใน 10 คนไม่เคยเข้าร้านรีฟิล เราดีใจมากที่ทุกคนเดินเข้ามาแล้วพร้อมฟัง เป็นข้อดีของกระบี่ที่มองเทรนด์การท่องเที่ยวสีเขียว และเขาก็คิดว่าไลฟ์สไตล์มันน่าจะเปลี่ยนโดยการลงมือทำด้วยตัวเอง เราจึงตั้งใจออกแบบร้านให้รู้สึกผ่อนคลาย เจอแต่ของใช้ได้ในชีวิตประจำวันเหมือนเวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ต เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการ
“ไม่มีใครร้องขอถุงพลาสติก และไม่มีใครพกถุงพลาสติกเข้ามา ฟังก์ชัน การออกแบบร้านจึงมีผลต่อคนให้คิดว่าการรีฟิลมันดี หลายคนเดินเข้ามาขอบคุณที่ทำร้านแบบนี้ในกระบี่ บางคนโพสต์ด้วยความภูมิใจว่ากระบี่ก็เก๋ไม่แพ้ใคร”
ตอนนี้ร้านรีฟิลอาจยังไม่ยืนอยู่ในกระแสเท่าที่ควร แต่ถึงอย่างนั้น อันติกาก็มุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงให้การรีฟิลหลุดพ้นจาก ‘ทางเลือก’ สู่ ‘กระแสหลัก’ หรือ ‘ทางรอด’ โดยปูพื้นฐานสำคัญคือการรับรู้ข้อมูลของผู้บริโภค
“เรายินดีใช้เวลาอธิบายเยอะหน่อย เพื่อให้เขาเข้าใจ ยกตัวอย่าง แหล่งที่มาของสินค้า ข้าวมาจากนาในกระบี่ที่ทำข้าวหอมบอน ซึ่งเป็นข้าวเฉพาะของกระบี่ หุงแล้วหอมเหมือนเผือก เราไปจองเขาไว้ก่อนเกี่ยวเลยว่าอยากได้เท่าไหร่
“นอกจากนี้ก็มีน้ำตาลโตนดที่ชาวบ้านปีนเก็บเอง เคี่ยวเอง เอามาทำน้ำตาลแว่น น้ำตาลผง น้ำตาลลูกชกที่หาทานได้ปีละครั้ง ใช้เวลานานกว่า 25 ปี กว่าจะเก็บผลทานได้ รสจะหวานละมุน พอเป็นผงรสชาติยิ่งเข้ม หรือพริกไทยปะเหลียนจากตรัง หรือพื้นที่ใกล้เคียงกันเราก็นำมาวางให้ลูกค้าเปิดโลก
“ส่วนชาเบลนด์ บนชั้นสองของร้านเป็นคาเฟ่ชา ส่วนตัวชอบชาอยู่แล้วเลยสะสมความรู้มาเรื่อยๆ ชาคือสิ่งที่เราใส่น้ำแล้วดื่มเลย ดังนั้นต้องปลอดภัยแน่นอน และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้สารต้านอนุมูลอิสระ เราเลือกแต่ของคุณภาพจากต้นน้ำที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ชาเบลนด์ทำจากใบชาออร์แกนิกเบลนด์กับดอกไม้ สมุนไพรที่กินได้ทุกอย่าง ส่งตรงมาจากแหล่งปลูกอินทรีย์เช่นกัน เราทดลองหลายสูตรจนลงตัว ถือเป็นสิ่งใหม่ในกระบี่ เพราะส่วนใหญ่ดื่มกาแฟ ไม่ก็ชานม เลยอยากสร้างกระแสของการดื่มชาขึ้นมา”
จากสินค้าที่ดีต่อท้อง เธอพูดถึงสินค้าที่ดีต่อร่างกายและจิตใจ โดยยังคงใช้บริการแบรนด์สมัยทำงานในโรงแรม เช่น Hug Organic ที่มีทั้งหลอดดูด ผลไม้อบแห้งไม่เคลือบน้ำตาล สบู่ แชมพู และน้ำดื่ม Greenery Water ที่บรรจุในกระป๋องอะลูมิเนียม
เป้าหมายสูงสุดของอันติกาอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เธออยากให้ธุรกิจรีฟิลคาเฟ่เติบโตเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมและมอบพลังบวกแก่คนไปพร้อมกันให้สมกับชื่อ ‘ปันสุข’
“ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน แต่อยากให้เป็นกระแสหลักเร็วๆ เพราะเชื่อว่าเทรนด์มา คนไทยสร้างสรรค์กันเยอะขึ้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าทุกคนตระหนักจนตระหนก เราเชื่อว่าเปลี่ยนได้ เราอาจจะเป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องการตระหนัก เราอธิบายเรื่องผลกระทบลูกโซ่ให้คนอื่นฟัง ให้แรงบันดาลใจเขาจนเกิดเป็นการรวมหัว ร่วมแรง ร่วมใจ”
เพราะทุกคนใช้ทรัพยากรโลก เรื่องวิกฤติสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง การรีฟิลถือเป็นการตระหนักขั้นต้นเท่านั้น
“มุมมองของคนปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปลายทางของการใช้ทรัพยากรอย่างเดียว เขาต้องตระหนักจริงๆ จึงจะตระหนก ใครจะเชื่อว่าการเก็บขยะเรื่อยๆ บนชายหาดแบบไม่รู้เรื่องรู้ราวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโรงแรมที่ทำงานอยู่ ต่อจากนี้เราก็จะมองหาสินค้ารีฟิลหลากหลายแบบเพิ่มขึ้น วันหนึ่งอาจจะได้ขยายธุรกิจโดยคนท้องถิ่น คือเราไม่อยากทำเพิ่ม แต่อยากให้คนที่สนใจทำร้านมาคุยกับเรา แล้วให้เขาขับเคลื่อนในพื้นที่ตัวเองดีกว่า”
คนส่วนใหญ่อาจจะยังคงไม่ตระหนกอย่างที่เธอบอก บางคนอาจมองปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว แต่อย่ารอจนถึงวันที่ปัญหามาเคาะหน้าประตูบ้าน เพราะโลกของเราทรุดลงกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนมาก กลิ่นขยะที่โชยเข้าจมูกของอันติกาในวันนั้น ไม่เหมือนมลพิษที่เราสูดดมวันนี้ เป็นปัญหาคนละระดับที่ควรเร่งแก้ไข โดยไม่ต้องเริ่มที่ไหนไกล
…จงเริ่มที่ตัวเอง
ภาพ : วิเชียร เรือนงาม